24 มี.ค. 2023 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์

เมืองพระรถ

เมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินสองชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ด้านยาวในทิศตะวันออก-ตะวันตก ด้านกว้างในทิศเหนือ-ใต้ ขนาดราว ๑,๒๘๐ x ๘๒๐ เมตร นับว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับเมืองสมัยทวารวดีอื่นๆ ตั้งอยู่บริเวณตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยแนวคันดินและคูน้ำทางด้านทิศตะวันออกถูกถนนสาย ๓๔๙ ผ่านทับไปด้านหนึ่ง บางแห่งสังเกตได้ และมีสระน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่าสระฆ้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และหนองศาลาอยู่ภายในเมือง
และมีคลองศาลาแดงที่เป็นลำนำ้ธรรมชาติไหลผ่าตัวเมืองทางซีกตะวันออกเฉียงเหนือ คลองศาลาแดงนี้มีชื่อต่างๆ ตามสถานที่ซึ่งไหลผ่านไป แต่เมื่อไปออกลำน้ำบางปะกงคือคลองพานทอง โดยมีลำน้ำอีกหลายสายไหลรวมมาเป็นลำน้ำพานทอง โดยตั้งต้นแถบบริเวณเมืองพระรถ ในบริเวณนี้จึงเรียกว่าลุ่มน้ำพานทองก็ได้ โดยมีต้นน้ำเรียกว่าคลองหลวงที่อยู่ทางป่าเขาด้านในทางอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรีเช่นกัน
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม บันทึกไว้ในวารสารเมืองโบราณ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ว่า พื้นที่ภายในเมืองถูกทำให้ราบเรียบเพื่อใช้ทำนา มีที่เนินและโคกเหลือเพียงไม่กี่แห่ง โดยเนินกลางเมืองเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านและ ‘วัดหน้าพระธาตุ’ เป็นสถานที่ซึ่งเคยรวบรวมโบราณวัตถุที่พบในเมืองนี้ไว้จำนวนมาก เช่น พบเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเคลือบและไ่ม่เคลือบ ชิ้นส่วนของเทวรูปนารายณ์สวมหมวกแขก พระพุทธรูปแบบทวารวดีปางนาคปรก หินบด แท่งหินแบบกังสดาล แท่นประดิษฐานพระพุทธรูป
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสำริดแบบลพบุรี และโบราณวัตถุที่สำคัญของชาวเมืองพนัสนิคมมีการนับถือกราบไหว้จนกลายเป็นรูปและชื่อสัญลักษณ์ของอำเภออีกชิ้นก็คือ รูปพระพุทธรูปยืนปางวิตรรกะเหนือพนัสบดี หลังพระเศียรมีประภามณฑลลวดลายประณีต ซึ่งเป็นสัตว์ในจินตนาการที่มีปากเป็นครุฑ มีเขาเป็นวัวและมีปีกเป็นหงส์ เป็นพาหนะของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู และมีพระพุทธเจ้าประทับยืนเหนือพาหนะสัตว์ตัวนี้อีกที
กล่าวกันว่าพบริมคูเมืองด้านทิศใต้เป็นสมบัติของ ‘นางน้อย แซ่จัน’ ซึ่งมีการบันทึกว่าเป็นชาวบ้านท้องถิ่นรายงานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔
