11 มี.ค. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน ประสบการณ์ใส่ไฟ

ผมชอบอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ (Science fiction / Sci-fi / ไซไฟ หรือที่ผมชอบเรียกว่า ใส่ไฟ) มาตั้งแต่เด็ก และในเมืองไทยสมัย 40-50 ปีก่อน ดูเหมือนคนไทยอ่านไซไฟมากกว่าตอนนี้
ตอนผมเป็นเด็ก มีนิตยสารชื่อวิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์ ขนาดเล็กนิดเดียว แต่อัดแน่นด้วยสาระ ภายในเล่มมีนิยายวิทยาศาสตร์เขียนโดย จันตรี ศิริบุญรอด มันเป็นประสบการณ์การอ่านไซไฟครั้งแรกของผม ผมในวัยเด็กอ่านนิยายเหล่านั้นด้วยความตื่นตาตื่นใจ เพราะตัวละครและเรื่องของเขาแปลกใหม่สำหรับผมในวัยนั้น เช่น มนุษย์ไฟ มนุษย์แมลง ดร.ยันตมันต์ ดร.รังสิมันต์ ดร.กรมัย
1
เรื่องสั้นของ จันตรี ศิริบุญรอด ช่วยเสริมสร้างหรือ ใส่ไฟ จินตนาการของเด็กวัยนั้นอย่างมาก
บ้านเราตอนนั้นมีงานไซไฟแปลมากทีเดียว อาจจะมากกว่าสมัยนี้ด้วยซ้ำ เช่น เรื่องเกี่ยวกับการเดินทางไปดวงจันทร์ ของ จูลส์ เวอร์น ยานเวลาของ เอช. จี. เวลล์ส ใน The Time Machine
เมื่อเข้ากรุงเทพฯ พบว่ามีพ็อคเก็ตบุ๊คไซไฟแปลมากมาย จัดทำโดยชุมนุมวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น เนบิวลา กาแลกซี่ ฯลฯ แปลงานฝรั่งออกมามากมายก่ายกอง
2
ในสมัยนั้นบ้านเราอุดมด้วยนิยายวิทยาศาสตร์ที่แปลมาจากฝรั่ง ที่โด่งดังเช่น ชุดสถาบันสถาปนา (Foundation) นักสืบหุ่นยนต์ (The Caves of Steel) ข้าคือหุ่นยนต์ (I, Robot) เป็นงานของ ไอแซค อสิมอฟ เสียมาก
เมื่อผมไปทำงานที่อเมริกา กิจกรรมหนึ่งที่ทำประจำคือเข้าร้านหนังสือมือสอง ซื้อนิยายไซไฟมาอ่าน ช่วงเวลานั้นผมอ่านไซไฟที่เป็นงานแบบจริงจังมากขึ้น เรียกว่า hard science fiction เช่น Childhoods End, 2001: A Space Odyssey, The Fountains of Paradise, Imperial Earth ของ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก
ครั้นกลับมาเมืองไทย เริ่มเข้าสู่วงการนักเขียน ก็เริ่มเขียนไซไฟ ความจริงผมเริ่มเขียนไซไฟมาตั้งแต่วัยรุ่น ในรูปนิยายภาพ
ยังมีจินตนาการความฝันจำนวนมากอยากระบายออกมา
1
ยุคที่ผมเริ่มเขียนไซไฟ หาสนามยากอย่างยิ่ง นิตยสารแทบทั้งหมดไม่รับนิยายวิทยาศาสตร์ โชคดีมีเล่มหนึ่งคือนิตยสาร Update ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ ไม่นานผมก็กลายเป็นขาประจำ มีงานตีพิมพ์ในนิตยสารเล่มนี้บ่อยๆ
ผ่านไปไม่กี่ปี ผมก็รวมงานไซไฟเล่มแรก คือ เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว
ตอนนั้นเองที่เรียนรู้เรื่องการตลาดอย่างหนึ่งว่า ไม่ควรมีคำว่า วิทยาศาสตร์ บนปกหนังสือ ไม่งั้นขายยาก เพราะคนกลัวคำว่าวิทยาศาสตร์
2
ก็น่าเห็นใจ และน่าเป็นห่วงในเวลาเดียวกัน
น่าเห็นใจเพราะถ้าพิมพ์ออกมาแล้วขายไม่ได้ เพราะคนกลัวคำว่าวิทยาศาสตร์ ก็ขาดทุน
1
น่าเป็นห่วงเพราะอย่างนี้เมื่อไรบ้านเราจะพัฒนาเรื่องการอ่านหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องวิทยาศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง
1
ช่วงสามสิบห้าปีในวงการนักเขียน ผมเขียนนิยายไซไฟไว้หลายสิบเรื่อง ทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย ประเด็นและสาระที่นำเสนอกว้างมาก ทั้งเรื่องสะท้อนสังคม เรื่องทำนายอนาคต เรื่องปรัชญา เรื่องตลก เรื่องเสียดสี ฯลฯ ผู้อ่านไม่น้อยไม่รู้ว่าขอบเขตของนิยายวิทยาศาสตร์คือไร้ขอบเขต มันจะเป็นเรื่องตระกูลไหนก็ได้ทั้งสิ้น
ขอเพียงรองรับด้วยหลักวิทยาศาสตร์ จะเป็นเรื่องสืบสวนสอบสวน เรื่องตำรวจปราบโจร แม้แต่เรื่องแย่งชิงมรดก หรือตบตีแย่งคู่ ก็เป็นไซไฟได้ ตราบที่เรื่องวางบนหลักวิทยาศาสตร์
1
เรื่องไซไฟจำนวนมากเกิดขึ้นมาจากการ ปั้นน้ำเป็นตัว จากศูนย์ ผมทำบ่อยๆ โดยตั้งโจทย์ด้วยประโยคว่า เกิดอะไรขึ้นถ้า...
2
เช่น เกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงคนหนึ่งตั้งท้องโดยที่เธอยังเป็นพรหมจารี (เรื่องสั้น ครรภ์ปริศนา)
1
เกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถเห็นอนาคต โดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ เราจะทำอย่างไรกับความรู้นี้ (เรื่องสั้น เกมพระพรหม)
1
นอกจากนี้นิยายวิทยาศาสตร์ก็สามารถใช้สะท้อนสังคมร่วมสมัยได้ ผมเองชอบเขียนเรื่องที่สามารถสะท้อนสังคมได้ด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ช่วงหนึ่งผมเจอคนประเภทที่แก้ปัญหาสุขภาพด้วยยาอย่างเดียว แต่ไม่ยอมดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันเลย อีกทั้งเชื่อว่าโลกมียาวิเศษ สามารถเสกปาฏิหาริย์ได้ ก็เกิดความคิดว่า เกิดอะไรขึ้นหากทุกอย่างในโลกแก้ด้วยยาจริงๆ สมมุติว่าในอนาคตเรามีวิทยาการที่ใช้ยารักษาได้ทุกอย่างได้จริง มันจะมีราคาที่เราต้องจ่ายไหม
3
เป็นที่มาของเรื่องสั้น 17020 : โลกแห่งความสุข สะท้อนและเสียดสังคมที่ชอบใช้ยา ในโลกอนาคตมนุษย์ใช้ยากับทุกอย่าง เรื่องหักมุมจบ 180 องศาถึงผลที่ตามมา
ครั้งหนึ่งผมจินตนาการเล่นๆ ว่า สมมุติว่าเราแก้ปัญหายาเสพติดที่ต้นตอ โดยคิดค้นสารเคมีหรือยาหรืออะไรสักอย่างที่เมื่อโปรยไปที่ไร่ฝิ่นแล้ว ฝิ่นจะหมดฤทธิ์เสพติด เป็นการแก้ปัญหายาเสพติดที่ต้นเหตุ กลายเป็นเรื่องสั้น ดอกไม้เหลืองเหนือเขาสูง เช่นกันเรื่องนี้ก็จบแบบหักมุม
2
ผมยังใช้นิยายวิทยาศาสตร์เสียดสีล้อเลียนสังคมด้วย ในเรื่องสั้นชื่อ บริโภคนิยม ผมแต่งเรื่องเสียดสีสังคมบริโภคนิยม โลกของการตลาดและโฆษณา โดยสร้างเรื่องว่ามนุษย์สามารถทำโฆษณาในตัวธรรมชาติเอง เช่น น้ำไหลออกมาเป็นรูปสินค้า ไปจนถึงการใช้ดวงดาวและท้องฟ้าเป็นโฆษณา
2
เรื่องสั้น ของฝากข้ามฟากฟ้า สะท้อนความมักง่ายของคน เมื่อเราทำลายขยะของโลกโดยส่งมันผ่านรูหนอนในจักรวาลไปทิ้งที่ดาวเคราะห์ดวงอื่น
เรื่องนี้จะอ่านเอาเพลินก็ได้ หรืออ่านเอาแค่รสเสียดสีสังคมก็ได้
เรื่องการกินการใช้โดยไม่มีวันพอของมนุษย์ ให้กำเนิดเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง มนุษย์มักกินโดยไม่นำพาวิธีการ เช่น บริโภคหูฉลามโดยวิธีการโหดร้าย จับฉลามมาตัดครีบ แล้วโยนกลับลงในทะเล
2
ในเรื่อง หางจิ้งจก ผมตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นหากเราสร้างหูฉลามจริงๆ โดยที่ไม่ต้องฆ่าฉลาม
แนวคิดคือในเมื่อจิ้งจกเวลาหางขาด สามารถงอกหางใหม่ได้ หากเราสามารถปรับเปลี่ยนยีนฉลามให้มียีนจิ้งจกผสม เมื่อตัดครีบฉลามตัวหนึ่ง มันก็สามารถงอกครีบใหม่ได้
2
นี่ย่อมเป็นเรื่องเสียดสีสังคมมนุษย์ที่กินไม่เลือก
คล้ายๆ จันตรี ศิริบุญรอด ที่เขียนเรื่องมนุษย์แปลกๆ เช่น มนุษย์ไฟ มนุษย์แมลง ผมก็ลองเขียนแนวนี้เช่นกัน ครั้งหนึ่งผมตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นหากเราสามารถรับพลังงานดวงอาทิตย์มาสู่โลก เป็นที่มาของเรื่อง จิตสุริยะ ชายคนหนึ่งมีความสามารถพิเศษ เป็นสื่อกลางรับพลังงานดวงอาทิตย์มาสู่โลก
2
ครั้งหนึ่งผมคิดว่าเกิดอะไรขึ้นหากเราสามารถใช้พายุเป็นอาวุธทำสงคราม เป็นที่มาของเรื่อง พายุพิฆาต เมื่อกองทัพสหรัฐฯวางแผนฆ่า บิน ลาเดน กับคาสโตร โดยใช้พายุทำลายที่พักของเป้าหมาย แต่แผนผิดพลาด มันกลายเป็นพายุแคทรีนาไปทำลายสหรัฐฯในปี 2005
3
เกิดอะไรขึ้นหากเราสามารถส่งคนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในพริบตาเดียว เป็นที่มาของเรื่อง โปรเจ็คท์ : เทเลสตาร์ นักวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์เครื่องส่งคนข้ามไปจุดที่ต้องการ ทำให้ประหยัดเวลาเดินทาง ทั้งทางบก ทางอากาศ ผลที่ตามมาคือนักประดิษฐ์ถูกฆ่า เพราะสิ่งประดิษฐ์ทำลายระบบเดิมหมดสิ้น มันจะส่งผลให้คนตกงานทั้งโลก
1
เรื่องนี้สะท้อนวิธีคิดของคนที่บางครั้งมีของใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ก็ไม่ใช้ นี่ไม่ใช่เรื่องแต่งเล่น ในโลกของความจริง รถยนต์พลังงานไฟฟ้าคันแรกๆ ในสหรัฐฯ ผลิตออกจำหน่ายแล้ว ถูกดึงกลับหมดจากลูกค้า เพราะมันไปทำลายบริษัทขายน้ำมัน
4
ผมมักขบคิดเรื่องสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาว และเขียนไว้หลายเรื่อง มีอยู่เรื่องหนึ่งผมอิงจากตำนานเมาคลีลูกหมาป่า ของ รัดยาด คิปลิง เมื่อลูกมนุษย์ถูกหมาป่าเลี้ยง ผมคิดต่อไปว่า สมมุติว่าลูกมนุษย์ถูกเลี้ยงโดยสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาว จะเป็นอย่างไร
1
ในเรื่องสั้น เด็กสองโลก เด็กชาวมนุษย์เกิดในต่างดาว และกลายเป็นกำพร้าโตในต่างดาว เขาถูกเลี้ยงโดยสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาว และอาจกลายเป็นสะพานเชื่อมสองอารยธรรม
ไซไฟหลายเรื่องเกิดมาจากงานวิจัย ต่อยอดเป็นนิยาย ยกตัวอย่าง เช่น วันหนึ่งผมอ่านงานวิจัยเรื่อง Microbial Mine Detection System นักวิทยาศาสตร์ใช้แบคทีเรีย Pseudomonas Putida ช่วยค้นหาระเบิดที่ฝังใต้ดิน เพราะมันชอบกิน ทีเอ็นที. เมื่อตัดต่อพันธุกรรมให้มันเรืองแสงเมื่อกินดินระเบิด ก็จะรู้ว่าพื้นที่ใดมีกับระเบิดฝังอยู่
1
กลายเป็นเรื่องสั้น ผีเสื้อกับดอกไม้ไฟ ซึ่งเป็นทั้งเรื่องไซไฟ เรื่องรัก และเรื่องสะท้อนสังคม
นิยายไซไฟหลายเรื่องที่ผมเขียน ไอเดียตรงกับฝรั่ง แต่โชคดีที่เขียนก่อน ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องสั้น ราตรีดาวกะพริบ ยานอวกาศลำหนึ่งได้รับคำสั่งให้ทำลายอุกกาบาตที่กำลังมุ่งหน้าไปชนโลก ก็คือพล็อตเดียวกับหนังฮอลลีวูดเรื่อง Deep Impact และ Armageddon แต่เขียนก่อน
1
ในเรื่องสั้น สงครามยูโรปา ผมแต่งเรื่องให้มนุษย์ต้องการทรัพยากรพิเศษบางอย่างที่มีเฉพาะในมหาสมุทรของยูโรปา ดวงจันทร์ดวงหนึ่งของดาวพฤหัส ยูโรปามีอาหารมากพอเลี้ยงประชากรถึงครึ่งระบบสุริยะ ผลก็คิดเกิดสงครามระหว่างมนุษย์กับชาวยูโรปา
1
ในเรื่องนี้ตัวละครคนหนึ่งกล่าวว่า สัตว์น้ำที่นี่มีคุณสมบัติทางโภชนาการดีที่สุด น้ำทะเลของยูโรปาเค็มผิดจากทะเลบนโลก มันมีสารเคมีบางตัวที่เหมาะกับสรีระมนุษย์ อาจจัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะอย่างหนึ่ง
สงครามแห่งยูโรปายืดเยื้อมาร้อยปี เพราะจักรวรรดิโลกจำต้องครอบครองดวงจันทร์ดวงนี้
ในเรื่องตัวเอกที่เป็นทหารถูกส่งไปรบ และรักกับชาวพื้นเมือง แล้วหันไปต่อต้านกองทัพชาวโลก
เรื่องนี้ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมคนให้ร่างกายสามารถอยู่อาศัยในสภาวะของดวงจันทร์นี้ได้
2
หากรู้สึกว่าพล็อตนี้คุ้นๆ กับ Avatar ของ เจมส์ คาเมรอน ก็อย่าเพิ่งว่าขโมยไอเดียเขามา เพราะเรื่องนี้ตีพิมพ์ก่อนหนังเรื่องแรกสี่ปี และก่อน Avatar : The Way of Water 17 ปี
ในเรื่องสั้น อีกด้านหนึ่งของหลุมดำ ผมเล่าเรื่องของการสลับคนหลังจากผ่านจุดสำคัญในเรื่อง เรื่องนี้คล้ายเรื่อง The Witness ในชุด Love, Death & Robots ซีซัน 1 โชคดีที่เขียนก่อนสิบกว่าปี
แม้แต่เรื่อง กุหลาบสีแดงกับเที่ยวบินสุดท้าย เรื่องเกี่ยวกับแอนดรอยด์ เรื่องนี้ถูกนิตยสารเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องแปลจากต่างประเทศ
1
เรื่องไซไฟที่ซับซ้อนที่สุดของผมคือเรื่อง ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติ พิมพ์ครั้งที่ 85 (วลี พิมพ์ครั้งที่ 85 เป็นส่วนหนึ่งของชื่อเรื่อง)
เรื่องนี้พิมพ์ไม่กี่ครั้ง ไม่ถึง 85 ครั้งอย่างในชื่อเรื่อง เพื่อจุดประสงค์ของการเสียดสี
ผมเกิดความคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะเขียนไซไฟผสมนิยายอิงประวัติศาสตร์ นิยายรัก นิยายล้อเลียนและเสียดสีการเมือง และเป็นงานคอลลาจทางวรรณกรรม
2
