23 มี.ค. 2023 เวลา 02:55 • ธุรกิจ

Starbucks สำเร็จในจีนได้อย่างไร ทั้งที่ประเทศ มีแต่คนดื่มชา

จีน คือ ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดอารยธรรม “ชา” ที่ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็ดื่มชากันเป็นว่าเล่น
ซึ่งตลาดชาภายในประเทศจีนนั้นก็ใหญ่เกือบ ครึ่งหนึ่งของตลาดชาทั้งโลก
ต้องบอกว่า วัฒนธรรมการดื่มชาของชาวจีนนั้นฝังรากลึกมานานหลายพันปี
มีการสร้างธุรกิจโรงน้ำชากันเป็นล่ำเป็นสันกระจายไปทั่วเขตวัฒนธรรมจีน ก่อนที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะถือกำเนิดขึ้นเสียอีก
แต่รู้หรือไม่ว่า แม้ว่าคนจีนจะนิยมดื่มชากัน Starbucks เชนร้านกาแฟชื่อดัง กลับกำลังโตวันโตคืน ในประเทศจีน
ซึ่งจากความสำเร็จนี้เอง จึงเป็นที่มาของแผนการสุดทะเยอทะยานของ Starbucks ด้วยการตั้งเป้าให้ตลาดจีนขึ้นมาเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท
โดยเตรียมเปิดสาขาเพิ่มอีก 3,000 สาขา ภายใน 3 ปี
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ มีการเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 9 ชั่วโมง..
แล้วทำไม Starbucks ถึงประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ ในประเทศที่มีแต่คนดื่มชา ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปในปี 2542 ท่ามกลางเสียงคัดค้านและโต้แย้งจากภายในบริษัท Howard Schultz ซีอีโอของ Starbucks เลือกที่จะเพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านเหล่านั้น และเดินหน้าที่จะบุกตลาดจีนให้ได้
2
จนในที่สุด Starbucks ก็ได้เปิดร้านกาแฟสาขาแรกของตัวเองในจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน
แต่ว่าการดำเนินกิจการของ Starbucks ในจีนช่วงแรกนั้น ดูไม่ค่อยจะราบรื่นเท่าไร
เพราะในตอนนั้นมีแต่คนนิยมดื่มชา และมองว่ากาแฟราคาแพงของ Starbucks นั้น ถือเป็นของที่ฟุ่มเฟือย
1
Starbucks ต้องทนขาดทุนเป็นเวลานานถึง 9 ปีเต็ม..
3
หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปี Starbucks เริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับตลาดลูกค้าชาวจีน โดยการเริ่มใส่เมนูชาที่หลากหลายเข้ามาในเมนูเครื่องดื่มของตัวเอง
1
และการทำร้านของตัวเองให้มีลักษณะคล้ายกับโรงน้ำชา เป็นที่พบปะสำหรับผู้คน โดยสามารถนั่งพูดคุยกันได้คล้าย ๆ กับสภากาแฟ หรือร้านน้ำชาของบ้านเรา
1
ซึ่งก็ทำให้ขนาดของตัวร้าน Starbucks ในประเทศจีนนั้นใหญ่กว่าที่ประเทศอื่นมาก
นอกจากนี้ Starbucks ยังพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนจีน ที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว ด้วยการสร้างระบบซัปพลายเชนที่เชื่อมโยงกับครอบครัวชาวไร่ท้องถิ่น
รวมถึงยังมีการให้ประกันสุขภาพสำหรับพ่อแม่ของพนักงานอีกด้วย
และด้วยความที่ Howard Schultz เองนั้น ให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศจีนมาก ๆ เขาจึงมักจะเดินทางมาบริหารงาน และโปรโมตแคมเปญต่าง ๆ ด้วยตัวเองอยู่เสมอ
ซึ่งเมื่อรวมกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา และการปรับตัวรับวัฒนธรรมต่างชาติมากขึ้นของคนรุ่นใหม่
Starbucks ที่พยายามปรับตัวเองให้เข้ากับคนจีนนั้น จึงขายดิบขายดี และโตวันโตคืน ทำให้ในปัจจุบัน Starbucks มีสาขามากกว่า 6,000 สาขาในจีน
1
ทีนี้เรามามองที่ภาพใหญ่กันบ้าง
ปัจจุบัน Starbucks มีสาขาทั่วโลกรวมกันทั้งหมดประมาณ 35,600 สาขา
- เป็นสาขาที่บริหารเอง 18,200 สาขา
- ให้สิทธิ์ในการบริหาร 17,400 สาขา
และถ้ามาดูอันดับประเทศที่มีสาขามากที่สุด
- สหรัฐอเมริกา 15,800 สาขา
- จีน 6,000 สาขา
- เกาหลีใต้ 1,750 สาขา
- ญี่ปุ่น 1,630 สาขา
เราจะเห็นได้ว่าตลาดนอกสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ที่ทางฝั่งเอเชีย โดยประเทศที่สำคัญ ๆ ในแผนอย่างจีน และญี่ปุ่น Starbucks เลือกที่จะเป็นผู้บริหารเองทั้งหมด
หากลองดู รายได้จากจีน เทียบกับรายได้ทั้งหมด ของ Starbucks
ปี 2563 รายได้ 90,000 ล้านบาท คิดเป็น 10.9%
ปี 2564 รายได้ 128,000 ล้านบาท คิดเป็น 12.6%
ปี 2565 รายได้ 105,000 ล้านบาท คิดเป็น 9.3%
ต้องบอกก่อนว่าในปีล่าสุด รายได้และสัดส่วนรายได้ของ Starbucks ในจีนลดลง เป็นผลพวงมาจากนโยบายการปิดเมืองอย่างยาวนาน เพื่อควบคุมโรคระบาดของจีน
ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ นั้น เปิดเมืองให้คนออกมาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่กันนานแล้ว
นั่นทำให้พอมาในปีนี้ เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มไฟเขียวเปิดเมือง และเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยว Starbucks จึงวางแผนที่จะทำการขยายสาขาครั้งใหญ่
แต่ก็คงต้องบอกว่า จีน ถือเป็นหนึ่งในประเทศปราบเซียนของธุรกิจต่างชาติหลายบริษัทดังที่เคยมา แต่ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปก็ไม่น้อย
ซึ่งความสำเร็จของ Starbucks ก่อนหน้านี้เอง ก็ไม่สามารถการันตีผลลัพธ์ในอนาคตได้ทั้งหมด
แต่ ณ ตอนนี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า Starbucks ได้กลายมาเป็นแบรนด์อเมริกันเพียงไม่กี่แบรนด์ ที่สามารถทำธุรกิจ และประสบความสำเร็จได้ในประเทศจีน..
"พิเศษ คนที่เปิดบัญชี Dime! ผ่านลิงก์ของลงทุนแมน ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 มีนาคม 2566 จะได้รับ “ฟรี” ค่าคอมมิชชัน การซื้อขายหุ้นต่างประเทศ ตลอดเดือนเมษายน 2566 พิเศษสำหรับแฟนเพจลงทุนแมนเท่านั้น สมัครเลยที่ https://link.dime.co.th/Longtunman
ผู้ที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียด และ เงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่ https://dime.co.th/en/articles/dime-x-ltman
คำเตือน : ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน"
โฆษณา