9 ก.ย. 2023 เวลา 02:20 • ประวัติศาสตร์

เกา ฉางกง (หลานหลิงหวาง) บุรุษที่ใบหน้างดงามราวอิสตรี

เกา ฉางกง หรือชื่อเดิมว่า เกา ซู หรือ เกา เซี่ยวกวาน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ หลานหลิงหวาง
เกิดเมื่อปี ค.ศ. 541 เป็นโอรสองค์ที่ 4 ของเกา เฉิง โอรสของจักรพรรดิฉีเซียนหวู่ตี้ หรือเกา ฮวน บิดาแห่งราชวงศ์ฉีเหนือ (สมัยราชวงศ์เป่ยฉี)
เมื่อเกาฮวนตายในปี ค.ศ. 547 เกาเฉิงที่เป็นลูกชายคนโตก็กุมอำนาจแทน แต่เพราะความโหดร้ายของเกาเฉิง ทำให้พวกขุนนางและพี่น้องไม่พอใจเขา เกาเฉิงถูกลอบสังหารในปี 549 ในขณะที่เกาฉางกงอายุได้ 8 ขวบ
พอเกาเฉิงโดนสังหารตาย น้องชายของเกาเฉิงคือ เกาหยางก็ขึ้นเป็นใหญ่และกุมอำนาจในราชสำนักตงเว่ยแทน จนในปี 550 เกาหยางจึงเถลิงอำนาจเป็นจักรพรรดิฉีเหวินเสวียนตี้ เปลี่ยนชื่อประเทศจาก เว่ย (ตงเว่ย) เป็น ฉี
เกาหยางพอเป็นจักรพรรดิแล้ว ก็ทำตามธรรมเนียมโบราณ อวยพระยศย้อนหลังให้แก่บิดาและพี่ชายผู้ล่วงลับ คือเกาฮวนและเกาเฉิง เป็นจักรพรรดิไปด้วย ทำให้ เกาฉางกงที่เป็นลูกของเกาเฉิง และหลานชายของจักรพรรดิเกาหยาง ได้รับการปูนบำเหน็จเป็น หลานหลิงอ๋อง
เกาฉางกง ได้ชื่อว่าเป็นบุรุษที่ใบหน้างดงามราวอิสตรี เป็นหนึ่งในสี่บุรุษรูปงามที่สุดที่ปรากฏในประวัติศาสตร์จีน
แต่เกา ฉางกงกลับมีความสามารถในการสู้รบเป็นที่ประจักษ์ เกา ฉางกงมีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านที่เป็นบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียรในการเล่าเรียน, อุปนิสัยที่สุภาพและความสามารถในการทหาร แต่ด้วยใบหน้าที่งดงามราวอิสตรีทำให้เมื่อออกศึก จึงเกรงว่าศัตรูจะไม่เกรงกลัว รวมถึงทหารใต้บังคับบัญชาจะไม่เชื่อฟัง จึงทำให้ต้องสวมหน้ากากปีศาจทุกครั้งในการออกรบ
ในการรบที่สร้างชื่อมากที่สุด คือ เมื่อปี ค.ศ. 564 อายุเพียง 23 ปี เมื่อกองทัพของราชวงศ์โจวเหนือยกมารุกรานเมืองจินหยงของฉีเหนือ เกา ฉางกงเป็นแม่ทัพนำทหารออกรบ เกา ฉางกงนำทหารม้า 500 คน รักษาเมืองจินหยง โดยการบุกตะลุยเข้าไปในกองทัพข้าศึกที่มีกำลังมากถึง 100,000 คนทำให้ทหารโจวเหนือต่างกลัวเกรงกลัว และทหารฝ่ายฉีเหนือฮึกเหิมได้กำลังใจ
จนเมื่อกองทัพโจวเหนือแตกพ่ายไปแล้ว เกา ฉางกงได้นำทหารม้า 500 คนเข้าเมืองจินหยง แต่ทหารฉีเหนือที่รักษาเมืองไม่แน่ใจว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ จึงไม่ยอมให้เข้าเมือง ทำให้เกา ฉางกงต้องถอดหมวกแม่ทัพรวมถึงหน้ากากปีศาจออก แสดงให้เห็นใบหน้าที่แท้จริง เหล่าทหารได้ไชโยโห่ร้อง และเปิดประตูเมืองต้อนรับเกา ฉางกงเยี่ยงวีรบุรุษ และได้มีการแต่งเพลงในชื่อ "เจ้าชายหลานหลิงในสมรภูมิ" (兰陵王入阵曲; Prince Lanling in Battle) เพื่อสดุดีเกียรติ
โดยมีการเต้นรำด้วยการสวมใส่หน้ากากเหมือนเกา ฉางกง จนกระทั่งถึงยุคราชวงศ์ถังก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ จนกระทั่งถึงรัชสมัยจักรพรรดิถังเสียนจง จึงได้มีการห้าม แต่กลับไปเผยแพร่และได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นแทนโดยเป็นการแสดงระดับราชสำนัก และยังคงมีการเต้นเช่นนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งเรื่องของการสวมหน้ากากนี้เชื่อว่าเป็นส่งอิทธิพลมาถึงการแสดงงิ้วด้วย จนเกิดเป็นการแต่งหน้าตัวละครงิ้วด้วยสีสันและลวดลายต่าง ๆ
เมื่อพระญาติผู้น้อง คือ เกา เว่ย ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิโหวจู่ แห่งราชวงศ์ฉีเหนือ ได้ทรงระแวงว่า เกาฉางกง อาจจะก่อการรัฐประหาร เนื่องจากเป็นผู้ได้รับความนิยมอย่างมากในราชสำนักและราษฎร
โดยครั้งหนึ่งในงานเลี้ยงฉลองชัยชนะ พระองค์ตรัสกับเกา ฉางกงว่า ไม่ประสงค์ให้เกา ฉางกงขี่ม้าบุกตะลุยเข้าไปในแดนข้าศึก จะเป็นอันตราย แต่เกา ฉางกง ทูลตอบว่า ตนเองไม่เกรงกลัว นี่เป็นหน้าที่ที่ต้องรับใช้วงศ์ตระกูล จักรพรรดิโฮ่วจูจึงระแวงโดยเฉพาะคำว่า "รับใช้วงศ์ตระกูล"
เกา ฉางกงจึงปลีกตัวออกจากราชสำนักและการเมือง
ที่สุดหลังการออกรบกับราชวงศ์โจวเหนือ เกา ฉางกงได้รับพระราชทานสุราพิษให้ดื่ม จนกระทั่งถึงแก่ความตาย ขณะเมื่ออายุย่าง 30 ปี เมื่อ ค.ศ. 573
พงศาวดารฉีเหนือฉบับที่ 11 บันทึกว่า ในเดือนพฤษภาคม ปีที่ 4 รัชศกหวูปิง ผู้แทนพระองค์ได้มอบสุราพิษให้ เกา ฉางกง กล่าวว่า "ข้าถือความจงรักภักดีเป็นที่ตั้ง ไม่เคยทำผิดต่อเบื้องบน เหตุไฉนจึงเกิดเรื่องนี้แก่ข้า" พระชายาเจิ้ง ชายาของเกา ฉางกง กล่าวว่า "เหตุไฉนท่านจึงไม่เข้าเฝ้าเบื้องบนเล่า" เกา ฉางกง กล่าวว่า "มีทางใดที่ข้าจะเห็นเบื้องบนได้เล่า" จากนั้นจึงสิ้นใจตาย
ที่มา รูปปก cr.วิกิพีเดีย
โฆษณา