8 มี.ค. 2023 เวลา 23:54 • ท่องเที่ยว

วัดโพธิ์ชัย หนองคาย .. กราบขอพรหลวงพ่อพระใส

ดโพธ์ชัย พระอารามหลวง .. เดิมเป็นวัดร้างตั้งอยู่บริเวณบ้านไผ่ มีชื่อเรียกกันว่า วัดผีผิว ไม่ปรากฏหลักฐานเมื่อแรกสร้าง สันนิษฐานว่าเป็นพระอารามสำคัญของเวียงจันทน์มาแต่เดิม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ชัย ด้วยเดิมมีต้นโพธิ์ที่ใหญ่โตมากและผู้คนมีความเชื่อว่า ต้นโพธิ์เป็นต้นไม้มงคล
วัดโพธิ์ชัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเป็นองค์ประธาน ยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย พ.ศ. 2522 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2523 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา พ.ศ. 2524 ยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
พระธาตุ .. ด้านหน้าพระอุโบสถ
หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองหนองคาย มีพุทธลักษณะแบบพระพุทธปฏิมา สกุลช่างเวียงจันท์ .. เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก หน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้อล่างถึงยอดพระเกศ ๔ คืบ ๑ นิ้ว
.. ฐานที่มีบัวตอนบน และตอนล่างอ่อนโค้งก็เป็นลักษณะเฉพาะของสกุลช่างนี้เช่นกัน จึงน่าจะสร้าง ขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวงสาธรรมิกราช (พ.ศ. ๒๑๗๖ – ๒๒๓๓ / ค.ศ. 1633 – 1690)
ประวัติการสร้าง
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือประวัติพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน พ.ศ. 2468 ว่า ...
.. หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปหล่อในสมัยล้านช้าง และตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา 3 องค์ แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้าง ทั้งหมดเป็นพี่น้องร่วมพระวงศ์เดียวกัน
… มีพระนามตามลำดับว่า สุก เสริม ใส มีพระทัยร่วมกันเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะหล่อพระพุทธรูปประจำองค์ จึงได้พร้อมกันขอพรจากพระบิดาพระบิดาประทานพรให้ จึงให้ช่างหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ ขนาดลดกันตามลำดับ ครั้นแล้วจึงขนานนามพระพุทธรูปเหล่านั้นโดยขอฝากพระนามของตนเองไว้ด้วยว่า พระสุก (ประจำผู้พี่ใหญ่) พระเสริม(ประจำคนกลาง) พระใส (ประจำคนเล็ก)
หลวงพ่อพระใส .. เดิมทีได้ประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์ แต่ในพ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยกรุงธนบุรี ได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองเวียงคำ และถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพนชัย เมืองเวียงจันทน์อีก
.. ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์เป็นกบฎ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใส ลงมาด้วย โดยอัญเชิญมาจากภูเขาควายซึ่งชาวเมืองได้อัญเชิญไปซ่อนไว้แต่ครั้งเวียงจันทน์เกิดสงคราม .. ขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ ซึ่งผูกติดกันอย่างมั่นคงล่องมาตามลำน้ำงึม เมื่อล่องมาถึงตรงบ้านเวินแท่นในขณะนั้น เกิดอัศจรรย์แท่นของพระสุกได้เกิดแหกแพจมลงไปในน้ำ โดยเหตุที่มีพายุพัดแรงจัด และบริเวณนั้นได้นามว่า "เวินแท่น"
การล่องแพก็ยังล่องมาตามลำดับจนถึงน้ำโขง (ปากน้ำงึม) เฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้เกิดพายุใหญ่ เสียงฟ้าคำรามคะนองร้องลั่น ในที่สุดพระสุกได้แหกแพจมลงไปในน้ำ ซึ่งอาการวิปริตต่างๆ ก็ได้หายไปเป็นอัศจรรย์ยิ่ง บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า "เวินสุก" และพระสุกก็จมอยู่ในน้ำตรงนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
พระเสริม พระใส .. ได้นำขึ้นมาถึงเมืองหนองคาย พระเสริมนั้นได้ถูกอัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใส ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดหอก่อง (ปัจจุบันคือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ)
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญพระเสริม จากวัดโพธิ์ชัย มาประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม
พระใส .. ถูกอัญเชิญจากวัดหอก่องขึ้นประดิษฐานบนเกวียนจะ อัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ ด้วย แต่พอมาถึงวัดโพธื์ชัย หลวงพ่อพระใสได้แสดงปาฏิหาริย์จนเกวียนหักจึงอัญเชิญลงไปไม่ได้ จึงได้อัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย หนองคาย จนถึงปัจจุบัน ความอัศจรรย์ของหลวงพ่อพระใสจนได้สมญาว่า "หลวงพ่อเกวียนหัก"
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร หลวงพ่อพระใส .. เป็นภาพวาดด้านในโดยรอบทุกด้าน
… เขียนเรื่องราวเดี่ยวกับพุทธประวัติและพุทธศาสนา รวมถึงวัฒนธรรมอีสานและตำนานต่างๆ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้งดงาม ด้วยฝีม่อช่างชั้นครู
Ref : ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก https://cac.kku.ac.th/esanart/19%20Province/Nong%20Khai/PoChai%20PraSai/NK%20PoChai%20PraSai.html
โฆษณา