10 เม.ย. 2023 เวลา 06:19 • ปรัชญา

แสงแห่งปัญญา " ทางลาออกจากวัฏสงสาร "

หยุดความคิด ... คือหยุดสังสารวัฏฏ์
อารมณ์ต่างๆ นั้นมันย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปตามวงล้อแห่งวัฏฏะ มันมิได้เกี่ยวข้องกับอายตนะหนึ่งอายตนะใดเลย เมื่อเวไนยสัตว์ตนใดไปสัมผัสผูกรัดมันเข้า ถ้าขาดปัญญา ก็จะถูกมันดูดดึงลงสู่ห้วงแห่งความมืดมนนอนธการ นั้นหมายถึงว่า วิถีทางที่จะเข้าสู่จิตเดิมจิตแท้ของเขานั้น ย่อมเลือนรางห่างหายออกไปทุกที
ถ้าเราไม่รู้จักสภาวะที่แท้จริงของจิตแท้แล้ว เราก็ไม่มีทางที่จะค้นหามันได้ถูกต้อง ยิ่งดิ้นรนขวนขวายแสวงหามากเท่าใดก็ดูเหมือนว่า จะยิ่งจมลงสู่ปลักแห่งความหายนะ คือวัฏฏะมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระปัจเจกโพธิ์องค์สําคัญคือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านจึงได้สั่งนักสั่งหนาว่า
" อย่าส่งจิตออกนอก "
เพราะมันเป็นประตูๆเดียว ที่จะเปิดไปสู่มรรควิถีที่จะพาไปพบจิตเดิมจิตแท้
สภาวะที่แท้จริงของจิตเดิมจิตแท้นั้น ก็คือสภาวะแห่งความเป็นพุทธะนั้นเอง หรือ เราอาจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะที่แท้จริง ก็คือสภาวะแห่งจิตเดิมจิตแท้นั้นเอง สิ่งๆนี้ มันเป็น สิ่งที่อยู่ใกล้กับปลายจมูกเรา เพียงแค่ชั่วเสี้ยวหนึ่งของเม็ดทรายเท่านั้น แต่เป็นเพราะพวกเราผู้ปราถนาความหลุดพ้น ไปหลงติดในพิธีกรรม และ ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่มีมากมายหลายแบบหลายตอน แล้วก็หลงยึดมั่นว่าเป็นหนทางบําเพ็ญเพียร เพื่อ สร้างปรามิตาทั้งหก เพื่อ หวังจะก้าวเข้าถึงความเป็นพุทธะกับเขาสักองค์หนึ่ง
ก็สภาวะที่แท้จริง ของจิตเดิมจิตแท้ หรือ พุทธะที่แท้จริงนั้น ไม่มีขั้นตอนในการเข้าถึง มันเป็นสิ่งๆเดียวรวด เพียงแต่ขอให้เราเลิกผูกพัน กับ รูปธรรมต่างๆ ให้หมดสิ้น แล้วหันมาทําความเข้าใจ จิตกับอารมณ์ ให้ถูกต้อง เราจะพบเองเห็นเอง รู้ว่าสิ่งๆ นี้มันอยู่ใกล้แสนใกล้ กับปลายจมูกเราแค่นี้เอง
เมื่อวาระนั้นมาถึง เราคงจะได้เสพย์รสประทินกลิ่นหอม ของภาวะนี้อย่างถึงใจ ให้สมกับที่ได้เพียรแสวงหา มาหลายหมื่นหลายแสนกัลป์แล้ว จิตของผู้ที่ยังข้องเกี่ยวอยู่ในกามคุณ ย่อมเป็นจิตที่ถูกเปลี่ยนฐานจากเดิม โดยอํานาจของอวิชชา เราจึงเรียกว่าจิตแห่งปุถุชน เพราะมันยังตกอยู่ในครรลองแห่งสภาวะธรรม
แต่ถ้าเราสามารถปฏิวัติจิต หรือ ปฏิรูปจิตแห่งปุถุชนนี้ ให้เข้าสู่สภาวะเดิมได้อย่างหมดจดสิ้นเชิง ไม่เหลือแม้แต่ปรมาณูเดียว จิตก็จะหยุดการยักย้ายถ่ายเท นั้นหมายถึงว่า ภาวะแห่งการเปิดรับอารมณ์ ที่จะเป็นองค์กรหรือปัจจัย ให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหว แล้วปรุงแต่งไปตามสภาวะต่างๆที่เรียกว่า จิตสังขาร ก็จะถูกตัดขาดโดยทันที
จิตเมื่อหยุดการเคลื่อนไหวโดยสนิท ด้วยอํานาจ ญาณปัญญา อันละเอียด ลึกซึ้ง ที่ฉายส่องเข้าไปสัมผัสแก่นแท้ของจิตใจ ได้อย่างถูกต้องที่เรียกว่า " จับกิริยาจิตได้แล้ว " ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดับ จึงกล่าวได้ว่า เมื่อเหตุถูกทําลาย ผลอันเกิดจากเหตุจึงไม่มีภาวะต่อไป เราจึงเรียกว่า " มหาสูญญตา "
ปรัชญาธรรม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
โฆษณา