คอลลาจคือเอาองค์ประกอบต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกันมาเชื่อมกันเป็นเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น นิทานอีสป นำเรื่องการยาตราทัพข้ามโลกของ เจ็งกิส ข่าน, อเล็กซานเดอร์มหาราช การเสียกรุงปี 2310 จิตรกรรมของ ดา วินชี ลายแทงขุมทรัพย์โบราณ, ความลับของเลข 5 กับ 8 ไปจนถึงปริศนากลุ่มดาวราศีธนู, หลุมดำ และการย้ายข้ามมิติในจักรวาล โลกคู่ขนาน มิติต่างๆ ฯลฯ มาทำเป็นเรื่องเดียว เชื่อมกันด้วยนิยายวิทยาศาสตร์
2
เรื่องนี้ก็มีแนวคิดเดียวกับหนังเรื่อง Everything Everywhere All at Once
1
ผมชอบอ่านหนังสือหลากหลาย ทั้งวิทยาศาสตร์ของศาสตร์โบราณ วันหนึ่งผมก็คิดว่า น่าจะสนุกหากรวมฟิสิกส์ จักรวาลวิทยา อะตอม ทฤษฎีสตริง มิติต่างๆ มาเชื่อมกับศาสตร์โบราณเช่น อี้จิง คัมภีร์เต๋า
ก็เป็นที่มาของงานนวนิยายเรื่องยาว อัฏฐสุตรา
ตัวละครหลักเป็นนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะคนหนึ่งที่ไปไขรหัสลับแห่ง อัฏฐสุตรา ในสุสานของกษัตริย์จีนโบราณ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สามกำลังจะเกิดขึ้น
พวกเขาพบประดิษฐกรรมโบราณ หรืออาจเป็นประดิษฐกรรมในอนาคตที่อยู่ในอดีต
เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เรื่องเดียวของผมที่เข้าใกล้ความเป็นพุทธที่สุดก็คือเรื่อง ภพสุดท้าย เป็นเวลาพักใหญ่หลังจากศึกษาจักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ และเคมี ทำให้มองโลกและชีวิตในมุมของพุทธ เรื่องตัวกูของกู กับเรื่องอะตอมที่ประกอบเป็นสรรพสิ่งในจักรวาล
เรื่องนี้ผมแต่งเรื่องให้ตัวเอกถูกถอดจิตเข้าไปในอะตอม และออกไปผจญภัยในจักรวาล มันเป็นงานแนวปรัชญา
1
ผมอ่านนิยายไซไฟเกี่ยวกับสำรวจอวกาศมามาก ถึงจุดหนึ่งก็อยากเขียนสักเรื่อง แต่อยากฉีกแนวไปจากการเดินทาง ยานเสียหายเพราะอะไรสักอย่าง ลูกเรือออกไปซ่อม แล้วพบสิ่งประหลาด
ผมตั้งโจทย์ก่อนว่า อยากให้เรื่องเป็นการค้นพบดาวเคราะห์สักดวงที่ไม่เคยมีคนเขียนมาก่อน มันเป็นดาวเคราะห์พิสดารที่หลุดจากคำจำกัดความของดาวเคราะห์ทั่วไป
เป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง กาลีสุตรา
เนื้อเรื่องคร่าวๆ คือในปี 2294 ยานอวกาศออโรรา 104 หายสาบสูญไปในระบบดาวห้าปีแสงจากโลก ปฏิบัติการกู้ภัยพบซากยาน นักบินอวกาศเสียชีวิตทั้งหมด พวกเขาทำการโคลนนิ่งศพเดียวในซากยานเพื่อสืบค้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับเที่ยวบินนั้น สิ่งที่พวกเขาพบคือความลับของดาวเคราะห์กาลิกา 2 ซึ่งเกี่ยวพันกับสิ่งทรงภูมิปัญญาสายพันธุ์หนึ่งในดาราจักร
2
ผมจินตนาการดาวเคราะห์กาลิกา 2 ต่างจากดาวเคราะห์ทั้งหมดในนิยายที่เคยอ่านมา (บอกรายละเอียดไม่ได้ เพราะเป็นสปอยเลอร์) ค่อนข้างมั่นใจว่าโครงสร้างดาวเคราะห์ในเรื่องนี้ไม่เคยมีคนเขียนแน่นอน เพราะมันผิดหลักฟิสิกส์ แต่อีกนั่นแหละ ใครจะสามารถบอกว่ากฎฟิสิกส์ใช้ได้กับทุกจุดในจักรวาล
