6 พ.ค. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน หมัดหนึ่งนิ้วของ บรูซ ลี

เมื่ออายุสิบหก บรูซ ลี ถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพราะชอบต่อยตีกับคนอื่น อีกทั้งเรียนไม่ดี
ก่อนหน้านั้นเพื่อนคนหนึ่งของเขาพาเขาไปสมัครเรียนมวยหย่งชุน (Wing Chun / 詠春) สำนักของอาจารย์ยิปมัน แต่โรงเรียนไม่รับ เพราะโรงเรียนมวยจีนไม่สอนวิชากังฟูให้คนต่างชาติ
บรูซ ลี มีสายเลือดตะวันตกผสมอยู่จางๆ ยายของเขาเป็นชาวอังกฤษ และทวดมีสายเลือดยิว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังโรงเรียนก็รับเขา และเขาเป็นหนึ่งในศิษย์ไม่กี่คนที่เรียนตรงกับอาจารย์ยิปมัน
อาจารย์อาจมองเห็นพฤติกรรมเกเรของเขา จึงพยายามสอนศิษย์คนนี้ไม่ให้ไปต่อยตีกับแก๊งข้างถนน การเรียนมวยแบบนี้อาจช่วยดัดนิสัยของเขา เพราะมวยหย่งชุนมิได้เน้นความรุนแรง
1
หย่งชุนเป็นมวยแบบเรียบง่าย แม่นยำ เน้นการเคลื่อนไหว ไม่ใช่การออกแรง อ่อนสยบแข็ง
จีนเป็นเจ้าแห่งวิทยายุทธ์สายต่างๆ หลักการต่อสู้กับหลักปรัชญามักสะท้อนกันและกัน ยกตัวอย่าง เช่น แนวคิดเรื่องหยิน-หยาง ความอ่อน-ความแข็ง ผสมผสานในวิชาการต่อสู้ ศาสตร์การต่อสู้ด้วยมือเปล่าของจีนจึงมีทั้งแบบหนักและเบา ทั้งแบบไกลและใกล้ และการใช้กำลังจากภายนอกและภายใน
ก็คือหลักการที่เราได้ยินแต่เล็กจากนิยายจีนกำลังภายใน
หลักกำลังภายใน (เน่ยกง內功) ตรงข้ามกับกำลังภายนอก (ไว่กง 外功)
1
กำลังภายนอกใช้แรงมาก เช่น มวยปล้ำ แต่กำลังภายในใช้ความอ่อน เสมือนสายน้ำไหลเอื่อยๆ แต่มีพลังขัดหินหยาบจนลื่น
บรูซ ลี ฝึกมวยจนได้ที่ เมื่ออายุ 18 ก็ชนะการแข่งขันมวยของฮ่องกง
เวลานั้นโลกตะวันตกยังไม่เคยรู้เรื่องมวยจีน จนกระทั่งถึงยุค บรูซ ลี ผู้ทำให้กระบวนท่าที่เรียกว่า One Inch Punch โด่งดังไปทั่วโลก
One Inch Punch หรือหมัดหนึ่งนิ้ว (寸拳) เป็นท่ามวยทางใต้ของจีน เหมาะกับการต่อสู้ระยะประชิด เป็นกระบวนท่าที่ใช้ระยะทางสั้นที่สุด แต่มีแรงกระแทกสูงสุด ใช้กำลังภายใน เน่ยกง (內功) พุ่งหาคู่ต่อสู้ในระยะสั้นๆ ไม่กี่นิ้ว
บรูซ ลี สาธิตให้โลกตะวันตกดู ในงาน Long Beach International Karate Championships ในปี 1964
1
บรูซ ลี สาธิตหมัดหนึ่งนิ้วโดยผลักคู่ต่อสู้ที่ยืนอยู่ปลิวกระเด็นไปนั่งบนเก้าอี้แล้วไถลไปไกล แทบไม่ออกแรง
1
คนโดนชกเล่าว่าหลังจากโดนหมัดหนึ่งนิ้วนั้น เขาต้องนอนพักฟื้นที่บ้าน
เคยมีคนคำนวณท่าปลิวของคนถูกชก แล้วคำนวณความเร็วของหมัดหนึ่งนิ้วของ บรูซ ลี ว่ามันมีความเร็วถึง 190 กม./ชม.
