Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sarakadee Lite
•
ติดตาม
1 มี.ค. 2023 เวลา 07:59 • ไลฟ์สไตล์
ชวนไปถอดความหมายและรายละเอียดชุดเจ้าสาวในงานแต่งงานแบบเพอรานากัน
ในงานแต่งงานของชาว “เพอรานากัน” หรือ “บ้าบ๋า ย่าหยา” ซึ่งเป็นวัตนธรรมดั้งเดิมที่ยังคงอยู่ในจังหวัดภูเก็ตนั้น “มงกุฏดอกไม้ไหว” ที่ประดับศีรษะเจ้าสาวเป็นชิ้นงานเครื่องประดับทรงคุณค่าที่ต้องใช้ความประณีตในการทำอย่างมากและนับวันก็จะหาช่างฝีมือดอกไม้ไหวได้ยากเช่นกัน เช่นเดียวกับในงานแต่งงานระหว่าง “ปอย-ตรีชฎา” และ “โอ๊ค – บรรลุ หงษ์หยก” ที่ถือฤกษ์ดีวันที่ 1 มีนาคม 2566 จัดงานตามแบบพิธีโบราณของชาวภูเก็ต
พร้อมสวมใส่ชุดแบบดั้งเดิมโดยที่เจ้าสาวเกล้าผมทรง “ชักอีโบย” ด้านหน้าหวีเรียบตึง ด้านข้างทั้งสองด้านดึงให้โป่งคล้ายแก้มปลาช่อน (หรือคล้ายปีกนก) เรียกว่า “อีเปง” ส่วนด้านหลังโป่งคล้ายหอยโข่ง เรียกว่า “อีโบย” ตรงกลางเป็นมวยครอบอีกชั้นด้วยเครื่องประดับที่เรียกว่า “ฮั่วก๊วน”
“มงกุฏดอกไม้ไหว” หรือ “ฮั่วก๊วน” ในภาษาจีนฮกเกี้ยน ตัวมงกุฏทำจากโลหะชุบทอง หรือถ้ามีฐานะดีก็ทำจากเส้นทองของจริง ฐานนิยมล้อมด้วยไข่มุก ตัวฐานอาจสูงถึง 3 นิ้ว ตามความต้องการของผู้สวม แต่หากฐานสูงแล้ว ด้านบนที่ประดับดอกไม้ระยิบระยับจากดิ้นเงินดิ้นทองต้องสูงไปด้วยเพื่อให้เห็นถึงความสั่นไหว ส่วนจำนวนดอกไม้นั้นก็มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ที่นิยมตามโบราณคือ 12 ดอก สอดคล้องกับสัญลักษณ์หลายอย่างทั้งจำนวนเดือนในรอบปี จำนวน 12 นักษัตร หรือความเชื่อในพิธีแต่งงานที่จะไหว้เทพเจ้า 12 ครั้ง
นอกจากนั้นยังมีเครื่องประดับล้อมมงกุฏอย่างปิ่นสีทอง ที่สำคัญคือผีเสื้อ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคู่ดอกไม้ และนกฟีนิกซ์สัญลักษณ์แห่งความเป็นอมตะเพราะฟื้นคืนชีพได้ เปรียบเหมือนชีวิตและรักนิรันดร์
ในส่วนของชุดนั้นเจ้าบ่ายนิยมใส่ชุดสูทสากล หรือไม่ก็ชุดนายเหมืองในอดีต ส่วนเจ้าสาวจะใส่ชุดที่ผสมผสานระหว่างมาเลเซียและจีน สะท้อนของรากวัฒนธรรม “เพอรานากัน” หรือ “บ้าบ๋า ย่าหยา” ที่หมายถึงคำเรียก ลูกผสมระหว่างชาวจีนกับชาวพื้นถิ่นในแถบประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และทางภาคใต้ของไทย ซึ่งมีร่องรอยวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน
ในอดีตเจ้าสาวจะประดิษฐ์มงกุฎเองเป็นวัฒนธรรมของชาวบ้าบ๋า หรือเจ้าสาวที่เมื่ออายุ 12 ปีจะไม่ได้ออกนอกบ้านอีกเพื่อฝึกความเป็นกุลสตรีรอวันออกเรือนตามที่ผู้ใหญ่จัดหา เมื่อเจอเจ้าบ่าวครั้งแรกจึงมักเขินอายจนเกสรดอกไม้บนมงกุฎสั่นไหว หากไม่สั่นไหวอาจหมายถึงว่าเจ้าสาวเคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว
ด้านคำว่า เพอรานากัน (Peranakan) เป็นคำจากภาษามลายู ให้ความหมายว่า “เกิดที่นี่” แน่นอนว่าการเกิดที่นี่ย่อมทำให้ชาวเพอรานากันในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ มีการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป เรียกว่ามีความคล้ายแต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
ภาพ : เผยแพร่ใน FB บ้านอาจ้อ (ช่างภาพ : JAKAWIN PHOTOGRAPHY)
อ้างอิง
• นิตยสารสารคดี กุมภาพันธ์ 2562
• FB: บ้านอาจ้อ
1 บันทึก
2
1
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย