20 มี.ค. 2023 เวลา 06:45 • สุขภาพ

โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential tremor; ET)

บทความโดย อาจารย์ เเพทย์หญิงยุวดี พิทักษ์ปฐพี
สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
3
โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential tremor; ET) เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ โดยพบได้ประมาณ 1% ในประชากรทั่วโลก อุบัติการณ์พบได้เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป) สามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงไม่แตกต่างกัน สาเหตุของการเกิดโรคสั่น ET ยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่ประวัติสั่นในครอบครัวมีความสำคัญ และพบว่าสาเหตุจากพันธุกรรมเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคสั่น ET
ลักษณะอาการของโรคสั่น ET มักจะเกิดพร้อมกัน 2 ข้างโดยอาจจะสั่นมากข้างใดข้างหนึ่ง การสั่นจะเป็นมากที่มือ นอกจากนี้อาจมีอาการสั่นที่ตำแหน่งอื่นๆร่วมด้วยได้เช่น ศีรษะ เสียง ขาหรือเท้า โรคสั่น ET จะมีอาการสั่นเวลาที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ถือแก้วน้ำ ถือช้อนตักอาหาร เขียนหนังสือ เป็นต้น
1
ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการสั่นเวลาอยู่เฉยๆ เช่นนั่งพัก นั่งดูทีวี ซึ่งอาการดังกล่าวช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคกับโรคพาร์กินสันซึ่งมักจะมีอาการสั่นขณะพัก
1
การวินิจฉัยโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ
2
การวินิจฉัยโรค โดยส่วนใหญ่อาศัยจากประวัติ และการตรวจร่างกาย การส่งตรวจทางเอกซเรย์เพิ่มเติมเช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT) หรือ เอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มักไม่พบความผิดปกติ
1
การรักษาโรคสั่น ET
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดและเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลักเพื่อลดอาการสั่นทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ
การรักษาโรค ET แบ่งการรักษาหลักๆออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. การรักษาด้วย lifestyle management โดยหากอาการไม่รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานยา อาจใช้การปรับกิจวัตรประจำวันเช่น ใช้ช้อนที่มีน้ำหนักในการตักอาหาร หรือปากกาที่มีน้ำหนักในการเขียนหนังสือเพื่อช่วยลดอาการสั่น
2
2. การรักษาด้วยยารับประทาน ซึ่งเป็นการรักษาแรกที่เริ่มใช้ในผู้ป่วยโรค ET ที่อาการรบกวนชีวิตประจำวัน โดยยาที่แนะนำในการใช้เป็นการรักษากลุ่มแรก( first line therapy) ได้แก่ propranolol, primidone และ topiramate นอกจากนี้ยังมียาชนิดอื่นๆที่สามารถเลือกใช้กลุ่มรองลงไป( second line therapy) เช่น gabapentin และ alprazolam เป็นต้น
3. การรักษาด้วยการฉีดยาโบทูลินัมท็อกซิน หากอาการของผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยารับประทานแพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการฉีดยาโบทูลินัมท็อกซิน
1
4. การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งพิจารณาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยารับประทานหรือการฉีดยา การผ่าตัดที่มีการศึกษาหลักฐานเชิงประจักษ์ในการควบคุมโรค ET ได้แก่ unilateral radiofrequency thalamotomy, deep brain stimulation(DBS) และ MRI guided high intensity focused ultrasound (MRgFUS)
1
การรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ MRI guided high intensity focused ultrasound (MRgFUS)
เป็นทางเลือกใหม่แทนการผ่าตัด(open surgery) ซึ่งใช้เทคนิคของ Focused Ultrasound ร่วมกับเครื่อง MRI ทำให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งที่ต้องการการรักษาได้อย่างแม่นยำ สำหรับกลไกของการใช้เทคโนโลยี MRgFUS นี้ ทำได้โดยการยิงคลื่นเสียงความถี่สูงอัลตราซาวน์ โดยการรวมจุดความถี่ไปที่โครงสร้างสมองตำแหน่งเดียว เพื่อช่วยลดอาการสั่นในผู้ป่วย โดยอาศัยหลักการจากภาพ ทำให้แพทย์ผู้รักษาสามารถมองเห็นตำแหน่งที่ต้องการยิงคลื่นเสียงไปยังสมองได้อย่างชัดเจน แม่นยำ ในขนาดไม่เกิน 4 – 5 มิลลิเมตร
1
ซึ่งแพทย์สามารถควบคุมทิศทางได้อย่างชัดเจน ลดอัตราความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถติดตามระดับของอุณหภูมิในตำแหน่งที่ทำการรักษาได้แบบ real time จากเครื่อง MRI ข้อดีของการรักษา คือ ไม่ต้องผ่าตัดทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเช่น การติดเชื้อ เป็นต้น
1
และทำให้ช่วยลดระยะเวลาพักฟื้นของผู้ป่วยเร็วขึ้นประมาณ 1 – 2 วัน หลังการทำหัตถการผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้ ผลการรักษาเห็นได้ชัดเจนหลังการทำ MRgFUS โดยจากการศึกษาพบว่าอาการสั่นดีขึ้นประมาณ 60 % ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ โดยการรักษาดังกล่าวได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2016 และเป็นที่ยอมรับจากประเทศชั้นนำทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น
1
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวยังสามารถทำได้ข้างเดียวของร่างกาย และผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยได้แก่ อาการเดินเซ และชา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่พบผลข้างเคียงชั่วคราวและอาการจากผลข้างเคียงมักจะค่อยๆดีขึ้นหลังการทำ MRgFUS ประมาณ 3 เดือน
1
โฆษณา