12 มี.ค. 2023 เวลา 11:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ถอดรหัส Brilliant Basics ของ KBTG

เมื่อธุรกรรมทางการเงินเปรียบเสมือนเส้นเลือดของการดำเนินธุรกิจ และยิ่งปัจจุบันธุรกรรมทางการเงินมีจำนวนมากขึ้นมหาศาลและมีขนาดเล็กลง ๆ เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยที่แผ่กระจายไปทั่วทุกหน่วยเศรษฐกิจน้อยใหญ่ทั้งองคาพยพของระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยการ Empower ของ mobile banking จึงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าระบบ Core Banking นั้นเปรียบเสมือนหัวใจของระบบเศรษฐกิจที่จะต้องทำงานอย่างเสถียรภาพสม่ำเสมอตลอดเวลา เพื่อให้ไม่เกิดการสะดุดของการไหลเวียนเม็ดเงินเศรษฐกิจแม้เพียงเล็กน้อย
อาจดูเหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา (Brilliant BASICS) เพราะด้วยธุรกรรมทางการเงินที่ผ่านระบบของธนาคารกสิกรไทยนับเป็น 1 ใน 3 (ราว 33%) ของขนาดเศรษฐกิจของไทย ธุรกรรมรวม 29,000 ล้านธุรกรรม มูลค่าธุรกรรมรวมประมาณ 23 ล้านล้านบาท (หรือ 7,700 ล้านธุรกรรมต่อปี) จากการทำธุรกรรมของลูกค้า 24.89 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้งาน KPLUS 18.6 ล้านคน (ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20 ล้านคนในสิ้นปี 2565) ขณะที่ K+ Shop แอปธนาคารสำหรับร้านค้ามีร้านค้าใช้งานแอปอยู่ราว 4 ล้านราย มีจำนวนธุรกรรมรวม 17,000 ล้านธุรกรรมต่อปี
เบื้องหลังความเสถียรภาพของ KBANK คือ KBTG …. ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา Brilliant BACIS ที่ KBTG และ KBANK สร้างระบบธนาคารและระบบการเงินที่มีความเสถียร ที่ดูแล 1 ใน 3 ขององคาพยพทางการเงินของประเทศไทย
การสร้างเสถียรภาพของ “หัวใจเศรษฐกิจ” นี้เป็นพันธกิจหลักของ KBTG และเป็นพันธกิจที่ทวีความท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของศักยภาพธนาคารกสิกรไทย ที่ไม่เพียงแต่เป็นหัวใจของเส้นเลือดเศรษฐกิจของประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังมุ่งสู่การเป็น Regional Challenger Bank ในเอเชียที่ตั้งเป้ามีผู้ใช้งานจำนวน 100 ล้านราย และจะมีปริมาณธุรกรรมรวม 100,000 ล้านธุรกรรมในปี 2025
กระทิง-เรืองโรจน์พูนผล Group Chairman บริษัทกสิกรบิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ปหรือ KBTG
“ธนาคารเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ (Trust) ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารที่มีสถียรภาพมากที่สุดตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2020 มี Incident น้อยที่สุด ลูกค้ามากที่สุด ปริมาณธุรกรรมมากที่สุด มูลค่ารวมของธุรกรรมทางการเงินมากที่สุด แต่มีเสถียรภาพมากที่สุด”​ กระทิง-เรืองโรจน์พูนผล Group Chairman บริษัทกสิกรบิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ปหรือ KBTG กล่าว
ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา Brilliant BACIS
ก่อนที่มีเสถียรภาพสูง KPLUS เมื่อครั้งยังมีปริมาณธุรกรรมน้อยกว่านี้เมื่อ 2.5 ปีที่แล้ว เคยล่มอยู่ 2-3 ครั้งในรอบปี (2019) จากที่ต้องรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงต้นเดือนกลางเดือน และปลายเดือน รวมถึงช่วงเวลาที่ไม่อาจคาดเดาได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดธุรกรรมทางธนาคารจำนวนมากมายพร้อม ๆ กัน อาทิ การเปิดรับบริจาคเงิน การเปิดใช้บริการ Prompt Pay การประกาศแคมเปญทางการตลาด เป็นต้น
สาธิต ไกรญาณสม Executive Chairman, KBTG กล่าวว่า จากบทเรียนที่เกิดขึ้นทำให้ KBTG กลับมานั่งทบทวนและวางแผนยุทธศาสตร์การทำงาน ระดมสรรพทรัพยากรทั้งคน และเทคโนโลยี มีการออกแบบระบวนการใหม่ เพื่อสนับสนุนระบบ Core Banking ของธนาคารกสิกรไทยนี้ให้มีเสถียรภาพสูงสุด
KBTG ทำการปรับโครงสร้างทีมบริหาร และปรับสถาปัตยกรรมโครงสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานของระบบ Core Banking ตั้งแต่การวางแผนและออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมโครงสร้างเทคโนโลยีพื้นฐาน ไปจนถึงแผนปฏิบัติการเพื่อดูแลระบบแกนหลักของธนาคารกสิกรไทยให้มีความเสถียรสูงสุด
สาธิต ไกรญาณสม Executive Chairman, KBTG
KBTG เรียกขานกลยุทธ์ที่ใช้รันระบบ Core Banking ว่า Brilliant Basics เริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมใหม่ การวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี และการลงมือปฏิบัติจริง
การวางโครงสร้างใหม่ที่ยึดหลักก้าวนำหน้าก้าวหนึ่งเสมอ (One-Step Ahead) ของ KBTG ทำให้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่เป็นสถาปัตยกรรมแบบเปิด (Opened Architecture) ที่จะไม่มีจุดอ่อน (Single Point of Failure) และยึดหลักการออกแบบการทำงานแบบอัตโนมัติเป็นหลัก (Automated-first Design)
ทรานส์ฟอร์มทั้งองคาพยพ
ตะวัน จิตรถเวช, Chief Technology Officer, KBTG กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนการวางรากฐานทางเทคโนโลยีที่มีเสถียรภาพและความสามารถในการขยายศักยภาพของระบบ KBTG จึงทำการทรานส์ฟอร์มโครงสร้างพื้นฐาน (KInfra Transformation) ที่มีการทำงานอยู่ 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนแรก เริ่มจากการทลาย silo ของโครงสร้างองค์กร (Destroy Silos) ยุบรวมบริษัท KPRO และ KServe มาเป็น KInfra สร้างเป็นทีมที่ทำงานข้ามฟังก์ชันของงาน (Cross-Functional Team) ซึ่งนอกจากจะสร้างความแข็งแกร่งของทีมให้มากขึ้น ยังเปิดทางสร้าง career path ให้พนักงานได้กว้างและไกลขึ้น เป็นการสร้างให้พนักงานมีความมั่นใจกับองค์กรมากขึ้น มีการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ รื้อระบบงานจากเดิมที่เป็น application based มาเป็นระบบงานที่เน้นบริการ end-to-end สำหรับลูกค้า คือ ฝาก-โอน-ถอน เป็นสำคัญ
ขั้นต่อมา เป็นการทำทรานส์ฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ที่ทำการทรานส์ฟอร์มทั้งวัฒนธรรม คน และระบบ เพื่อสร้างให้ KBTG เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง
เริ่มจากใส่แนวคิด no single point of failure เพื่อสร้างการทรานส์ฟอร์มในระดับตัวพนักงาน จากนั้นเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการทำงานด้วยการนำทีมคนออกแบบสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับทีมพัฒนาแอปพลิเคชันและทีมสถาปัตยกรรมองค์กร (Functional and Non-functional Team) เพื่อร่วมกันออกแบบสถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่ต้นเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบงานระบบแอปพลิเคชันในอนาคตเพื่อรองรับลูกค้าและคู่ค้าที่จะได้ประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารกสิกรไทยได้โดยไม่สะดุด
ซึ่งผลงานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์การทำงานลักษณะนี้ คือ ความสามารถในการขยายระบบเพื่อรองรับประมาณธุรกรรม 20,000 ธุรกรรมต่อวินาทีของผู้ใช้งาน KPLUS 18.6 ล้านราย ซึ่งระบบนี้ออกแบบมาเพื่อรองรับการขยายฐานผู้ใช้และปริมาณธุรกรรมไปจนถึง 100 ล้านคนที่ 100,000 ธุรกรรมต่อวินาที
ตะวัน จิตรถเวช, Chief Technology Officer, KBTG
นอกจากการทำงานลักษณะนี้ คือ การออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการออกแบบแอปพลิเคชันที่สามารถขยายศักยภาพได้แบบไม่สะดุด (Scalability) แล้ว KBTG ยังปรับวิธีคิดและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีด้วยการสร้าง On-Premised Cloud ที่มีความสามารถในการขยายศักยภาพ ถึง 2 แห่ง คือ ที่สำนักงานราษฎบูรณะและแจ้งวัฒนะ
โดยทั้ง 2 แห่งเป็นทั้ง Data Center และ Disaster Discovery (DC/DR) ซึ่งกันและกันและทำงานแบบ component-based คือ ทำงานทดแทนกันได้ ทำให้มีความคล่องแคล่วว่องไวสูง มีการทำงานได้ตลอดเวลา และมีความมั่นคงของระบบสูง
ขั้นต่อมาคือ การออกแบบและสร้างการป้องกันและการปฏิบัติการแบบอัตโนมัติ (Preventives/AIOps) ที่มีการนำ Machine Learning เข้ามาสนับสนุน ตั้งแต่การเก็บ log การติดตาม และการเรียนรู้ข้อมูลธุรกรรมและรูปแบบของธุรกรรม (information and pattern) ทำให้สามารถเห็นการเดินทางของธุรกรรมแต่ละธุรกรรมตั้งแต่หน้าแอปพลิเคชันไปจนถึงการทำงานของเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในคลาวด์ ทำให้สามารถรู้-เห็น ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วได้ทันที
นอกจากนี้ ยังนำเอา Machine Learning มาเรียนรู้รูปแบบของธุรกรรมเพื่อทำการติดตามและแจ้งเตือนปัญหา (Preventive Maintenance) ทำให้ระบบมีความเสถียรสูง
สุดท้าย คือ การปฏิบัติการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ผ่าน War Room ที่บริหารจัดการและดูแลด้วยทีม Month-end Avenger Team ที่ประกอบด้วยคีย์แมนด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับบริหาร Chief Information Officer (CIO) ลงมาที่ team lead ของระบบต่าง ๆ ทั้งระบบแอปพลิเคชัน ระบบต่อเชื่อม โครงสร้างพื้นฐาน ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์
แก้วกานต์ ปิ่นจินดา, Assistant Managing Director – Incident and Problem Management, KBTG กล่าวว่า ระบบ War Room จะเพิ่มประสิทธิภาพของการติดตามเฝ้าระวัง ช่วยให้รู้จักองค์กรทะลุปรุโปร่งไม่เฉพาะเรื่องระบบงานแต่รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย (Application and Security) มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาสนับสนุนการทำงานของ War Room เพื่อเรียนรู้และตรวจจับพฤติกรรมของธุรกรรมทุก ๆ ธุรกรรม
มีการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของ War Room ด้วยการปรับยกการทำงานใน 3 ด้าน ด้านแรกคือ คน (People) ที่ประกอบด้วย ทีม operation 60 คน ทีม incident 20 คน และทีม monitor 15 คน ที่ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญ War Room และบทบาทของตัวเอง ว่าเปรียบเสมือนเป็น “หมอเวร” ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ที่ไม่ได้เพียงแค่เยียวยาแต่ต้องแก้วิกฤติ ดังนั้นจะต้องมี “ชุดความคิด” ที่เห็นความสำคัญของภารกิจ และต้องมี “ความสามารถ” ที่จะจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้
