11 เม.ย. 2023 เวลา 01:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ดัชนี PMI ทั่วโลกชะลอตัว จากอุปสงค์อ่อนแอ

ดัชนีชี้วัดกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกชะลอตัวลงในเดือนมีนาคม เป็นผลมาจากผู้บริโภคถูกบีบให้ลดการใช้จ่ายลงจากวิกฤติค่าครองชีพ และ ธนาคารกลางยังคงใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ รวมไปถึงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย และ ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ
ซึ่งตัวเลขที่ออกมา ชี้ให้เห็นว่า ความอ่อนแอในภาคอุตสาหกรรมนั้นจะส่งผลไปยังการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจ
💙 PMI สหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
จากผลการสำรวจของหน่วยงาน Institute for Supply Management (ISM) พบว่า กิจกรรมภาคการผลิตของสหรัฐฯลดลงสู่จุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี จากการที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่หดตัว
ดัชนี ISM Manufacturing PMI ลดลงเหลือ 46.3 ในเดือนมีนาคม
ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2020
จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้กำลังสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ ในขณะที่ตัวเลขอื่น ๆ เช่น ยอดคำสั่งซื้อใหม่ กำลังการผลิต ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว
ความต้องการสินค้า ที่โดยปกติแล้วคนมักจะจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิต นั้นถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่เหนือกรอบเป้าหมาย นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าอาจถูกกดดันจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในภาคการเงินได้อีกด้วย
💙 PMI ในยูโรโซนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
ดัชนี PMI ในยูโรโซนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนที่แล้ว
โดยจากข้อมูลของ S&P Global พบว่า ดัชนี euro zone manufacturing Purchasing Managers' Index (PMI) ลดลงจาก 48.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ เหลือ 47.3 ในเดือนมีนาคม
ณ ระดับตัวเลขนี้ได้สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 47.1 เพียงเล็กน้อย แต่ยังคงน้อยกว่า 50
ซึ่งเป็นจุดที่แบ่งระหว่างเศรษฐกิจหดตัว หรือ ขยายตัว
หากมาดู ดัชนี PMI รายประเทศก็จะพบว่า PMI ของเยอรมนีลดลงจาก 46.3 ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 44.7 ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2020
ผู้บริโภคได้เลื่อนการสั่งซื้อครั้งใหม่ออกไปก่อน จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลง และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในขณะที่อุปสงค์ที่อ่อนแอก็ได้ฉุดกิจกรรมภาคการผลิตของฝรั่งเศสเช่นกัน
💙 PMI จีนเริ่มชะลอตัวอีกครั้ง
ดัชนีภาคการผลิตของจีนได้สูญเสียโมเมนตัมในเดือนมีนาคมท่ามกลางการส่งออกที่อ่อนแอ
หลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากข้อจำกัดนโยบาย COVID-19
ดัชนี Caixin/S&P Global manufacturing purchasing managers' index (PMI) ของจีนลดลงเหลือ 50 ในเดือนมีนาคม จากเดือนก่อนหน้าที่ 51.6 จากตัวเลขชี้ให้เห็นว่า ภาคการผลิตของจีนกำลังชะลอตัวลงหลังจากที่ฟื้นตัวจากโควิด 19
ซึ่งถึงแม้ภาคธุรกิจจะค่อนข้างกลับมาทรงตัวได้แล้วหลังจากผ่อนข้อจำกัดจากนโยบายควบคุมโควิด แต่ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น คำสั่งซื้อสินค้า หรือ อุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ จะยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ของจีน
เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะยังคงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความต้องการสินค้าจากจีนลดลง
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังกำไรของโรงงานภาคการผลิตต่าง ๆ ในจีน
💙 ภาคการผลิตในเอเชียถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจและอุปสงค์ทั่วโลกที่ชะลอตัว ภาคการผลิตในเอเชียจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เกิดขึ้น
โดยดัชนี PMI ของเกาหลีใต้ลดลงจาก 48.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ สู่ระดับ 47.6 ในเดือนมีนาคม
ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน จากการส่งออกที่หดตัว
ในขณะที่ PMI ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 47.7 ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 49.2 ในเดือนมีนาคม
แต่อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวก็ยังคงต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งบอกว่าเศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่โซนการขยายตัว
ส่วน PMI ของประเทศไทยนั้นสามารถยืนเหนือเส้นแบ่ง 50 ได้
โดยในเดือนมีนาคม PMI ของไทยนั้นอยู่ที่ 53.1 ลดลงจาก 54.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งนับเป็นการขยายตัว 5 เดือนติดต่อกัน
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา