6 เม.ย. 2023 เวลา 13:00 • หนังสือ

เล่มนี้ว่าด้วยเรื่องการผจญภันทางจิตวิทยาของคุณคางคก

คุณคางคกรู้สึกเศร้าซึม หมดแรงพลังใจ เพื่อนๆรอบตัวเริ่มเป็นห่วงจึงแนะนำกึ่งบังคับให้คุณคางคกไปรับการบำบัดกับคุณนกกระสา นักจิตวิทยาที่ประกาศอยู่ในหนังสือพิมพ์ หนังสือเล่มนี้พูดถึงการบำบัด 11 ครั้งของคุณคางคก และชีวิตที่เปลี่ยนไปทีละนิดของเขา
หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ดีสำหรับคนที่คิดอยากลองไปบำบัดและอยากรู้ภาพคร่าวๆว่าถ้าหากไปบำบัดแล้วจะเป็นแบบไหน แน่นอนว่าการบำบัดแต่ละครั้งของแต่ละคนย่อมมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ประสบการณ์ของคุณคางคกนี้ก็มีประเด็นที่สามารถสรุปออกมาได้น่าสนใจในประเด็นตามนี้ค่ะ
> การบำบัดนี้เป็นของใคร
ในการเจอกันครั้งแรกของคุณคางคกและนกกระสานั้น คางคกไปบำบัดเพื่อให้ “เพื่อนๆสบายใจ” เพื่อนๆถึงขั้นออกเงินให้กับเขาเพื่อให้เขาเข้ารับบริการด้วยซ้ำ แต่นกกระสาปฏิเสธที่จะให้การบำบัด เพราะการบำบัดเป็นการ “ทำงานร่วมกัน” ถ้าคนที่เข้ารับบริการไม่อยากมาหรือไม่อยากมีส่วนร่วม การบำบัดย่อมไม่เกิดผล
> สภาวะ 3 ประเภท
ในเล่มนี้พูดถึงปฏิสัมพันธ์ที่เรามีกับผู้อื่นและตนเองแยกย่อยออกมาได้ 3 ประเภท ได้แก่
สภาวะเด็ก สภาวะพ่อแม่ และ สภาวะผู้ใหญ่
สภาวะเด็กคือภาวะที่พึ่งพาผู้อื่น มีอารมณ์พื้นฐานที่ชัดเจน ไม่ได้แปลว่าคนที่อยู่ในสภาวะนี้จะต้องร้องไห้งอแงเสมอไป เพราะในสภาวะเด็กเองนี้ก็สามารถมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่ในสถานการณ์รอบตัวได้ เช่น รู้สึกโกรธแต่อดกลั้นไว้เพราะไม่อยากทำให้คนอื่นไม่สบายใจ แต่จุดสำคัญของภาวะนี้คือความจำยอมว่าเราต้องการการพึ่งพิงจากผู้อื่น ไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้โดยสมบูรณ์
สภาวะพ่อแม่คือภาวะที่คิดว่าตนเองรู้เยอะกว่าผู้อื่น มักจะเข้าไปช่วยเหลือ สอน หรือ สั่งผู้อื่นอยู่เสมอ และอาจนำเสนออกมาในรูปแบบของการเอาความคิดตัวเองเป็นหลัก และ อยากควบคุมผู้อื่นให้ได้อย่างใจ
สภาวะผู้ใหญ่ เป็นสภาวะเดียวที่เราจะเติบโตได้ เพราะสภาวะนี้เป็นสภาวะที่ “ยอมรับ” ตัวเอง ยอมรับอดีตของตนเอง และเห็นว่าเราสามารถเลือกควบคุมชีวิตตัวเองได้นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เป็นภาวะที่มีความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตนเองโดยไม่ได้กล่าวโทษผู้คนรอบข้าง
เราจะเห็นตัวละครในเรื่องนี้ค่อยๆเปลี่ยนผ่านและเป็นตัวแทนของทั้ง 3 สภาวะ ที่ใช้คำว่าสภาวะเพราะว่าเราสามารถที่จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้แล้วแต่สถานการณ์ คนที่เป็นผู้ใหญ่ในบางสถานการณ์ อาจเป็นเด็กในบางสถานการณ์และก็อาจเป็นพ่อแม่ได้ด้วยเช่นกัน
> I think I am helping!
เรื่องนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในหนังสือแต่เป็นประเด็นที่เราสังเกตเห็นเองค่ะว่า หลายๆคนคนรอบตัวที่รักและเป็นห่วง อาจเป็นส่วนนึงของปัญหาเสียเอง ในเรื่องนี้เพื่อนๆที่ระกและหวังดี แต่ก็สามารถกระตุ้นความทรงจำที่ไม่ดีบางอย่างได้เช่นกัน ดังนั้นเวลาความรู้สึกที่ว่าเรา “หวังดี” นะ ไม่ได้แปลว่าเราจะทำอะไรก็ได้ อยากเราอยากช่วยจริงๆต้องพิจารณาลักษณะนิสัยและความต้องการของคนๆนั้นประกอบด้วย
เช่น สำหรับคนที่ไม่ชอบให้คนมาก้าวก่าย การไปคิดแทนและจัดการให้อาจเป็นการดูถูกมากกว่าช่วยเหลือ สำหรับคนที่ชอบได้รับการช่วยเหลือเราก็อาจจะเสนอตัวได้
เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับที่อยากรู้ว่าการบำบัดทางจิตวิทยาเป็นแบบไหน เราชอบที่ตัวละครเป็นสัตว์ ไม่ใช่คนเพราะมันไม่ทำให้เราอินเกินไป แต่ในเวลาเดียวกันเราก็สามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตัวละครได้ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มใหม่เอี่ยมออกในงานสัปดาห์หนังสือเลย ถ้าใครอยากได้จะไปหาซื้อในงานที่บูธนานมี F31 ก็ได้ หรือ กดซื้อออนไลน์ได้เลยที่
ปล. ในเล่มนี้เป็นการแสดงตัวอย่างของการบำบัดชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าทุกการบำบัดจะใช้วิธีเหมือนในหนังสือ การบำบัดทางจิตวิทยาก็เหมือนไปหาหมอตอนป่วยที่มีความหลากหลายในขั้นตอนและวิธีการค่ะ 🙂
โฆษณา