15 มี.ค. 2023 เวลา 14:31 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมเครื่องมือตรวจวินิจฉัย วิจัยวิทยาศาสตร์ น่าลงทุนไหม?

การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในห้องแล็ปสมัยนี้ ไม่ได้ใช้หลอดทดลองกับตะเกียงแอลกอฮอล์อย่างที่คนรุ่นก่อนคุ้นเคยกันแล้ว
เครื่องมือวิจัย เป็นอุปกรณ์ที่ส่วนใหญ่มีราคาแพง มีกลไกการทำงานและระบบที่ซับซ้อน บางครั้งมองเห็นลงไปถึงระดับอะตอมหรือลึกกว่านั้น แต่วันนี้เราจะมาดูเครื่องมือประเภทที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาและการแพทย์เป็นหลัก
เครื่องมือวิเคราะห์วิจัย มักใช้คำว่า instrumentation ซึ่งหมายรวม ๆ ถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ทำวิจัย หรือใช้ตรวจวิเคราะห์ มีทั้งแบบที่ใช้ในห้องแล็ป (lab grade) และที่ใช้ตามโรงพยาบาลในการตรวจวิเคราะห์เพื่อบำบัดรักษา (clinical grade)
ถ้าเปรียบวงการชีววิทยาศาสตร์ (life sciences) ซึ่งก็คือพวกยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ ชุดตรวจต่าง ๆ เป็นเครื่องบินเจ๊ทที่กำลังขึ้นเหิรบิน
อุตสาหกรรมเครื่องมือวิจัยและทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ ก็คงเปรียบเสมือนลมใต้ปีกของอุตสาหกรรม life science
บรรดาเครื่องมือที่ใช้ในห้องแล็ปเหล่านี้ ล้วนแต่มีมูลค่าสูง เครื่องมือพวกนี้นอกจากตัวเครื่องแล้ว มักต้องใช้พร้อมกับน้ำยาราคาแพง หรือพวกวัสดุใช้แล้วทิ้งต่าง ๆ ที่ต้องสั่งมาใช้ด้วยกันเป็นการเฉพาะ
1
และเมื่อประชากรโลกสูงวัยมากขึ้น ป่วยมากขึ้น ก็ต้องการเครื่องไม้เครื่องมือมาวิจัยเพื่อหาวิธีการตรวจรักษามากขึ้น หาวิธีรักษาใหม่ ๆ
หรือพูดง่าย ๆ คือ เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่โตพร้อมตลาดสุขภาพ
นอกจากเป็นลมใต้ปีกแล้ว ยังมีมูลค่าสูงมากด้วยตัวของมันเอง มูลค่าตลาดทั่วโลกเป็นหลักล้านล้านบาท (บางสำนักก็คาดการณ์มูลตลาดในปี 2030 ไว้ที่ประมาณ 130.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 5 ล้านล้านบาท)
ตลาดโลกกลุ่มเครื่องมือฯ มีแนวโน้มการเติบโตสูง รวม ๆ ประมาณ 7% ลูกค้าเติบโตทั้งในโลกที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่คือบริษัทสินค้านวัตกรรม โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา
ถ้าจะเอ่ยถึงผู้เล่นหลักในระดับโลก เวลานี้ก็มี Danaher, Thermo Fisher Scientific, Merck & Co., Bio-Rad Laboratories, Shimadzu เป็นต้น ล้วนแต่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จำชื่อเหล่านี้ไว้ให้ดีนะครับ
เครื่อง Real-Time PCR รุ่น QuantStudio7 ของบริษัท Thermo Fisher
มองไปที่ต่างประเทศ อเมริกาเหนือคือภูมิภาคที่ครองความเป็นเจ้าตลาดนี้ และผลิตเครื่องมือใหม่ ๆ ออกมาให้โลกใช้อยู่เรื่อย ๆ ส่วนในยุโรปนอกจากภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัยแล้ว เราจะเห็นการลงทุนเพิ่มขึ้นจากภาครัฐเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแข่งกับค่ายสหรัฐ จึงเป็นอีกที่หนึ่งที่จะมีการเติบโตสูงต่อเนื่อง
แต่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการเติบโตนำโด่งในทศวรรษนี้ เพราะอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์เติบโตสูงมาก พร้อมกับการเติบโตของประชากรด้วย
อย่าลืมว่าจีนมีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง BGI ที่ครั้งหนึ่งถูกสกัดดาวรุ่งจากค่ายตะวันตก จนลุกขึ้นสู้ สามารถพัฒนาระบบเครื่องมือตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรมได้เองและส่งออกขายได้ด้วย
ส่วนในตะวันออกกลางและอาฟริกามีความต้องการเครื่องมือตรวจวินิจฉัยที่ได้ผลแม่นยำสูงขึ้นมาก นี่ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดอีกเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงเหตุผลที่เฉพาะเจาะจงขึ้นไปอีก ว่าเหตุใดอุตสาหกรรมเครื่องมือฯ ด้านชีววิทยาศาสตร์จึงจะเติบโตขึ้นได้อีกมาก
สาเหตุหนึ่งคือ digital transformation
ในสม้ยที่ผู้เขียนยังทำวิจัยอยู่ในห้องแล็ป มักพูดกันติดตลกว่า งานวิจัยด้านไบโอฯ เหมือนกับงานเลี้ยงลูก ต้องเฝ้าดูแลฟูมฟักตลอด ลักษณะแบบนี้จะไม่มีในกลุ่มนักวิจัยด้านอิเล็กโทรนิกส์ หรือด้านวัสดุศาสตร์
งานวิจัยด้านไบโอฯ นอกจากจะต้องเซ็ทเงื่อนไข (อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณสาร) ให้แม่นยำแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตด้วย มีสิ่งปนเปื้อนในอากาศเข้ามานิดเดียว เซลล์ที่อุตส่าห์หลังขดหลังแข็งเลี้ยงไว้ก็เน่าได้หมด การติดตามดูความเปลี่ยนแปลงในหลอดทดลอง ต้องอาศัยนั่งเฝ้า นอนเฝ้ากันทั้งคืนก็บ่อย
แต่ปัจจุบันนี้ งานวิจัยได้รับอานิสงส์จากเครื่องมือวิจัยที่ใช้ระบบดิจิตัลเป็นเรื่องปกติธรรมดา นักวิจัยเราสามารถติดตั้งแอปในมือถือ เดินออกจากห้องแล็ปไปจิบกาแฟเอสเปรสโซ่ หรือทานข้าวผัดกระเพรากับเพื่อน ก็ยังสามารถติดตามดูปฏิกิริยาในหลอดทดลองได้ตลอดเวลา
ความสะดวกสบาย และความแม่นยำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งประสิทธิภาพและความสามารถในการตรวจวัดส่ิงที่สมัยก่อนไม่เคยตรวจได้มาก่อน อย่างเช่นการหาลำดับเบสของยีนได้อย่างรวดเร็ว และราคาถูกลง ทำให้ลูกค้าชอบซื้อเครื่องมือใหม่ ๆ หรืออัพเกรดเครื่องมือให้เป็นรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา
สาเหตุที่สองคือ การเติบโตของไบโอเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ความก้าวหน้าของจีโนมิกส์ (genomics) หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมโดยรวม
หลังจากที่ประเทศไทยเร่ิมมีโครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์เมื่อสองสามปีก่อน เห็นได้ชัดว่าแวดวงเครื่องมือวิทยาศาสตร์มีความคึกคักขึ้นมาทันที
เมื่อเรามีฐานข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมของคนไทยที่ใหญ่มากขึ้น เราก็เริ่มพอจะนำความรู้นี้ (ที่เฉพาะเจาะจงกับพันธุกรรมของคนไทย) มาสร้างไม้บรรทัด เพื่อวิเคราะห์เทียบเคียงได้ว่า ถ้ามีลำดับเบส DNA แบบนี้ น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคอะไรได้บ้าง หรือเป็นโรคอะไรอยู่แล้วบ้าง หรือเราอาจจะแพ้ยาอะไรได้บ้าง
การที่ข้อมูลมากขึ้น ก็เลยทำให้ทำนายได้แม่นยำมากขึ้น (precision) ลงไปถึงความละเอียดในระดับเฉพาะบุคคล (personalized)
จากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในห้องเรียน จากห้องแล็ป จีโนมิกส์ได้กลายมาเป็นนโยบายของประเทศและเกิดเป็นธุรกิจที่น่าจะเป็น engine of growth ตัวหนึ่งได้เหมือนกัน ถ้าประคับประคองการบริหารจัดการให้ดี และส่งเสริมให้ถูกทาง
ตลาดนี้ทั้งในโลก และในประเทศไทย กำลังมีการขยายตัว ทั้งด้านบริการตรวจวินิจฉัย การบำบัดรักษาด้วยวิธีใหม่ ๆ เรื่อยไปจนถึงในด้าน wellness พันธุกรรมของเราเกี่ยวข้องไปหมดทั้งโภชนาการ การออกกำลังกาย ยา การเจริญวัยและชะลอวัย
ท้ายนี้ ขอฝากตัวอย่างบริษัทที่น่าลงทุน หรืออย่างน้อยก็น่าจับตามองไว้บ้าง เพราะหุ้นของบริษัทพวกนี้ ได้พร้อมใจกันขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
บริษัทแรกคือ Thermo Fisher Scientific ผู้นำตลาดของโลก มีมูลค่าตลาดประมาณ 175 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเติบโต 3 เท่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา
ตามมาด้วย Agilent ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่ spin out ออกมาจาก Hewlett-Packard (HP) นี่ก็มีมูลค่าตลาด 37 พันล้านเหรียญ เติบโตขึ้นเกือบสามเท่าเช่นกัน
Shimadzu บริษัทญี่ปุ่นที่มีมูลค่าตลาด 9 พันล้านเหรียญ ก็เป็นรายเก่าแก่ มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย จำพวกที่ใช้ตรวจวินิจฉัยด้วยแสง ระบบไฮดรอลิก สูญญากาศ ฯลฯ มีใช้ในเครื่องบินด้วย
Perkin Elmer เป็นอีกบริษัทของสหรัฐ มีมูลค่า 14 พันล้านเหรียญ มีสินค้าประเภทเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และซอฟท์แวร์ สำหรับอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ และอาหาร ไปจนถึงอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพสัตว์
Illumina เป็นบริษัทที่รู้จักกันกว้างขวางในฐานะผู้นำของโลกด้านการหาลำดับเบสจีโนม (sequencing) ซึ่งชาวโลกได้เห็นประจักษ์แล้วว่า การสืบหาสายพันธุ์ของไวรัสสำคัญแค่ไหนจากการระบาดของ COVID-19 เครื่องมือของบริษัทนี้ราคาแพงมาก บางทีสูงถึง 1 ล้านเหรียญทีเดียว
พัฒนาการของระบบหาลำดับเบสพันธุกรรม จนมาถึง Next Generation Sequencing ของบริษัท Illumina
นอกจากนี้ยังมีตลาดเฉพาะทางอย่างหุ่นยนต์ผ่าตัด ที่มีชื่อของ Intuitive Surgical จากสหรัฐเป็นที่รู้กันว่าครองตลาดอยู่ จากหุ่นยนต์ผ่าตัด Da Vinci ที่ใช้กันทั่วโลกไปแล้ว 5,500 เครื่อง ในประเทศไทยตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ก็มีใช้กันอยู่ โดยเฉพาะในการผ่าตัดต่อมลูกหมาก
ยิ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น ธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ก็ยังจับมือคู่กันเติบโตไปเป็นเงาตามตัว และเครื่องมือเหล่านี้ก็มีส่วนเสริมให้นวัตกรรมเกิดขึ้นเร็วขึ้นไปอีก เป็นแรงผลักซึ่งกันและกันอย่างดียิ่ง
อ่านเพิ่มเติม
โฆษณา