แก้วกานต์ ปิ่นจินดา, Assistant Managing Director – Incident and Problem Management, KBTG
ด้านต่อมาคือ กระบวนการ (Process) ที่ต้องให้มีความกระชับ ลดขั้นตอน เพื่อให้ลูกค้า คู่ค้า ผู้ใช้งานสามารถกลับมาใช้งานได้เร็วขึ้น โดยจะมีการทำ pre-approved เพื่อทำให้ recovery time สั้นลง มีการทำ automated playbook และ circuit breaker เพื่อให้เห็นปัญหาเร็ว แก้ปัญหาได้เร็ว อาทิ หากมีการโอนเงินต่างธนาคารจำนวนมากแล้วเกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัญหา circuit breaker จะทำงานทันที คือจะปิดระบบการโอนเงินโดยอัตโนมัติ และด้านสุดท้ายคือ เครื่องมือที่ออกแบบเป็นแสดงผลการเฝ้าระวังในหน้าจอเดียว (Centralized Dashboard)
Regional Infrastructure เพื่อ Regional Challenger Bank
เมื่อ KBTG คือ ลมใต้ปีกของธนาคารกสิกรไทย จึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายศักยภาพธุรกิจและบริการไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเป้าหมายว่าจะมีฐานลูกค้า 100 ล้านรายในปี 2025 KBTG ออกแบบและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเป็น Regional Infrastructure ที่รองรับการขยายปริมาณธุรกรรมจาก 20,000 รายการต่อวินาที เป็น 100,000 รายการต่อวินาทีได้โดยยังสามารถคงความมีเสถียรภาพสูงสุดไว้ (Scalability and Stability)
เรืองโรจน์ กล่าวว่า KBTG คิดและวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีด้วยแนวคิดแบบภูมิภาคตั้งแต่แรก โดยการใช้ทีมทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และจีน เพื่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ Core Baking ได้ทั่วทั้งภูมิภาค
เมื่อเร็ว ๆ นี้ KBTG เพิ่งติดตั้งและเปิดระบบ Core Baking ให้กับ KPLUS ในเวียดนาม โดยใช้ระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วมาก ทั้งนี้เป็นเพราะวิธีการที่ใช้คือการออกแบบและพัฒนาเป็นโมดูล ที่เป็นโมดูลมาตรฐาน (Common/Standard Module) และโมดูลแบบเฉพาะเจาะจง (Specific Module) เพื่อรองรับการขยายระบบงานไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้งานหลักที่เหมือนกันแต่มีความแตกต่างกันเรื่องกฎระเบียบและวิธีการทำงานจริง และระบบแอปพลิเคชันหน้าบ้าน (UX/UI)
โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีนี้ KBTG ออกแบบและวางแผนรองรับไปถึงปี 2025 มีการปรับแต่งเป็นเฟส ๆ ตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ทำให้ระบบ Core Banking ของธนาคารกสิกรไทย มีความเสถียรสูง และมีศักยภาพในการรองรับการขยายฐานลูกค้าสูง จนได้รับการจัดอันดับจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเป็นธนาคารที่มีความเสถียรของระบบสูงที่สุด แม้ว่าจะมีจำนวนลูกค้าและจำนวนธุรกรรม “ถอน-โอน-จ่าย” สูงที่สุดด้วยเช่นกัน
ซึ่งเบื้องหลังของธุรกรรม “ถอน–โอน–จ่าย” ธรรมดา ๆ ที่ผู้บริโภครู้สึก คือ ความไม่ธรรมดาของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของระบบ Core Banking ของธนาคารกสิกรไทยที่มีทีมงาน 1,800 คนของ KBTG อยู่เบื้องหลังที่ร่วมกันทำงานภายใต้แนวคิด All for ONE คือ ร่วมกันทำงานเพื่อลูกค้าและคู่ค้าของธนาคารกสิกรไทยได้ใช้ประโยชน์จากบริการทางการเงิน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ธุรกิจที่ดีขึ้น และการทำงานที่ดีขึ้น ผ่านธุรกรรมที่แสนจะธรรมดา “ถอน–โอน–จ่าย”
โฆษณา