1 มี.ค. 2023 เวลา 17:39 • ศิลปะ & ออกแบบ

ก้อนขี้ผึ้งสีแดงของ อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor)

อนิช คาพัวร์ เป็นศิลปินระดับโลกที่ไม่มีใครไม่รู้จัก โดยพื้นฐานแล้วเขาเป็นศิลปินที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชื่ออย่างมาก ขณะนี้เขาอาศัยและทำงานอยู่ที่ ลอนดอนประเทศอังกฤษ แต่เดิมเเล้วเขามีเชื้อสายอินเดีย ได้เติบโตมาในครอบครัวที่มีเเม่เป็นชาวยิว และพ่อที่นับถือศาสนาฮินดู นอกไปจากนั้นเข้ายังเคยนับถือศาสนาคริสต์ ก่อนจะหันมานับถือศาสนาพุทธในภายหลัง
เป็นที่แน่นอนว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม และศาสนาได้ส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของเขาอย่างแน่นอน เขามีความเชี่ยวชาญในงานศิลปะจัดวาง (Installation art) และศิลปะแนวความคิด (Conceptual Art) โดยในช่วงทศวรรษ 90 เขาเริ่มมีการใช้ขี้ผึ้งสีแดงในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งต่อมาก็ได้กลายมาเป็นเป็นลักษณะเฉพาะในงานของเขา
หลายคนคงจะได้ชมงานของเขาจากเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครมาบ้างแล้ว อย่างงาน Push Pull (2009) เป็นงานประติมากรรมขี้ผึ้งสีแดงลักษณะครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ที่เกิดจากแผ่นไม้เจาะรู ตั้งอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ นั่นเอง
ในงาน Svayambhu (2007) อ่านว่า สวยัมภู หรือ สยัมภู เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ซึ่งหมายถึงการสร้างตัวเอง หรือเกิดขึ้นเอง นอกจากนี้ยังหมายถึง พระอิศวร หรือพระพุทธเจ้าได้อีกด้วย ชิ้นงานนี้เป็นขี้ผึ้งสีแดงมีรูปร่างคล้ายรถไฟ ถูกจัดวางเพื่อให้เคลื่อนผ่านประตูห้องต่าง ๆ อย่างเชื่องช้าบนทางที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ เมื่อก้อนขี้ผึ้งสีแดงเคลื่อนผ่านไปก็จะหลงเหลือร่องรอยเอาไว้บนพื้น และประตู ร่องรอยสีแดงที่สึกกร่อนนี้ศิลปินตั้งใจที่จะสื่อถึงร่องรอยของความเจ็บปวดจากการกดขี่ข่มเหงผู้นับถือศาสนายิว
ผลงาน Shooting into the Corner (2008-2009) หรือ “ยิงเข้ามุม” คือการยิงก้อนขึ้ผึ้งสีแดงที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอก มีน้ำหนักถึง 11 กิโลกรัม ยิงผ่านเครื่องยิงปืนอัดลมที่มีลักษณะเหมือนปืนใหญ่เข้าไปที่มุมห้อง ทุกๆ 20 นาที สื่อถึงความก้าวร้าว ความตึงเครียด ความเย้ายวน และพลังที่น่าดึงดูด
ผลงาน My Red Homeland “บ้านเกิดสีแดงของฉัน” สื่อถึงจุดกำเนิดของมนุษย์ เป็นงานที่ประกอบด้วยแท่นวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เมตร และขี้ผึ้งสีแดงประมาณ 20 ตัน ถูกเกลี่ยให้เป็นวงกลมหน้าเรียบด้วยโลโหะ
“ขี้ผึ้ง และสีเเดง"
อนิช คาพัวร์ เป็นศิลปินที่ใช้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในงานของตน สำหรับแนวคิดที่น่าจะส่งผลต่องานขี้ผึ้งสีเเดงของเขามากที่สุดคงจะเป็น ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ เป็นที่แน่นอนว่าสีแดงในงานของเขานั้นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเลือดเนื้อร่างกายของมนุษย์ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ การเกิด การตาย ทั้งนี้การเกิดยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับความหมายของอวัยวะเพศของแม่ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่งทั้งหลาย
ทั้งนี้เนื้อหางานไม่ได้มีเเนวคิดไปทางเหยียดหยัน หรือด้อยค่า เเต่เป็นไปในลักษณะของการเทิดทูนบูชาอย่างที่ชาวฮินดูนับถือในโยนี และศิวะลึงค์ เพราะเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดชีวิต ไม่เพียงเเต่มนุษย์เท่านั้นแต่ยังเป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกอีกด้วย
การเลือกขี้ผึ้งมาใช้ในงานของเขา เป็นการเลือกใช้วัสดุได้อย่างน่าสนใจ ด้วยก้อนขี้ผึ้งเองมีความยืดหยุ่นในด้านความหมายมาก ก้อนขี้ผึ้งสามารถเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นของเหลวได้ตามอุณหภูมิ เปลี่ยนรูปร่างได้ตามแบบหรือพิมพ์ที่เราต้องการ
ขี้ผึ้งยังเป็นวัสดุที่ใช้มาตั้งแต่โบราณ ใช้ในการจุดไฟเพื่อให้แสงสว่าง และยังมีความหมายที่ทำให้นึกถึงการผูกพันเข้ากับศาสนาอันเปรียบเสมือนเเสงสว่าง และปัญญา ส่องทางในด้านการใช้ชีวิต
ขี้ผึ้งเมื่อผสมเข้ากับสีแดงยังมีลักษณะเหมือนก้อนเลือดเนื้อที่เป็นจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าก้อนขี้ผึ้งสีแดงของ อนิช คาพัวร์ สามารถทำให้เราคิดต่อ เเละตั้งคำถามกับความหมายของวัสดุชิ้นนี้ได้อีกมาก
-ซับศิลป์-
โฆษณา