5 มี.ค. 2023 เวลา 03:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เมื่อยุคของ Web 3.0 มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คุณคิด

นานกว่า 3 ทศวรรษที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนทั่วโลก โดยสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นมากมายอย่างที่ไม่อาจคาดคิดมาก่อน กระทั่งทุกวันนี้เรายังคงเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่เร็วและแรงขึ้นกว่าเดิมเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุค web 3.0
จนนักธุรกิจหนุ่มที่ขี่คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงยุคใหม่อย่าง “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งสนใจในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับบล็อกเชน (Blockchain) ที่เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญของอินเทอร์เน็ตยุคใหม่มานานกว่า 8 ปี ถึงกับเอ่ยปากว่า
“ผมเชื่อว่าพวกเราจะถูกเซอร์ไพรส์ว่าโลกเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิดเพราะเราประเมินการเปลี่ยนแปลงของโลกต่ำเกินไป”
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตมีพัฒนาการผ่านมา 2 ยุค ยุคแรกคือ web 1.0 เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1990-2000 เป็นเว็บแบบสื่อสารทางเดียวเพราะโครงสร้างพื้นฐานยังมีไม่มาก โดยมี private server เป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเครื่องใหญ่ modem ที่ต่อเชื่อมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์บ้าน ผู้ใช้สามารถใช้งานเพื่ออ่านได้อย่างเดียว
“ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตมีไว้สำหรับเผยแพร่ข้อมูลเพื่อแบ่งปันกันให้อ่านได้ไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์ ผู้คนสามารถเห็นข้อมูลหน้าเดียวกันแบบ static page คืออ่านได้อย่างเดียว ไม่สามารถโต้ตอบได้”
จิรายุสบอกว่าหลังจากปี 2000 เป็นต้นมาเทคโนโลยีมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เข้าสู่ยุค web 2.0 ช่วงระหว่างปี 2000-2010 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโปรแกรมท่องอินเทอร์เน็ต (browser revolution)
ต่อเนื่องมาถึงช่วงปี 2010-2020 โครงสร้างพื้นฐานของการใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงไปมาก เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนเป็น 4G แบบไฟเบอร์ออปติกแทนที่โทรศัพท์บ้าน มี cloud computing มาแทนที่ private server โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนอย่างขนานใหญ่ (smartphone revolution) มาแทนที่คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะที่ไม่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้
ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแบบสื่อสารสองทาง ประสบการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนจากการอ่านอย่างเดียว (read only) สู่การอ่านและเขียน (read and write) ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถโต้ตอบกับผู้เสนอข้อมูลได้ มีปฏิสัมพันธ์กันได้บนเว็บจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า Social Media
“ยุคที่สองของเว็บกินเวลาราว 20 ปี จากปี 2000-2020 สิ่งสำคัญคืออินเทอร์เน็ตเริ่มมีการ customized ตามประสบการณ์การใช้มากขึ้น โดยสามารถเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของยูสเซอร์ ทำให้มีการเติบโตของคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ“
ปัญหาของ web 2.0 คือการบริการมีลักษณะ centralized มากเกินไป เนื่องจากเว็บไซต์ใหญ่ ๆ ทั้งหลายล้วนดำรงอยู่ในเงื่อนไขตลาดแบบ winner take all ทำให้การควบคุมทั้งหมดอยู่ที่เจ้าของแอปพลิเคชั่น
ถ้าแบ่งอินเทอร์เน็ตออกเป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือแอปพลิเคชั่น (application layer) ที่ผู้ใช้สัมผัสได้ อาทิ Facebook, Google หรือ Amazone.com ระดับที่สองคือโพรโตคอล (protocol layer) เช่น TCP/IP, SMTP, SSL ฯลฯ
ซึ่งเป็นภาษากลางของโลกอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้ไม่รู้จักเพราะทำงานอยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชัน ตัวอย่างเช่น TCP/IP เป็นโพรโตคอลของ Facebook, Skype, Zoom ส่วน SMTP เป็นโพรโตคอลของ Gmail ที่ทำให้เราสามารถส่งอีเมล์ถึงกันได้ หรือ SSL ก็ใช้ในกรณีความปลอดภัยข้อมูลของบัตรเครดิต กระทั่ง HTTPS ที่เป็นโพรโตคอลในเว็บไซต์ทุกแห่ง
“protocol layer ถูกสร้างบนโอเพ่นซอร์ส ซึ่งเป็นระบบเปิดที่ทุกคนสามารถเข้ามาสร้าง ดัดแปลงหรือตรวจสอบได้ ด้วยการผลักดันจากองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร จึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ และเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่า ทำให้ช่วง 20 ปีที่ผ่านมานักธุรกิจที่เป็นเจ้าของ application layer อย่างเจ้าของ Gmail กลายเป็นมหาเศรษฐี แต่เจ้าของโพรโตคอล SMTP ไม่ใช่ หรือเจ้าของ Facebook ที่ใช้ TCP/IP สร้างเป็นแอปพลิเคชั่นก็ร่ำรวยเช่นกัน”
บริการทั้งหมดนี้มีลักษณะ centralize ที่ควบคุมโดยเจ้าของ application layer และดำรงตนในลักษณะ winner take all ซึ่งมีข้อเสียสำคัญที่เรียกว่า Too Big to Fail กล่าวคือเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับหลายส่วนของระบบเศรษฐกิจ หากเกิดล้มลงจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างรุนแรง จนรัฐไม่อาจปล่อยให้ประสบปัญหาโดยไม่ให้ความช่วยเหลือ
“เมื่ออินเทอร์เน็ตมีการ centralize มากเกินไป บริษัทที่ทำธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ตก็สร้างเพาเวอร์ของตัวเอง กลายเป็นฝ่ายควบคุมทุกอย่าง value capture จึงวิ่งไปหาฝั่งบริษัทธุรกิจอินเทอร์เน็ตทั้งหมด การที่บริษัทใหญ่เหล่านี้ทำงานเป็นระบบปิด อำนาจการตัดสินใจจึงอยู่ในกำมือของเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุด ไม่ได้อยู่ที่ลูกค้า”
“ในขณะที่โลกเสมือนบนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ rule of Law หรือ internet regulation ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่ากฎหมายของรัฐชาติต่าง ๆ ไม่ว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน หรือแม้แต่ประเทศไทย”
เขาสรุปว่ายุค web 2.0 มีคีย์เวิร์ดคือ read and write experience, centralization, capture to application stack และ close system
สำหรับยุค web 3.0 ผู้บริหารบิทคับเห็นว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา โดยเริ่มจากปี 2021-2030 ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานเปลี่ยนไป คือเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตจากฟากฟ้า (internet from the sky) เริ่มจากมีผู้ประกอบการ 3 ราย ได้แก่ โครงการ Starlink ของ Elon Musk ที่เอาอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์มาให้บริการผ่านดาวเทียม ด้วยดาวเทียมวงโคจรต่ำจำนวน 12,000 ดวง
โครงการ loon ของบริษัทลูก Alphabet เจ้าของเว็บไซต์ Google ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตโดยปล่อยสัญญาณผ่านทางบอลลูน ส่วน Facebook เคยมีโครงการทดลองนำ drone ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลงมาจากระดับสตาร์โทสเฟีย
“อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็น public goods ในยุค web 3.0 ที่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ ต่อไปพื้นที่ต่างจังหวัดที่ค่าติดตั้งอินเทอร์เน็ตแพงเกินไป เมื่อมีอินเทอร์เน็ตมาจากฟากฟ้าทุกคนจะเข้าถึงได้เหมือนน้ำเหมือนอากาศ”
โฆษณา