11 เม.ย. 2023 เวลา 14:20 • ปรัชญา

ความถูกต้องที่ถูกสั่นคลอน

ในยุคสมัยที่ความถูกต้องเริ่มถูกตั้งคำถาม แล้วเราจะสามารถยึดถือสิ่งใดให้มั่นไม่สั่นคลอน ?
จริง ๆ แล้วความถูกต้องมีจริงหรือเปล่า ?
คำถามที่ผมเริ่มถามตัวเองอย่างจริงจัง เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงไม่เหมือนที่คิดเอาไว้ เมื่อได้เห็นข่าวการเมือง ข่าวทุจริต
ถ้าการหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวคือสิ่งที่ถูกที่ควร แล้วการเลือกตั้งที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียงเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ให้ได้เงินมาเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวคือสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
บางทีคำตอบของคำถามนี้อาจไม่ได้หยุดอยู่ตรงที่ "ถูกต้องหรือไม่" ซึ่งตอบตามตรรกะได้ไม่ยาก
แต่หากเราไม่ด่วนตัดสินแล้วถามคำถามลึกลงไปอีกเช่น "ทำไมเขาจึงทำแบบนี้" เราอาจมองเห็นแง่มุมที่มากขึ้นกว่าแค่การกระทำซึ่งหน้า
ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เขาอาจให้ความสำคัญครอบครัวมากกว่าความถูกต้อง จนยึดถือเป็นความถูกต้องใหม่ขึ้นมา และเห็นว่าคือสิ่งที่ควรทำ
หากมองแบบนี้ เราจะเห็นรูปแบบที่อธิบายง่าย ๆ ว่า คนเราแค่พยายามหลีกหนีความทุกข์ และเข้าหาความสุข โดยการสร้างความถูกต้องขึ้นมาและยึดถือมันไว้
แต่ "ความถูกต้อง" ไม่เท่ากับ "ความจริง" หากเอาแต่ยึดถือความถูกต้องเพียงอย่างเดียวคงไม่อาจนำพาไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนได้เป็นแน่ เพราะด้วยความจริงที่ไล่ต้อนมาพร้อมทลายความถูกต้องได้ทุกเวลา
และหลายครั้งที่ความถูกต้องถูกยึดถือจนกลายเป็นขนบ บรรทัดฐาน ค่านิยมในสังคม จนกลายเป็นความเชื่อตาม ๆ กันไป โดยไม่ใช้ปัญญาขบคิดตามความเป็นจริง
จึงมีคำกล่าวประมาณว่า "ฮีโร่ในสงครามวันนี้คือฆาตรกรในวันหน้า"
ดังนั้นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่เราหมายมั่นปั้นมือว่าถูกต้องหรือผิดมหันต์ อาจจะถูกหรือผิดแค่ชั่วคราว วันหนึ่งความจริงจะเปิดเผยเนื้อแท้ของเรื่องราวออกมา
แล้วหากเราคิดอย่างนี้ จะยึดถืออะไรดี ?
แก่นของคำสอนในศาสนาพุทธไม่เคยตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิด เพียงชี้ให้เห็นว่าควรฝึกฝนหรือดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะอยู่กับความเป็นจริงได้อย่างปล่อยวาง และการจะรู้จักความจริงได้นั้น ต้องอาศัยประสบการณ์หาใช่เพียงความรู้
เราต้องเรียนรู้หัวใจตนเองอย่างตรงไปตรงมา ว่าการกระทำแบบไหนส่งผลแบบไหน และแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลต่อเราอย่างไร
บางทีความเชื่อที่ว่า "ทำดีแล้วชาติหน้าขึ้นจะได้สวรรค์ ทำชั่วแล้วชาติหน้าจะตกนรก" อาจจะพังทลายลงสักวันหนึ่ง
แต่ความเป็นจริงที่ว่า เมื่อทำดีแล้วรู้สึกอิ่มเอม ทำความชั่วแล้วรู้สึกหม่นหมอง ไม่อาจพังทลายได้ เพราะสิ่งนี้คือประสบการณ์ตรง เป็นการเรียนรู้แก่นแท้ของชีวิตและหัวใจด้วยตนเองในแต่ละขณะ ๆ
ฉะนั้นแล้วคำสอนในศาสนาพุทธจึงกล่าวว่า "ไม่ว่าสิ่งใดก็ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น"
แม้สิ่งตรงหน้าจะดีงามหรือชั่วช้า จะถูกหรือจะผิด จะไม่อยากให้เกิดขึ้นแค่ไหน จะอยากให้เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
พอไม่ยึดถือสิ่งใดแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ก็มีแต่ความจริง
โฆษณา