ในเรื่องนี้ผมจินตนาการให้ดวงจันทร์ดวงหนึ่งชื่อ จันทราเชการ์ ที่โคจรรอบดาวเคราะห์กาลิกา 2 เป็นเครื่องจักรที่สิ่งทรงภูมิปัญญาสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์บางอย่าง และในท้ายเรื่อง ตัวละครหลักก็ผ่านการเชื่อมตัวตนกับระบบสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาว
2
เรื่องนี้มีพล็อตคล้ายหนังเรื่อง The Very Pulse of the Machine (ในชุด Love, Death & Robots ซีซัน 3) โดยบังเอิญ ใน The Very Pulse ดวงจันทร์ไอโอเป็นเครื่องจักรที่เชื่อมกับดาวพฤหัส และในท้ายเรื่องตัวละครเชื่อมกับเครื่องจักรนั้น
หลังจากเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์แบบฝรั่งมามาก อิงปรัชญาโบราณของจีนก็มี ก็มาถึงการเขียนไซไฟแบบไทยๆ มีสองเรื่องหลัก ได้แก่ เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว กับ บางกะโพ้ง
ที่มาของ เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว คือ เมื่ออ่านงานกวีของสุนทรภู่ โดยเฉพาะ พระอภัยมณี ผมรู้สึกทึ่งในจินตนาการของท่าน จนเกิดไอเดียว่า สมมุติว่าสุนทรภู่ได้ไอเดียหลุดโลกเหล่านี้มาจากการคบหากับมนุษย์ต่างดาว หรืออาจได้เดินทางไปต่างดาวจริงๆ
ชื่อเรื่องนำชื่อมาจากสี่บาทของโคลง นิราศสุพรรณ
เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราว พร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาว เขนยแนบ แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อย เยือกฟ้าพาหนาว
เมื่อเขียนเรื่องแรกแล้ว ก็เกิดไอเดียต่อว่า บางทีควรจะเขียนต่อเป็นเรื่องยาวสี่ตอน เท่ากับสี่บาทของโคลงนี้
เมื่อตั้งโจทย์ จินตนาการก็พรั่งพรู
ผ่านมาอีกหลายปี ผมเกิดความคิดจะเขียนนิยายไซไฟกลิ่นไทยๆ เป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง บางกะโพ้ง
ความจริงเรื่องนี้ไม่น่าจะจัดเป็นนิยายไซไฟ แม้ว่ามีองค์ประกอบวิทยาศาสตร์ตลอดทั้งเรื่อง เป็นนวนิยายสะท้อนชีวิตชนบทและภูมิปัญญาไทยโบราณ โดยเชื่อมกับวิทยาศาสตร์ เพราะหากเราดูให้ลึกจะเห็นว่าวิธีคิดและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่ง การกินอาหารให้ถูกต้องตามฤดูกาล การอยู่ร่วมกันกับ ศัตรู ธรรมชาติอย่างกลมกลืน ฯลฯ
1
นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา โดยกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2562
ผมมักแนะนำให้พ่อแม่ที่มีลูกให้เด็กอ่านนิยายไซไฟ เพราะมันช่วยใส่ไฟให้สมอง ช่วยสร้างความช่างสงสัย จินตนาการ สำคัญมาก อีกทั้งรักธรรมชาติ
และหวังว่าในวันหนึ่ง คนอ่านคงหยิบหนังสือที่มีคำว่า วิทยาศาสตร์ บนปกขึ้นมาโดยไม่ลังเล
หมายเหตุ ช่วงนี้กำลังจะมีงานหนังสือ ผมได้นำหนังสือไซไฟส่วนหนึ่งมาจำหน่ายเป็นแพ็คเกจพิเศษ (S5)​ สนใจซื้อได้ที่เว็บ winbookclub.com หรือ Shopee (ค้นคำ namol113)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา