7 เม.ย. 2023 เวลา 10:25 • ข่าว

ถาม กฟน. พร้อมแค่ไหน? ไทยจะเข้าสู่สังคมรถ EV

ถ้าวันนี้เราวางแผนว่าจะซื้อรถยนต์ EV สักคัน หนึ่งในประเด็นที่คนไทยกังวลมากที่สุดคือสถานีชาร์จรถ EV และช่องจอดรถสำหรับชาร์จ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้จะมีทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนลงมาแข่งขันในตลาดนี้มากขึ้น แต่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าทุกวันนี้สถานีชาร์จรถ EV เพียงพอแล้วหรือยัง
TODAY Bizview พูดคุยกับ 'วิลาศ เฉลยสัตย์’ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ถึงเรื่องการพัฒนาสถานีชาร์จรถ EV และการวางระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้รถ EV ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
[MEA เตรียมเพิ่มหัวชาร์จเป็น 600 หัวในอีก 5 ปี]
วิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ให้สัมภาษณ์กับ TODAY Bizview ว่าการไฟฟ้านครหลวงสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าใน 2 ด้าน คือระบบไฟฟ้าสำหรับรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย ‘ZEV 30@30’ หรือนโยบายตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 และเพิ่มสถานีชาร์จให้มีความพร้อมมากขึ้น
การไฟฟ้านครหลวงมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ‘MEA EV Charging Station’ จำนวน 138 หัวชาร์จ ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งตามสถานที่ราชการ มหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรีและสมุทรปราการ โดยมีแผนที่จะติดตั้งหัวชาร์จเพิ่มเติมในอนาคต
“เรามีแผนในการที่จะติดตั้งหัวชาร์จสำหรับรถยนต์ EV ตอนนี้มีประมาณเกือบ 140 หัวนะครับ แล้วเราจะทำปีละ 100 หัวไปอีก 5 ปี เพราะฉะนั้น ครบแผนจะมีหัวชาร์จประมาณ 600 กว่าหัว นี่คือภาพรวมใหญ่ๆ”
ตอนนี้สถานีชาร์จ ‘MEA EV Charging Station’ มีหัวชาร์จ 2 รูปแบบคือหัวชาร์จกระแสตรง (DC charge) ที่ 44kW และหัวชาร์จแบบ 22kW ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงเน้นพัฒนาสถานีชาร์จขนาด 22kW ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในเมืองที่นิยมจอดรถชาร์จแบตเป็นเวลานาน
ระบบไฟฟ้าต้องพร้อมรองรับปริมาณรถ EV ที่มากขึ้น
เมื่อปริมาณการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น การขยายระบบไฟฟ้าเพื่อให้รองรับกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ปัจจุบันนี้มีผู้ใช้รถ EV ประมาณ 5,000 คันแล้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงมองว่าจะมีผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1,000,000 คันในปี 2030 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงแบบก้าวกระโดด
โดยทางการไฟฟ้านครหลวงจะใช้ระบบ ‘Smart Metro Grid’ หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับเมืองมหานคร เข้ามาช่วยในการจัดการระบบ ระบบนี้สามารถประเมินความสามารถ ในการรองรับการชาร์จรถ EV ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วยการขยายระบบและทำระบบแบบ Smart system ที่เรียกว่า ‘Transformal Load Management’ เปลี่ยนจากหัวชาร์จธรรมดาให้กลายเป็น Smart charger ทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าสื่อสารกับสถานีชาร์จได้ ระบบนี้จะมีการประเมินกำลังไฟฟ้า ว่าเวลาชาร์จสูง ๆ จะมีการลดกำลังชาร์จลง เพื่อจะได้ไม่ต้องเพิ่มระบบไฟฟ้า
เตรียมรวบแอป 3 การไฟฟ้าไว้ในแอปเดียว
นอกจากการไฟฟ้านครหลวงแล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘PEA VOLTA’ สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2563 มีสถานีชาร์จ 73 แห่งใน 46 จังหวัด
ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT) ได้พัฒนา ‘EleX by EGAT’ มีสถานีชาร์จ พร้อมสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว 104 สถานีทั่วประเทศ
ในเดือนที่ผ่านมา ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเพิ่งเปลี่ยนลานจอดรถของอาคารสำนักงานใหญ่กฟฝ. ชั้น 2 ให้กลายเป็น ‘EV Charging Floor’ ลานจอดรถที่มีหัวชาร์จมากที่สุดในประเทศไทย มีหัวชาร์จด้วยความเร็วปกติ (AC Normal Charge) ขนาด 7.4 kW 110 ช่องจอด (รวมช่องจอดรอชาร์จ) และมีจำนวน 66 หัวชาร์จ
แต่ถ้าผู้ใช้งานอยากใช้งานสถานีชาร์จของหน่วยงานไหน ก็ยังจำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของหน่วยงานนั้น ๆ แยกกัน
ในอนาคต การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะรวมแอปพลิเคชันของ 3 การไฟฟ้าเป็นแอปเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานมากขึ้นด้วย
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงย้ำว่า ตอนนี้ภาครัฐมีการส่งเสริมเรื่องสถานีชาร์จอย่างเต็มที่
“ผมอยากจะฝากเรื่องความมั่นใจของพี่น้องประชาชนที่อยากจะใช้รถยนต์ไฟฟ้านะครับ ผมว่าไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องของสถานีชาร์จแล้ว เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้านครหลวงเอง แล้วก็หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ ทั้งเอกชนก็มีการส่งเสริมกันอย่างเต็มที่ มีสถานีชาร์จจะเกิดขึ้นทุก ๆ วัน เพราะฉะนั้น ผมว่าไม่ต้องลังเลแล้วที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้า สามารถที่จะมั่นใจกับระบบการชาร์จได้แล้วตอนนี้”
#TODAYBizview
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา