การเดินทางอันแสนยาวไกล ไปสู่แดนใต้กับรถไฟด่วนพิเศษทักษิณารัถย์

ทันทีที่ฉันก้าวขึ้นรถรับจ้างที่นัดให้มารับที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในตัวเมืองหาดใหญ่ ชายวัยกลางคนรูปร่างสันทัด ผิวสีเข้ม บ่งบอกถึงความเป็นคนพื้นถิ่น เขาทักทายฉันด้วยภาษาไทยกลาง แต่ก็ยังเจือด้วยสำเนียงในแบบที่เรียกว่า "แหลงใต้"
"คุณเดินทางมาอย่างไรครับ" เขาเปิดการสนทนา
"รถไฟค่ะ" ฉันกล่าวตอบ
"ขบวนทักษิณารัถย์ใช่ไหมครับ"
ฉันงง ๆ นิดหน่อยกับคำถาม ก่อนตอบไปว่า "เอ…ไม่แน่ใจค่ะ รถไฟมีชื่อเรียกด้วยเหรอคะ ตอนซื้อตั๋วพนักงานแนะนำว่าขบวนนี้จะสะดวกที่สุด ก็ซื้อตามคำแนะนำค่ะ ไม่รู้ว่ามีชื่อเรียกด้วย"
"งั้นก็คงทักษิณารัถย์แหละครับ ผมเคยเดินทางหลายครั้ง ขบวนนี้ดีที่สุดของรถไฟสายใต้เลยครับ"
1
ย้อนกลับไปเมื่อ 5 วันก่อน ฉันโทรเข้าสอบถามกับ Call centre ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขอคำแนะนำในการเดินทางจากกรุงเทพไปหาดใหญ่
หลังจากรอสายเพียงไม่นาน เสียงปลายสายที่ฟังดูสุภาพพร้อมให้ข้อมูลที่ฉันต้องการอยากรู้ เธอแจกแจงรายละเอียดของตารางรถไฟทั้งหมดให้ฉันฟัง ฉันค่อนข้างจะอึ้งกับการบริการที่ไม่เคยคิดว่าจะได้รับจากพนักงานภาครัฐมาก่อน
สุดท้ายเธอแจ้งว่า เธอไม่สามารถจองตั๋วรถไฟทางออนไลน์ให้กับฉันได้ เนื่องจากมีกำหนดเวลาว่าจะต้องจองล่วงหน้ามากกว่า 5 วันก่อนวันเดินทาง และแนะนำให้ฉันไปที่สถานีรถไฟสถานีใดก็ได้ในประเทศ สามารถซื้อและออกตั๋วจากสถานีรถไฟนั้น ๆ ได้เลย
ไม่รอช้า ฉันรีบบึ่งรถไปที่สถานีรถไฟที่ใกล้ฉันที่สุดในเวลานั้น แจ้งกับพนักงานขายตั๋วว่าฉันต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปหาดใหญ่ ขอรถไฟเที่ยวที่สะดวกที่สุด (ในใจมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ก็อยากจะลองดูว่า พนักงานจะแนะนำเหมือนกันไหม)
"ขบวนที่ 31 ครับ สะดวกที่สุด เป็นตู้นอนทั้งขบวน คุณเลือกเตียงล่างหรือเตียงบนดีครับ"
ฉันเลือกเตียงล่าง 2 และเตียงบน 1 สำหรับการเดินทางของเรา 3 คน ในราคา 1,103 บาทสำหรับเตียงล่าง และ 1,003 บาทสำหรับเตียงบน เป็นรถไฟตู้นอนปรับอากาศชั้น 2
วันเดินทาง
การขึ้นรถไฟนั้น ไม่ได้ไปขึ้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงอย่างที่คุ้นเคยมาแต่เด็ก เนื่องจากสถานีต้นทางได้ย้ายไปสู่สถานีใหม่ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อสถานีบางซื่อ
เวลา 14.30 น. ที่ชานชลาหมายเลข 8 พนักงานประกาศให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางสู่แดนใต้ในบ่ายวันนั้นเตรียมตัวเข้าแถว ขบวนรถด่วนพิเศษหมายเลข 31 เข้าจอดเทียบท่าชานชลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การเดินในชานชลาเพื่อไปขึ้นรถไฟนั้นค่อนข้างไกลพอสมควร เนื่องจากสถานีใหม่มีความใหญ่โตกว้างขวาง เพื่อให้เพียงพอรองรับผู้โดยสาร
พวกเราได้ที่นั่งบนตู้ที่ 11 ระหว่างเดินผ่านแต่ละตู้ไป ฉันเห็นมีเจ้าหน้าที่ประจำตู้นั้น ๆ ยืนคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารประจำทุกตู้ขบวน
เมื่อถึงตู้ขบวนที่ 11 หญิงสาวในชุดเครื่องแบบของการรถไฟผายมือเชื้อเชิญผู้โดยสารเข้าสู่ตัวรถ ฉันไม่เห็นรอยยิ้มของเธอ เพราะใบหน้าถูกบดบังไว้อยู่ภายใต้หน้ากากอนามัย แต่ก็สัมผัสได้ถึงกริยาที่สุภาพ พร้อมบริการ
พนักงานบริการประจำตู้รถไฟ
ที่นั่งภายใน แม้จะเป็นเบาะคู่ แต่เป็นที่นั่งสำหรับผู้โดยสารคนเดียว ซึ่งจะหันหน้าเข้าหาผู้โดยสารอีกคนหนึ่งที่ได้หมายเลขที่นั่งติดกัน หรือในอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าคุณจองที่นอนเตียงล่าง คนที่นั่งตรงข้ามกับคุณคือผู้โดยสารที่จะใช้เตียงบนในค่ำคืนนั้น
เบาะที่นั่งสีแดงสด
ตรงกลางระหว่างเบาะที่นั่งมีโต๊ะพับขนาดกำลังเหมาะ ไว้สำหรับวางของใช้เล็ก ๆ อาหาร เครื่องดื่มหรือจะใช้เป็นโต๊ะเขียนหนังสือก็ยังพอได้ มีขวดน้ำเปล่าจำนวน 2 ขวดวางไว้บริการ พลิกดูเห็นเป็นยี่ห้อรถไฟ โอ้...เก๋ไปอีกแน่ะ ส่วนกระเป๋าสัมภาระนั้นสามารถเก็บไว้ใต้เบาะที่นั่ง หรือที่เก็บของเหนือศรีษะก็ได้
น้ำดื่มรถไฟ
14.50 น. รถไฟเริ่มเคลื่อนตัวออกจากสถานีบางซื่อ ฉันและผู้โดยสารอื่น ซึ่งไม่รู้จำนวนว่าเท่าไหร่ แต่เราก็ต่างมีจุดหมายเดียวกัน คือ เดินทางสู่แดนใต้
ภายในขบวนรถไฟจะมีห้องน้ำรวมเอาไว้บริการในแต่ละขบวน มีห้องส้วม 2 ห้อง อ่างล้างมือด้านนอกอีก 2 อ่าง ที่ทิ้งขยะ แต่ไม่มีห้องอาบน้ำ
หลังจากตื่นเต้นกับวิวสองข้างทางได้สักพัก ยังเหลือระยะทางอีกยาวไกลกว่าจะถึงแดนใต้ จุดหมายแรกของเราจึงเป็นรถไฟตู้ที่ 5 คือตู้เสบียงนั่นเอง
ฉันว่าตู้เสบียงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเดินทางโดยรถไฟ ฉันมักให้ความสนใจกับตู้เสบียงของรถไฟเสมอ
จากตู้ที่ 11 เดินไปตู้ที่ 5 ก็เป็นระยะทางไกลอยู่พอสมควร แต่เพราะไม่ต้องรีบร้อน จึงถือว่าเป็นการเดินเล่นแก้เบื่อและเป็นการเดินสำรวจไปด้วยในตัว
ที่ตู้เสบียง ที่นั่งสำหรับรับประทานอาหารจะเป็นเบาะยาวนั่งได้ฝั่งละ 2 คน มีโต๊ะขนาดใหญ่กว่าโต๊ะพับที่ตู้โดยสารมาก ทำให้สะดวกสบาย ระหว่างรออาหารฉันหยิบสมุดขึ้นมานั่งจดบันทึก มองข้ามไปเห็นคุณฝรั่งท่านหนึ่งเอาแล็ปท็อปมานั่งทำงานเป็นเรื่องเป็นราวเลยทีเดียว
ตู้เสบียง
ส่วนใครที่ไม่อยากเดิน คุณสามารถสั่งอาหารกับพนักงานให้เขานำมาส่งยังที่นั่งของคุณได้ ง่ายและสบายกว่าสั่งไรเดอร์ซะอีก
ระหว่างทางที่เดินสำรวจ ฉันพบว่า ถึงแม้จะไม่มีการนำอาหารมาขายบนรถไฟ แต่จะมีพ่อค้าแม่ค้านำอาหารมาเสนอขายที่ตรงประตูรถไฟ อาศัยเพียงช่วงเวลาที่รถไฟจอด เสนอขายสินค้ากันตรงประตู ผู้โดยสารที่คุ้นชินจะเตรียมสตางค์ไปยืนรอก่อนที่รถไฟจะเข้าสถานี คุณจะได้อาหารที่หลากหลายและราคาประหยัดกว่าอาหารที่ตู้เสบียง อันนี้เล่าไว้เป็นทางเลือก และฉันคงจะทำบ้างในคราวหน้าถ้ามีโอกาสได้เดินทางไปกับรถไฟตู้นอนอีก
ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่หาไม่ได้จากรถไฟในยุโรปหรือออสเตรเลีย ที่ฉันยกนิ้วให้กับรถไฟไทยเลยละ
ฉันมีความทรงจำบาง ๆ เกี่ยวกับรถไฟตู้นอนมาบ้างเมื่อนานมาแล้ว จำได้พอเลา ๆ ว่า เมื่อถึงเวลาจะมีพนักงานมาปูเตียงและต้องเข้านอนตามเวลาที่กำหนด แต่ขบวนนี้ไม่เป็นเช่นนั้น คุณสามารถเรียกพนักงานมาปูเตียงให้คุณได้ตลอดเวลา และแม้ว่า ถ้าเตียงบนจะเลือกที่จะไปนอนก่อน เตียงล่างก็ยังสามารถนั่งอยู่ได้ถ้าคุณยังไม่อยากเข้านอน
สิ่งประทับใจอีกสิ่งหนึ่งคือ พนักงานทำความสะอาด ซึ่งเป็นคนละคนกับพนักงานที่ดูแลตู้ขบวน
หญิงสาวรูปร่างผอมบางอีกคนหนึ่ง เธอมาพร้อมกับไม้ม็อบเช็ดถูทำความสะอาดพื้น เดินไปเดินมา เช็ดถูและเก็บขยะที่อาจมีตกหล่นออกไป
ฉันถามพนักงานดูแลผู้โดยสารในขณะที่เรียกเธอมาปูเตียงให้ว่า รถไฟนี้มีบริการปลุกในตอนเช้าด้วยหรือไม่ แบบว่ากลัวนอนยาวจนเลยไปถึงมาเลเซียน่ะ เธอตอบว่า มี ซึ่งสำหรับฉันนั้นจะไปลงที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง ฉันจะได้รับการปลุกในเวลา 6 โมงเช้าพร้อมกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ อยู่แล้ว
ผ้าปูที่นอนสีขาวสะอาดถูกปูทับลงไปยังเบาะที่นั่งที่ถูกเลื่อนมาชิดกัน กลายเป็นเตียงนอนที่แม้จะไม่ใหญ่นัก แต่ก็ให้ความสะดวกสบายพอสมควร
