14 เม.ย. 2023 เวลา 06:57 • ท่องเที่ยว
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

รถไฟชั้น 2 แบบเก่าและแบบใหม่ มันต่างกันยังไง???

หลังจากนั่งรถไฟชั้น 1 ไปเชียงใหม่แล้ว เด๋วเราไปดูรถไฟชั้น 2 ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่กัน ว่าเป็นยังไงกันบ้าง เผื่อไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการเดินทางครั้งต่อไปของคุณ
รถไฟชั้น 2 แบบเก่า "เปิดประสบการณ์ใหม่กับรถไฟขบวนเก่า" อาจจะเป็นตัวเลือกท้ายๆ ของนักเดินทางสมัยใหม่ อาจจะเป็นเพราะความเก่า และความไม่ค่อยสะดวกสบายเท่าไหร่นัก
1
การเดินทางเริ่มต้นที่สถานีหัวลำโพง และจุดหมายปลายทางคือ นครลำปาง โดยรถด่วนขบวนที่ 51 เวลาออก 22.30 น. ถึง 09.51 น. ตู้โดยสารบนทป.36 ชั้น 2 ปรับอากาศ เราเลือกเป็นเตียงล่าง ราคา 781 บาท แต่ถ้าเป็นเตียงบน ราคา 711 บาท (ขึ้นอยู่กับสถานีต้นทางที่ขึ้น)
ภาพสมัยยังขึ้นที่หัวลำโพง แต่ปัจจุบันขึ้นรถที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์แล้ว
ที่นั่งของรถนอนปรับอากาศชั้น 2 จะเป็นแบบที่นั่งเดี่ยวหันหน้าเข้าหากัน มีพื้นที่ไม่ได้เล็กมาก นั่งคนเดียวและวางเป้สักใบได้สบายๆ หรือถ้าใครมีกระเป๋าใบใหญ่ ก็สามารถวางไว้ตรงที่วางสัมภาระด้านข้างที่นั่งก็ได้
พอช่วงค่ำๆ ก็จะถึงเวลาที่พนักงานจะมากางเตียงให้ เค้าก็จะทำการแปลงร่างที่นั่งของเราเป็นเตียงนอน และจะมีผ้าม่านปิดเพื่อความเป็นส่วนตัว
พอกางเตียงเสร็จ ก็มีพื้นที่เก็บกระเป๋าไว้ให้ด้านบน (หัว) ออกจะน่ากลัวไปหน่อยนะ
เตียงบน ก็อาจจะได้พื้นที่แคบกว่าเตียงล่าง การนอนก็อาจะไม่สบายเท่าเตียงล่าง แต่เรื่องที่นอน หมอน ผ้าห่ม ผ้าม่าน ที่เก็บของ จะมีเหมือนเตียงล่างทั้งหมด
การนอนเตียงบนเพื่อความปลอดภัย จะมีเข็มขัดกันตก 2 เส้น กันไว้เผื่อเราร่วงลงมาด้วย และที่ที่เก็บของก็จะอยู่ด้านข้าง
ห้องน้ำในรถไฟจะมีแบบชักโครก มีสายชำระและกระดาษทิชชู่ให้ เวลาทำธุระเสร็จ ก็จัดการให้สะอาดสักหน่อย เพื่อคนใช้ห้องน้ำคนต่อไปจะได้เข้าต่อได้
อ่างล้างหน้าแบบ His and Her ไว้บริการ ซึ่งน้ำไหลแรงมาก จะอยู่ด้านข้างของห้องน้ำ
ตู้นี้เป็นที่นั่ง ราคา 501 บาท เป็นที่นั่งแบบปรับเอนได้เหมือนรถทัวร์ ไม่มีแอร์ มีแต่พัดลม ถ้าเลือกที่นั่งแบบนี้ในหน้าร้อน อาจจะร้อนไปสักหน่อย สำหรับการเดินทางในช่วงบ่ายๆ ถึงเย็นๆ
รถไฟขบวน CNR เป็นขบวนเดียวกันกับชั้น 1
ตู้โดยสารแบบรถนั่งนอนปรับอากาศชั้น 2 ที่เราเลือกกลับกรุงเทพฯ เป็นตู้แบบ “Ladies and Children Car” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “เลดี้โบกี้” ซึ่งผู้โดยสารทั้งหมดในขบวนนี้จะเป็นผู้หญิงทั้งหมด หรือถ้าพา "เด็กชาย" ขึ้นขบวนนี้ เด็กชายต้องมีอายุไม่เกิน10 ปี และส่วนสูงไม่เกิน150 ซม.
