23 มี.ค. 2023 เวลา 08:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จักที่มาของ 'ธนาคารกลาง' องค์กรที่มีความสำคัญมากที่สุดในการแก้วิกฤตการเงินโลก

🏦 ในช่วงนี้ ข่าวหนึ่งที่ทุกคนจะต้องเคยได้เห็นหรือได้ยินกันบ้างก็คือข่าววิกฤตภาคการธนาคาร ที่เริ่มต้นจากการล้มละลายของ Silicon Valley Bank มาจนถึงปัญหาการเงินของธนาคาร ‘เครดิตสวิส’ ที่ถึงแม้จะมีธนาคารคู่แข่งใหญ่เข้าไปอุ้มไม่ให้ล้มละลายแล้วก็ยังสร้างปัญหาไม่หยุดด้วยปัญหาตราสาร AT1
และในทุกข่าว ตัวละครหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทมากในทุกข่าวการธนาคารในตอนนี้ก็คือ ‘ธนาคารกลาง’ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (Federal Reserve) และธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank) ที่มีบทบาททั้งในฐานะตัวการที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาการธนาคารขึ้น และผู้ช่วยเหลือที่เป็นที่ปรึกษา และให้เงินสนับสนุนกับธนาคารพาณิชย์ที่กำลังมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ธนาคารกลางจะเป็นองค์กรที่ทุกคนน่าจะต้องได้ยินชื่อกันอยู่แล้ว หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่าธนาคารกลางคืออะไร มีจุดกำเนิดมาจากไหน และมีอำนาจหน้าที่ทำอะไรกันแน่ วันนี้ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้อ่านกัน
🏦 จุดกำเนิดธนาคารกลาง - องค์กรที่เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาทางการเงินให้กับชาติ
ธนาคารกลางมีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 หรือประมาณ 300 กว่าปีก่อน โดยธนาคารแห่งแรกที่เรียกได้ว่าเป็นธนาคารกลาง ก็คือธนาคารกลางของประเทศสวีเดน หรือที่เรียกว่า Sveriges Riksbank ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1668 เพื่อรับซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือเรียกง่ายๆ ก็คือให้เงินกู้กับรัฐบาล และทำหน้าที่เป็นสำนักหักบัญชี หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางการชำระราคาการซื้อขายระหว่างสวีเดนและประเทศอื่นๆ
หลังจากระบบการค้าและการเงินมีพัฒนาการจนซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆ ต่างก็ทยอยตั้งธนาคารกลางของตัวเองขึ้นเพื่อดูแลระบบการเงินในประเทศไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางอังกฤษ (ฺBank of England) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1694 เพื่อให้เงินกู้กับรัฐบาลผ่านการซื้อพันธบัตร และธนาคารกลางฝรั่งเศส (Banque de France) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1800 เพื่อดูแลสมดุลค่าเงิน และดูแลปัญหาเงินเฟ้อในช่วงที่มีการปฏิวัติฝรั่งเศส
เพราะฉะนั้น กล่าวโดยสรุปแล้วองค์กรที่เรียกว่า ‘ธนาคารกลาง’ หรือ ‘แบงก์ชาติ’ นี้ก็ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเสถียรภาพทางการเงิน หรือช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินในระดับมหภาค หรือในระดับชาติเป็นหลัก และจะไม่ลงมาเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ถึงแม้นโยบายและการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจะส่งผลต่อคนทั้งประเทศนั้นๆ โดยตรง รวมไปถึงประชาชนในประเทศอื่นๆ ในทางอ้อมก็ตาม
🏦 อำนาจหน้าที่ของธนาคารกลางในปัจจุบัน
ธนาคารกลางของทุกประเทศในปัจจุบันมีหน้าที่คล้ายกันคือทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักที่คอยดูแลเสถียรภาพทางการเงินของแต่ละประเทศ โดยการออกนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ดูแลอุตสาหกรรมการธนาคารในประเทศ ออกกฎควบคุมสถาบันการเงินในประเทศ และให้เงินช่วยเหลือในกรณีที่ธนาคารภายในประเทศเกิดปัญหา
เพราะฉะนั้น ธนาคารกลางจะทำงานกับหน่วยงานรัฐหรือสถาบันการเงินเป็นหลัก และจะไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปมาทำธุรกรรมการเงินด้วย เช่น การรับฝากเงิน ถอนเงิน หรือปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายย่อยอย่างที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปทำ โดยในปัจจุบัน ธนาคารกลางมีอำนาจหน้าที่หลักๆ ใน 5 ด้านด้วยกันคือ
กำหนดนโยบายการเงินของประเทศ เช่น การกำหนด ‘อัตราดอกเบี้ยนโยบาย’ ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของประเทศ โดยธนาคารกลางอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เช่นในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด หรือปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อย่างที่ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศทำอยู่ตอนนี้
ดูแลเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ ควบคุมให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีไม่มากหรือน้อยเกินไป ด้วยการอัดฉีดเงินหรือดึงเงินออกจากระบบ ดูแลการออกธนบัตร และเหรียญ รวมไปถึงดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินระหว่างสกุลเป็นไปอย่างเหมาะสม
ดูแลระบบการเงินภายในประเทศ และกำกับและดูแลอุตสาหกรรมการธนาคารเพื่อคุ้มครองประชาชนจากสถาบันการเงิน เช่นการออกกฎต่างๆ เพื่อควบคุมสถาบันการเงินภายในประเทศ กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ฝากเงินสดสำรองสำหรับการชำระหนี้เพื่อรับประกันความคุ้มครองในกรณีเกิดปัญหาทางการเงิน ควบคุมการให้กู้ และการปล่อยสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และคอยดูแลให้ระบบการชำระเงินในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ให้เงินกู้ หรือเงินช่วยเหลือแก้ธนาคารพาณิชย์ในกรณีที่เกิดปัญหาสภาพคล่อง รวมถึงดูแลลูกค้าของแบงก์นั้นๆ ในกรณีที่เกิดการล้มละลายขึ้น
ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาด้านการเงิน โดยอาจจัดทำการวิจัย หรือรายงานเกี่ยวกับการเงินที่มีประโยชน์กับทั้งหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานเอกชนต่างๆ
🏦 5 อันดับธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในปัจจุบัน เกือบทุกประเทศในโลกมีธนาคารกลางเป็นของตัวเอง โดยธนาคารกลางที่ใหม่ที่สุดก็คือ ธนาคารกลางของประเทศ ติมอร์ เลสเต ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 2011
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีอำนาจหน้าที่คล้ายกัน ขนาดของธนาคารกลางแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างล้อกันไปกับขนาดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยจากข้อมูลของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ SWFI หากนับจากทรัพย์สินในการดูแล ซึ่งสำหรับธนาคารกลางส่วนใหญ่หมายถึงเงินสำรองระหว่างประเทศ และเงินฝากสำรองจากธนาคารอื่นๆ ในประเทศ ธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก 5 อันดับ คือ
➡ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Banks) หรือ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มธนาคารกลางสหรัฐทั้งหมด 12 แห่งในประเทศ ก่อตั้งเมื่อปี 1913 มีทรัพย์สินรวมทั้งหมด 8.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 302 ล้านล้านบาท
➡ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ก่อตั้งเมื่อปี 1882 มีทรัพย์สินรวม 5.88 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 201 ล้านล้านบาท
➡ ธนาคารประชาชนจีน (People's Bank of China) ก่อตั้งเมื่อปี 1948 มีทรัพย์สินรวม 5.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 176 ล้านล้านบาท
➡ ธนาคารสหพันธ์เยอรมนี (Deutsche Bundesbank) ก่อตั้งเมื่อปี 1957 มีทรัพย์สินรวม 2.68 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 92 ล้านล้านบาท
➡ ธนาคารกลางฝรั่งเศส (Banque de France) ก่อตั้งเมื่อปี 1800 มีทรัพย์สินรวม 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 79 ล้านล้านบาท
โดยในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) อยู่ในอันดับที่ 28 ด้วยทรัพย์สินทั้งหมด 8.7 ล้านล้านบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่บางคนเรียกกันว่าแบงก์ชาติถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1942 เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ
แบงก์ชาติมีอำนาจหน้าที่หลัก คือ กำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน, ออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร, เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล, เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน, จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน, กำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน, บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา และควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
อ่านบทความในเว็บไซต์ที่ https://www.amarintv.com/spotlight/economy/detail/43114
ติดตามข้อมูล ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงิน ของ #SPOTLIGHT เพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ : https://www.amarintv.com/spotlight
ยูทูป : https://bit.ly/31rtDUM
อินสตาแกรม : https://www.instagram.com/spotlightbizth
โฆษณา