15 มี.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ย้อนรอยวิกฤติการเงินยุค 2000s กับ การล่มสลายของแบงก์ในสหรัฐฯ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงจะเห็นเห็นเหตุการณ์ที่แบงก์ Silicon Valley Bank (SVB) ล้ม
ซึ่งแบงก์แห่งนี้ก็เป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทสตาร์ตอัปหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา
และหลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้เพียงไม่กี่วัน
หน่วยงานรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินสหรัฐฯ และแบงก์กลางสหรัฐฯ (FED) ได้ร่วมกันแถลงปิดตัว Signature Bank แบงก์เพื่อบริษัทคริปโตรายใหญ่ในสหรัฐฯ
เนื่องจากมีความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดตัวของ SVB
จากเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลายฝ่ายจึงกังวลว่า หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเงินครั้งใหม่
ในบทความนี้ เราจะพาไปย้อนรอยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้น มีเหตุการณ์แบงก์ล้ม (Bank Failures) ไปแล้วกี่ครั้ง
โดย ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกามีเหตุการณ์ที่แบงก์ล้ม ( Bank Failure ไปแล้วทั้งหมด) 563 แห่ง มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 941,394.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รวมเหตุการณ์ของ Signature Bank ที่เกิดขึ้นล่าสุด)
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่มีเหตุการณ์ Bank Failures ครั้งใหญ่ คือ ในช่วงปี 2008-2009
ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์วิกฤติทางการเงิน หรือ Financial Crisis ปี 2008
แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2010 เป็นปีที่มีแบงก์ล้มมากที่สุด นับตั้งแต่วิกฤติการออมสุดลงในปี 1992
ในขณะที่เหตุการณ์ความล้มเหลวของ Silicon Valley Bank
เป็นล้มเหลวครั้งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสถาบันการเงินในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว
💙 ย้อนรอย Financial Crisis
วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2007-2008 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อวิกฤติซัปไพรม์
เป็นวิกฤติที่รุนแรงทางด้านการหดตัวของสภาพคล่องทั่วโลกในตลาดการเงิน ที่เริ่มต้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยวิกฤติในครั้งนั้น ได้ไปทำลายระบบการเงินระหว่างประเทศ
ทำให้เกิดความล้มเหลว (หรือเกือบล้มเหลว) ของสถาบันการลงทุนและแบงก์พาณิชย์รายใหญ่หลายแห่ง รวมไปถึงผู้ให้กู้จำนอง บริษัทประกัน และสมาคมออมทรัพย์และเงินกู้
ซึ่งต่อมาทำให้เกิดภาวะถดถอยเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (ปี 2007-2009) ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ The Great Depression (ปี 1929–c. 1939).
และในช่วงนั้นเองที่มีแบงก์หลายแห่งในสหรัฐอมเริกาฯต้องล้มลง
โดยหน่วยงาน The Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ซึ่งเป็นของรัฐบาลสหรัฐฯที่ให้ประกันเงินฝากจากความล้มเหลวของแบงก์ ได้ปิดตัวแบงก์ลงไปถึง 465 แห่ง ตั้งแต่ช่วงปี 2008-2012 รวมมูลค่าสินทรัพย์ทั้งสิ้น 689,080.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
💙 2010 ปีที่มีแบงก์ล้มลงมากที่สุด
1
ในปี 2010 เป็นปีที่มีแบงก์ล้มลงมากที่สุด มากกว่าปีไหน ๆ ทั้งแต่วิกฤติปี 1992
โดยในปี 2010 มีแบงก์ล้มลงทั้งหมด 157 แห่ง รวมมูลค่าทรัพย์สินไปกว่า 96,514.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ ในปี 2009 ที่มีแบงก์ล้มไปที่ 140 แห่ง และมีมูลค่าความเสียหายรวมที่ 170,909.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยในปี 2010 แบงก์ที่ใหญ่ที่สุดที่ล้มลง คือ Westernbank Puerto Rico โดยมีมูลค่าทรัพย์สินที่ 11,940.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Jim Wigand ผู้อำนวยการของ FDIC กล่าวว่า ถึงแม้ในปี 2010 จะเป็นปีที่มีแบงก์ล้มลงมากที่สุด
แต่เมื่อเทียบมูลค่าทรัพย์สินแล้วนั้นน้อยกว่าช่วงปี 2008-2009 ที่เกิดวิกฤติซับไพรม์
ซึ่งหากเทียบในมูลค่าของทรัพย์สินแล้วจะพบว่าในปี 2008 เป็นปีที่มีความเสียหายรุนแรงที่สุด
นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์การล้มของแบงก์ในปี 2010 ว่ามีขนาดเล็กกว่าและสะท้อนถึงเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นที่พวกเขาให้บริการมากกว่าแบงก์ที่ล้มเหลวในช่วงวิกฤติก่อนหน้านี้
เพราะในช่วงปี 2010 แบงก์ที่ล้มเหล่านั้นมีสาเหตุมาจากการช่วยเหลือชุมชนจากช่วงเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากวิกฤติการเงินก่อนหน้า
💙 หรือ 2023 จะเป็นอีกหนึ่งปีแห่งวิกฤติการเงิน
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แบงก์ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 16 ของสหรัฐฯ ได้ล้มลง จนสั่นสะเทือนไปทั่วโลกว่า หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจระลอกใหม่
ซึ่งเรื่องราวก็เริ่มมาจากในช่วงวันที่ 9 มีนาคม ที่หุ้นของ SVB Financial บริษัทแม่ SVB ร่วงถึง 62%
โดยเหตุการณ์นี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลใจจนแห่กันมาถอนเงิน หรือ ในทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกกันว่า Bank Run
และพอคนแห่ไปถอนเงินมาก ๆ ก็จะทำให้สถานการณ์สภาพคล่องของแบงก์แย่ลง
จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ นั่นคือ ไม่มีเงินสดมาจ่ายให้กับคนที่มาถอน จนต้องล้มละลายลง
สุดท้าย จนล่าสุดผู้กำกับดูแลในสหรัฐฯ ก็ออกมาสั่งปิดแบงก์ SVB
และหลังจากนั้นไม่กี่วัน Signature Bank ที่ New York ก็ถูกสั่งปิดเป็นรายที่ 2 ตามมาติด ๆ
ซึ่งเป็นการที่แบงก์ล้มที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ รองจาก Silicon Valley Bank ที่เป็นอันดับ 2 และ Washington Mutual ที่เป็นอันดับ 1 ที่ล้มไปช่วงวิกฤติช่วงปี 2008
ซึ่งหากเราดูสัดส่วนก็จะพบว่า แค่เริ่มต้นปี 2023 มาได้ไม่ทันไร ก็มีแบงก์ล้มไปถึง 2 รายแล้ว
และคิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินรวมถึง 220,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
นับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์แบงก์ล้มที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เป็นอันดับที่ 2 รองจากปี 2008 เลยทีเดียว
เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนทางระบบเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม
ระหว่างการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อของแบงก์กลาง กับ สภาพของธุรกิจต่าง ๆ ในระบบ
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา