3 มี.ค. 2023 เวลา 13:57 • การศึกษา

คดี “ดูหมิ่นศาล” กับ “ละเมิดอำนาจศาล”

  • ความผิดฐาน “ดูหมิ่นศาล” และ “ละเมิดอำนาจศาล” เป็นความผิดที่ดูเหมือนว่าจะคล้ายกัน แต่ความผิด 2 ฐาน นี้แตกต่างกันมาก
ความผิดฐานดูหมิ่นศาล อยู่ในประมวลกฏหมายอาญา ม.198
ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อยู่ใน ป.วิ.แพ่ง ม.30 - 33
วัตถุประสงค์ของกฎหมาย > เพื่อคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี ให้ได้การดำเนินคดีของศาลไม่ถูกรบกวน มีความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนให้ความเคารพและปฏิบัติตาม คุ้มครองการทำหน้าที่ของบุคคลต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ศาล ฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย รวมถึงพยาน ให้รู้สึกปลอดภัย
ป.อาญา ม.198 ผู้ใดดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณา หรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
* ดูหมิ่น คือ การดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น การสบประมาท การด่าทอ ซึ่งจะกระทำด้วยวาจา กริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ เช่น ชูนิ้วกลางให้ ยกเท้าให้
คำด่าหรือคำหยาบคายที่เข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้อื่น เช่น ด่าว่า "อีหน้าหมา" "ดอกทอง" "ไอ้สัตว์" "อีตอแหล" "ไอ้เหี้ย" เป็นต้น
ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ปรากฏอยู่ใน ป.วิ.แพ่ง
ม.30 ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความ..... หรือแก่บุคคลภายนอก ที่อยู่ต่อหน้าศาล ตามที่เห็นจำเป็น > เพื่อความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนการพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว....
  • ตาม ม.30 ศาลต้องออกข้อกำหนดเสียก่อน จะเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจาก็ได้ ถ้าฝ่าฝืนถึงจะลงโทษได้
ม.31 ผู้ใดกระทำการอย่างใดๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ถือว่ากระทำผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล”
1. ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล อันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
2. เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล [ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา] ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริง หรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ [คนรวยปลอมตัวเป็นคนจน] ในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียม
3. เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความ หรือเอกสารถึงตน แล้วจงใจไปเสีย หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้น
4. ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวน หรือคัดเอาสำนวนเอกสารไป โดยฝ่าฝืนมาตรา 54
  • ม.54 บัญญัติไว้โดยเฉพาะเมื่อการตรวจหรือคัดลอก เอกสารโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และที่เป็นผิดก็คงเป็นเฉพาะกระทำต่อเอกสารเท่านั้น ถ้ากระทำต่อวัตถุพยาน ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
5. ขัดขืนไม่มาศาลเมื่อศาลได้มีคำสั่งตาม มาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตาม มาตรา 277
  • กรณีตาม ม.31 ถ้ากระทำตาม 1-5 ผิดทันที ศาลไม่ต้องออกข้อกำหนดเหมือนใน ม.30
ม.32 หนังสือพิมพ์ หรือสื่อที่ออกโฆษณาต่อประชาชน ละเมิดอำนาจศาล 2 กรณี ดังนี้
1. เปิดเผยข้อเท็จจริง พฤติการณ์แห่งคดี กระบวนการพิจารณา
2. ระหว่างพิจารณาจนถึงคดีถึงที่สุด วิพากษ์วิจารณ์สร้างอิทธิพลทางความคิด
ม.33 กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธี ดังนี้
1. ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
2. ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • การไล่ออกจากบริเวณศาล ให้กระทำได้ชั่วระยะเวลาที่ศาลนั่งพิจารณา หรือภายในระยะเวลาใดๆ ก็ได้ ตามที่ศาลเห็นสมควร
  • โทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท
  • ดังนั้น “การดูหมิ่นศาล” และ “การละเมิดอำนาจศาล” มีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน
  • “การดูหมิ่นศาล” จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ การดูหมิ่นนั้นเป็นการดูหมิ่นศาลหรือตัวผู้พิพากษา > อันเนื่องมาจากการพิจารณา หรือพิพากษาคดี เช่น การกล่าวหาว่าผู้พิพากษาไปกินข้าวกับโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี การดูหมิ่นว่าศาลไม่ยึดหลักกฏหมายในการพิพากษา เป็นต้น
นอกจากการพูดจาหรือแสดงออกว่าดูหมิ่นโดยตรงแล้ว การกระทำอย่างอื่นที่เป็นไปเพื่อขัดขวางการพิจารณาคดีหรือการพิพากษาคดีของศาล ก็เป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลได้ เช่น การส่งเสียงเอะอะเอ็ดตะโร
  • ความผิดฐานดูหมิ่นศาล บทลงโทษรุนแรงกว่าละเมิดอำนาจศาล
  • ความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” เมื่อเกิดขึ้นต่อหน้า ศาลมีอำนาจสั่งลงโทษได้ทันที ไม่ต้องมีกระบวนการพิจารณา
  • ความผิดฐาน”ละเมิดอำนาจศาล” เป็นบทบัญญัติพิเศษ ความผิดอื่นที่มีโทษจำคุก ไม่ว่าตามกฏหมายใด การจะเอาผิดหรือสั่งลงโทษได้ ต้องมีกระบวนการทางคดี
  • ความผิดฐาน “ละเมิดอำนาจศาล” หากไม่ได้เกิดขึ้นต่อหน้า ผู้พิพากษาอาจเรียกผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาไต่สวนไปฝ่ายเดียว จนได้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลพอใจ ก็สามารถตัดสินลงโทษได้
  • บทบัญญัติเรื่อง “ละเมิดอำนาจศาล” เป็นกฎหมายพิเศษ ที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ไม่ต้องสอบถามเรื่องทนายความ ไม่ต้องสาบานตน ดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป
  • ช่วงเวลาบังคับใช้
ความผิดฐานดูหมิ่นศาล > ระหว่างการพิจารณาคดีหรือพิพากษาคดี
🙏 ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ กรุณากด “ถูกใจ” และกด “แชร์” ด้วยครับ 🙇‍♀️🙇🙇‍♂️
โฆษณา