22 มี.ค. 2023 เวลา 15:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ความเชื่อมั่นคือทางออกวิกฤตธนาคาร

ดูเหมือนว่าตอนนี้ปัญหาภาคธนาคารกำลังปั่นป่วนระบบเศรษฐกิจและการเงินกันไปเกือบทั่วโลก ทั้งในฝั่งสหรัฐ และยุโรป จนหลายคนอาจสงสัยว่า ปัญหาพวกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เพราะถ้าดูสถานะของธนาคารที่กำลังเจอปัญหา ไม่ว่าจะเป็น Silvergate, Silicon Valley Bank, Signature Bank หรือแม้กระทั่ง Credit Suisse เอง อาจจะบอกได้ว่าไม่ได้เลวร้ายอะไรเลย ฐานะทุนมีอย่างเพียงพอ สินทรัพย์สภาพคล่องก็มีเยอะ
เมื่อถ้าดูเป็นรายๆ ก็อาจจะบอกได้ว่า แม้ธนาคารเหล่านี้มีปัญหาของตัวเองบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเป็นปัญหาร้ายแรงถึงขั้นจะสร้างปัญหาในทันที จนให้เกิดวิกฤตวุ่นวายไปทั่วโลกแบบที่เห็น
ซึ่งดูเหมือนว่าคนยังคงตั้งคำถามต่อเนื่องว่า ใครจะเป็นรายต่อไป
ถ้าเราถอยกลับมาก้าวหนึ่ง จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็น อาการวงจรที่เราเคยเห็นมาในอดีต เมื่อดอกเบี้ยต่ำ สภาพคล่องสูง มีการย้ายเงินทุนไปยังบางภาคส่วนมากจนเกินไป
ทำให้เกิดการสะสมปัญหาและความเปราะบาง จนบ่อยครั้งกลายเป็นฟองสบู่
เมื่อธนาคารกลางเริ่มถอนการกระตุ้น ขึ้นดอกเบี้ย เงินที่เคยหมุนเข้าไปสนับสนุนภาคส่วนนั้นๆเริ่มแห้งเหือด และมีต้นทุนสูงขึ้น ก็อาจจะทำให้ฟองสบู่เริ่มแฟบหรือแตก จนเริ่มสร้างปัญหาได้
อาการที่เราจะเห็นแรกๆ คือ ราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นมาจะเริ่มลดลง หรือทรุดฮวบ ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นอาการเหล่านี้ เช่น ราคาหุ้น technology ราคา cryptocurrency ลดลงอย่างรวดเร็ว หรือ flow ที่เข้าไปในสินทรัพย์พวก PE/VC เริ่มปรับลดลง
ถ้าปัญหาพวกนี้ไป กระทบมูลค่าสินทรัพย์ของภาคธนาคารตรงๆ ก็จะกระทบต่อฐานะทุน และความอยู่รอดของธนาคาร จนเกิดปัญหาความเชื่อมั่น จนกระทบเศรษฐกิจได้เหมือนวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ที่เราเห็น
แต่รอบนี้ เท่าที่ผ่านมา ปัญหายังไม่ได้ถึงจุดนั้น แม้จะเห็นความผันผวนของราคาสินทรัพย์ต่างๆ แต่ภาคธนาคารโดยรวมมีความแข็งแกร่ง และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงดีขึ้นเยอะมาก
ส่วนหนึ่งเพราะมาตรฐานการกำกับดูแลของธนาคารทั่วโลกดีขึ้นจากบทเรียนวิกฤตรอบก่อน ทั้งการกำกับด้านเงินกองทุน สินทรัพย์สภาพคล่องและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
แต่อย่างที่ทราบกันนะครับ ธนาคารทำหน้าที่ในการ transform สินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง และมีอายุยาว (เช่น เงินปล่อยกู้และเงินลงทุน ที่ไปขอเขาคืนก่อนไม่ได้) ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง
และอายุสั้นลง (เช่น เงินฝากที่คนขอคืนได้ตลอดเวลาและตราสารของธนาคาร) ถ้ามีคนขอถอนเงินพร้อมกันมากๆ ธนาคารแข็งแกร่งขนาดไหนก็มีโอกาสหวั่นไหวได้
นอกเหนือจากการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ แล้ว ความมั่นใจและความเชื่อใจเป็นสิ่งที่สำคัญ ของธนาคารและภาคธนาคาร
สิ่งที่เราเห็นคือ เมื่อเกิดปัญหา bank run สิ่งที่คนจะถามกันต่อไปคือ ใครจะเป็นรายต่อไป ใครมีความเสี่ยงแบบธนาคารที่มีปัญหาบ้าง หรือปัญหาที่เกิดขึ้นจะลามไปหาใครได้อีกบ้าง
วิธีที่จะหยุดการลามของปัญหาที่ดีที่สุดคือการสร้างความมั่นใจกลับคืนมา
เหมือนที่ Fed และ Treasury ทำในช่วงเกิด Covid ที่คนกังวลว่าจะทำให้เกิดวิกฤตการเงิน แต่การทำ QE และมาตรการต่างๆออกมาอย่างรวดเร็ว เหมือนปืนบาซูก้ามาตั้งไว้ จนคนเชื่อว่าคงไม่มีปัญหา
รอบนี้ก็เช่นกัน ผมเชื่อว่าทั้งธนาคารกลางและรัฐบาลพร้อมที่จะเข้ามาหยุดแก้ปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤต เพราะดีกว่าปล่อยให้เกิดปัญหาที่หยุดไม่ได้ ที่จะสร้างต้นทุนอย่างมหาศาล
โดยเฉพาะถ้าปัญหายังเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นและสภาพคล่อง ที่แก้ไขได้ง่ายกว่าเยอะ โดยการอัดฉีดสภาพคล่อง มากกว่าเรื่องของมูลค่าของสินทรัพย์ของธนาคารที่ลดลงจนกระทบต่อทุนและความอยู่รอด ที่อาจจะต้องเพิ่มทุนและต้องใช้เงินของรัฐมากกว่านี้มหาศาล
สิ่งที่ผมเชื่อว่า Fed กับรัฐบาลทำได้ อาจจะเริ่มตั้งแต่...
1. การตั้ง facility เพิ่มเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับธนาคาร โดยมีรัฐฯมาช่วยรับประกันความเสียหายให้บางส่วน (ที่ Fed สามารถเอาไป leverage เพิ่มได้อีกหลายเท่า) และถ้าปัญหาลาม อาจจะเห็นการขยายโปรแกรมเหล่านี้ออกไปเรื่อยๆ
2. เราอาจจะเห็นการขยายการประกันเงินฝากที่ทุกวันนี้ประกันอยู่ 250,000 ดอลลาร์/บัญชี เหมือน Janet Yellen พูดถึงเมื่อคืน (บางคนเสนอให้คุ้มครองให้หมดเลย) เพื่อให้คนมั่นใจว่าไม่ต้องรีบถอนเงินก็ได้ เพราะยังไงเงินก็ยังมีคนรับประกันแน่ๆ
3. ถ้ามีความจำเป็น เราอาจจะเห็นการเอาเงินของรัฐเข้ามา อุ้มภาคธนาคาร ในรูปแบบต่างๆ เหมือนปี 2008
แต่ปัญหาที่จะตามมาคือภาระของรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้น ในวันที่หนี้ภาครัฐก็สูงเท่าคอหอยแล้ว คงเป็นประเด็นสำคัญเรื่องการเมือง ยิ่งตอนนี้สภาในสหรัฐแตกออกเป็นสองด้าน และวาทกรรมอุ้มคนรวยจะกลับมาอีก
นอกจากนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหา moral hazard ที่ทั้งผู้ฝากเงิน นักลงทุน และธนาคาร อาจจะมีพฤติกรรมสร้างความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม ยิ่งปัญหาลามไปนานเท่าไร ต้นทุนทางเศรษฐกิจ และต้นทุนของระบบจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และแก้ไขยากขึ้น
ผมเชื่อว่าจากประสบการณ์ของวิกฤตที่ผ่านมา รัฐฯและธนาคารกลาง อยากตัดไฟแต่ต้นลมแน่ๆ และยิ่งมีเครื่องมือสำคัญคือการพิมพ์เงินผ่าน QE โอกาสเกิดวิกฤตน่าจะมีน้อยลงไปมาก
แต่ปัญหาสำคัญ คือ ภาระหนี้ภาครัฐ ต้นทุนทางการเมือง และปัญหาเงินเฟ้อที่ค้ำคออยู่ ทำให้การลดดอกเบี้ยแบบในอดีตทำไม่ได้ง่ายๆ
แต่ถ้าต้องให้เลือก ผมคิดว่าเสถียรภาพและความมั่นใจของระบบการเงินน่าจะมาก่อนเป้าหมายอื่นๆ
โฆษณา