27 ก.พ. 2023 เวลา 15:52 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand)

🕐“กว่าจะเป็นวีไอ” ขาว : ณภัทร ปัญจคุณาธร🕣

🕙ปี ค.ศ. 2002 : “หนังสือหุ้นเปลี่ยนชีวิต”
ก่อนหน้านี้ผมก็ได้มีการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้มาบ้างแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง บังเอิญแว่วเสียงได้ยินญาติมิตรพูดคุยสนทนากันเรื่อง “หุ้น” จึงเกิดความสนใจขึ้นมา ญาติคนนั้นแนะนำให้ผมลองอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “ตีแตก” (ตีแตก : กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต / ผู้เขียน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร)
ตลาดหนังสือหุ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังเผชิญหมอกฝุ่นตลบอบอวลไม่จางหายจากวิกฤตต้มยำกุ้ง (Tom Yum Kung Crisis, 1997 [Asian financial crisis]) นั้นไม่คึกคักเหมือนสมัยนี้ ผมออกเดินทางไปตามหาหนังสือเล่มดังกล่าวตามคำแนะนำ ณ ช่วงเวลานั้น บนชั้นวางหนังสือภายในร้าน มีหนังสือที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นอยู่เพียงเล่มเดียว นั่นก็คือหนังสือเล่มที่ผมกำลังตามหา...
cr. https://www.slowrich.net
📖โดยปกติแล้ว ผมเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือ เพราะขี้เกียจ ในช่วงวัยเด็กแม้แต่หนังสือการ์ตูนยังไม่คิดที่จะหยิบมาอ่านเลย หนังสือ “ตีแตก” เป็นหนังสือเล่มแรกที่ผมหลงใหล และอ่านรวดเดียวจนจบเล่ม ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย มันจุดประกายให้ผมเกิดความรู้สึกรักการอ่าน ต่อจากนั้นผมมีโอกาสได้สัมผัสหนังสือที่อาจส่งอิทธิพลต่อชีวิตเช่นกันนั่นคือ “พ่อรวยสอนลูก” (Rich Dad Poor Dad, Robert T. Kiyosaki) ผมอ่านจนครบทุกเล่มในซีรีส์
cr. https://themeaningful.co/book-summaries/rich-dad-poor-dad/
ด้วยความหมกมุ่น หลงใหล แรงบันดาลใจเอ่อล้น หรือจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมเกิดความใฝ่ฝัน อยากเป็นนักลงทุนในหุ้นที่ประสบความสำเร็จ แต่หนทางมันไม่ได้ง่ายดายดั่งใจคาดหวัง ผมเริ่มต้นโดยการเดินไปบอกกล่าวความต้องการกับคุณพ่อ ว่าเราศึกษามาแล้ว “การลงทุนในหุ้น คือการลงทุนในธุรกิจ”
ผลตอบรับกลับกลายเป็นว่าคุณพ่อไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิง เหตุเพราะเขาเคยลงทุนมาก่อน ผลลัพธ์คือการบาดเจ็บอย่างหนักท่ามกลางวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง “เป็นประสบการณ์อันเลวร้าย” เขากล่าวอย่างเด็ดขาดว่าอย่าเข้าไปข้องแวะกับวงการนี้เลย มันสุดแสนจะอันตราย
ผมยังไม่ละทิ้งความมุ่งมั่นพยายาม เข้าไปพูดคุยอธิบายกับคุณแม่ นี่คือโอกาสสุดท้าย ครอบครัวผมทำธุรกิจ และประสบปัญหาค่อนข้างหนักเมื่อต้องเผชิญกับวิฤตทางการเงินระดับภูมิภาคดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จนกิจการถึงขั้นกลายเป็นหนี้เสียกับธนาคาร สถานะทางการเงินของครอบครัวในช่วงเวลานั้นจึงไม่ได้มีเงินเก็บสะสมอยู่มากมายนัก “ถ้าหากอยากลงทุนจริงๆแล้วล่ะก็ เรายังมีใบหุ้น ปตท. เก็บไว้อยู่ เอาไปขายสิ แล้วจากนั้นก็นำเงินที่ได้ไปลงทุนเสีย” คุณแม่กล่าว
