22 ก.พ. 2023 เวลา 07:57 • การศึกษา

การดำเนินคดีอาญาน่ารู้ : ผู้เสียหายคือใคร EP.2

จากความเดิมในตอนที่แล้ว ที่ได้กล่าวไว้ถึงกรณีที่ผู้เสียหายหากได้รับผลกระทบจากความผิดอาญา แต่ปรากฎว่า ผู้เสียหายนั้นไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้ด้วยตนเอง เช่น ผู้เสียหายตัวจริงได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว หรือยังเป็นเด็กผู้เยาว์ ยังไม่ถึงวัยที่กฎหมายให้สิทธิดำเนินคดีอาญาได้ด้วยตนเอง แล้วจะทำอย่างไรก็ดี
กฎหมายของเราย่อมเล็งเห็นถึงปัญหาเช่นว่านี้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 วางหลักไว้ว่า
“บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น”
จากตัวอย่างแรกในตอนที่แล้ว ที่ว่า ด.ช. แม๊ค ยังเป็นผู้เยาว์ (อายุยังไม่เกิน 20 ปี) ปัญหาคือ พ่อแม่ของ ด.ช. แม๊ค จะเข้ามาดำเนินคดีอาญาแทน ด.ช. แม๊ค ได้หรือไม่
กรณีนี้ เมื่อ ด.ช. แม็ค ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ พ่อแม่ของ ด.ช.แม็ค ย่อมเข้ามาดำเนินคดีอาญาแทน ด.ช. แม็ค ได้ ในฐานะที่พ่อแม่ของนายแม๊คเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ตามมาตรา 5(1)
หรือจากตัวอย่างที่ 2 ที่ว่า นายมดซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือ เราจะให้บุคคลใดเข้ามาใช้สิทธิดำเนินคดีอาญาแทนนายมดได้ต่อไป
กรณีนี้ เมื่อนายมดถึงแก่ความตาย ตามสภาพความจริง ทุกคนย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้นายมดจะ (เคย) มีฐานะเป็นผู้เสียหาย (โดยตรง หรือ โดยแท้จริง) ก็ตาม เพราะนายมดเป็นผู้ถูกกระทำ (ถูกฆ่า) แต่เมื่อนายมดถึงแก่ความตายเสียแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผู้ตายมาดำเนินคดีได้เอง
ดังนั้น ตามมาตรา 5(2) จึงเปิดช่องให้บุพการีของนายมด หรือ ผู้สืบสันดานของนายมด หรือภริยาของนายมด (ถ้ามี) เข้ามาเป็นผู้ดำเนินคดีอาญาแทนนายมดได้ โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญว่า บุคคลนั้น (ในที่นี้คือ นายมด) จะต้องเป็นผู้ที่ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ด้วย
จึงกล่าวได้ว่า สถานะของพ่อแม่ของ ด.ช. แม็ค สถานะของบุพากรี ผู้สืบสันดาน ภริยาของนายมด ที่จะเข้ามาดำเนินคดีอาญาแทนนั้น เราเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า
“ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย”
ไว้ตอนหน้า เรามาเจาะลึกกันในรายละเอียดของแต่ละวงเล็บ (อนุมาตรา) กัน พบกันใหม่ตอน่ต่อไป…
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : www.bsru.ac.th
เฟสบุ๊คสาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
เว็บไซต์สาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : LAWBSRU
โฆษณา