2
ในรายการสารคดีชุด MythBusters ตอน 109 The One Inch Punch มีการทดสอบแรงของหมัดหนึ่งนิ้วทางวิทยาศาสตร์ โดยเปรียบเทียบความแรงของการชกของมวยสากล
2
คนสาธิตการชกหมัดหนึ่งนิ้วเป็นศิษย์ของ บรูซ ลี ชื่อ แอนโธนี เคลลี ผลปรากฏว่าหมัดมาตรฐานส่งแรง 325 ปอนด์ (148 กก.) หมัดหนึ่งนิ้วส่งแรงเพียง 153 ปอนด์ (69 กก.)
อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบแบบนี้อาจไม่เที่ยงตรง เพราะหมัดมาตรฐานใช้ระยะทางในการเร่งความเร็วมากกว่า คือห่างกันราวหนึ่งช่วงตัว ขณะที่หมัดหนึ่งนิ้วใช้ระยะทางแค่ 2-3 นิ้ว และชกโดยไม่ทุ่มน้ำหนักตัวเข้าไปช่วย
การทดสอบในรายการนี้ไม่ตรงกับการทดสอบของรายอื่น ผลของนักชกหมัดหนึ่งนิ้วคนหนึ่งทำตัวเลขได้ตั้งแต่ 105 - 557 กก. และมันก็ยังไม่ใช่ตัวเลขสูงสุด
1
ที่น่าสนใจคือพลังของการทำลาย เมื่อทดสอบสองคนนี้ด้วยหมัดเดิม ชกกระดานไม้สามแผ่น หมักมาตรฐานไม่ทำให้แผ่นไม้เสียหาย แต่หมัดหนึ่งนิ้วทำลายแผ่นไม้แผ่นสุดท้าย นี่อาจแสดงว่า พลังของหมัดหนึ่งนิ้วหากชกใส่คน จะทำลายอวัยวะภายในมากกว่า แม้ใช้ระยะทางสั้นกว่า
สรุปก็คือแรงของหนึ่งนิ้วอาจสู้ไม่ได้กับหมัดเต็ม ซึ่งมีแรง มีระยะทางสูงกว่า แต่ก็เพียงพอในการต่อสู้
กระบวนท่านี้ถูกทำให้โด่งดังอีกครั้งในหนังเรื่อง Kill Bill: Volume 2 ตอนที่ตัวละคร ‘เจ้าสาว’ (อูมา เธอร์แมน) ถูกจับฝังทั้งเป็นในโลง ในพื้นที่คับแคบเช่นโลงศพ เธอมีระยะสั้นไม่กี่นิ้วที่จะทำลายโลงศพ และกระบวนท่านิ้วเดียวก็ส่งพลังกระแทกโลงแตก เธอหนีออกมาได้ เป็นการสาธิตกระบวนท่านี้อีกรูปหนึ่งที่น่าจดจำ
รากฐานของวิชาการต่อสู้สาย ‘อ่อนโยน’ เช่น สำนักบู๊ตึ๊ง มวยหย่งชุน ก็คือหลักเต๋า
บรูซ ลี ก็เรียนหลักของเต๋า เขาบอกว่า “จงเป็นเสมือนน้ำที่ไหลไปตามร่องแตก อย่าใช้แรง แต่ปรับไปตามสิ่งนั้น หาทางอ้อมมันหรือผ่านมันไป”
โอนอ่อนไปตามธรรมชาติ ไม่ฝืน
เขาพูดเรื่องการเคลื่อนไหวอย่างน้ำเสมอ น้ำคือสิ่งที่ไร้รูปร่างแน่นอน เมื่อเทน้ำลงในถ้วย มันก็กลายเป็นถ้วย เทมันลงในขวด มันก็กลายเป็นขวด แทลงในกาน้ำชา มันก็กลายรูปเป็นกาน้ำชา
เขาบอกว่าความนิ่งในความนิ่งไม่ใช่ความนิ่งที่แท้จริง มีเพียงความนิ่งในความเคลื่อนไหวจึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลง
1
สงบสยบเคลื่อนไหวก็คือหลักอู๋เหวยของเต๋า