เอาล่ะ ยังไม่สิ้นไร้ไม้ตอกเสียทีเดียว ผมนำใบหุ้น ปตท. [บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)] ไปโอนหุ้นเข้าบัญชีหลักทรัพย์ จากนั้นจึงขายทันที เพื่อนำเงินที่ได้รับไปซื้อหุ้นตามแผนการที่วาดไว้ เป็นเงินจำนวน 1 ล้านบาท
“และนี่คือประสบการณ์ขายหมูครั้งแรก ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นลงทุนเลย” กล่าวคือ หุ้น ปตท. นั้นถูกนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายครั้งแรก (IPO) ณ ราคา 35 บาทต่อหุ้น หากคำนวณภายหลังการแตกพาร์ จะมีราคาหุ้นเท่ากับ 3.50 บาท ผมขายหุ้น ณ ราคาที่เกือบถึงจุดต่ำสุดตลอดกาล ตั้งแต่ ปตท. เข้าตลาดมา ประมาณ 3 บาท ซึ่งถ้าหากอดทนถือมาจนถึงปัจจุบัน (2021) ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมากว่า 12 เท่าจากราคา IPO และ 14 เท่า นับจากราคาที่ผมขายไป
1
🕙ปี ค.ศ. 2003 : “ไทยวีไอ จุดเริ่มต้นวิถีนักลงทุนเน้นคุณค่า”
วันธรรมดาวันหนึ่ง ผมเดินทางไปต่างจังหวัด และบังเอิญซื้อหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจติดมือไปด้วย ระหว่างที่กำลังพลิกหน้าหนังสือพิมพ์ไปมา สายตาพลันเหลือบไปปะทะกับคอลัมน์หนึ่ง บังเอิญเหลือเกินที่ ดร.นิเวศน์ คือผู้เขียนบทความนั้น ภายในกลุ่มตัวอักษรอันอัดแน่นเรียงราย มีอยู่วรรคตอนหนึ่งที่อาจารย์กล่าวพาดพิงถึง “เว็บบอร์ดไทยวีไอ” (https://board.thaivi.org/) ซึ่งต่อมาได้เกิดพัฒนาการจากเว็บบอร์ดธรรมดาๆ จนเติบโตแปรเปลี่ยนมาเป็น “สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)” ในปัจจุบัน
สถานที่แห่งนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตนักลงทุนของผมไปตลอดกาล ผมเริ่มต้นปรับทัศนคติด้านการลงทุน โดยมี ดร.นิเวศน์ เป็นแรงบันดาลใจ ศึกษาอย่างเจาะลึกว่าเขาลงทุนอย่างไร ถือหุ้นใดอยู่บ้าง วิเคราะห์หาคำตอบว่าอาจารย์ซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านี้เพราะอะไร ทั้งนี้ก็เพื่อเรียนรู้ด้านธุรกิจ และค้นหาแนวทางการลงทุน จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายขอบเขตไปศึกษานักลงทุนไทยเก่งๆ ท่านอื่น เช่น คุณพีรนาถ โชควัฒนา เป็นต้น
cr. Thai VI
กระบวนการลงทุนในช่วงแรกของผมนั้นเป็นไปตามตำราอย่างตรงไปตรงมา มุ่งเน้นไปยังหุ้นซึ่งมีอัตราส่วนทางการเงินที่ดี ราคาถูก มีประวัติการจ่ายเงินปันผลยาวนาน เรียกได้ว่าสนใจแต่ “ปัจจัยเชิงปริมาณ” อย่างสุดโต่ง มันใช้ได้ผลดีเกินคาด ประกอบกับตลาดหุ้นในช่วงเวลานั้นเป็นขาขึ้น ภายหลังจากการทรุดตัวลงอย่างหนักของดัชนีตลาดในช่วงต้มยำกุ้งก่อนหน้านี้ โอกาสของการเลือกหุ้นถูกตัวนั้นมีมากมายนัก ความมั่งคั่งของผมเติบโตอย่างก้าวกระโดด📈
🕙ปี ค.ศ. 2008 : “วิกฤตแห่งความสั่นคลอน”
👩‍❤️‍👨ผมเข้าพิธีแต่งงานเมื่อปี 2007 เจรจาต่อรอง โน้มน้าวจิตใจภรรยาด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ใช้เวลาอยู่นาน เพื่อให้เธอตกลงปลงใจ ยินยอมยกเงินค่าซองที่ได้รับจากงานแต่งงานทั้งหมด นำมาลงทุนในหุ้น “การลงทุนในหุ้นมันไม่ได้เสี่ยงอย่างที่เธอคิด มันคือการลงทุนในธุรกิจ” ผมพยายามอธิบายเหตุผลให้เธอฟัง ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ตามดั่งความฝัน
วันเวลาผ่านล่วงเลยมาจนถึงกลางปี 2008 ภรรยาให้กำเนิดลูกคนแรก ผมเพิ่มเงินลงทุนอีกเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญก็เพื่ออนาคตที่ดีของพวกเขา ก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (Subprime Crisis, 2008) เพียงไม่กี่เดือน
📉“วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์” ส่งผลกระทบให้ความมั่งคั่งจากกำไรที่บากบั่นสะสมมาตลอด 6 ปี มลายหายไปในพริบตาเดียว จาก 25 ล้านบาท เหลือเพียงไม่ถึง 2 ล้านบาท สภาพจิตใจมันห่อเหี่ยวเหลือเกิน ครอบครัวพยายามทักท้วงว่าควรขายหุ้นล้างพอร์ตไปให้หมดก่อนดีไหม อย่างน้อยก็ยังเหลือเงินทุนอยู่บ้าง
แต่พอตั้งสติให้ดีผมคิดว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ ต่อการประกอบกิจการของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่เลย มันเป็นเรื่องของ “กระแสเงินที่ไหลออกไปจากตลาดหุ้น” (Capital flight) ไม่ได้กระทบต่อตัวธุรกิจซึ่งอยู่เบื้องหลัง การทำมาหากินทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนการที่บริษัทกำหนดไว้ อีกทั้งหุ้นที่ถืออยู่ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องต่ำ หากเร่งขายหุ้นออกไป ราคายิ่งร่วง มีแต่จะเป็นการทำร้ายตัวเอง ช่วงนั้นทำอะไรไม่ได้เลย
เราคิดว่าราคาหุ้นในเวลาเช่นนี้ ถ้ามีเงินเหลือควรจะต้องซื้อหุ้นเพิ่มอีกด้วยซ้ำ จึงอธิบายกับครอบครัวว่าจะขอสู้ต่อ
ภายหลังสภาวการณ์ต่างๆ ความรู้และประสบการณ์ค่อยๆสั่งสม ส่งผลให้ผมปรับเปลี่ยนวิถีทาง มุ่งเน้นกระบวนการลงทุนไปยังการค้นหา “หุ้นเติบโต” (Growth Stock) เริ่มต้นจากการผลักนำตนเองไปสู่การเป็น “นักสังเกตการณ์”
เข้าร่วมกิจกรรมเกือบทุกอย่างที่บริษัทจดทะเบียนจัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานนำเสนอบริษัท (Roadshow), บริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day), การเยี่ยมชมกิจการ (Company Visit) ไปจนถึงการลงพื้นที่เพื่อสำรวจกิจการจริง (Scuttlebutt) ตามหลักการลงทุนของ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์ (Philip Fisher)” ซึ่งได้รับการขนานนาม ยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการลงทุนในหุ้นเติบโต
cr. https://www.azquotes.com/author/21030-Philip_Arthur_Fisher
ผมเปลี่ยนแปลงมุมมองมาให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ “ปัจจัยเชิงคุณภาพ” มากขึ้นกว่าสมัยก่อนที่สนใจเพียงแค่ตัวเลขในงบการเงิน อีกทั้งในยุคสมัยนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจในประเด็นเรื่องการเติบโตของบริษัทในอนาคต ส่งผลให้ราคาหุ้นของกิจการที่มีศักยภาพสูงๆ ซึ่งยังไม่ปรากฏให้เห็นในเชิงตัวเลข ไม่แพงจนเกินไป
"การลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี เราควรเข้าลงทุนในช่วงที่ภาพแห่งอนาคตยังเลือนลาง พร่าเลือน และไม่ชัดเจน เหตุเพราะว่าเมื่อใดที่ภาพมันแจ่มชัด ทุกอย่างจะสะท้อนไปยังราคาหุ้น ทุกคนรับรู้หมดสิ้นแล้ว มันไม่มีวันเป็นการลงทุนที่ดีอีกต่อไป"
ปัจจัยที่จะทำให้เราสามารถคาดการณ์อนาคตได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุดคือ “ความเข้าใจในพื้นฐานกิจการอย่างถ่องแท้” อย่างน้อยที่สุดคุณจำเป็นต้องอ่านรายงานประจำปี ต้องเข้าใจในสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่ให้ลึกซึ้งก่อน “จินตนาการแห่งอนาคตอันพร่าเลือน จะค่อยๆแจ่มชัดขึ้นมา” เปิดโอกาสให้เราค้นพบหุ้นเติบโตในอนาคต และเข้าซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป “คุณต้องซื้อหุ้นเติบโต ในตอนที่มันยังไม่โต คนยังไม่สนใจ ไม่เป็นกระแสนิยม”
