22 มี.ค. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

Apple Lisa คอมพิวเตอร์ชื่อเดียวกับลูกสาว สตีฟ จอบส์ ที่ขายไม่ออก จนต้องฝังทิ้ง

ไม่ว่า Apple จะเปิดตัวสินค้าไหน ก็ดูจะได้รับความสนใจจากเหล่าสาวกอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่กับ Apple Lisa คอมพิวเตอร์รุ่นหนึ่งในปี 1983 ที่ขายแทบไม่ได้ ถึงขั้นบริษัทต้องเช่าที่เพื่อฝังกลบโดยเฉพาะ..
แม้ Apple Lisa จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เบื้องหลังการสร้างคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของ Apple ก่อนจะประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้
เรื่องราวของ Apple Lisa น่าสนใจอย่างไร และทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จ ?
ลงทุนเกิร์ลจะย้อนรอยให้ฟัง
Apple Lisa คอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบมาให้เป็น PC แบบ All-in-One ที่ตัวคอมพิวเตอร์ ได้รวมจอภาพและเครื่องเอาไว้ด้วยกัน เปิดตัวในช่วงต้นปี 1983 หรือประมาณ 40 ปีก่อน ซึ่งเรียกได้ว่าล้ำยุคมาก ๆ ในตอนนั้น
และเบื้องหลังของการพัฒนาคอมพิวเตอร์นี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น สตีฟ จอบส์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ที่ปลุกปั้นโปรเจกต์นี้มากับมือ ตั้งแต่ปี 1978
ว่ากันว่า จอบส์ ให้ความสำคัญกับโปรเจกต์นี้ไม่น้อย ถึงขั้นจงใจตั้งชื่อว่า Locally Integrated Software Architecture ที่เมื่อย่อออกมาแล้ว จะได้คำว่า “Lisa” ซึ่งไปพ้องกับชื่อของลูกสาวคนแรกกับอดีตภรรยา ที่เขาเคยปฏิเสธความเป็นพ่อนานนับสิบปี
แต่จอบส์ ก็ยืนกรานมาตลอดว่า ชื่อที่พ้องกันนั้น เป็นแค่เรื่องบังเอิญ
อย่างไรก็ดี ในที่สุดจอบส์ ก็ยอมรับตอนก่อนเสียชีวิตไปว่า ชื่อโปรเจกต์นี้มาจาก Lisa Nicole Brennan ชื่อลูกสาวของเขาจริง ๆ
3
นอกจากการตั้งชื่อ ที่ชวนสงสัยกันมาเป็นสิบปีแล้ว เรื่องระบบการทำงานของ Apple Lisa ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
เพราะหลายข้อมูลชี้ไปทางเดียวกันว่า คอมพิวเตอร์รุ่นนี้ เป็นแนวคิดที่จอบส์ ปิ๊งไอเดียมาจากงานวิจัยของ Xerox PARC ที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ จนเป็นเรื่องเมาท์กันในวงการว่า เป็นการหยิบไอเดียมาใช้ดื้อ ๆ
ที่เป็นแบบนั้นเพราะจุดเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่จอบส์ ได้นำทีม Apple Computer เข้าไปเยี่ยมชม Xerox PARC (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น PARC แล้ว)
สำหรับคนทั่วไปอาจจะไม่รู้จัก PARC หรือ Palo Alto Research Center แต่ในแวดวงสินค้าไอที ไม่ว่าจะเป็น เมาส์ กราฟิก Ethernet เลเซอร์พรินเตอร์ Smalltalk และต้นกำเนิดแนวคิดผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีอีกมากมาย ก็ล้วนเกิดขึ้นที่นี่ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์วิจัยระดับตำนาน ที่หาตัวเทียบได้ยากในยุคนั้น
เช่นเดียวกับจอบส์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนา Apple Lisa จากการสาธิตการใช้เครื่อง Alto คอมพิวเตอร์ของ Xerox PARC ที่ใช้ระบบแสดงผลแบบที่คิดค้นขึ้นใหม่ เรียกว่า GUI
GUI คือ Graphical User Interface ซึ่งเป็นระบบการแสดงผลกราฟิกแบบ Pop-up ในจอคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้ง่าย มีหน้าต่าง ไอคอน เมนู และพอยน์เตอร์ (WIMP) ที่ควบคุมด้วยเมาส์
ทันทีที่ได้เห็นระบบแสดงผลที่ว่านี้ จอบส์ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันทีว่า คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องควรทำงานแบบนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ยืมเทคโนโลยี GUI ออกจากห้องวิจัย มาอยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และนำมาใช้กับโปรเจกต์ Lisa ที่เขากำลังทำอยู่
 
หลังจากนั้น Lisa ได้เป็นคอมพิวเตอร์เชิงพาณิชย์เครื่องแรกที่แสดงผลแบบ GUI โดย Apple มุ่งเป้าเจาะกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจส่วนตัว
โดยจูงใจเหล่านักธุรกิจให้มาครอบครอง Apple Lisa คอมพิวเตอร์ที่เคลมว่าเป็นเดสก์ท็อปเครื่องแรก ที่ใช้เมาส์บนเดสก์ท็อปดิจิทัลได้ แถมมีโปรเซสเซอร์โอเวอร์คล็อก ที่ความเร็ว 5 MHz และ RAM 1MB ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพสูงในยุคนั้น
2
พร้อมกับเปิดตัวราคาเครื่องละ 9,995 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 347,000 บาท
แต่หากคิดเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบัน จะเทียบเท่ากับ 27,200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 945,000 บาทเลยทีเดียว
แต่การตั้งราคาที่สูงนี้เอง เป็นสาเหตุหลักทำให้ Apple Lisa ไม่ได้ไปต่อ เพราะเมื่อมองภาพรวมราคา กับปัญหาด้านซอฟต์แวร์ที่ยังมีอัตราความผิดพลาดสูง เช่น อ่านข้อมูลช้า ทำให้ขายได้น้อยมาก จนต้องยุบโปรเจกต์ และเลิกผลิตลงไปในที่สุด
ไม่กี่ปีหลังจากนั้น The Herald Journal หนังสือพิมพ์ของเมืองโลแกน ได้รายงานว่า Apple ได้เช่าพื้นที่ขนาดประมาณ 730 ลูกบาศก์เมตร ในเมืองโลแกน รัฐยูทาห์ เพื่อฝังกลบ Apple Lisa ที่ยังขายไม่ออกอีก 2,700 เครื่อง
โดยสาเหตุที่ต้องทำแบบนี้ ก็เพื่อตัดค่าใช้จ่ายในการดูแลและบำรุงรักษาคอมพิวเตอร์ ที่คิดว่าไม่มีวันขายออกอีกแล้ว
4
แม้ Apple Lisa จะไปไม่ถึงฝัน และสร้างความเสียหายให้ Apple ไปไม่น้อย แต่การทำโปรเจกต์นี้ ก็ไม่ได้สูญเปล่าไปเสียทีเดียว
เพราะ Apple ได้เดินหน้าต่อ โดยยุบโปรเจกต์ Apple Lisa รวมกับ Macintosh ที่ก่อตั้งโดย Jef Raskin อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่พัฒนาตีคู่กันมากับ Apple Lisa แบบเบียดไหล่ โดยจอบส์ก็ได้เข้ามาอยู่ในโปรเจกต์นี้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งสุดท้าย ในปี 1984 Apple ก็ได้เปิดตัว Macintosh คอมพิวเตอร์ที่ “ใช้เมาส์” เข้ามาสั่งการบนหน้าจอ แทนการพิมพ์คำสั่งบนคีย์บอร์ดเหมือนกับคอมพิวเตอร์ทั่ว ๆ ไปในยุคนั้น
ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ประกอบกับราคาของ Macintosh 128K ที่เปิดตัวในราคา 2,495 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่า Apple Lisa เกือบ 4 เท่าตัว
1
แถมยังมีการเปิดตัวโฆษณาอย่างยิ่งใหญ่ในช่วง Super Bowl XVII ที่ยิ่งทำให้คนรู้จัก Macintosh อย่างรวดเร็ว จนไม่น่าแปลกใจเลยที่ Macintosh ได้รับการตอบรับที่ดีกว่า Apple Lisa เป็นอย่างมาก
1
โดยจอบส์เองก็เคยให้นิยามเกี่ยวกับ Macintosh ว่า “เป็นเวอร์ชันกราฟิก Lisa ที่ราคาไม่แพง และมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น” ด้วย
แม้ Apple Lisa จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โปรเจกต์นี้ได้กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ และอีกขั้นบันไดให้ Apple สามารถก้าวขึ้นมาเติบโตได้
เพราะคุณสมบัติของ Apple Lisa บางส่วน ก็ถูกนำมาพัฒนาต่อใน Macintosh ที่กลายเป็นรากฐานของ Mac อีกหลายเวอร์ชัน ที่วางอยู่แทบทุกโต๊ะทำงานทั่วโลก มาจนถึงทุกวันนี้..
โฆษณา