ที่นอนเตียงล่าง
ไฟหัวเตียงของฉันยังเปิดอยู่ ที่ชาร์จแบตโทรศัพท์ยังทำงานเพื่อเติมพลังสำหรับวันใหม่ ส่วนเตียงนอนข้าง ๆ ฉันนั้นเงียบสงบลงไปนานแล้ว
ยังไม่ถึงเวลา 6 โมงเช้า แต่เป็นความคุ้นชินที่ฉันตื่นในเวลาตี 5 ของทุกวันอยู่แล้ว ฉันหยิบหนังสือสวดมนต์ขึ้นมาสวดมนต์เงียบ ๆ ในใจ เพื่อรอเวลา
ตี 5 ครึ่ง ฉันแอบเปิดผ้าม่านของผู้ร่วมเดินทางว่าตื่นหรือยัง พบว่าเขาตื่นแล้วเช่นกัน จึงชวนกันเดินไปที่ตู้เสบียงอีกครั้งเพื่อหากาแฟดื่มในยามเช้า
พอถึงเวลา 6 โมงเช้า รถไฟกำลังจะเข้าเทียบสถานีพัทลุง เสียงประกาศทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษปลุกให้ผู้โดยสารทุกคนตื่นนอน เพื่อที่พนักงานจะได้จัดเก็บที่นอนและทำความสะอาด
รถไฟใช้เวลาเดินทางต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง มุ่งหน้าสู่สถานีปลายทาง สถานีชุมทางหาดใหญ่ แสงสีทองของยามเช้าค่อย ๆ สาดแสงผ่านกระจกหน้าต่างบานใหญ่เข้ามา
เช้านี้ที่สงขลา
ฉันกล่าวอรุณสวัสดิ์แดนใต้
รถไฟเข้าจอดเทียบท่าสถานีชุมทางหาดใหญ่ในเวลารุ่งอรุณของอีกวันหนึ่ง กว่า 16 ชม. ที่ฉันเดินทางบนยานพาหนะเคลื่อนที่คันนี้ เป็นการเดินทางที่นานที่สุดโดยที่ไม่ต้องจอดแวะหรือเปลี่ยนยานพาหนะ เท่าที่ฉันเคยเดินทางมาเลย
พนักงานสาวคนเดิมยืนรอส่งผู้โดยสารอยู่ด้านล่างประตูรถไฟ ฉันก้าวตามผู้โดยสารคนอื่นออกจากตัวรถ กล่าวขอบคุณเธอที่ให้การดูแล และหวังในใจว่า เราจะได้พบกันใหม่
ทักษิณารัถย์ ชื่อนี้เพราะจัง ทักษิณารัถย์ ฉันทวนชื่อนี้อีกครั้ง ก่อนจะหันไปตอบคนขับรถรับจ้างว่า "ใช่แล้วค่ะ ฉันเดินทางสู่แดนใต้ด้วยรถไฟขบวนทักษิณารัถย์"
จองตั๋วรถไฟออนไลน์ https://www.dticket.railway.co.th/DTicketPublicWeb/home/Home
สายด่วนรฟท. 1690
# ผู้เขียน
เรียนและรักษ์ภาษาไทย ชอบออกไปดู ไปดม ไปชมโลก ด้วยความหลงใหลแล้วนำกลับมาเล่า
ฝากผลงาน E-book เที่ยวเมลเบิร์นด้วยตัวเองไปกับรถรางสาย 35 https://bit.ly/3g5QoC3
และผลงานล่าสุด
หนังสือการเดินทางของนักหนีออกจากบ้าน (ที่ยังไม่เคยทำสำเร็จ)
การเดินทางของนักหนีออกจากบ้าน (ที่ยังทำไม่เคยสำเร็จ) เปิด Pre-Order
และติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวสนุก ๆ ตามสไตล์วันนั้นเจอนี่ได้ที่  www.anattaland.com ค่ะ
โฆษณา