12 มี.ค. 2023 เวลา 14:51 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อดีตการแห่ถอนเงินในไทย!!! เมื่อ Bank Run ก็เคยเกิดขึ้นในไทย

ในช่วงเวลานี้คงไม่มีข่าวไหนกระเทือนการโลกการเงินเท่าธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ล่มสลายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมงเนื่องจากคนแห่ถอนเงิน แต่ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้แล้วในในปี พ.ศ. 2540 จนก่อให้เกิดเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งลุกล่มไปทั่วโลก ประเทศไทยประสบปัญหาได้อย่างไร เรามาดูกันครับ
1
สรุปสาเหตุการล่มสลายของ SVB โดยย่อ
ธนาคาร SVB เป็นธนาคารขนาดยักษ์ในประเทศอเมริกาโดยมีเงินฝากถึง 6 ล้านล้านบาทด้วยกัน เรียกได้ว่าใหญ่กว่าจำนวนเงินฝากของธนาคารกสิกรประมาณ 2 เท่าได้ แต่การมีเงินฝากเท่ากับมีรายจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงิน ซึ่ง SVB ที่มีเงินฝากมหาศาลจำเป็นต้องนำเงินไปปล่อยสินเชื่อ (Loan) หรือไปซื้อพันธบัตร (Bond) หรือหุ้นกู้ (Debenture) เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าดอกเบี้ยดังกล่าว
3
แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ต้องการจะสู้อัตราเงินเฟ้อโดยขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทบต่อดอกเบี้ยเงินฝากของ SVB ทำให้รายจ่ายสูงขึ้นมากแต่ความสามารถในการหารายได้โดยการปล่อยสินเชื่อกลับไม่มากตามไปด้วย อาจเป็นเพราะดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต้องปรับสูงขึ้นหรือสาเหตุอื่นๆ แต่หากธนาคารสามารถประคองตัวไปได้จนเศรษฐกิจพลิกฟื้นก็จะเข้าสู่สภาวะปกติในที่สุด
1
แต่ปัญหาสำคัญเกิดขึ้นเมื่อผู้ฝากรู้สึกไม่สบายใจหรือวิตกกังวลในความมั่นคงของธนาคาร ทางผู้ฝากหลายๆ คนจึงแห่ถอนเงินของตนออกมา (Bank run) และเมื่อมีผู้ถอนมากขึ้นข่าวลือเรื่องธนาคารอาจไม่มีเงินก็กระจายเป็นวงกว้างก็ทำให้คนมาถอนเงินเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ธนาคารจำเป็นที่จะต้องสำรองเงินให้พอกับระลอกมหาชนที่มาถอนเงิน
เมื่อไม่มีเงิน SVB จำเป็นต้องขาย Bond ในราคาต่ำเพื่อให้มีเงินมากพอ (นึกภาพถึงราคาไฟไหม้ ที่ยอมขายขาดทุนหรือกำไรแทบไม่มีเพื่อหาทางเอาเงินมาพยุงกิจการ) แต่การขายที่ราคาต่ำหมายถึงรายได้ที่อาจไม่พอจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ และเมื่อธนาคารไม่สามารถหาเงินได้ทัน การดำเนินการทั้งหมดหยุดชะงักและธนาคารก็ล่มสลายไปในที่สุด
วิกฤตการณ์คนแห่ถอนเงินจาก SVB สู่ประเทศไทย
เหตุการณ์ Bank Run ที่เกิดขึ้นกับ SVB ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อมีวิกฤติทางการเงินเกิดขึ้น ประเทศไทยเองก็เคยประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างรุนแรงซึ่งนำไปสู่การดำเนินการของธนาคารและความตื่นตระหนกอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ฝากเงินเช่นกัน
แต่เดิมประเทศไทยดำเนินนโยบายตรึงค่าเงินบาทกับดอลล่าสหรัฐไว้ที่ 25 บาทต่อดอลล่าสหรัฐ ข้อดีของการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนคือความเสถียรในการประกอบธุรกิจ การกู้ยืมเงินโดยใช้ค่าเงินต่างชาติทำได้ง่ายและไม่ผันผวน ส่งผลให้มีการขยายธุรกิจกันอย่างมากมาย แต่ข้อเสียอย่างร้ายกาจคือธนาคารแห่งประเทศไทยต้องหาเงินต่างชาติมาซื้อหรือขายเพื่อคงค่าเงินไว้ตามที่กำหนด
1
วิกฤตการณ์ทางการเงินของไทยเริ่มขึ้นในกลางปี 2540 เมื่อผลประกอบการของภาคธุรกิจโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัว เจ้าของกิจการเริ่มจะหาเงินมาจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ทัน สิ่งนี้ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตระหนกในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเริ่มถอนการลงทุนออกจากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย การนำเงินออกจากประเทศคือการแลกเงินไทยเป็นค่าเงินอื่น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างรุนแรง
นอกจากประเทศไทยต้องหาเงินมาพยุงค่าเงินให้อยู่ที่อัตตรา 25 บาทต่อดอลล่าแล้ว การถอนเงินทุนต่างประเทศยังสร้างแรงกดดันต่อธนาคารไทยซึ่งต้องกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจำนวนมากเพื่อใช้ในการดำเนินงาน เป็นผลให้ธนาคารหลายแห่งพบว่าตัวเองขาดเงินทุนและไม่สามารถตอบสนองความต้องการถอนเงินจากผู้ฝากได้
สิ่งนี้นำไปสู่การดำเนินการของธนาคารโดยผู้ฝากรีบถอนเงินออกจากธนาคารเป็นจำนวนมาก สถานการณ์เลวร้ายลงด้วยข่าวลือและข้อมูลที่ผิดซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านสื่ออื่นๆ รัฐบาลไทยถูกบังคับให้เข้าแทรกแซง โดยใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงินบาทและค้ำประกันเงินฝากในระบบธนาคาร
1
นอกจากนี้ยังใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในภาคการเงิน รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินใหม่และการจัดตั้งกองทุนเพื่อค้ำประกันเงินฝากธนาคาร แต่วิกฤตินั้นยากเกินกว่าที่จะเยียวยาได้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจและการล่มสลายของธนาคารหลายๆ แห่ง
บทสรุปของ Bank Run
แม้ว่าสาเหตุของการล่มสลายของ SVB กับวิกฤตต้มยำกุ้งจะต่างกัน แต่ท้ายสุดจะเกิดปัญหาที่ “ความเชื่อมั่น” ในตัวสถาบันการเงิน และหากสถาบันการเงินไม่สามารถรักษาความเชื่อมั่นได้ การแห่ถอนเงินและการขายสิททรัพย์ในราคาที่ถูกเพื่อเอาเงินมาประคองกิจการย่อมจะเกิดขึ้นและการล่มสลายก็จะตามมาในที่สุด
1
โฆษณา