17 มี.ค. 2023 เวลา 07:14 • หนังสือ

ฉีกกรอบความคิดเดิม ๆ เมื่อความ “productivity” อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเรา

”Four Thousand Weeks” ฉีกกรอบความคิดเดิม ๆ เมื่อความ “productivity” อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเรา ใช้เวลาที่มีอย่างจำกัดอย่างไรให้มีคุณค่า?
“Four Thousand Weeks” 📚
Time Management for Mortals
โดย Oliver Burkeman
“Four Thousand Weeks” หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ได้รับการพูดถึงเยอะมาก ๆ ในปี 2022 ที่ผ่านมาจนถึงปี 2023 นี้ด้วยครับ ถามว่าทำไมเล่มนี้ถึงโด่งดังและถูกใจผู้อ่านหลาย ๆ คน จนหลายคนถึงกับบอกว่าเป็นหนังสือที่เปลี่ยนมุมมองเรื่องเวลาของตัวเองไปเลย!
👉🏻 อาจจะเป็นเพราะหนังสือเล่มนี้ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นหนังสือที่พูดเรื่องของการบริหารจัดการเวลา (Time Management) ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายคนคงเคยอ่านหนังสือจำพวกนี้มาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการที่เราจะมีวิธีทำอย่างไรให้สามารถทำงานได้มากขึ้น หรือทำอะไรได้สำเร็จหลาย ๆ อย่างได้มากขึ้นในเวลาที่เรามีอย่างจำกัด หรือ “productive” สุด ๆ แต่หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้ให้แนวคิดในมุมมองที่แตกต่างออกไป 🤨
เพจ “สิงห์นักอ่าน” อย่างเราก็อดไม่ได้ครับที่จะต้องไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านให้ได้และรีวิวสรุปหนังสือให้ได้อ่านกันแบบละเอียดยิบชนิดที่คุณไม่ต้องอ่านเองทั้งเล่ม 😁
📌 ผู้เขียนนั้นเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า การบริหารจัดการเวลาแบบเดิม ๆ ที่เราคุ้นเคยนั้นไม่น่าจะใช่สิ่งที่ตอบโจทย์เรา และเราควรต้องเลิกหลอกตัวเองซักทีว่าเราไม่สามารถจะ “productive” ได้มากขนาดนั้น
⏳ โดยผู้เขียนบอกว่าหากอายุเฉลี่ยของคนเรานั้นคือ 80 ปี และตีเป็นจำนวนสัปดาห์นั้นเราจะมีชีวิตอยู่เพียงแค่ประมาณ 4,000 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งดูเหมือนว่าจะเยอะ แต่จริง ๆ นั้นไม่ได้เยอะเลยครับ เช่น หากในตอนนี้คุณอายุ 30 ปี นั่นแสดงว่า ณ วันนี้คุณใช้เวลาไปแล้วประมาณ 1,500 สัปดาห์เข้าไปแล้วครับ 😱
2
ด้วยเวลาที่เรามีจำกัดในแต่ละวันและในที่สุดแล้วมนุษย์เราทุกคนก็ต้องตายเหมือนกัน ผู้เขียนเลยตั้งคำถามว่ามันถูกต้องแล้วเหรอที่เราพยายามจะทำตัวเราให้ “productive” สุด ๆ ทำอะไรให้ได้มากที่สุดในวัน ๆ หนึ่ง (ซะอย่างนั้น)
ในความเป็นจริงแล้วเราทุกคนล้วนมีข้อจำกัดและมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถทำทุกอย่างได้อย่างที่เราหวัง อีกทั้งบางอย่างที่เราพยายามทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำเสียด้วยซ้ำครับ
📍 จะดีกว่าไหมหากเราทำสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ สิ่งที่มีคุณค่ากับเราในช่วงชีวิตของเราที่มีเวลาอย่างจำกัดครับ?
1
…………………
“ชีวิตเราที่ดูเหมือนอยู่บนสายพานที่หมุนไปตลอดเวลา” 🕠
👉🏻 มีคำเปรียบเปรยครับว่าเวลานั้นก็เหมือนกับสายพานที่หมุนไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันหยุดนิ่ง แต่การที่เราพยายามทำตัวให้ “productive” มากขึ้นตามตำราหรือหนังสือ “how to” ที่โด่งดังและขายดีหลาย ๆ เล่ม แทนที่จะช่วยให้เรามีเวลาเหลือกลับไม่ได้ทำให้เรามีเวลาเหลือมากขึ้น! กลับกันนั้นกลับทำให้สายพานหมุนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ไปอีกครับ
ทำไมหละครับ? เราลองถามตัวเราเองหรือมองกลับมาที่ตัวเราดูก็ได้ว่าจริงรึเปล่า เพราะผู้เขียนบอกว่า การที่เราทำอะไรได้มีประสิทธิภาพนั้นเหมือนกับว่ามันจะยิ่งทำให้เรามีอย่างอื่นต้องทำเพิ่มอีกอยู่ตลอด เปรียบเหมือนกับว่าสายพานเวลานั้นเร่งความเร่งขึ้นไปอีก จนบางครั้งมันรู้สึกเร่งมาก ๆ จนเราพังหรือ burn out ไปเลยได้!
💡 ให้เราลองสังเกตดูรอบ ๆ ตัวเราดูก็ได้ครับ ปัจจุบันนั้นเรามีเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมายช่วยให้เราทำอะไรได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น เช่น เครื่องซักผ้า ไมโครเวฟ หรือกระทั่งเครื่องบินที่ช่วยให้เราประหยัดเวลาเดินทางได้เยอะมาก ๆ และควรจะทำให้เรามีเวลา “เหลือ” มากขึ้น แต่ทำไมเรากลับไม่รู้สึกเลยว่าเรามีเวลาในแต่ละวันเหลือมากขึ้น จริงไหมครับ?
2
นอกจากนี้การมีเทคโนโลยีที่ทำให้เราทำอะไรต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น ทำให้คนเราเกิดนิสัยใจร้อนและหงุดหงิดง่ายมากขึ้นเพียงต้องรออะไรเพียงแค่หน่อยเดียว เช่น การรอไมโครเวฟแค่หนึ่งนาทีเราก็รู้สึกว่านานมากแล้ว หรือการรอหน้าเว็ปไซต์ที่กำลังโหลดแค่ไม่กี่วินาทีครับ น่าคิดนะครับ….
1
…………………
“Efficiency Trap หรือกับดักของการมีประสิทธิภาพ”
เราเคยสังเกตไหมครับว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถทำงานได้เสร็จเร็วมากขึ้น เราจะได้รับงานเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งเราก็ต้องยิ่งพยายามจะบริหารจัดการให้มันเสร็จได้ด้วยเวลาที่มีอยู่เท่าเดิม
1
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างในเรื่องของอีเมล์ ที่หากเราเป็นคนที่ตอบอีเมล์ได้อย่างรวดเร็ว ก็มีแนวโน้มว่ามันจะไปกระตุ้นให้เกิดการตอบอีเมล์กลับมาอีก วนไปเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันคนอื่นก็จะมองว่าเมื่อคุณเป็นคนที่ตอบอย่างรวดเร็ว มันก็คุ้มที่จะส่งอีเมล์หาคุณเพิ่มขึ้นไปอีก! 📩
ซึ่งการที่เราทำตัวมีประสิทธิภาพกลับกลายเป็นว่ามันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่ามีเวลาเพียงพออยู่ดี ซึ่งสำหรับคนส่วนใหญ่คงยากที่จะพยายามหลีกเลี่ยงกับดักอันนี้ แต่เค้าแนะนำว่าสิ่งที่เราทำได้ก็คือ ✋🏻 หยุดความเชื่อที่ว่าเรานั้นสามารถแก้ปัญหาความยุ่งหรืองานยุ่งได้ด้วยการทำงานให้มากขึ้น โดยยัดงานเพิ่มเข้าไปในตารางของเรา เพราะสุดท้ายแล้วมันก็จะทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ลงไปอีกครับ
เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีงานใหม่เข้ามา เรามักจะมีแนวโน้มที่จะรับมันเข้ามาโดยเราคิดไปเองว่าเราไม่จำเป็นต้องเสียสละเวลาของเราในการทำอย่างอื่นมาทำงานเพิ่มนี้ครับ
แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย เพราะเวลาที่เรามีนั้นจำกัด ดังนั้นการที่เรารับงานใหม่เข้ามาทำเพิ่มนั้นแน่นอนว่าเราต้องเสียสละเวลาที่เราทำสิ่งอื่น ๆ ออกไป ซึ่งหากเราไม่เคยฉุกคิดว่า แล้วเวลาที่เราเสียสละไปนั้นคุ้มรึเปล่ากับการทำงานที่เข้ามาใหม่อย่างไม่หมดสิ้น หรืองานบางอย่างที่เราวางแผนไว้แล้วอาจจะต้องโดนเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ก็ได้ครับ
1
หากเวลาที่เราต้องเสียสละไปนั้นเป็นเวลาที่เราต้องทำสิ่งที่สำคัญกับชีวิต เช่น เวลากับครอบครัว เพื่อไปทำงานใหม่ที่ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญนั้น มันจะทำให้เรามีความสุขไหมครับ? 🙁
💡 ซึ่งการที่เราจะหลุดกับดักของการมีประสิทธิภาพไปได้เราจำเป็นต้องฝึกทักษะการต่อต้านครับ หรืออดใจที่จะไม่ทำนั่นเอง เราต้องฝึกปฏิเสธ รวมถึงเลิกพยายามที่จะเคลียร์หรือทำทุกอย่างให้เสร็จ แล้วไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีผลกระทบหรือสำคัญมากที่สุดก่อนแทนครับ ซึ่งแน่นอนว่าการทำแบบนี้เราต้องยอมรับและทำใจให้ได้ว่ากองงานที่รอเราอยู่ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ครับ
…………………
“การเป็นคนผัดวันประกันพรุ่งที่ดีกว่าเดิม?”
แน่นอนครับว่า การผัดวันประกันพรุ่งนี้เป็นสิ่งที่หลายคนทราบว่าไม่ดีครับ แต่ในเมื่อเวลาที่มีนั้นจำกัด เราจึงจำเป็นต้องเลือกครับ เลือกทำสิ่งที่สำคัญและมีผลกระทบมาก ๆ ก่อน
👉🏻 หนังสือชื่อ “First Things First” เป็นหนังสือเล่มหนึ่งครับที่ให้แนวคิดเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งหลายคนอาจจะเคยในยินเรื่องของการเปรียบเวลาเหมือนขวดโหลขวดหนึ่งครับ การจะใส่งานทั้งหลายที่มีตัวแทนเป็นหิน กรวดและทรายลงไปได้ทั้งหมดนั้นเราจำเป็นจะต้องใส่สิ่งที่ใหญ่ที่สุด คือหินไปก่อน แล้วตามด้วยกรวด และสุดท้ายคือทรายครับ
💡 แต่ผู้เขียนนั้นได้ตั้งคำถามต่อจากแนวคิดนี้ว่าแล้วหากเรามีก้อนหินในปริมาณที่มากเกินไปหละครับ เราจะจัดการอย่างไร เพราะอย่างไรมันก็ลงใส่ลงไปในขวดโหลได้ไม่พออย่างแน่นอน
ซึ่งในหนังสือได้มีแนวทางวิธีคิดสำหรับการเลือกก้อนหินที่เราจะใส่ไปในขวดดังนี้ครับ
1️⃣ ข้อแรกคือ ให้เราเลือกสำหรับตัวเราเองก่อนเลย (Pay yourself first) ถ้าเราเห็นว่ากิจกรรมใดเป็นเรื่องสำคัญสำหรับตัวเราจริง ๆ ให้ทำก่อนเลยครับ อย่าหวังว่าเดี๋ยวเราทำอย่างอื่นให้เสร็จก่อนแล้วเวลาเหลือเราถึงค่อยมาทำเรื่องของตัวเรา แน่นอนครับเราจะต้องผิดหวังเพราะเวลามันจะไม่มีวันเหลือครับ
2
2️⃣ ข้อสองคือ ให้เราจำกัดจำนวนชิ้นงานที่ทำอยู่ครับ คืออย่าเริ่มทำงาน หลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เพราะสุดท้ายเราอาจจะทำมันไม่สำเร็จหรือไม่ก้าวหน้าไปไหนเลยสักงานครับ ซึ่งเค้าแนะนำว่าไม่ควรจะทำเกินสามอย่างครับ (คล้าย ๆ กับแนวคิดการตั้ง To-Do-List ในแต่ละวันที่เราไม่ควรจะตั้งเป้าทำงานที่สำคัญเกินสามอย่างในหนึ่งวันครับ)
1
3️⃣ หลักการข้อที่สาม คือ เราต้องมีความอดทนกับสิ่งที่ยั่วยวนเราที่ไม่ได้มีความสำคัญมากนักครับ (งานที่มีความสำคัญลำดับรองลงไป) แล้วให้ตั้งเป้าและให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนครับ
1
นอกจากนี้หลายต่อหลายคนผัดวันประกันพรุ่งไม่ทำงานบางอย่าง เพราะมักยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ และกังวลว่าจะทำได้ไม่ดีพอในเวลานี้ จึงเลื่อนออกไปก่อน แต่ในความเป็นจริงเราต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราไม่มีวันทำได้ดีพอตามความคิดเราในจินตนาการอันไร้ที่ติแน่ ๆ ฉะนั้นหากมันเป็นสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ก็ให้เราลงมือทำทันทีเลยดีกว่าครับ
👫🏻ผู้เขียนยังได้สะท้อนแนวคิดของการผัดวันประกันพรุ่งไปกับเรื่องของการหาคู่หรือแต่งงานอีกด้วย โดยคนบางคนมักคิดและกลัวว่าจะต้องลงหลักปักฐานกับคนที่ไม่ได้เป็นคนในอุดมคติหรือคนที่ดีที่สุด ทำให้รู้สึกลังเล แต่ความเป็นจริงแล้วจากการทดลอง ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า คนเรามักจะมีความสุขมากกว่าเมื่อเราตัดสินใจเลือก โดยเมื่อเราตัดทางเลือกอื่น ๆ ออกไปหมดแล้วและได้ตัดสินใจทำให้เรารู้สึกพอใจกับตัวเองมากกว่า
🥰 ความสุขที่เราได้คือการรับรู้ว่าเราได้สละทางเลือกอื่นๆ ออกไป (joy of missing out) ซึ่งทำให้สิ่งที่เราเลือกนั้นมีความหมายขึ้นมา ซึ่งนั้นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการที่เราได้ทำสิ่งที่เรากลัวหรือพยายามเลื่อนมันออกไปก่อนตลอดจึงทำให้เรารู้สึกมีความสุขและสงบได้อย่างคาดไม่ถึงครับ
…………………
1
“สิ่งรบกวน หรือ Distractions”
2
👉🏻 ไม่ว่าเราจะพยายามบริหารจัดการเวลาให้ดีอย่างไร มันก็ไม่สำคัญเลยหากสุดท้ายคุณไปให้เวลากับสิ่งรบกวน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ต้องยอมรับว่าสิ่งรบกวนทาง digital เป็นอะไรที่ส่งผลกระทบกับเวลาของเรามาก ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันแบบ “attention economy” ที่คอยดึงดูดความสนใจเราอยู่ตลอดเวลานั้นมันคือ สิ่งที่ทำให้เราไปสนใจสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีความสำคัญกับเราเท่าไหร่นัก
เราต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมนุษย์เราเองก็วิวัฒนาการมาด้วยวิธีการสังเกตและสนใจสิ่งดึงดูดเหล่านี้
โซเชี่ยลมีเดียต่าง ๆ ก็ถูกออกแบบมาด้วยหลักจิตวิทยาแบบนี้ครับ ดังนั้นเราก็ควรจะซื่อสัตย์กับตัวเองและยอมรับว่าส่วนใหญ่เรามักจะแพ้หรือเสียสมาธิให้กับเครื่องมือทาง digital เหล่านี้ และมันเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการใช้เวลาอย่างจำกัดของเราอย่างมาก ดังนั้นเราควรจะหาวิธีการอย่างไรให้เราใช้มันให้น้อยลงครับ
💡 ประเด็นสำคัญที่เค้าชี้ให้เห็นว่าทำไมคนเราถึงถูกสิ่งรบกวนเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่ายอีกอย่างก็คือ เราต้องการความผ่อนคลายจากความอึดอัดหรือการมีสติจดจ่อกับอะไรสักอย่างที่ทำให้เรารู้สึกถูกจำกัดตัวเองหรือมีข้อจำกัดครับ เช่น การที่เรานั่งประชุมอยู่ เคยสังเกตไหมครับว่ามีหลายคนหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นหรือดูระหว่างประชุมครับ
เค้าบอกว่ามันคงไม่มีวิธีการใด ๆ ครับที่หยุดยั้งสิ่งรบกวนเหล่านี้ได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าเราจะใช้เทคนิคอะไรต่าง ๆ มากมาย แต่วิธีการที่จะได้ผลที่สุดคือ การยอมรับความรู้สึกอึดอัดนี้ครับหรือเลิกคาดหวังว่าเราจะเปลี่ยนแปลงหรือเอาชนะมันได้ ให้ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องรู้สึกถูกจำกัดแบบนี้ครับ (ออกแนวปลง ครับ 😅)
…………………
“อะไรก็เกิดขึ้นได้”
คนกลุ่มที่เป็นนักวางแผนนั้นมักจะไม่ค่อยมีความสุข และมีความเครียดแบบไม่จบสิ้น เพราะการที่เราต้องการความแน่ใจ ความมั่นใจในอนาคตนั้นมันจะไม่มีอยู่จริงครับ 😨
ไม่ว่าเราจะวางแผนทำอะไรดีเท่าไหร่ก็ตาม เราก็ไม่สามารถมั่นใจได้หรอกครับว่าทุกอย่างจะถูกต้องและเป็นไปตามแผนเราทั้งหมด เช่น เราอาจจะเผื่อเวลาเดินทางไปสนามบินล่วงหน้าเยอะ ๆ แต่คุณก็อาจไปเจออุบัติเหตุกลางทางก็เป็นไปได้ ดังนั้นให้เราปล่อยวาง อย่าพยายามไปควบคุมสิ่งต่าง ๆ มากไปจนทำให้เราเครียดครับ ให้เรามุ่งมั่นและจดจ่อกับสิ่งที่เป็นเราต้องทำเราในปัจจุบันก็พอ อย่าเพิ่งไปวิตกกังวลถึงวันพรุ่งนี้
…………………
“การพักผ่อนที่แท้จริงเป็นอย่างไร” 😴
หลาย ๆ ครั้ง การพักผ่อนในเวลาว่างของเราไม่ได้ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากนัก เพราะบ่อยครั้งเรารู้สึกว่าต้องพยายามใช้เวลาพักผ่อนให้คุ้มค่าหรือ “productive” อยู่ตลอดเวลา หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ มันเหมือน To-Do-List อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องทำ
หลายครั้งที่เราอยากพักผ่อนอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร แต่กลายเป็นว่าเรากลับรู้สึกผิดซะอย่างนั้นที่ใช้เวลาว่างอย่างเปล่าประโยชน์ จริงไหมครับ?
1
การที่เราตกอยู่ในกับดักของความ productive ทำให้เราไม่ต้องการพักจริง ๆ และการที่เราอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร ก็ยิ่งทำให้เรากังวลใจอย่างมาก
💡 หนังสือเล่มนี้บอกว่า การพักผ่อนที่แท้จริงนั้นเราจำเป็นต้องละทิ้งความคาดหวังและเป้าหมายว่าเราต้องทำให้มีประสิทธิภาพหรือทำได้ดี เราควรจะหาสิ่งที่เราทำเพียงเพราะเราอยากทำเท่านั้นเอง โดยไม่ต้องคาดหวังอะไรจากมัน เพียงแค่ความสุขที่เราได้ทำก็เพียงพอแล้วครับ
…………………
“วังวนของความใจร้อน” 🤬
อย่างที่เราได้เล่าไปข้างต้นแล้วว่าโลกที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายในปัจจุบันนั้นทำให้คนเราใจร้อนมากขึ้น และมีความอดทนลดลงอย่างชัดเจนครับ
ผู้เขียนยกตัวอย่างการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่คนขับรถมักจะบีบแตรรถตลอดเวลาเพื่อส่งสัญญาณบอกคันข้างหน้าให้ไปไว ๆ หน่อย ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นอยู่ว่ารถก็ติดอยู่และไม่สามารถไปได้ กรุงเทพเราก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ นะครับ 🚗🚕🚓
การบีบแตรรถนี่แหละครับเป็นการแสดงออกถึงความใจร้อนและการไม่ยอมรับถึงข้อจำกัดด้านเวลาของเรา ที่เราคิดว่าเรามีสิทธิที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ นั้นเคลื่อนที่ไปในระดับความเร็วที่เราต้องการได้ ซึ่งไม่ใช่เลยครับ
อย่างที่บอกครับว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ช่วยให้เราทำอะไรเสร็จได้เร็วกว่าแต่ก่อนมากมาย มันก็ควรจะลดความใจร้อนของคนเราได้ แต่กระนั้นผู้คนก็ยังไม่พอใจกับความเร็วหรือเวลาที่ประหยัดไปได้อยู่ดี แต่กลับหงุดหงิดมากขึ้นอีกด้วยเพราะทำให้เร็วกว่านี้ไม่ได้
ลองเปรียบเทียบกับการอ่านหนังสือครับ 📚 เราเคยสังเกตตัวเราไหมครับว่าทุกครั้งที่เราหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน หลายคนมักจะไม่มีสมาธิ และกระวนกระวายใจอยู่บ่อย ๆ ซึ่งมันคือ รูปแบบหนึ่งของความใจร้อนนั่นเองครับ เนื่องจากการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งให้จบนี่ใช้เวลาพอสมควรครับ เราจำเป็นต้องมีสมาธิและความอดทนมาก ๆ เลย จริงไหมครับ (ไม่งั้นคงไม่มีคำว่ากองดองใช่ไหมครับ 555)
…………………
“หลักความอดทน 3 ประการ” 🧘🏻
หนังสือได้ให้แนวทางในการปฏิบัติ 3 ประการคร่าว ๆ ที่เราสามารถนำความอดทนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ ดังต่อไปนี้ครับ
🔴 ข้อแรกคือ เราต้องทำตัวให้คุ้นชินกับรสชาติของการเจอปัญหาครับ ให้คิดไว้ว่าการที่เราจะไม่เจอปัญหาใด ๆ เลยนั้นมันเป็นไปได้ และที่สำคัญชีวิตที่ไม่ต้องเจอกับปัญหาอะไรเลย เป็นชีวิตที่จืดชืดและไร้ความหมายสุด ๆ ไปเลยครับ เมื่อเราเข้าใจแล้วว่ายังไงเราก็ต้องเจอปัญหาไม่หมดไม่สิ้น เราก็จะเข้าใจครับว่าการใช้ชีวิตของเราก็คือ การแก้ปัญหาที่เข้ามาเรื่อย ๆ นั่นเอง
🟢 หลักการข้อที่สองคือ เราต้องเปิดรับการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ครับเพื่อที่จะให้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ เราต้องค่อย ๆ ทำทีละนิดทีละหน่อยแต่ให้ทำสม่ำเสมอ ที่สำคัญเราต้องควบคุมตัวเราเองให้หยุดได้เมื่อถึงเวลาครับ การหยุดจะทำให้เราได้พัก และช่วยให้กล้ามเนื้อแห่งความอดทนของเราแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เรากลับมาทำสิ่งนั้นได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าครับ
🔵 และหลักการข้อสุดท้ายก็คือ บางทีเราจำเป็นต้องอดทนทำสิ่งที่เหมือนกับคนอื่น ๆ หรือเลียนแบบคนอื่นไปสักระยะหนึ่ง สังคมในปัจจุบันเราอาจจะถูกกดดันให้ทำอะไรใหม่ ๆ หาไอเดียใหม่ ๆ ตลอดเวลา แต่ถ้าเราอดทนมากพอที่จะผ่านช่วงเวลาแห่งการลองผิดลองถูกในช่วงการลอกเลียนแบบคนอื่นนี้ไปได้ เราก็จะเกิดการเรียนรู้ใหม่ และนั่นก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์หรืองานที่มีเอกลักษณ์เป็นตัวของเราเองได้ครับ
…………………
“เวลาเป็นเหมือนสินค้าเครือข่าย” ⏱️
มูลค่าของเวลานั้นจะมีค่ามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าคนอื่น ๆ จะเข้าถึงมันได้อีกกี่คน โดยเฉพาะคนที่เราอยากจะใช้เวลาด้วย เปรียบเทียบกับเครือข่ายโทรศัพท์ครับว่ายิ่งมีคนใช้มากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีกับเรามากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเงินที่ว่าการที่เราจะเก็บสะสมโทรศัพท์ไว้กับตัวให้มากที่สุดหลาย ๆ เครื่องนั้นไม่มีประโยชน์เลยถ้าคุณไม่มีคนให้โทรหาหรือโทรหาคุณ...เวลาก็เช่นเดียวกันครับ ✅
👉🏻ดังนั้นคนที่มีตารางเวลาที่ยืดหยุ่นและมีทรัพยากรพอประมาณมักจะมีความสุขมากกว่าคนรวยที่มีทุกอย่างยกเว้นตารางเวลาที่ยืดหยุ่น 💡
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม การที่เราได้ใช้เวลาของเราร่วมกับคนอื่นทำให้เรามีความสุขมากกว่าใช้เวลาอย่างลำพัง โดยเค้ายกตัวอย่างของคนที่ว่างงานนั้น ทั้งที่เค้ามีเวลาว่างทุกวันแต่ก็มีความสุขเฉพาะช่วงเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์เช่นเดียวกับคนที่ทำงานประจำ เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ การได้ใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์นั้นกับคนอื่นที่ได้หยุดงาน
…………………
“เครื่องมือ 10 อย่างที่ช่วยให้เรายอมรับขีดจำกัดของตัวเราเอง” 🔨🛠️🔧
ในส่วนสุดท้ายของหนังสือนั้นผู้เขียนได้สรุปเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถยอมรับข้อจำกัดด้านเวลาที่เรามีได้ดังนี้ครับ
1. ให้กำหนดปริมาณงานที่เราจะทำให้แน่นอน โดยให้กำหนดรายการงานเป็น 2 อย่างคือ งานที่ยังกำลังทำอยู่ กับ งานที่ปิดจบไปแล้ว แล้วกำหนดเลยว่าเราจะไม่เพิ่มงานใหม่เข้าไปใน to-do-list จนกว่าเราจะทำงานเสร็จไปก่อนทีละอย่าง นอกจากนี้ให้กำหนดเวลาที่เราจะทำงานให้ชัดเจนไปเลย เช่น 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น
2. จัดลำดับทำทีละอย่าง หรือ “Serialize” ครับ โดยให้เราทำงานหรือโครงการใหญ่ ๆ นั้นแค่ครั้งละหนึ่งโครงการเท่านั้น แล้วทำให้เสร็จก่อนที่จะเริ่มโครงการใหญ่โครงการถัดไปครับ หลายครั้งหลายคราวเรามักจะอดไม่ได้ที่จะเริ่มทำงานหลาย ๆ โครงการพร้อม ๆ กันเพราะความกังวล ซึ่งหากทำแบบนั้นมีโอกาสที่ทำให้ความคืบหน้าในแต่ละงานนั้นน้อยมาก ดังนั้นให้เราฝึกอดทนกับความกังวลโดยเลื่อนออกไปให้ได้ครับ
3. ตัดสินใจล่วงหน้าไปเลยว่าจะล้มเหลวในเรื่องอะไร หรือ ทำการล้มเหลวเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากว่าเรามีข้อจำกัดเรื่องของเวลา ถึงยังไงเราก็หลีกเลี่ยงความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นไม่ได้แน่ ๆ โดยอย่าคาดหวังว่าเราจะประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน ให้มุ่งเน้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน
4. ให้มุ่งเน้นไปยังสิ่งที่ทำเสร็จแล้ว (Done List) ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องทำ (To-Do-List) เพราะ To-Do-List นั้นมีนับไม่ถ้วน เราคงไม่มีวันทำมันได้หมดและไม่มีวันที่จะรู้สึกดีได้แน่ ๆ ให้เรามองไปที่งานที่เราทำเสร็จแล้วแทนครับ มันจะทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น และเป็นเหมือนชัยชนะเล็ก ๆ (small win) ที่ส่งเสริมให้เรายิ่งอยากจะทำงานให้เสร็จมากขึ้นด้วยครับ
5. ให้รวบรวมความสนใจของเราไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วเลือกที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราสนใจที่สุดก็พอ เพราะหากเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาของเราที่มีจำกัดไปยังสิ่ง ๆ นั้นครับ
6. ทำให้อุปกรณ์ digital ที่เรามีนั้นดูน่าเบื่อที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น การลบแอปพลิเคชันพวกโซเชียลออก ลบอีเมล์ออก หรือแม้กระทั่งทำหน้าจอโทรศัพท์เราเป็นสีขาวดำให้ไม่น่าใช้ หรือเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เดียว เช่น การใช้ kindle ในการอ่าน e-book แทนการอ่านจากโทรศัพท์ smart phone
7. แสวงหาความแปลกใหม่ หรือลองสนใจในบางสิ่งบางอย่างที่เราทำเป็นประจำดู คงเป็นการยากที่จะให้เราไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ นอกเหนือจากสิ่งที่เราทำเป็นประจำ เพราะหลายคนก็มีภารกิจที่ต้องทำ ดังนั้นเค้าเลยแนะนำให้เราลองให้ความสนใจในกิจกรรมที่เราจำเป็นต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้เราจดจำประสบการณ์ในช่วงนั้น ๆ ได้มากขึ้นครับ
8. ลองคิดแบบ “นักวิจัย” หรือ มีการใฝ่รู้ที่จะศึกษาคนใกล้ตัวเราหรือความสัมพันธ์ของเรา เพื่อค้นหาว่าคนที่เราอยู่ด้วยนั้นคือใคร เป็นอย่างไรกันแน่ ซึ่งการคิดแบบนี้ทำให้เราคลายกังวลและความเบื่อหน่ายจากสิ่งเดิม ๆ
9. เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกอยากทำความดีอะไรสักอย่าง ให้ทำโดยทันทีครับ อย่าผัดมันไปไว้วันหลัง ซึ่งมันอาจทำให้เราไม่ได้ทำมันอีกเลยก็ได้
10. ข้อสุดท้ายคือ ให้เราฝึกที่จะอยู่เฉย ๆ ซึ่งก็คือการฝึกที่จะต้านทานแรงกระตุ้นต่าง ๆ หรือสิ่งรบกวนต่าง ๆ ที่จะมารบเร้าให้เราทำโน่นทำนี่ ซึ่งเค้าแนะนำให้เราฝึกนั่งสมาธิโดยไม่ต้องทำอะไรเลย (Do nothing meditation) แล้วก็ห้ามคิดถึงเรื่องอะไรด้วย ยากมาก ๆ นะครับกับการนั่งนิ่ง ๆ โดยไม่ทำอะไรเลย ลองทำกันดูครับ 😊
……………..
📌 บทสรุปของหนังสือ “Four Thousand Weeks” ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ นั้นได้ให้มุมมองใหม่ ๆ สำหรับผมหลาย ๆ มุมเลยครับ ต้องบอกว่าไม่ผิดหวังครับ และขอแนะนำสำหรับนักอ่านเลยครับ
แต่ต้องบอกก่อนว่าโดยส่วนตัวคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านยากเหมือนกันนะครับ แม้ว่าจะอ่านเล่มที่แปลไทยแล้ว เพราะหนังสือค่อนข้างที่จะถูกเขียนในเชิงปรัชญาที่บางจุดผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจทั้งหมดเหมือนกันครับ
ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่บ้าเรื่องของ “productivity” คนหนึ่งเลยเหมือนกับผู้เขียนที่เค้าก็บอกว่าก่อนหน้านี้เค้าลองมาหมดทุกเทคนิคแล้วว่าทำอย่างไรให้ productive ที่สุด
💡 แต่เมื่อผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ทำให้เราเริ่มกลับมาคิดว่า การที่เราบ้าคลั่งกับการทำอะไรให้ได้เยอะ ๆ นั้นทำให้เรามีความสุขจริง ๆ หรือเปล่า? นอกจากนี้ทำให้เราเข้าใจและตระหนักได้เลยว่าสิ่งที่เราอยากทำนั้นมันมีเยอะมาก จนทำเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมดจริง ๆ
2
มันจะดีกว่าไหม หากเรายอมรับความจริง และเลือกทำในสิ่งที่เราให้ความสำคัญ สิ่งที่เราให้คุณค่ากับมัน มากกว่าจะทำไปเพื่อความต้องการของคนอื่น ความคาดหวังของคนอื่น
1
📍สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ชีวิตเรานั้นมีแค่ชีวิตเดียวและเวลาที่เรามีนั้นก็จำกัด เราจะทำอย่างไรดีครับให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีความหมายในแบบที่เราอยากให้เป็นครับ...🌈
1
#BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook : สิงห์นักอ่าน
โฆษณา