19 มี.ค. 2023 เวลา 02:08 • ข่าวรอบโลก

สหรัฐฯและชาติตะวันตกกับการกดดันเมียนมาที่มีผลต่อไทย

การเยือนไทยของนายดิเรก โชเล็ต ที่ปรึกษา กต.สหรัฐฯในห้วงมีนาคม ๒๕๖๖ โดยมีกำหนดการพบกับฝ่ายนโยบายระดับสูงของไทย น่าจะเป็นเรื่องของการส่งสัญญาณต่อไทยในกรณีการตัดเส้นทางการเงินของSACผ่านการลงทุนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน(รวมทั้งภาคอื่นๆเพื่อให้SACไม่นำเงินไปใช้ในการปราบปราม) โดยเฉพาะ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งบางส่วนเป็นเป้าหมายของการSanction ที่ฝ่ายต่อต้าน SACได้ดำเนินการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องที่จะให้ตะวันตกร่วมกันแสดงออกให้เกิดผลกระทบที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่
โดยการมาครั้งนี้อาจต้องการสื่อสารกับไทยอีกครั้ง ในลักษณะการแจ้งเตือน หรือการบังคับ หลังจากที่สหรัฐฯ ได้เคยกดดันมาแล้วในห้วงที่ผ่านมา
​ดังจะเห็นจากมาตรการคว่ำบาตรเมียนมา ชาติตะวันตกที่ผ่านมาได้ขยายวงไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมียนมาไม่เฉพาะในเรื่องพลังงาน ดังจะเห็นจากชาติตะวันตก ใช้โอกาสวันครบรอบ ๒ ปี รัฐประหารเมียนมาออกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาเพิ่มเติม โดยสหรัฐฯ คว่ำบาตร ๖ บุคคล ๓ องค์กร ที่สำคัญคือ นาย Myo Myint Oo รมว.พลังงาน พล.อ.อ.Htun Aung ผบ.ทอ. รวมถึงนาย Than Min รองกรรมการผู้จัดการ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE)
​ ส่วนแคนาดาคว่ำบาตรนายทหาร ๖ คน ส่วนใหญ่เป็น ผบ.ภาคทหารบก ส่วนสหราชอาณาจักรมุ่งไปที่ผู้สนับสนุน ทอ.เมียนมา คือ ผู้บริหารและบริษัทในเครือ Asia Sun group ได้แก่ Asia Sun Trading Company Limited และ Cargo Link Company Limited ซึ่งมีส่วนในการจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานแก่กองทัพเมียนมา
​ขณะที่ออสเตรเลียมุ่งเป้าหมายไปที่สมาชิก SAC จำนวน ๑๖ คน และวิสาหกิจของกองทัพเมียนมา คือ Myanma Economic Holdings Limited (MEHL) และ Myanmar Economic Corporation (MEC)
​​ขณะปัญหาภายใน มม. ได้เชื่อมต่อกับการเคลื่อนไหวภายในไทย โดย กลุ่มทะลุแก๊ซโพสต์ชักชวนคนไทยให้แสดงจุดยืนเคียงข้างและเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวเมียนมา รวมถึงสนับสนุนการคว่ำบาตรกลุ่ม PTT ซึ่งทำธุรกิจกับ MOGE ของเมียนมา โดยระบุว่ารัฐบาลเมียนมานำเงินที่ได้จากการทำธุรกิจไปซื้ออาวุธสงครามเพื่อใช้ปราบปรามกลุ่มต่อต้านในเมียนมา ทั้งนี้ ปัจจุบันการรณรงค์คว่ำบาตรกลุ่ม PTT ขยายตัวไปในหลายพื้นที่ของเมียนมา
คาดว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาที่ NUG ต้องการผลักดัน ซึ่งเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับรัฐบาลชาติตะวันตกและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่พุ่งเป้าโจมตีแหล่งผลประโยชน์สำคัญของรัฐบาลเมียนมาในต่างประเทศ
​​แนวโน้มที่ต่างประเทศจะใช้มาตรการเข้มข้นกับ มม. ส่งผลให้ไทยจะเผชิญแรงกดดันและการคาดหวังจากนานาชาติมากขึ้นจนวางตัวลำบากในประชาคมระหว่างประเทศ เนื่องจากสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการดำเนินการต่อ MOGE เด่นชัดขึ้น ด้วยการขึ้นบัญชีคว่ำบาตรผู้บริหารของ MOGE ควบคู่กับการดำเนินการของกลุ่ม NGOs และกลุ่มต่อต้านที่รณรงค์ให้คว่ำบาตรด้านพลังงานเพื่อขัดขวางแหล่งผลประโยชน์ของกองทัพเมียนมา ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทย
เช่นเดียวกับการเพิ่มการชี้นำให้ไม่สนับสนุนหรือยอมรับผลการจัดเลือกตั้งของเมียนมา อันเป็นประเด็นที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมาในไทย NGOs และกลุ่มเห็นต่างอาจหยิบยกนำไปขยายผลต่อไป
​ดังนั้นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณและให้ฝ่ายไทยเลือกแนวทางที่ต้องการเห็น ซึ่งการรับมือขึ้นอยู่กับท่าทีข้างต้น และอาจต้องสะท้อนถึงผลกระทบที่มีต่อไทย โดยเฉพาะด้านพลังงาน หรือการที่ไทยต้องสะท้อนว่าการบีบบังคับไทยไม่มีผลดี เพราะไทยเป็นช่องทางสำคัญในการสื้อสารกับมม. ในหลายมิติดังนั้น การใช้ไทยในการแสวงหาทางออกที่สร้างสรรค์จะเป็นประโยชน์มากกว่าในฐานะประเทศเพื่อบ้าน
​ สำหรับMOGE เป็นฝ่ายบริหารและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยควบคุมการสำรวจแหล่งน้ำมันและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม นอกจากนี้ MOGE ยังเป็นองค์กรที่ออกใบอนุญาตและจัดเก็บภาษีจากบริษัทเอกชนที่ได้ตกลงร่วมผลิตหรือร่วมทุนในอุตสาหกรรมนี้ด้วย ถือว่าเป็นกลไกหลักในการหารายได้เข้าประเทศ
นอกเหนือ Myanma Economic Holdings Limited (MEHL) และ Myanmar Economic Corporation (MEC) ที่เป็นกิจการของกองทัพเมียนมาที่ทำธุรกิจหลายประเภท และนำเงินเข้ามาใช้ดูแลกิจกรรมของกองทัพเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมา กลไกข้างต้น ได้รับการตรวจสอบจากUNมาอย่างต่อเนื่องเพื่อนำข้อมูลไปใช้ต่อการกดดันกองทัพเมียนมานับตั้งปัญหาในรัฐยะไข่
โฆษณา