โดยสรุปจากโบราณวัตถุอาจจะให้ความเห็นว่าเมืองนี้มีช่วงอายุของวัฒนธรรมร่วมสมัยกับช่วงทวารวดีไปจนถึงสมัยลพบุรี มีร่องรอยของอาคารโบราณสถานอยู่บ้างที่ ‘เนินธาตุ’ ตั้งอยู่ด้านนอกกำแพงดินไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว ๑๕๐ เมตร น่าจะเป็นฐานสถูปเจดีย์แบบทวารวดี เมื่อมีการขุดแต่โบราณสถานรูปสี่เหลี่ยม ตอนบนมีการก่อเจดีย์ทับไว้ที่เป็นศาสนสถานของผู้คนเชื้อสายลาวพวนในละแวกนี้
การศึกษาทางโบราณคดีโดยการขุดค้นในบริเวณเมืองพระรถเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ โดย อำไพ สุลักษณานนท์ ให้ข้อมูลจากการสำรวจพบแผ่นดินเผามีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีคำว่า ‘ศรี’, สุริยเทพที่อยู่บนฐานธรรมจักร, ชิ้นส่วนธรรมจักร, เสมาหินแบบทวารวดีโดยมีการแกะเป็นรูปแนวกลางที่น่าจะมาจากสถูปจำลองซึ่งพบมากในเสมาอีสานยุคทวารวดีตอนปลาย, ชิ้นส่วนและฐานใส่พระพุทธรูปหรือเทวรูป พระพิมพ์ดินเผาแบบปางสมาธิ
แม่พิมพ์พระพิมพ์ดินเผาแบบตรีกายสมัยลพบุรี, ภาชนะเคลือบสีน้ำตาลแบบไหเท้าช้าง, เศษภาชนะแบบราชวงศ์ถัง, เศษภาชนะแบบหูแปะรูปสิงโตแบบราชวงศ์ซ่งเหนือจนถึงครึ่งแรกของราชวงศ์ซ่งใต้คือ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕–๑๗, ภาชนะเคลือบเขียวและเคลือบน้ำตาลแบบเตาบ้านกรวด อายุราว ๑๕-๑๗, ลูกปัดหินคาร์นีเลี่ยน, ควอทซ์, อาเกต, แจสเปอร์, โอนิกซ์, อเมทีส์, หยก, เทอร์ควอยท์, หินอ่อน, ลูกปัดแก้ว
บริเวณโคนต้นโพธิ์ในวัดหน้าพระธาตุ ในเมืองพระรถ อ.พนัสนิคม จากการสำรวจของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ราวพ.ศ.๒๕๒๒ พบชิ้นส่วนธรรมจักรหินสลักลวดลายที่น่าเป็นคนแคระแบก, พระพุทธรูปทำจากหินแตกหักเสียหาย แต่ยังพบว่าประทับบนแท่นสลักลวดลายแบบทวารวดี
การขุดค้นพบโบราณวัตถุในหลุมขุดค้น เช่น ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ หม้อมีสัน หม้อกลม และพานมีเชิง พวยภาชนะ เศษภาชนะเคลือบสามสีสมัยราชวงศ์ถัง, ชิ้นส่วนไหดุซุนหรือไหกวางตุ้งแบบราชวงศ์ถัง เศษภาชนะแบบห้าราชวงศ์, ตลับเคลือบสีขาวแบบห้าราชวงศ์, เศษภาชนะเคลือบสีฟ้า สีน้ำเงินและสีฟ้าแกมเขียวแบบเปอร์เซีย [Turquoise-glazed ware]
พบเหรียญอีแปะทองแดงสมัยราชวงศ์ถัง จารึก ‘ไค้หยวน ถ่งป้อ’ หมายถึงทำในรัชกาลพระเจ้าไค้หยวน เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๖๔-๑๒๐๘ แต่ก็ใช้ต่อมาจนสิ้นราชวงศ์ถังใน พ.ศ. ๑๔๕๐, แหวนสำริดมีหัวแหวน, เครื่องมือเหล็กพวกใบมีด, ชิ้นส่วนหินบด, ลูกปัดทำจากหินคาร์นีเลียนและลูกปัดแก้ว, แว, ลูกกระสุนและเบี้ยดินเผา, ชิ้นส่วนสถูปจำลอง แม่พิมพ์และพระพิมพ์ดินเผาชำรุด, ตะคันและเบ้าหลอมโลหะ และเศษภาชนะทำจากแก้ว
กล่าวได้ว่ามีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องที่กล่าวได้ถึงลักษณะเด่นของการตั้งถิ่นฐานแต่แรกเริ่มชั้นดินในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ซึ่งพบการใช้ภาชนะอันเนื่องมาจากอยู่ในเส้นทางการค้าระยะทางไกลทางทะเลในสมัยราชวงศ์ถังและเศษภาชนะแบบสมัยห้าราชวงศ์ที่ผลิตในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และเศษภาชนะเครื่องเคลือบแบบเปอร์เซีย
หลักฐานตามชุมชนเนื่องจากการค้าขายตามเส้นทางการค้าทางทะเลจากจีนสู่อาหรับและเปอร์เซีย อยู่ในเส้นทางจากเมืองจีนแถบกวางตุ้งไปถึงเมืองท่าค้าขายในอ่าวเปอร์เซียโดยผ่านอนุทวีปอินเดียและเมืองท่าตามคาบสมุทรและหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงชายฝั่งเวียดนามและจีนใต้ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ ซึ่งปรากฎทั้งร่องรอยภาชนะในราชวงศ์ถังรวมทั้งเหรียญอีแปะทองแดง
รวมทั้งไหเคลือบสีเทอว์ควอยซ์พบทั่วไปตามเมืองท่าชายฝั่งของอินเดียและคาบสมุทรในประเทศไทยทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ทางเกาะสุมาตราแถบปาเล็มบัง อู่ทอง รวมทั้งที่ ‘เมืองพระรถ’ อันเป็นเมืองท่าภายใน รวมถึงพบที่ ‘เมืองศรีมโหสถ’ ซึ่งเป็นเมืองภายในขนาดใหญ่ของลุ่มน้ำบางปะกงก็พบหลักฐานเช่นนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีการพบลูกปัดหินที่พบมากในแถบแหล่งผลิตในอาณาบริเวณของอ่าวบ้านดอน นับเนื่องอยู่ในสมัยทวารวดีและศรีวิชัยของทางประเทศไทย ทางจีนเรียกว่าเส้นทางแพรไหมทางทะเล แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางการค้าในสหพันธรัฐศรีวิชัยทางคาบสมุทรและหมู่เกาะโดยมีช่วงเวลาเหลื่อมกับสหพันธรัฐทวารวดีทางภาคกลาง
ไหเคลือบสีเทอร์ควอยซ์เนื้อดินไม่แกร่งมากแบบเปอร์เซียนี้น่าจะมีศูนย์กลางการผลิตการผลิตที่ ‘เมืองบาสรา’ [Basra] เมืองท่าเก่าแก่ภายในที่แม่น้ำไทกริสและแม่น้ำยูเฟรทีสบรรจบกันในประเทศอิรักใกล้อ่าวเปอร์เซียหรือ ‘เมืองซิราฟ’ [Siraf] ริมอ่าวเปอร์เซียในอิหร่าน ซึ่งได้รับอิทธิพลการผลิตเครื่องปั้นดินเผาจากจีนในสมัยราชวงศ์ถังราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖
สำหรับ ‘เมืองพระรถ’ ที่ลุ่มน้ำพานทอง โบราณวัตถุและโบราณสถานนั้นสัมพันธ์กับเมืองโบราณสมัยทวารวดีในแถบลุ่มเจ้าพระยาในภาคกลางของประเทศและแถบเมืองท่าทางคาบสมุทร เช่นทางอ่าวไทย ที่แหลมโพธิ์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และทางฝั่งอันดามันเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในบรรดาเมืองท่าของสหพันธรัฐศรีวิชัย
การอยู่อาศัยที่เมืองพระรถเริ่มต้นในระดับการอยู่อาศัยแรกเริ่มในวัฒนธรรมร่วมสมัยราชวงศ์ถังและห้าราชวงศ์รวมทั้งไหแบบเปอร์เซียในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖
เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีรูปแบบคูน้ำคันดินแบบยุคสมัยทวารวดีที่ค่อนข้างไปทางสี่เหลี่ยมผืนผ้า และพบโบราณวัตถุที่มีคติความเชื่อแบบวัฒนธรรมทวารวดีอย่างชัดเจน เช่น ธรรมจักรและเสมา พระพิมพ์ และพระพุทธรูปเหนือพนัสบดี แม้บางส่วนจะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับใบเสมาทางภาคอีสานในช่วงทวารวดีระยะหลังแล้ว ขณะเดียวกันก็มีความร่วมสมัยกับชุมชนชายฝั่งทางคาบสมุทรในยุคศรีวิชัย ทำให้เห็นว่าเป็นเมืองท่าชายฝั่งในระยะที่ร่วมสมัยกับทั้งยุคทวารวดีและศรีวิชัยอย่างชัดแจ้ง
หลังจากนั้นจึงพบการอยู่อาศัยที่เป็นชั้นดินที่มีเศษภาชนะแบบราชวงศ์ซ่ง และภาชนะแบบเตาบ้านกรวด บุรีรัมย์ ซึ่งมีอายุในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙ จะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของบ้านเมืองแบบสหพันธรัฐแบบศรีวิชัยอย่างชัดเจนแล้ว
เหตุผลจาก ๒ กรณีคือ การโจมตีบ้านเมืองคาบสมุทรหลายแห่งจากทางรัฐโจฬะในสมัยพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจีนที่เปลี่ยนจากการใช้พ่อค้าคนกลางทางรัฐศรีวิชัยเป็นสื่อกลางในการค้าขายก็เปลี่ยนมาเป็นแต่งเรือสำเภาเข้าสู่การค้าขายด้วยตนเอง ดังนั้นชุมชนตามเส้นทางการค้าทางไกลทางทะเลที่เคยค้าขายในช่วงศรีวิชัยก็ขยายตัวมากขึ้นอีกหลายแห่งและมีร่องรอยของสินค้าจากแดนไกลโดยเฉพาะเครื่องถ้วยในสมัยราวงศ์ซ่งเหนือและใต้รวมทั้งราชวงศ์หยวน
และในระหว่างเวลานี้ก็พบโบราณวัตถุต่อเนื่องจากยุคสมัยทวารวดี-ศรีวิชัยในพื้นที่เมืองพระรถคือเครื่องถ้วยเคลือบแบบเตาบ้านกรวด แม่พิมพ์พระพิมพ์ตรีกายแบบลพบุรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปรับเปลี่ยนความเป็นมัณฑละแบบทวารวดีและศรีวิชัยไปแล้ว
เป็นรูปแบบมัณฑละใหม่คือยุคสมัยลพบุรีหรือบ้านเมืองที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรในเขตลุ่มเจ้าพระยาในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งปรากฎแถบเมืองไชยาในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเมืองพระเวียงในจังหวัดนครศรีธรรมราชทางคาบสมุทร เมืองเพชรบุรีและราชบุรีทางฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย และบ้านเมืองลุ่มเจ้าพระยาก่อนจะเกิดรัฐสำคัญทางตอนเหนือคือสุโขทัยและเริ่มรับพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากลังกามาเป็นหลักสำคัญในความเชื่อของผู้คนในลุ่มเจ้าพระยายุคดังกล่าว
ห่างจากบริเวณเมืองพระรถไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๑๑ กิโลเมตร มีสระน้ำโบราณ รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๑๐ เมตร ขอบสระเป็นศิลาแลง สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับเมืองพระรถในอำเภอพนัสนิคมเช่นกัน โดยร่วมสมัยในราวสมัยทวารวดี ถึงสมัยลพบุรี
บทความนี้รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ ‘บ้านเมืองเบื้องบูรพา ภูมิวัฒนธรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์สังคม บนฐานทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลตะวันออก’ ผู้สนใจสั่งซื้อได้ในราคาพิเศษจากเพจเฟสบุ๊คสยามเทศะ โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
โฆษณา