6 เม.ย. 2023 เวลา 02:22 • สิ่งแวดล้อม
ไต้หวัน

นโยบาย Net-Zero Transition ของไต้หวัน และโอกาสการลงทุนของไทย

ทุกท่านคงทราบดีกันอยู่แล้วใช่ไหมครับว่าอุณหภูมิโลกของเรากำลังร้อนขึ้นทุกวัน หากท่านออกไปเดินเล่นช่วงบ่ายในเดือนเมษายนแบบนี้ ท่านจะรู้สึกถึงอากาศที่ร้อนจัดภายใต้อุณหภูมิเกือบ ๔๐ องศาเซลเซียส ซึ่งทุกฝ่ายก็ตระหนักถึงปัญหานี้ดีและได้พยายามหาทางออกร่วมกัน
3
วันนี้ ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate change) ของไต้หวัน ที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวกัน ซึ่ง “พี่กิฟต์” (นางธีรางกูร อุชิโนะ) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ประจำสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ ไทเป ได้เกริ่นให้ผมฟังว่า นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ไต้หวันยังมีมิติด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้แก่นักลงทุนไทยได้ด้วย!
“พี่กิฟต์” (นางธีรางกูร อุชิโนะ) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ประจำสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ ไทเป
ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๕๖๔ ไต้หวันได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.๒๐๕๐ หรือ “2050 Net-Zero Transition” และล่าสุด ได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับนโยบาย 2050 Net-Zero Transition คือ “Climate Change Response Act” ซึ่งผ่านสภานิติบัญญัติไต้หวันแล้วเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา
๑๒ ยุทธศาสตร์สำคัญจากนโยบาย 2050 Net-Zero Transition (ที่มา: Taiwan National Development Council)
นโยบาย 2050 Net-Zero Transition มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านใน ๔ มิติ ด้วยกัน ได้แก่ พลังงาน อุตสาหกรรม วิถีชีวิต และสังคม ผ่าน ๑๒ ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่
๑) พลังงานลมและแสงอาทิตย์ ๒) พลังงานไฮโดรเจน ๓) นวัตกรรมพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ๔) ระบบการบริหารจัดการและกักเก็บพลังงาน ๕) การประหยัดพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพ ๖) การใช้เทคโนโลยี Carbon Capture Utilization & Storage (CCUS) ๗) การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ๘) การรีไซเคิลและ Zero Waste ๙) การพัฒนาแหล่งธรรมชาติเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ๑๐) ไลฟ์สไตล์สีเขียว ๑๑) ระบบการเงินสีเขียว และ ๑๒) ระบบการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition)
โดยนโยบาย Net-Zero Transition นั้น จะเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน กระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชน เพื่อให้ไต้หวันสามารถก้าวทันความคืบหน้าในการลดคาร์บอนในระดับสากลได้ในเร็ววัน
นโยบาย Net-Zero Transition นั้น จะเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
(ที่มา: Taiwan National Development Councill)
ตอนนี้หลายท่านคงสงสัยเหมือนกับผมว่า นโยบายที่จะพลิกโฉมภาคธุรกิจไต้หวันนี้จะเกี่ยวข้องกับประเทศไทยของเราอย่างไร?
1
คำตอบนั้นก็ง่ายมากเลยครับ ประเทศไทยก็ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งไทยเป็นภาคี
โดยไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ และเรายังมีโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมีเป้าหมายคือการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์คล้ายกับนโยบาย Net-Zero Transition ของไต้หวัน
ไทยจึงสามารถแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากแนวปฏิบัติที่ดีจากไต้หวันมาปรับใช้กับบริบทของไทยได้ และการเปลี่ยนแปลงสีเขียวของภาคธุรกิจไต้หวัน ยังเป็นโอกาสให้แก่ธุรกิจด้านพลังงานสะอาดของไทยเข้าสู่ตลาดไต้หวันด้วย
จากการทำงานด้านเศรษฐกิจที่ไทเป พี่กิฟต์แบ่งปันมุมมองที่น่าสนใจว่า ไต้หวันดำเนินนโยบาย 2050 Net-Zero Transition ในรูปแบบ Whole-of-Society Approach หรือการดำเนินการที่อาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาคเอกชนไต้หวันที่พร้อมขานรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขัน ทั้งนี้ กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดใช้เงินทุนมหาศาล ซึ่งไต้หวันต้องอาศัยการลงทุนจากต่างชาติ
กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดใช้เงินทุนมหาศาล
ซึ่งไต้หวันต้องอาศัยการลงทุนจากต่างชาติ
ในขณะที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปกำลังลงทุนด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นในไต้หวันอย่างเห็นได้ชัด บริษัทไทยก็เริ่มเข้าไปลงทุนในไต้หวันแล้วเช่นกัน