ส่วนใหญ่เวลาตลาดเป็นขาขึ้น ผมจะไม่ค่อยได้ซื้อหุ้นสักเท่าไหร่ และหลักการบริหารพอร์ตการลงทุนในภาพรวมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ควรชั่งน้ำหนักให้ดี หุ้นของบริษัทที่ผมมั่นใจ มีความรู้ความเข้าใจมากพอก็จะถือในสัดส่วนเยอะหน่อย ส่วนหุ้นที่ยังไม่มั่นใจแต่น่าติดตามก็มีไว้ครอบครองในปริมาณน้อย อย่าถือหุ้นน้อยตัวจนเกินไป ทั้งนี้การจัดพอร์ตควรคำนึงถึงความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก
💰หลักการลงทุนให้สอดคล้องไปกับวิถีชีวิตมีเพียง 5 ข้อ💰
1⃣ ลงทุนในธุรกิจที่เรามีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดี และมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคต หลีกเลี่ยงหุ้นซึ่งกำลังเป็นกระแสนิยม แต่เราไม่เข้าใจมันเลย
2⃣ ซื้อหุ้นในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป มีส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic value) กับราคาตลาดที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง นี่คือวิธีการจำกัดความเสี่ยงซึ่งดีที่สุด
3⃣ กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ไม่ถือหุ้นมากหรือน้อยบริษัทจนเกินไป โดยส่วนตัวแล้วผมมีหุ้นหลักในพอร์ตประมาณ 7 บริษัท ซึ่งคิดเป็น 80% ของพอร์ตรวม ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และความสบายใจ ส่วนที่เหลือเป็นหุ้นของบริษัทที่เรากำลังติดตามอยู่ แต่ยังไม่มั่นใจนัก ก็ซื้อติดพอร์ตไว้นิดหน่อย จริตการลงทุนของผมมักจะถือหุ้น 100% ตลอดเวลา ไม่ค่อยถือเงินสด และไม่เคยใช้เงินกู้ยืมเพื่อมาลงทุนเลย (Margin account) ทำไม่เป็น
4⃣ อดทนถือครองหุ้นที่เราคัดเลือกมาเป็นอย่างดีแล้ว ให้นานที่สุด ติดตามผลประกอบการ ความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีกำหนดเวลาในการขายหุ้นที่แน่นอน ตราบใดที่สถานการณ์รอบด้านยังดีอยู่ ราคารับได้ ก็ถือต่อไป
5⃣ ลงทุนอย่างมีความสุข กินอิ่ม นอนหลับ การลงทุนในหุ้นคือการลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งเราควรลงทุนในด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องของสุขภาพ ครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และการทำประโยชน์กลับคืนสู่สังคม
🖋ขาว : ณภัทร ปัญจคุณาธร
อดีตกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
ขอขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลบางส่วนจาก
📎ถามมือเก๋า VI - EP.8 แก่นการลงทุน, Thai vi media.
📌Recap. 2023📌
ปัจจุบัน “ขาว : ณภัทร ปัญจคุณาธร” ครอบครองพอร์ตการลงทุนในหุ้นไทย (ไม่รวมเงินสด อสังหาฯ กองทุน หุ้นต่างประเทศ หุ้นที่ไม่ติดอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรก และสินทรัพย์อื่นๆ นอกตลาดหุ้น หรือในนามบุคคลอื่น) มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 5 ของ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) : CPANEL (ข้อมูลจาก Inno Radar by Innovest X, 26/02/2023)
โฆษณา