25 ก.พ. 2023 เวลา 03:25 • หุ้น & เศรษฐกิจ

​"ชีวิตที่คุ้มค่า" ของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

…ผมหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมคงจะไม่เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต แบบอย่างที่ไม่ดีนั้นก็คือผู้ว่าการจะต้องยอมอยู่ภายใต้การครอบงำ เป็นที่พอใจของนักการเมือง จึงจะอยู่ได้ เมื่อใดก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทยปราศจากอิสรภาพในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เมื่อไรก็ตามผู้ว่าการจะต้องคอยเอาอกเอาใจนักการเมืองจึงจะอยู่ในตำแหน่งได้ เมื่อนั้นศักดิ์ศรีของธนาคารชาติจะไม่มีเหลือ ทำนบกั้นความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศจะพังทลายไปอีกทำนบหนึ่ง…
3
คำกล่าวที่หนักแน่นมั่นคงข้างต้นนี้ เป็นคำกล่าวของคุณนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยท่านที่ 13 (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 ถึง 13 กันยายน 2527) ในจดหมายทิ้งท้ายเมื่อวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง และบันทึกไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติที่มีชื่อว่า "ชีวิตที่คุ้มค่า"
ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณนุกูล ประจวบเหมาะ ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในวัย 93 ปี ผู้เขียนในฐานะที่เคยได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงขอนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยโดยสังเขปในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการฯ มาถ่ายทอด เพื่อร่วมไว้อาลัยและอุทิศบทความนี้ให้แด่ท่านครับ
อันที่จริง ทั้งก่อนและหลังการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คุณนุกูล ประจวบเหมาะ ได้ผ่านงานต่าง ๆ อย่างหลากหลายทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงการคลัง ไอเอ็มเอฟ กระทรวงคมนาคม หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชนอย่างสยามกลการ โดยภาพจำซึ่งหลายท่านที่รู้จัก ทันยุคสมัยของท่าน หรือได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีต มักจะมีต่อคุณนุกูลคือ การเป็นข้าราชการที่ดำรงความถูกต้องเที่ยงธรรม ยึดหลักความถูกต้องมาก่อนความถูกใจ
2
คุณนุกูลเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในวารสารพระสยาม ฉบับพิเศษ ปี 2556 เพื่อรำลึกถึงสถานการณ์วิกฤตในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า
ผมเป็นผู้ว่าการในช่วงประเทศชาติยากจน ธปท.ก็ร่อแร่ ข้างในก็มีปัญหาบริษัทเงินทุน มีปัญหาเงินเฟ้อ เงินฝืด เกิดพร้อม ๆ กัน ทั้ง ๆ ที่ปกติไม่ค่อยเกิดแบบนี้ เพราะช่วงนั้นดอกเบี้ยต่างประเทศสูง ดอกเบี้ยในประเทศต่ำ เงินก็ไหลออกนอกประเทศหมด เงินหายาก และปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง คือทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนจำกัด ไม่ได้อู้ฟู่เหมือนทุนสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบัน…
1
...นอกจากนี้ยังมีปัญหาของบริษัทเงินทุนธนาคารพาณิชย์ที่มีฐานะง่อนแง่น เช่น เอเชียทรัสต์ที่แบงก์ชาติต้องเข้าไปเทกโอเวอร์ บริษัทเงินทุนที่ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เวลาหาทุนต้องกระเบียดกระเสียร ดูให้รอบคอบ มีปัญหาตลอดเวลา หมดปัญหาเก่าก็มีปัญหาใหม่เข้ามา แก้ไขไปทีละขั้นตอน อย่างน้อยก็ทำให้เสถียรภาพทางการเงินดีขึ้น เงินเฟ้อที่สูงเกือบร้อยละ 20 ลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 1 เมื่อผมออกจากธนาคาร
1
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ผู้เคยร่วมงานใกล้ชิดกับคุณนุกูล ได้กล่าวไว้ว่า
สมัยที่คุณนุกูล เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ เห็นว่ากระทรวงการคลังใช้จ่ายเงินเกินตัว ท่านได้ทำหนังสือที่เราเรียกกันว่า "กระบี่เขียว" เพราะชอบเซ็นชื่อด้วยหมึกสีเขียว ส่งถึงรัฐมนตรีให้ปรับการคลังให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่ทำให้ประเทศล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อแบงก์ชาติ ทุกวันนี้หายากแล้วที่จะมีผู้บริหารประเทศบอกนักการเมืองให้แก้ไขปัญหาแบบนี้
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม
1
ในช่วงสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงของคุณนุกูลกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ซึ่งได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ปลดคุณนุกูลพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2527 หลังจากที่คุณนุกูลถูกบีบให้เปลี่ยนแปลงจุดยืน แต่คุณนุกูลเห็นว่าจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี จะกลายเป็นว่า ผู้ว่าการฯ ต้องทำให้นักการเมืองพึงพอใจจึงจะอยู่ได้
ขอสดุดีความซื่อสัตย์และความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ยืนหยัดไว้ดีแล้ว ตลอดจนคุณงามความดีใด ๆ ของคุณนุกูลที่ได้สร้างไว้ให้กับเศรษฐกิจส่วนรวมเพื่อคนไทยทุกคน ได้ส่งผลให้ท่านไปสู่สุคติสัมปรายภพครับ
2
ผู้เขียน : สุพริศร์ สุวรรณิก
1
หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
**บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด**
โฆษณา