โดยหลัก ๆ เป็นการลงทุนจาก ๔ บริษัทใหญ่ ได้แก่ (๑) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GSPC ลงทุนด้านพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งบางส่วนเป็นการลงทุนร่วมกับบริษัทของเดนมาร์ก (๒) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (๓) บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ลงทุนในการก่อสร้างกังกันลมนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ และ (๔) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGAT ลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณว่าบริษัทไทยกำลังศึกษาช่องทางลงทุนเพิ่มเติมอีก
มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านน่าจะเห็นภาพว่า นโยบาย 2050 Net-Zero Transition ได้เปลี่ยนไต้หวันเป็นสนามการลงทุนด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทต่างชาติต่าง ๆ เริ่มหลั่งไหลเข้ามา เนื่องจากไต้หวันถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เทียบกับญี่ปุ่นและฮ่องกงซึ่งการลงทุนเริ่มอิ่มตัวแล้ว และการมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในระยะยาวยังทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงต่ำกว่าตลาดอื่นหลายแห่ง
1
ไต้หวันถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เทียบกับญี่ปุ่นและฮ่องกงซึ่งการลงทุนเริ่มอิ่มตัวแล้ว
แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีระหว่างกัน ส่งผลให้บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ ติดไม้ติดมือกลับมาด้วย นับว่าเป็นตลาดที่น่าจับตามองอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าภาคธุรกิจของไต้หวันจะมีศักยภาพสูงเพียงใด ก็ยากจะบรรลุ “net zero” ได้ โดยปราศจากความร่วมมือของประชาชน
พี่กิฟต์มองว่า ไต้หวันให้ความสำคัญอย่างมากในการให้ความรู้พื้นฐานแก่ประชาชนและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของประชาชนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายสีเขียวของตนให้บรรลุผลสำเร็จ
เกาะขยะ สู่ เกาะต้นแบบแห่งการจัดการขยะ
คนไต้หวันทุกคนจะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการแยกขยะ เพราะมีกฎหมายห้ามวางขยะทิ้งตามจุดต่าง ๆ ทุกคนจะต้องรอรถขยะมาตามตารางเวลา เพื่อนำขยะที่แยกแล้วออกจากบ้านมาทิ้งเอง และต้องใช้ถุงขยะของทางการเท่านั้น เพื่อให้สะดวกในการทำลาย ซึ่งนโยบายนี้เปลี่ยนไต้หวันจากการถูกขนานนามว่า “เกาะขยะ” ช่วงราว ค.ศ. ๑๙๘๐ - ๑๙๙๐ เป็นเกาะต้นแบบแห่งการจัดการขยะไปเลย”
ตอนนี้ ไต้หวันหันมาสนใจเรื่องการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งในระดับประชาชนก็หนีไม่พ้นเรื่องของยานพาหนะ ไต้หวันซึ่งเป็นเกาะแห่งจักรยาน ยังคงส่งเสริมด้านการใช้จักรยานต่อไป (สามารถติดตามเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้จักรยานของไต้หวันได้ที่ Facebook ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในไต้หวัน: https://www.facebook.com/watch/?v=533214705615017&ref=sharing)
(ซ้าย) นายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ ไทเป และ (ขวา) พี่กิฟต์ นางธีรางกูร อุชิโนะ ขณะร่วมงาน  Taipei Cycle 2023 (ที่มา: สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ ไทเป)
นอกจากนี้ ไต้หวันยังมองการณ์ไกลไปถึงการปรับเปลี่ยนให้ประชาชนแทนที่จักรยานยนตร์แบบดั้งเดิมด้วยจักรยานยนตร์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลไต้หวันประกาศลงทุนมูลค่า ๑๙๑.๕ ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนซื้อจักรยานยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งสถานีชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่ และการปรับปรุงร้านจักรยานยนต์ดั้งเดิมให้เป็นสถานีรถไฟฟ้ารูปแบบใหม่อีกด้วย
นโยบายที่เข้าถึงระดับประชาชนนับเป็นรากฐานสำคัญในการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคอย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องการบริหารจัดการขยะหรือการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าล้วนเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับบริบทของไทยเช่นกัน
เชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทย
สุดท้ายนี้ พี่กิฟต์สรุปว่า เรื่องราวที่น่าสนใจที่เราได้ถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านฟังในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก็คือภารกิจของเธอที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ณ ไทเป ในการ “เชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทย” หรือการชี้ให้คนไทยได้เห็นโอกาสดี ๆ ในต่างประเทศ และช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ซึ่งจะนำพาผลประโยชน์มาสู่ประเทศของเรานั่นเอง
1
อย่าลืมติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจในมิติด้านการค้าการลงทุนซึ่งส่งตรงจากต่างประเทศกับเราในบทความต่อ ๆ ไปนะครับ
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา