3 เม.ย. 2023 เวลา 00:00

ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน ไม่เข้าใจเลยสักครั้ง

หลังจากฝุ่นเริ่มหายตลบจากความวุ่นวายของกลุ่มธนาคารในเมกา พอจะเห็นแล้วว่าศพไหนคือใคร อะไรยังไง ทุกคนก็เริ่มถามหาตัวต้นเรื่องที่ทำให้เกิดโศกอนาฏกรรมอันนี้ ซึ่งทุกนิ้วนอกจากจะชี้ไปที่ผู้บริหารของแต่ละแบงค์เองแล้ว ทุกคนก็พร้อมชี้ไปที่ Fed อีกคน เพราะขึ้นดอกเบี้ยได้ดุดันไม่เกรงใจใครเลยจริงๆ
แต่การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed มันคงไม่ได้หนักหัวใครมากเพราะขึ้นดอกเบี้ยของนางเป็นผลมาจากราคาสินค้าและบริการต่างๆในประเทศมันปรับขึ้นสูงเร็วมาก จน Fed ต้องเพิ่มดอกเบี้ยที่เปรียบเสมือนเป็นต้นทุนการกู้ยืมให้สูงมากขึ้น จะได้ชะลอการจับจ่ายใช้สอย ไม่ให้มาดันราคาสินค้าสูงขึ้นได้อีก....สรุปคือนางต้องทำไง มันเป็นหน้าที่ของนาง
แต่กระนั้นก็เหอะ หน้าที่เรื่องการดูแลธนาคารเนี่ย Fed เองก็อาจจะต้องรับไปเต็มๆ เพราะมันก็น่าแปลกใจที่ว่าทาง Fed เอง ไม่ได้เอะใจเลยหรอไงว่า SVB ได้เข้าไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาวที่ถึงแม้ตามจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ แต่ในความเป็นจริงมันมีความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ยอยู่ เพราะถ้ายิ่งอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าพันธบัตรที่ SVB เข้าไปลงทุนก็จะยิ่งลดลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของ SVB เอง
แต่พอมาดูเรื่องการทำงานของ Fed หรือธนาคารกลางทั่วโลกก็ถึงได้อ๋อว่า การทำงานของธนาคารกลางในยุคนี้จะเน้นจี้สุดๆเรื่อง"กระบวนการ" หรือ "ระบบงาน" เพราะฉะนั้นนางๆทั้งหลายจะไปดูสิว่าแบงค์ในตลาดต่างๆมีระบบการตรวจสอบและการบริหารความเสี่ยงที่ดีหรือไม่ มีคณะกรรมการที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งถ้าแบงค์มีระบบที่ดีแล้ว Fed เองนางจะไม่อยากไปแตะแบงค์มากละ เพราะนางไม่อยากไปตัดสินว่าอะไรที่ถือว่าเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเองในการตัดสินว่าอะไรที่เกินพอดี
ซึ่งเอาจริงๆก็พอเข้าใจFedได้นะ เพราะว่าแบงค์แต่ละที่มันเริ่มซับซ้อนมาก ขนาดก็บะฮึ้ม ธุรกรรมแต่ละอย่างมันเกินกว่าคนใน Fed จะดูได้หมดอ่ะ การจะไปชี้และตัดสินเลยว่าอันไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย มันก็มีสิทธิ์สูงที่ Fed เองอาจจะผิด และท้ายสุดจะยิ่งพังกว่าเดิม แต่ๆๆๆ อย่างนึงที่เมกาจะทำได้ และจะทำให้ป้องกันเหตุการณ์ SVB ได้คือหยุดแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แบงค์ฆ่ะ!😅
เพราะอะไรรู้ม่ะ คือหลังวิกฤตปี 2008 เนี่ย เมกาเองนางก็ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเลยว่าพวกแบงค์ต่างๆที่มีสินทรัพย์มากกว่า5หมื่นล้านเหรียญจะต้องทำแบบทดสอบที่เรียกว่า Stress test อารมณ์แบบว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ในตลาดๆแบบน่ากลัวๆ เช่นดอกเบี้ยขึ้นสูงปรี้ดๆเนี่ย พวกอัตราส่วนต่างๆของแบงค์จะยังโอเคอยู่ไหม ต้องเพิ่มทุนไหม หรือต้องกังวลเรื่องไหนเป็นพิเศษ ซึ่งแต่ละแบงค์ก็มีหน้าที่ต้องทำส่งให้ Fed เพื่อมาตรวจสอบและพิจารณาว่าผ่านแบบทดสอบไหม ถ้าไม่ผ่านแบงค์อาจถูกบังคับให้เพิ่มทุนได้
และสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คือพอมันมีกฎแบบนี้มาพวกแบงค์กลางๆเล็กๆ ก็กรีดร้องบอกว่า "เกณฑ์แบบนี้มันเป็นภาระกับพวกอิฉันมาก ต้องคอยมานั่งกังวลนั่นโน้นนี้ จะขยับอะไรนิดอะไรหน่อย ก็วุ่นวาย ทำไมไม่บังคับใช้เฉพาะแบงค์ใหญ่ๆละ พวกนั้นอ่ะถ้าทำอะไรเสี่ยงๆไปมันจะกระทบเยอะ แต่พวกฉันตัวเล็กๆแบบนี้ ทำอะไรไป ยังไงมันไม่ได้กระทบมากหรอก" ซึ่งคนสำคัญคนนึงในการวีนเรื่องนี้ก็คือ CEO ของ SVB
หลังจากการสู้เรื่องนี้มาหลายปี ในที่สุดในปี 2018 สมัยรัฐบาลทรัมป์ กลุ่ม Lobbyist ของแบงค์แนวๆ SVB ก็สามารถโน้มน้าวสภาให้แก้กฎหมายเรื่องขนาดสินทรัพย์ของแบงค์ที่ต้องทำ Stress test ได้ จากเดิมคือ 5หมื่นล้านเหรียญ มาเป็น สองแสนห้าหมื่นล้านเหรียญ
ทำให้แบงค์อย่าง SVB เล็ดลอดจาก Fed มาได้ พวกนางก็จะชิวๆ ไม่ต้องตอบคำถาม Fed มาก ซึ่งต้องยอมรับว่าถ้านางต้องทำ Stress test อย่างน้อยๆ นางน่าจะกังวลกว่านี้มากแน่ๆ ในการที่ซื้อพันธบัตรระยะยาวมากขนาดจนความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยทะลุขนาดนี้
สุดท้ายแล้วอิฉันก็วงวาร Fed เหมือนกันในแง่ที่ว่า ฝ่ายการเมืองเองทั้งริพับลิกันหรือเดโมแครต ล้วนแต่เป็นกลุ่มคนสำคัญที่มีส่วนปล่อยให้มีการแก้เกณฑ์เรื่องนี้ แต่ Fed กลับกลายเป็นแพะรับบาปเสียคนเดียวว่าเป็นนังตัวต้นเรื่อง
จากนี้เชื่อว่าทางการเมืองเอง คงจะเข้มมากขึ้นทั้งในแง่การตรวจสอบ และคุมระบบการเงิน รวมถึงบทลงโทษ โดยล่าสุดโจไบเดนและบรรดา สว. ก็ออกมาพูดถึงกฎหมายที่จะมีเพื่อลงโทษผู้บริหารทั้งไม่ว่าจะเป็นการริบเงินเดือน หรือการแบนห้ามไปเป็นผู้บริหารของธนาคารอื่นๆอีก
พอย้อนกลับมาดูประเทศเรา มันทำให้เห็นความสำคัญมากๆของฝ่ายการเมืองที่ท้ายสุดแล้วมันก็ไม่ได้ไกลตัวเราเลย เพราะกระทบปากท้องและการดำเนินชีวิตไปเต็มๆ เพราะงั้นลูกๆยังไงก็อย่าลืมไปเลือกตั้งนะคะ วันที่ 14พ.ค. ใครติดงานวันนั้นก็ไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7พ.ค.ได้นะ เค้าให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ถึงวันที่ 9เม.ย. คร่า//เขียนเชียร์ประหนึ่ง กกต.ซื้อสปอนเซอร์😅
2
Joe Biden seeks to make it easier to punish executives of failed US banks
โฆษณา