16 มี.ค. 2023 เวลา 04:46 • การเมือง

#ความรู้รอบตัว

☆☆☆☆☆☆☆☆☆
8 นายกฯ ที่ต้องพลัดถิ่น ลี้ภัยทางการเมือง หนีออกนอกประเทศ
บันทึกอีกหน้าหนึ่งประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย
คนแรก “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา”
นอกจากได้เป็นนายกฯคนแรกแห่งประเทศสยามแล้ว ยังเป็นนายกฯคนแรกที่ต้องลี้ภัยการเมือง หลังเหตุการณ์ข้อพิพาท เค้าโครงเศรษฐกิจ หรือ “สมุดปกเหลือง” ของ “ปรีดี พนมยงค์” พระยามโนฯได้กระทำการรัฐประหารเงียบด้วยการใช้อำนาจนายกฯปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ และเนรเทศ “ปรีดี” ออกนอกประเทศแต่ไม่นานเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้ใช้กำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนฯและเนรเทศไปยังปีนังด้วยรถไฟ และอยู่ที่ปีนังกระทั่งวาระสุดท้าย
คนที่สอง “ปรีดี พนมยงค์”
มันสมองของคณะราษฎร ที่ได้ลิ้มรสชาติของการถูกเนรเทศมาแล้ว แต่เมื่อได้กลับคืนมาตุภูมิอีกครั้ง ได้เป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี และผู้สำเร็จราชการ แต่ชีวิตมีขึ้นย่อมมีลง “ปรีดี” ต้องเผชิญมรสุมการเมืองหลังเหตุการณ์สวรรคต รัชกาลที่ 8จนต้องลาออกจากตำแหน่ง แม้จะได้รับเลือกให้เป็นนายกฯอีกครั้งแต่ก็ปฏิเสธ โดยให้ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ส.ส.อยุธยา ขึ้นเป็นนายกฯแทน
กระทั่งเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 โดยการนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ปรีดีต้องหนีลงเรือรับจ้างออกจาก “ทำเนียบท่าช้าง” บ้านพักก่อนจะถูกยิงด้วยรถถัง เขาลี้ภัยอยู่สิงคโปร์ประมาณ 2 ปี ไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน 21 ปี แม้มีบางช่วงที่ “ปรีดี” หวนกลับเข้าเมืองไทยเพื่อยึดอำนาจคืนแต่ก็ไม่สำเร็จ กระทั่งไปใช้ชีวิตในวัยชราที่ประเทศฝรั่งเศสจวบจนลมหายใจสุดท้าย
คนที่สาม “พล.ร.ต.ถวัลย์”
เป็นเหตุการณ์เดียวกับ “ปรีดี” ที่ลี้ภัยการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ค่ำคืนนั้น พล.ร.ต.ถวัลย์ในฐานะนายกฯ ได้ไปงานเลี้ยงสมาคมนักเรียนเก่าสายปัญญา ที่สวนอัมพร ระหว่างเต้นระบำอยู่บนเวทีมีคนยื่นกระดาษแผ่นหนึ่ง เมื่ออ่านเสร็จเขาก็หายตัวออกจากงานในทันที ก่อนกำลังทหารที่นำโดย ร.อ.ขุนปรีชารณเศรษฐ บุกไปจับตัวที่บ้านพักที่ถนนราชวิถี แต่ก็ไม่อยู่เสียแล้ว และลี้ภัยไปอยู่ที่ฮ่องกงระยะหนึ่ง หลังจากเหตุการณ์ภายในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ จึงเดินทางกลับประเทศ และถึงอสัญกรรมในวัย 87 ปี
คนที่สี่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม
นายกฯ เจ้าของสมญา “จอมพลกระดูกเหล็ก” ผ่านนาทีเฉียดตายมาหลายครั้ง ทั้งถูกยิง วางยาพิษ และรอดจากการถูกทิ้งระเบิดจมเรือรบหลวงศรีอยุธยาในกบฏแมนฮัตตันซึ่งเขาถูกจับเป็นตัวประกัน แต่ช่วงปลายของอำนาจ ถูกนายทหารรุ่นน้อง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกให้ยึดอำนาจ จอมพล ป.หลบหนีไปด้วยรถยนต์ข้ามเรือฝ่าคลื่นลมทะเลไปกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ญี่ปุ่นและจบชีวิตที่นั่น
คนที่ห้า จอมพลถนอม กิตติขจร
ต้องหนีภัยการเมืองเพราะการปราบปรามนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยลาออกจากตำแหน่งนายกฯในวันเดียวกัน ก่อนเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง ลี้ภัยไปที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา พร้อมครอบครัว แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะถูกคนไทยที่นั่นต่อต้าน ก่อนจะมาปักหลักที่สิงคโปร์ พร้อมบวชเป็นเณรกลับไทย เป็นชนวนเหตุ 6 ตุลาคม 2519
คนที่หก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยึดอำนาจคาเครื่องบิน C130 ที่กำลัง Take off ไปยัง จ.เชียงใหม่ ระหว่างเดินทางไปเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อนำพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ไปถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง รมช.กลาโหม และถูกควบคุมตัวอยู่ 15 วัน จึงได้รับการปล่อยตัวออกมา แล้วไปพำนักอยู่อังกฤษระยะหนึ่ง
คนที่เจ็ด ทักษิณ ชินวัตร
หลังถูกยึดอำนาจข้ามโลกระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่มหานครนิวยอร์ก ในคืน 19 กันยายน 2549 “ทักษิณ” ต้องมีคดีทุจริตติดตัวนับสิบคดี เขาใช้เวลาต่อสู้จนรัฐบาลนอมินีในนามพรรคพลังประชาชนได้สถาปนาอำนาจเป็นรัฐบาล ทำให้เขาได้กลับมากราบแผ่นดินเกิดอีกครั้ง และใช้สิทธิต่อสู้คดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยเฉพาะคดีทุจริตที่ดินรัชดา แต่ระหว่างทางการสู้คดีได้ขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2551 เพื่อไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งเพื่อหนีคดี
หลังจากนั้น “ทักษิณ” พยายามส่งสัญญาณถึงผู้มีอำนาจ ขอเจรจาทั้งเรื่องคดีความเพื่อนำไปสู่การกลับเข้าประเทศหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ กลับไทยไม่ได้จนถึงวันนี้
คนที่แปด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกฯ ผู้น้อง หลังใช้เวลาต่อสู้คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว 2 ปี 4 เดือน พอถึงวันนัดฟังคำพิพากษา ก็ไม่ปรากฏตัวต่อศาล อ้างว่า “น้ำในหูไม่เท่ากัน” ศาลจึงออกหมายจับ ภายหลังมีรายงานระบุว่า “ยิ่งลักษณ์” เดินทางออกนอกประเทศไปกัมพูชา-สิงคโปร์ ดูไบ เป้าหมายสุดท้ายคือลี้ภัยที่อังกฤษ
เครดิต ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ วันที่ 30 สิงหาคม 2560
โฆษณา