25 มี.ค. 2023 เวลา 06:26 • ไลฟ์สไตล์

หาเงินได้เท่าไหร่ ไม่เท่าใช้จ่ายไปแค่ไหน

พูดถึงเรื่องเงิน แน่นอนว่าคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตเรา และมันคงดี ถ้าเราสามารถทำงาน เพื่อหามันได้เยอะๆ แต่จริงๆ แล้ว ปัจจัยที่จะทำให้เรามีเงินมาก หรือน้อยนั้น นอกจากการหานั้น อีกปัจจัยหลักคือการใช้นั่นเอง
หลายคนคงเคยเห็นเพื่อน หรือคนใกล้ตัวที่มีตำแหน่งงานที่น่าจะได้เงินเดือนไม่น้อย แต่ก็ยังไม่วายที่คนๆ นั้นจะบ่นว่าเงินไม่พอใช้อยู่ดี นั่นเป็นเพราะการใช้จ่ายที่แทบจะพอดีกับเงินที่หามา หรือในบางกรณี เรียกว่าเกินตัวไปเลยด้วยซ้ำ เหมือนกับกระชอนที่ก้นรั่ว ใส่น้ำเข้าไปมากเท่าไหร่ ก็รั่วออกอย่างรวดเร็วจนหมดนั่นเอง
คราวนี้ เราลองมาดูคนอีกแบบ ที่อาจจะทำงานหาเงินได้ไม่มากเท่าไหร่ แต่รู้จักใช้จ่าย งดสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ลดสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ใช้เฉพาะที่จำเป็น สุดท้าย กลับเหลือเงินเก็บที่มากกว่าคนประเภทแรกซะอย่างนั้น
ดังนั้นแล้ว การที่เราสามารถทำงาน หาเงินได้มาก เป็นเรื่องดี แต่การพิจรณาถึงการใช้เงินให้เหมาะสม จะยิ่งเป็นเรื่องที่ดียิ่งขึ้นไปอีก คงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ของมันต้องมี หรือของมันต้องได้ อันนี้คือคำพูดเพื่อชักชวนให้เราไม่ต้องไปคิดมาก ซื้อไปเถอะ แต่จริงๆ แล้ว มีของอีกจำนวนมาก ที่เราไม่จำเป็นต้องมี ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ปกติสุขดี
หากจะลองดูว่า สิ่งอะไรล่ะที่จำเป็น และไม่จำเป็น ลองพิจรณาจากเงื่อนไขดังนี้
1. ถ้าเราไม่มีมัน จะมีผลกระทบอะไรกับเราบ้าง หากไม่ใช่เรื่องของ ถ้าไม่มีมันแล้ว เพื่อนจะล้อ หรือดูไม่เหมือนคนอื่นในสังคม คงต้องบอกว่าความคิดนี้ มันเกิดจากความรู้สึกของเราประมาณ 99% นั่นแปลว่าส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากความคิดไปเอง ดังนั้น เอาความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าเรายังอยากได้มันอยู่ดีล่ะ ไปดูข้อ 2. แต่ถ้ามันเป็นสิ่งของที่ถ้าไม่มีแล้ว เราจะลำบากในการใช้ชีวิตอย่างมาก โดยเฉพาะพวกอุปกรณ์ที่สามารถใช้ในการทำมาหากิน เช่นคอมพิวเตอร์ หรือว่ามือถือ ให้ข้ามไปข้อ X.
2. หากสิ่งของที่เราจะได้นั้น เกิดจากความรู้สึกอยากได้ของเราจริงๆ รู้สึกว่า ถ้าได้มา มันจะต้องดีมากแน่ๆ เพราะเราจะใช้งานมันทำโน่น นี่ นั่น หรือ รู้สึกว่ามันสวยงาม บาดใจจริงๆ ถ้าได้มาครอบครอง เราต้องมีความสุขมากแน่ๆ จะบอกว่า ถ้าซื้อแล้วคุณไม่เดือดร้อน คือ ไม่ได้ไปกู้มาซื้อ ไม่ต้องผ่อน เมื่อจ่ายเงินออกไปแล้ว เงินในกระเป๋า หรือบัญชีธนาคารยังเหลืออยู่อีกบาน อันนี้ให้ลองพิจรณาเงื่อนไขถัดไป แต่ถ้าไม่ใช่ ผมแนะนำให้ระงับความอยากซะ เพราะคุณกำลังจะใช้จ่ายเกินตัว
3. แนะนำให้หาข้อมูลของสิ่งที่เรากำลังอยากได้นั้นให้มากที่สุด ทั้งข้อดี และข้อเสีย เปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่น รุ่นอื่น เทียบราคาต่างๆ ให้มากที่สุด เสร็จแล้ว ให้ลองถามตัวเองอีกทีนึงว่าเรายังอยากได้มันอยู่มั๊ย ด้วยข้อเสียที่พบมา หากคำตอบคือ ยังอยากได้ ก็ให้ลองตั้งเป้าหมายว่า ถ้าได้มันมา เราจะเอามาทำอะไรได้บ้าง บนพื้นฐานของความเป็นจริง และเมื่อได้คำตอบ ให้หักลบไปอีกครึ่งนึง
เพราะในความเป็นจริงแล้ว เมื่อคุณได้ของสิ่งนั้นมา มันมีโอกาสครึ่งต่อครึ่งที่คุณจะสามารถทำอย่างที่คุณคิด หรือวางแผนเอาไว้ในตอนแรกได้อย่างที่ตั้งใจ เหตุเพราะ พอคุณได้สิ่งนั้นมา มันจะมีอีกหลายอย่างที่คุณไม่ได้คิดเอาไว้ พูดง่ายๆ คือคิดไม่ถึง และสิ่งเหล่านั้นเอง มันจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คุณไม่สามารถใช้ของที่ได้มาอย่างที่ตั้งใจไว้
มาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าอย่างน้อยๆ จะช่วยให้เราได้ในสิ่งที่คิดดีแล้วว่ามีประโยชน์กับเรา และเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ หรือไม่ก็ เราจะพบว่าสิ่งนั้นมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเอาไว้ในตอนแรก หรือเป็นสิ่งที่ยังไม่จำเป็นสำหรับเราในตอนนี้ และเปลี่ยนใจ เก็บเงินไว้ก่อนดีกว่า
X. ในกรณีที่พิจรณาแล้ว สิ่งของชิ้นนั้น เป็นสิ่งของจำเป็นต้องมีจริงๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถทำงานได้ หรือทำงานได้แต่ลำบากมากขึ้น ขอให้พิจรณาจากความเหมาะสมของสิ่งนั้นๆ กับเงินในกระเป๋าของเรา ว่าถ้ายี่ห้อ หรือรุ่นไหนที่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยเทียบจากสเปค และความต้องการในการใช้งาน โดยที่ราคาอยู่ในระดับที่สามารถซื้อมาใช้แล้วไม่กระทบกับเงินเก็บของเรา
สุดท้ายแล้ว จะพบว่า เงื่อนไขในการพิจรณาทั้งหมด จะมาจบลงที่ ความจำเป็น ความเหมาะสมกับเราหรือไม่ เพราะนี่คือปัจเจกที่แต่ละคนจะมีความอยากได้สิ่งของแตกต่างกัน เงินเก็บ หรือฐานะของแต่ละคน ก็ย่อมไม่เหมือนกัน ดังนี้แล้ว อยากให้ประเมินความเหมาะสม และความจำเป็นสำหรับของสิ่งนั้นเสมอก่อนจะจ่ายเงินซื้อมันมา เพราะอย่าลืมว่า หาเงินได้เท่าไหร่ ไม่เท่าใช้จ่ายไปแค่ไหน ขอบคุณครับ
โฆษณา