4 เม.ย. 2023 เวลา 07:42 • ธุรกิจ

10 เทคนิคเกมมิฟิเคชัน ที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที

เกมมิฟิเคชันมีเทคนิคให้เลือกใช้เยอะครับ ผมนับเคยเล่นๆ ก็ร่วม 70 เทคนิคละ เคยเจอบางเวปนับได้เป็น 100 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เลยครับ ว่าเราจะเลือกเลือกเทคนิคอะไรมาเล่นได้บ้าง
ทีนี้ก็ไปเจอเวปหนึ่ง เค้าสรุปมาน่าสนใจดี เลยคิดว่าอยากจะเอามาเล่าให้ฟังกันเพื่อเป็นไอเดียครับ
.
10 เทคนิคเกมมิฟิเคชัน ที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที
ลองมาดูกันครับ ว่ามีอะไรบ้าง
1. สร้าง 'โฟลว์' (Create ‘flow’)
Flow คือหลักจิตวิทยาที่บอกว่า เราจะเบื่อถ้างานง่ายเกินไป และ จะหงุดหงิดเวลางานยากเกินไป แต่ถ้าเมื่อความยากของงาน เหมาะสมกับความสามารถ เราจะรู้สึกสนุก เพลิดเพลิน ลืมเวลา เทคนิคนี้หมายความว่า เราสามารถทำยังไงได้บ้างให้ Task ของเรานั้น ท้าทายแต่ยังพอทำได้อยู่ เพื่อให้เกิด flow ขึ้นกับผู้เล่น
2. ให้ผู้เล่น 'ทำ' ภารกิจให้เสร็จ (Let users ‘complete’ a task)
เป็นธรรมชาติของคนเราครับ ที่จะรู้สึกหงุดหงิดเวลามีบางงานยังไม่สำเร็จ เทคนิคนี้ทรงพลังมาก ลองหาดูครับว่า เราสามารถสร้างความรู้สึกงานยังไม่เสร็จนี้ ให้เกิดขึ้นกับผู้เล่นได้มั้ย เหมือนกับกรณีของ LinkedIn ที่จูงใจให้คนใส่ข้อมูล profile ส่วนตัว ด้วยการทำ progress bar ว่า ตอนนี้เราใส่ข้อมูลไปกี่ % แล้ว
3. ตั้งค่าความท้าทายที่เหมาะสม (Set up appropriate challenges)
ความท้าทายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำได้ง่าย ๆ นั้นเหมาะสมมาก ที่จะใช้ในการกระตุ้นให้ผู้เล่น อยากทำต่อไปเรื่อย ๆ แล้วพอผู้เล่นทำได้ เขาจะรู้สึกดี และ อยากมีส่วนร่วมต่อไป เพื่อดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น
4. เปิดโอกาสให้ผู้เล่นปรับแต่งสิ่งต่าง ๆ (Allow players to customise things)
เราทุกคนชอบแสดงออกครับ ถ้าเราสามารถใช้ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ เช่น ปรับแต่งสิ่งต่าง ได้ตามใจ เราจะสนุกกับสินค้าและบริการนั้นมากขึ้น
5. ให้ผู้เล่นได้ 'ปลดล็อก' บางสิ่ง (Allow users to ‘unlock’ stuff)
การที่ผู้เล่นสามารถปลดล็อกบางสิ่ง เช่น เนื้อหา หรือ feature ใหม่ ๆ กระทั่งองค์ประกอบลับบางอย่าง จะช่วยสร้างความน่าสนใจ และ กระตุ้นให้ผู้เล่นอยากเล่นเกมมิฟิเคชันของเราได้ แต่อย่าลืม แสดงตัวอย่างไว้ด้วย เช่น มี option feature พิเศษ แต่พอกดเข้าแล้วยังเล่นไม่ได้ เพราะ level ยังไม่ถึงเป็นต้น
6. ทำให้คนอยากรู้อยากเห็น (Make people curious)
คนเราอยากรู้อยากเห็นครับ เป็นไปได้มั้ย ที่เราจะใส่อะไรบางอย่างที่น่าสนใจให้อยากรู้ต่อ ซึ่งอาจจะง่าย ๆ เช่น บอกผู้เล่นว่า นี่คือ Challenge 1 of 6 ให้เขารู้สึกอยากรู้ว่า แล้ว challenge ต่อไปหน้าตาจะเป็นยังไง หรือ กระทั่งการใส่เรื่องราวลงไป แล้วเล่าแบบค้าคานิด ๆ ให้รู้สึกอยากติดตามต่อเป็นต้น
7. ใช้องค์ประกอบของความประหลาดใจ (Use the element of surprise)
เราชอบความ surprise และ สนุกกับบางสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เป็นไปได้มั้ยครับ ที่เราจะทำให้ผู้เล่นมีความคาดหวังอะไรบางอย่าง แต่ต้องมาลุ้นกับองค์ประกอบที่คาดไม่ถึงบางอย่างที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นง่าย ๆ ตั้งแต่รางวัล ภารกิจพิเศษที่โผล่ขึ้นมา หรือ กระทั่ง ester egg
8. ยกย่องความสำเร็จ (Recognise achievements)
เวลาผู้เล่นทำอะไรสำเร็จ เราต้องรีบยกย่อง และ ให้กำลังใจครับ เพราะผู้เล่นจะรู้สึกดี และ ภาคภูมิใจสิ่งนี้จะนำไปสู่การเล่นเกมมากขึ้น
9. สร้างการแข่งขัน (Start a competition)
คนเราชอบการแข่งขันครับ การให้ผู้เล่นแข่งขันกันเอง จะเพิ่มมิติให้กับเกมมิฟิเคชันของเรา อีกอย่าง การแข่งขันยังจูงใจให้ผู้เล่นรู้สึกอย่างพัฒนา และ อยากเล่นซ้ำ ๆ เพื่อเอาชนะครับ
10. ให้ผู้ใช้ทำงานร่วมกัน (Let users collaborate)
ถึงการแข่งขันมันจะทรงพลัง แต่บางคนก็ไม่อิน และชอบการทำงานร่วมกัน มากกว่า อีกทั้งยังดูเป็นแง่บวกมากกว่า การแข่งขันด้วย ดังนั้นลองหาไอเดียดูครับว่า เราสามารถสร้างทีม ให้ผู้เล่น สื่อสาร ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้อย่างไรบ้าง
.
เห็นว่าน่าสนใจดี เลยเอามาเล่าให้ฟังกันครับ
ไม่ได้เขียนเหมือนในเวปต้นทางทั้งหมดนะครับ พยายามสรุป ปรับแต่งให้กระชับ และ ใส่ตัวอย่างเพิ่มบ้าง
#gamification ตอนที่ 72
โฆษณา