4 มี.ค. 2023 เวลา 04:00 • ธุรกิจ

4ช่องต้องรู้ EP.11 : ค่านิยมองค์กรกับวัฒนธรรมองค์กร

4ช่องต้องรู้ EP.11 ในวันเสาร์นี้ พูดถึงแนวทางการอธิบายคำว่า “ค่านิยมองค์กร” [Core Values] กับ “วัฒนธรรมองค์กร” [Corporate Culture] โดยใช้หลักคิดของตารางสี่ช่อง จำแนกตามสององค์ประกอบหลัก ได้แก่
(1) ความจับต้องได้ของคุณลักษณะ
(2) บุคคลผู้แสดงคุณลักษณะ
ซึ่งพบว่าสามารถนำมาใช้อธิบายได้ดี ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความแตกต่างของสองคำนี้ได้ชัดเจนขึ้น
🔎 สี่ช่องใน EP นี้ ว่าด้วย ความสัมพันธ์และความแตกต่างของ “ค่านิยมองค์กร กับ วัฒนธรรมองค์กร” เมื่อเอาตารางสี่ช่องมาอธิบายศัพท์สองคำนี้ โดยใช้
🔹แกนตั้ง → ใช้แทน “ความจับต้องได้ของคุณลักษณะ” [Tangibility of Beliefs & Behaviors]
ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ (1) จับต้องได้ยาก [Intangible] และ (2) จับต้องได้ง่าย [Tangible]
🔹แกนนอน → ใช้แทน “ผู้ที่แสดงคุณลักษณะ” [Demonstrator(s) of Beliefs & Behaviors]
ซึ่งก็แบ่งได้เป็น 2 ระดับคือ (1) ระดับบุคคล [Individual Employee] และ (2) ระดับองค์กร [Organization / All Employees]
เมื่อนำคุณลักษณะทั้งสี่ข้อจากสองแกน มาผสานกันเป็นคู่ ๆ จึงเกิดเป็น ตารางสี่ช่อง ซึ่งแต่ละช่องมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน จึงใช้อธิบายความแตกต่างของ ค่านิยมกับวัฒนธรรมองค์กรได้ชัดเจน ดังเนื้อหาด้านล่างนี้ครับ
🔎 ตารางสี่ช่อง ที่ให้นิยามและความหมายของคำศัพท์ได้ดี
🔹 [A]: “ความเชื่อส่วนบุคคล” [Personal Beliefs]
เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของแต่ละบุคคล และจับต้องได้ยาก [Intangible] แม้จะพบหน้ากันก็มักจะบอกไม่ได้ว่า เขามีความเชื่อถือศรัทธาในสิ่งใด / เขาให้คุณค่ากับสิ่งใดบ้าง จนกว่าได้พบปะเสวนากันในหลาย ๆ โอกาส เราจึงจะสามารถสรุปความได้ว่า คน ๆ นั้น เขามีความเชื่อความศรัทธา เคารพนับถืออะไร หรืองมงายในเรื่องใดเป็นพิเศษ
🔹 [B]: “บุคลิกภาพของบุคคล” [Personal Behaviors / Personality]
เพราะเป็นพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมา ปรากฏแก่สายตาของคนอื่น ๆ ที่ได้พบเห็น ซึ่งจับต้องได้ง่ายกว่า [Tangible] และถ้าเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาอย่างสม่ำเสมอคงเส้นคงวา ก็เรียกว่าเป็น นิสัยของบุคคลนั้น ซึ่งโดยนิยามแล้ว นิสัยใจคอของบุคคลก็คือส่วนหนึ่งของ บุคลิกภาพของบุคคล เช่นกัน
🔹 [C]: “วัฒนธรรมองค์กร” [Corporate Culture]
เพราะเป็นพฤติกรรมที่พนักงานส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมดในองค์กร) ได้แสดงออกมาให้ปรากฏแก่สายตาของคนอื่น ๆ ที่พบเห็น ซึ่งพฤติกรรมที่ว่านี้ จับต้องได้ง่ายกว่า [Tangible] ทั้งต่อคนภายในองค์กรและต่อสาธารณชน และถ้าพนักงานทั้งหมด แสดงชุดพฤติกรรมเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ ก็เรียกว่าเป็น วัฒนธรรมขององค์กรแห่งนั้น
🔹 [D]: “ค่านิยมองค์กร” [Core Values]
เพราะเป็นความเชื่อที่อยู่ในใจของพนักงานทุกคน (หรือคนส่วนใหญ่ในองค์กรนั้น) ซึ่งจะจับต้องได้ยาก [Intangible]
เช่น ค่านิยมด้านจริยธรรม [Ethics] แม้องค์กรนั้นจะมีการพิมพ์ “คู่มือจริยธรรมองค์กร” ออกมาแจกจ่ายแก่พนักงานทุกคน และจัดอบรมให้พนักงานใหม่ตอนเข้ารับปฐมนิเทศทุกรุ่น รวมทั้งได้ส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว
ตลอดจนมีการขึ้นป้ายแสดงค่านิยมองค์กร [Core Values Statement] ไว้ที่ผนังห้องอาหาร ห้องประชุม ตามมุมตึก ฯลฯ ก็ตามที แต่ก็ต้องเข้าไป “สัมผัส” กับบรรยากาศการทำงานจริง [Working Environment] ที่นั่นสักระยะหนึ่ง เราจึงจะสรุปได้ชัดเจนว่า องค์กรแห่งนั้น มีค่านิยมองค์กรเป็นอย่างไร และตรงกับที่ได้ประกาศไว้และที่ได้สื่อสารออกไปหรือไม่?
🔎 ขอนำ Definitions ที่เขียนได้น่าสนใจมาแทรกไว้ครับ
- Culture is the set of behaviors and practices that evolve from the values and mission of the company.
- A company’s core values, however, are like the roots of the tree acting as an anchor for the tree. If core values are the root, then, culture is what can be seen atop the tree. [จาก www.exexp.com]
ตีความออกมาได้ว่า วัฒนธรรมองค์กร คือชุดของพฤติกรรม และวิธีการดำเนินงานที่งอกเงยมาจาก “ค่านิยม”และ “พันธกิจ”ขององค์กร
หากเปรียบกับต้นไม้แล้ว ค่านิยมองค์กรเสมือน “ราก” ส่วนพันธกิจก็เสมือน “ลำต้น” และวัฒนธรรมองค์กร ก็เสมือน “กิ่งและใบ” ที่อยู่ส่วนยอดไม้ต้นนั้น ซึ่งผู้คนมองเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนสินค้า-การบริการขององค์กรแห่งนั้น ก็เสมือน “ดอกและผล” ครับ
(ลูกค้าและสังคม จะสามารถรู้จักและดื่มด่ำกับค่านิยมองค์กร ก็ต่อเมื่อได้ใช้สินค้า-การบริการขององค์กรนั้น) การมองเห็นต้นไม้/ใบไม้ ไม่อาจรู้ซึ้งถึงราก ซึ่งคือค่านิยมองค์กรแห่งนั้นได้
🔎 ข้อชวนคิด
Culture eats strategy for breakfast.
Peter F. Drucker
คำกล่าวจากคุณ Peter F. Drucker ถ้าแปลตรงตัวคือ วัฒนธรรมองค์กรกินกลยุทธ์เป็นอาหารเช้า
ซึ่งเป็นประโยคที่มีการถกเถียงกันพอสมควรในยุคหนึ่ง ว่าทำไมวัฒนธรรมองค์กร จึงต้องกินกลยุทธ์เป็นอาหารเช้า?
อธิบายได้ว่า กลยุทธ์นั้น ถ้าได้รับ “การออกแบบอย่างดี” จาก CEO จะเสมือน “เครื่องเสริมกำลัง” ให้วัฒนธรรมองค์กรเติบโต และเข้มแข็งขึ้นไปในทิศทางที่ควรเป็น
คล้ายกับการรณรงค์ให้ประชาชนกินอาหารเช้าก่อนไปทำงาน เพราะว่าอาหารเช้าที่มีคุณค่าย่อมส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงและมีพลังทำงานได้ดีฉันใด กลยุทธ์ที่ดีย่อมส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดีฉันนั้น
ใน EP.11 นี้ ผมอยากจะทิ้งท้ายไว้อีกประโยคหนึ่งว่า “Strategy also eats Core Values for breakfast.” แปลว่า กลยุทธ์ก็ต้องกิน (ได้รับ) ค่านิยมเป็นอาหารเช้าเช่นกัน
อธิบายได้ว่า การจะมี “กลยุทธ์ที่ดี” นั้น ก็ต้องกำหนดมาจาก “ค่านิยมที่ดี” ด้วย
เขียนสรุปทั้งหมด เป็นความสัมพันธ์ได้ว่า..
ค่านิยมองค์กร → กลยุทธ์ → วัฒนธรรมองค์กร
= ถ้าจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เราจะต้องมีกลยุทธ์ที่ดีก่อน แล้วการจะมีกลยุทธ์ที่ดีได้ ก็ต้องมีค่านิยมองค์กรที่ดีก่อน (มองให้ครบทุก shot จึงจะครบถ้วนครับ)
ทุกคนมีความเห็นอย่างไรบ้างครับ?
พบกันใหม่วันเสาร์หน้าครับ
โฆษณา