ที่นั่งของรถไฟใหม่ เป็นที่นั่งเดี่ยวแบบนั่งหันหน้าเข้าหากัน เบาะเป็นกำมะหยี่ และกว้างกว่ารถไฟแบบเก่า นั่งสบายไม่อึดอัด และข้างที่นั่งจะมีโต๊ะเล็กๆ 1 ตัว แต่ต้องใช้ร่วมกับผู้โดยสารที่นั่งคู่กับเรา ใช้เสร็จแล้วพับเก็บได้ไม่เกะกะ
ส่วนใต้ที่นั่ง ออกแบบมาให้ยกสูง เพื่อเก็บสัมภาระหรือกระเป๋าขนาดใหญ่ และสำหรับผู้โดยสารที่นั่งชั้น 2 สามารถนำสัมภาระติดตัวขึ้นรถไฟได้ไม่เกิน 40 กิโลกรัม และมีขนาดที่สามารถเก็บในช่องวางสัมภาระได้ (กว้าง x ยาว x สูง ด้านละไม่เกิน 50 ซม.)
ส่วนของการบริการทุกอย่างจะแตกต่างจากตู้โบกี้อื่นคือ พนักงานปูผ้าปู พนักงานทำความสะอาด พนักงานส่งเสบียง จะเป็นผู้หญิงทั้งหมด รวมถึงเจ้าหน้าที่รถไฟ
(ก็อาจจะเป็นผู้หญิงด้วย) และช่วงประมาณ 2 ทุ่ม ก็จะมีพี่พนักงานผู้หญิงมาปูเตียงให้
เตียงปูเสร็จเรียบร้อย มีม่านกั้นทุกที่ เพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้โดยสาร ภายในส่วนของตู้นอน รถไฟขบวนใหม่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกคล้ายตู้นอนรุ่นเดิม เช่น หมอน ผ้าปู ผ้าห่มใหม่แกะห่อ แต่ที่พิเศษกว่าคือมีปลั๊กไฟ และไฟส่องสว่างสำหรับอ่านหนังสือด้วย
สำหรับเตียงบน ก็มีบันไดด้านข้าง สำหรับปืนขึ้นไปบนที่นอน เตียงด้านบนก็จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนเตียงล่างเช่นกัน แต่จะไม่มีเข็มขัดกันตก เหมือนชั้น 2 แบบเก่านะ
ส่วนที่เก็บสัมภาระของเตียงบน อยู่บนเพดาน แต่พื้นที่อาจจะไม่ใหญ่เท่าด้านล่าง และต้องแชร์กันใช้กับเตียงฝั่งตรงข้าม
บริเวณเตียงก็จะมีที่เก็บของ ปลั๊กไฟ และไฟหัวเตียง สำหรับอ่านหนังสือ
บริเวณที่นั่งของเราก็จะมีจอแสดงรายละเอียดการเดินทาง และห้องน้ำ อีกทั้งมีกล้องวงจรปิดติดอยู่ภายฝนตู้โดยสารทุกตู้ และภาพทั้งหมดจะถูกส่งไปยังห้องพนักงานในตู้ Power Car เพื่อคอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารอีกด้วย
สำหรับห้องน้ำของตู้แบบ “Ladies and Children Car” นี้ จะไม่มีผู้โดยสารจากตู้อื่นมาใช้ จะให้แค่ตู้นี้ใช้ตู้เดียวเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
อ่านรีวิวรถไฟทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าชั้น1 และ ชั้น 2 (เก่าและใหม่) อยากให้ลองเปลี่ยนใจมาเดินทางด้วยรถไฟกันบ้าง ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานกว่าการเดินทางแบบอื่น
แต่เราจะมีเวลาให้ตัวเองได้เก็บเกี่ยววิวสองข้างทาง แต่ถึงยังไงไม่ว่าจะเป็นการเดินทางแบบไหน มันก็มีสเน่ห์ในตัวของมันเองนะ
** ถ้าชอบการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม แค้มปิ้ง มาเจอเราได้ที่
โฆษณา