บรูซ ลี ผสมผสานหลักเต๋าในวิชาการต่อสู้อย่างชัดเจน นอกจากนี้เขายังใช้หลักการนี้ในการดำเนินชีวิตด้วย
1
สำหรับเขา การเข้าสู่วงการบู๊ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยใจเป็นอิสระ
เขายังเชื่อว่าคนเราเรียนมาแค่ไหน ท้ายที่สุดก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ค้นหาทางของตัวเอง
และเขาก็ก่อตั้งแนวทางของเขา
1
บรูซ ลี พัฒนามวยหย่งชุนต่อไปอีกขั้นตามนิสัยของเขา เขาเห็นว่ามวยแบบดั้งเดิมขาดความยืดหยุ่น เขาพัฒนาต่อไปอีกสายทาง เน้นความเร็วและความยืดหยุ่น เขารวมการฝึกแบบตะวันตกเข้าไปด้วย เช่นการยกน้ำหนัก การวิ่งไกล รวมทั้งกีฬาฟันดาบ และมวย
เป็นที่มาของวิชาเจี๋ยเฉียนเต้า (Jeet Kune Do / 截拳道) และเขียนเป็นตำราชื่อ Tao of Jeet Kune Do
1
มวยใหม่ของเขาเน้นความเร็ว ความเรียบง่าย ออกหมัดเร็ว ชักหมัดกลับเร็ว
เขาบอกว่าสไตล์ของเขาไม่มีอะไรซับซ้อน ง่าย ตรงไปตรงมา ทุกท่วงท่าเคลื่อนไหวของเจี๋ยเฉียนเต้า ไปของมันเอง ใช้หลักกระบวนท่าที่ไร้กระบวนท่า ตัดส่วนที่รุ่มร่ามแบบดั้งเดิมออก
หลักของเจี๋ยเฉียนเต้าคือ “ไม่เกร็งแต่พร้อม ไม่คิดแต่ไม่ฝัน ไม่ปักหลักอยู่กับที่ แต่ยืดหยุ่นพลิกแพลง เป็นอิสระจากจิตที่ถูกพันธนาการ เป็นตัวตนครบถ้วน ตื่นตัว ระวัง เตรียมพร้อมรับทุกสิ่งที่จะมาเยือน”
เขาฝึกอย่างหนักหน่วง เขาบอกว่า “ผมไม่กลัวคนที่ฝึกเตะหมื่นทีในคราวเดียว ผมกลัวคนที่ฝึกเตะหนึ่งทีหมื่นครั้ง”
1
บรูซ ลี บอกว่า “ความผิดพลาดใหญ่หลวงคือการคาดผลของการต่อสู้ คุณไม่ควรคิดถึงว่าจะจบด้วยชัยชนะหรือความปราชัย ปล่อยให้ธรรมชาติไปตามทางของมัน คุณโจมตีเมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม”
1
บรูซ ลี เป็นนักเต้นรำที่เก่งคนหนึ่ง ในหนังสือ Bruce Lee: A Life ของ Matthew Polly เล่าว่า บรูซ ลี เรียนการเต้นรำจากครูสาวฟิลิปินส์คนหนึ่งที่เปิดสตูดิโอเต้นรำที่ฮ่องกง เขาเชี่ยวชาญการเต้น cha-cha เขาชนะประกวดการเต้นรำเมื่ออายุ 18 ท่วงท่าของการต่อสู้ก็คล้ายการเต้นรำ
1
ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน
ตัวเอกในนิยายจีนกำลังภายในมักมีคุณสมบัติที่ว่า ‘เก่งทั้งบุ๋นและบู๊’
บุ๋นคือความรู้ ปัญญา
บู๊คือการต่อสู้
ในนวนิยายเรื่อง ดาบมังกรหยก ของกิมย้ง ตัวละคร ‘เตียชุ่ยชัว’ บิดาของเตียบ่อกี้ เป็นศิษย์สำนักบู๊ตึง นอกจากชอบวิชาบู๊แล้ว ยังชอบศึกษาอักษรศาสตร์
เตียชุ่ยชัวคิดค้นเพลงกระบี่ร่วมกับอาจารย์ใหญ่ เตียซำฮง โดยอิงกับตัวอักษรจีน กลายเป็นเพลงกระบี่ที่เริงร่ายไปตามความอ่อนไหวแผ่วพลิ้วสวยงามของตัวหนังสือ
เพลงกระบี่กับเพลงอักษรเป็นเรื่องเดียวกัน
บรูซ ลี น่าจะเข้าข่ายนี้ เขามิใช่นักบู๊ธรรมดา เขาสนใจเรื่องศิลปศาสตร์และปรัชญาด้วย บรูซ ลี อ่านหนังสือมาก เรียนเรื่องละคร ปรัชญาตะวันตกและตะวันออก ชั้นหนังสือของเขาเต็มไปด้วยหนังสือด้านบุ๋นและบู๊
1
นอกจากปรัชญาเต๋าแล้ว เขายังเรียนหลักพุทธ ไปจนถึงปรัชญาของ ชิททู กฤษณมูรติ (Jiddu Krishnamurti)
เขาชอบบทกวี และแต่งเองด้วย เขาเขียนลงบนกระดาษก่อน ภายหลังค่อยตีพิมพ์
บทกวีของเขาสะท้อนความคิด จิตใจของเขา
เขาเป็นศิลปิน ทั้งทางอักษรและการต่อสู้
ภรรยาของเขา Linda Lee Cadwell กล่าวว่า “ตามมาตรฐานของอเมริกัน บทกวีของเขาค่อนข้างหม่นมืด สะท้อนส่วนลึกที่ซ่อนอยู่ของจิตใจมนุษย์”
บทกวีของ บรูซ ลี สะท้อนด้านมืดและด้านสว่างคล้ายหยิน-หยาง
บางครั้งเขาก็เขียนกลอนเปล่า เช่น “จงไร้รูปไร้ทรงเฉกเช่นน้ำ”
1
เขาไม่ได้มองว่าการต่อสู้เป็นการต่อสู้อย่างเดียว มันคือเครื่องมือหรือวิธีการค้นหาตัวเองของเขาด้วย ในการต่อสู้ เขาต้องพลิกแพลง ออกจากความเคยชิน
มันก็คือการต่อสู็กับด้านมืดในตัวเองด้วย
หลักการที่เขาค้นพบก็เหมือนกับหลักการที่พระเซน ศิลปินพบมานานหลายพันปีแล้ว นั่นคือความเรียบง่าย ความน้อยที่สุด
เขาพบว่ายิ่งลดยิ่งเข้าใจ
เช่นการต่อสู้ กระบวนท่าสั้นที่สุด ง่ายที่สุด กินแรงน้อยที่สุด อาจทรงพลังมากที่สุด เพราะไร้การสิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น
3
ชีวิตก็เช่นกัน ความน้อยที่สุดคือสะอาดที่สุด
1
ความน้อยที่สุดทำให้พอใจชีวิตมากที่สุด
1
ดังนั้นยิ่งต่อสู้ กระบวนท่ายิ่งเรียบง่ายและยิ่งทรงพลัง
1
คนที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายมีความสุขง่ายกว่า เพราะข้อแม้น้อยกว่า ลดความรุงรัง
4
แม้แต่ความทุกข์ก็เป็นความรุงรังหนึ่งของชีวิต
1
ใช้ชีวิตแบบเลื่อนไหลไปง่ายๆ ช้าๆ เช่นสายน้ำเอื่อย
1
ผ่านมาหลายปีหลังจากชีวิตเกเร ในที่สุดเขาก็เรียนรู้ชีวิตจากมวย
1
บรูซ ลี เรียนกับอาจารย์ยิปมัน
บรูซ ลี สาธิตหมัดหนึ่งนิ้วให้โลกตะวันตกดู

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา