4 มี.ค. 2023 เวลา 13:03 • การเกษตร

วิสาหกิจชุมชนกับการดำเนินการทางภาษี

ประเภทกิจการของวิสาหกิจชุมชน
พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน แบ่งรูปแบบการดำเนินกิจการของวิสาหกิจชุมชนเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. วิสาหกิจชุมชนประเภทบุคคลธรรมดา
ดำเนินการในรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุว่าบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงทำกิจการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรที่ได้จากกิจการนั้น ซึ่งหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมด
2. วิสาหกิจชุมชนประเภทนิติบุคคล
ดำเนินการในรูปแบบนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด
การดำเนินงานด้านภาษี
วิสาหกิจชุมชนเมื่อประกอบกิจการและมีรายได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร แบ่งวิธีการเสียภาษีของวิสาหกิจชุมชนได้ดังนี้
1. วิสาหกิจชุมชนประเภทบุคคลธรรมดา
วิสาหกิจชุมชนที่ประกอบการในรูปของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ต้องยื่นคำขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ที่วิสาหกิจชุมชนมีภูมิลำเนาตั้งอยู่
ยื่นชำระภาษีเงินได้ ดังนี้
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน ของปีภาษี
2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีภาษี
2. วิสาหกิจชุมชนประเภทนิติบุคคล
วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณหากำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลจะต้องยื่นแบบเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง ดังนี้
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50)ภายใน 150 วัน นับแต่วันรอบสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
(ภ.ง.ด. 3 หรือ ภ.ง.ด. 53 หรือ ภ.ง.ด. 54)
ทั้งวิสาหกิจชุมชนที่เป็นและไม่เป็นนิติบุคคล นำส่งแบบแสดงรายการภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีเงินได้ โดยนำภาษีที่ถูกหักไว้มาหักออกในการคำนวณภาษี เมื่อยื่นแบบตอนครึ่งปีหรือสิ้นปี
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งวิสาหกิจชุมชนที่เป็นและไม่เป็นนิติบุคคล หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกเดือนไม่ว่าจะมีรายรับหรือไม่
เรียบเรียง : กลุ่มกิจการคณะกรรมการและยุทธศาสตร์ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
โฆษณา