29 มี.ค. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

[เรื่องเกือบส่วนตัว ตอน 28] เช้านี้นกร้อง

(หมายเหตุ เรื่องเกือบส่วนตัวหายไปพักใหญ่ แต่ยังไม่จบนะครับ)
แม้หาดใหญ่เป็นโลกใบเล็ก และการไปเมืองหลวงก็เพื่อชีวิตที่ดีกว่า อีกทั้งกรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมความเจริญที่ใครๆ อยากเห็น แต่ผมชอบใช้ชีวิตที่บ้านเกิดมากกว่า
1
ดังนั้นแทบทุกปิดเทอม ผมจะหาทางกลับบ้าน
ผมไปเรียนต่อชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อโรงเรียนปิดภาคเรียน ผมก็กลับบ้าน
1
นั่งรถไฟชั้น 3 เพราะราคาตั๋วถูกที่สุด
การเดินทางด้วยรถไฟชั้นสามสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องสนุก ที่นั่งชั้นสามนั้นออกแบบผิดหลักอย่างร้ายแรง คือพนักตั้งฉาก 90 องศา นั่งสักหนึ่งชั่วโมงก็เมื่อยล้า กลิ่นไม่ดีจากห้องน้ำชั้นสามลอยมาเป็นระยะ
ม้านั่งค่อนข้างแคบ นั่งสองคนเบียดกัน แต่ละช่อง เก้าอี้หันหน้าหากัน ตลอดทางผู้โดยสารสี่คนนั่งมองตากัน ครั้นตอนดึก ต่างคนต่างก็หลับ หัวโยกไปโยกมา
แต่ความตื่นเต้นดีใจที่จะได้กลับบ้านอยู่เหนือความไม่สบายทางกาย
ผมกลับบ้าน กินอาหารที่แม่ทำให้อย่างเอร็ดอร่อยได้ไม่กี่วัน ก็ ‘หมดเวลาเยี่ยม’ ต้องขึ้นรถไฟกลับไปเรียน
ช่วงที่ผมกลับหาดใหญ่ ฝนตกตลอดเวลา อากาศชื้น ผมจึงเป็นโรคหวัดตามธรรมเนียม
การเดินทางเที่ยวกลับนั้นกินเวลาเกิน 24 ชั่วโมง ทั้งที่ปกติใช้เวลาไม่เกิน 20 ชั่วโมง รถไฟแล่นไปได้ไม่กี่จังหวัด หัวรถจักร ก็เสียกลางทาง ผู้โดยสารต้องรอหัวรถจักรจากจังหวัดอื่น
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เกิดขึ้นเนืองๆ ในยุคนั้น ครั้งที่น้องชายผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ รถไฟเสียกลางทาง ซ่อมไม่ได้ ผู้โดยสารต้องขึ้นรถกระบะที่ทางรถไฟจัดหามา เข้ากรุงเทพฯโดยตากแดดไปตลอดทาง
ผมกลับถึงกรุงเทพฯในสภาพป่วยกาย จิตใจห่อเหี่ยว แต่ก็ต้องเดินหน้าใช้ชีวิตนักเรียน
1
ต่อมาผมพบข่าวดีหนึ่งว่า การรถไฟลดค่าโดยสารให้นักเรียนนักศึกษา 50 เปอร์เซ็นต์ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ทำให้กลับบ้านได้บ่อยขึ้น
กระนั้นผมรู้สึกร่าเริงทุกครั้งที่เดินทางออกจากสถานีหัวลำโพงมุ่งหน้าไปหาดใหญ่ และรู้สึกหงอยทุกครั้งในเที่ยวกลับ
บ้านผมที่หาดใหญ่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ ดังนั้นเมื่อรถไฟถึงที่หมาย ก็เดินกลับบ้าน
ปกติเมื่อลูกกลับบ้าน จะโทรเลขบอกก่อน ไม่ใช่เพราะเพื่อให้พ่อไปรับที่สถานี แต่เพื่อให้พ่อแม่ดีใจ พ่อแม่ตื่นเต้นเสมอเวลามีข่าวลูกจะกลับบ้าน
การโทรเลขก็กรอกแบบฟอร์มที่ทำการไปรษณีย์ฯภายในสถานีหัวลำโพงนั่นเอง ส่งโทรเลขก่อนขึ้นรถไฟ ข่าวจะเดินทางไปถึงก่อนตัวถึง สมัยนั้นเราไม่ใช้โทรศัพท์ เพราะการโทร. ข้ามจังหวัดมีราคาสูงมาก
หลักการส่งโทรเลขคือใช้คำน้อยที่สุด เพราะทุกคำคือเงิน แต่เรียนรู้จากประสบการณ์ผิดพลาดว่า ต้องใช้คำให้ถูก เช่น “กลับบ้านวันที่ 15 รถด่วน” พ่ออาจไปรับในวันที่ 15 แต่จริงๆ รถไฟออกวันที่ 15 ถึงวันที่ 16
จะชัดเจนกว่าถ้าใช้คำว่า ‘ถึง’ เช่น เดินทางจากกรุงเทพฯวันที่ 14 ถึงหาดใหญ่วันที่ 15 ก็โทรเลขสั้นๆ ว่า “ถึง 15 รถด่วน”
ประหยัดถ้อย ประหยัดคำ ประหยัดเงิน
บางครั้งผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดแบบ ‘เซอร์ไพรซ์’ ไม่มีโทรเลขแจ้งล่วงหน้า แต่ปรากฏว่าแม่ไม่แปลกใจที่เห็นหน้าลูก
แม่บอกว่า “เช้านี้นกร้อง”
นกร้องแปลว่าลูกกลับบ้าน
นี่เป็นเรื่องแปลกที่แม่จับโยงสองเหตุการณ์เอาเอง แต่ดูเหมือนนกร้องทุกทีที่ลูกกลับบ้าน
ผมเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสองจุดบนแผนที่นี้หลายปี หลังเรียนจบและทำงานแล้ว ก็ยังเดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ แต่เที่ยวสุดท้ายไม่ได้ไปทางรถไฟ ต้องไปด่วนทางเครื่องบิน เพราะพ่อกับแม่ไม่อยู่แล้ว
5
จึงไม่รู้ว่านกส่งเสียงร้องหรือไม่
โฆษณา