4 พ.ค. 2023 เวลา 13:00 • การ์ตูน

Oshi no Ko - เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ

หลังจากที่อนิเมะคากุยะซามะ ซีซั่น 3 จบลงไป ผมรีบไปอ่านมังงะเนื้อหาหลังจากตอนจบในอนิเมะทันทีจนจบ และเมื่อช่วงที่ตอนสุดท้ายของคากุยะซามาะออก มีข่าวว่าคนเขียนเรื่องนี้ประกาศเกษียณ ผมก็ช็อกไปเลย แต่พบว่า เขาจะเขียนเรื่องต่อ แต่จะไม่ได้วาดมังงะแล้ว ทำให้ผมพบกับเรื่องที่ชื่อว่า Oshi no Ko ที่มีคนพูดถึงเยอะมาก ผมที่สนใจก็เลยว่าจะไปอ่าน แต่ไม่นานก็พบว่า Oshi no Ko จะได้รับการดัดแปลงเป็นอนิเมะ
โฮชิโนะ ไอ จาก โอชิ โนะ โคะ และ ชิโนมิยะ คากุยะ จาก คากุยะ ซามะ
ในใจผมคิดว่า เอ๊ะ นี่มัน อนิเมะ Isekai บวก ไอดอลงั้นหรอ ทำไมคนถึงชื่นชอบกันขนาดนั้น ทำเอาความสงสัยของผมเป็นความอยากรู้อยากเห็นไปด้วย
ผมเลยต้องตัดสินใจเอาเดี๋ยวนั้นเลยว่า ผมจะอ่านมังงะ หรือจะรอดูอนิเมะเลยทีเดียว ผมที่มีมังงะอยู่ในมือเยอะมากในตอนนั้น เลยคิดว่า งั้นรออนิเมะก็แล้วกัน และก็ห้ามใจไม่ให้ไปตามอ่าน (ซึ่งในตอนนั้นผมเจอเรื่อง Boku no Kokoro no Yabai Yatsu ซึ่งผมแฮปปี้มาก ๆ ที่ซีซั่นนี้มีการเอามาดัดแปลงเป็นอนิเมะแล้ว และผมจะแนะนำในโพสต่อ ๆ ไปนะครับ) และเร็ว ๆ นี้ ตอนแรกของ Oshi no Ko ออกสู่สาธารณะ ผมก็นั่งคิดอยู่ว่า ใจผมพร้อมหรือยัง หรือจะรอไว้ก่อน
Boku no Kokoro no Yabai Yatsu (The Dangers in my Heart)
ผมรอไม่ได้ เลยจัดการดูมันซะเลย ซึ่งต่างจากทุกที ที่ผมมักจะตามอนิเมะฤดูกาลช่วงค่ำของวันอาทิตย์ แต่สำหรับเรื่องนี้ ผมดูตอนกลางวันของวันพฤหัสบดี เพราะว่าชื่อเสียงของเรื่องนี้ที่ว่ามีเนื้อหาที่หนักหน่วง (และผมพอจะเห็นได้ว่าจะจบลงยังไงในตอนแรก และเตรียมใจไว้แล้วส่วนหนึ่ง) เลยคิดว่า หากดูตอนกลางคืน คืนนั้นผมนอนไม่หลับแน่ ๆ หรือคงห้ามใจไปหามังงะมาอ่านเอาตอนนั้นเลย ก็เลยคิดว่า ดูตอนนี้ก็แล้วกัน ก่อนจะไปดูเรื่องอื่น ๆ ของฤดูกาลนี้ที่เนื้อหาจรรโลงใจ
เป็นยังไงละครับ น้ำตาไหล ถึงแม้จะเดาได้มาจากดาวอังคารแล้วก็ตามว่ามันจะเป็นยังไง แต่ก็สะเทือนใจอยู่ดี และประทับใจในหลาย ๆ เรื่องของอนิเมะ Oshi no Ko มาก ๆ จนรู้สึกอยากจะเขียนอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ผมเพิ่งดูตอนแรกจบไป และไม่ได้ตามอ่านมังงะต่อ เลยไม่รู้ว่าจะมีคุณสมบัติที่จะแนะนำเรื่องนี้หรือไม่ อีกทั้ง ก็คิดได้ว่า หลาย ๆ คนก็คงได้ดูแล้ว เพราะในโพลระบุว่า Oshi no Ko เป็นเรื่องที่มีคนตั้งตารอชมมากที่สุดของฤดูกาลนี้
ผมเลยคิดว่า คงไม่ได้จะเขียนแนะนำเรื่องนี้ ด้วยอีกเหตุผลที่ว่า ผมยังไม่ได้ตามอนิเมะเรื่องอื่น ๆ ของฤดูกาลนี้เลย ดังนั้น คงจะสรุปไม่ได้อย่างเต็มปากว่า เรื่องนี้เป็นอนิเมะที่ผมจะแนะนำประจำฤดูกาลนี้ (อีกทั้ง ผมคาดหวังกับ Boku no Kokoro no Yabai Yatsu พอสมควรด้วย และคิดว่าคงมีคนข้ามเยอะ เลยคิดว่าอยากจะแนะนำ) เพราะฉะนั้น เลยคิดว่า อยากจะขอสงวนการแนะนำอนิเมะประจำฤดูกาลไว้ก่อน และเปลี่ยนมาบอกเล่าความรู้สึกหลังดู Oshi no Ko ตอนแรก
อย่างแรกเลย ก็คือ Oshi no Ko เขียนโดย อาคาซาคะ อาคะ ผู้ที่เขียนและวาดมังงะรอม-คอม ชื่อดังแห่งยุคปัจจุบันอย่าง Kaguya-sama: Love is War ที่เพิ่งจบบริบูรณ์ไปไม่นานมานี้ ฝีมือการเขียนเรื่องเป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้ว และตัวผมชื่นชอบความคิดของคุณอาคาซาคะที่บันทึกลงงานคากุยะซามะอย่างมาก โดยมีคนให้คำพูดที่ว่า “อาจารย์อาคาซาคะ เขียนคากุยะซามะเพื่อเสียดสีวงการ รอม-คอม และในเวลาเดียวกัน ก็สามารถแสดงให้เห็นว่า เขาสามารถทำให้ รอม-คอม มันดีได้อย่างไร”
Aka Akasaka (ภาพจาก Myanimelist.net)
ดังนั้น จึงไม่ต้องเป็นห่วงเลยว่า งานอย่าง Oshi no Ko จะรอดหรือไม่ ประกอบกับเสียงยกย่องมากมายจากคนที่เคยอ่านมังงะมาแล้วหลายต่อหลายคน และคำแนะนำจากพวกเขาให้ไปอ่านกัน (ซึ่งผมก็ได้ยินเต็มสองหู แต่เลือกที่จะรอชมอนิเมะทีเดียว หากซีซั่นหนึ่งจบแล้ว ค่อยไปตามอ่านมังงะก็น่าจะยังทัน)
ผมประทับใจตอนแรกของเรื่องนี้มาก เลยไปดูว่า สตูดิโอไหนทำ ก็คือ สตู Doga Kobo พูดกันตามตรง ผมไม่เชื่อ (55555) เพราะเคยชมเรื่องอื่น ๆ ของค่ายนี้ และก็คิดว่า อนิเมชั่นเรื่องนี้ดีเกินหน้าเกินตาเรื่องอื่น ๆ ที่ค่ายนี้เคยทำไว้มาก หรือมันอาจจะเป็น Passion Project ก็เป็นได้
Doga Kobo
ผมเคยเห็นภาพมังงะฉากที่ โฮชิโนะ ไอ แสดงบนเวทีแล้วคิดว่ามันสวยงามมาก แต่พอเห็นฉากนั้นในอนิเมะแล้วใจเต้น ด้วยความเจิดจรัสงดงามตา ยิ่งไปกว่าที่เห็นในหน้ามังงะอีก ดังนั้น ก็ต้องชื่นชมค่ายนี้และเบื้องหลังอนิเมชั่นงาม ๆ ของตอนแรกไว้ ณ ที่นี้ครับ
ผู้กำกับตอนแรกนี้คือ Hiramaki Daisuke เป็นชื่อที่ผมไม่ค่อยคุ้น เลยไปค้นดู พบว่ามีส่วนร่วมในอนิเมะเรื่องอื่น ๆ ที่ผมชื่นชอบ เช่น เป็นคนทำ Storyboard ตอนที่ 5 ของ Bunny Girl Senpai ทำ Key Animation เรื่อง Usagi Drop ตอนที่ 1 และ 11 ซึ่งผมประทับใจมาก (เน้นว่าให้ดูเรื่องนี้ แต่อย่าไปอ่านนะครับ หากชอบตัวอนิเมะ) และ Baccano! ตอนที่ 6
Usagi Drop anime ver. (ย้ำ ดูแต่อนิเมะ!)
ตอนที่ผมรู้ว่า ผู้ให้เสียงโฮชิโนะ ไอ คือ คุณ Takahashi Rie ผมดีใจมาก เพราะส่วนตัวชื่นชอบผลงานของเธอ เช่น เมกุมิน ใน Konosuba และคุณทาคากิ ใน Teasing Mater Takagi San และ โทโมะ ใน Tomo chan is a Girl ของฤดูกาลที่แล้ว ผมตกใจมากเมื่อรู้ว่าเสียงผู้หญิงห้าว ๆ แมน ๆ นั้นเป็นของคุณ Takahashi เลยยิ่งชื่นชมเธอมากขึ้นไปอีก และ ในฤดูกาลนี้ เธอกลับมาให้เสียงเมกุมิ ใน Konosuba: Sekai ni Bakuen wo! และยุซุริฮะ ในสุขาวดีอเวจี
Takahashi Rie (ภาพจาก tvtropes.org)
รู้ข่าวต่อมาอีกว่า เพลงเปิดของเรื่อง บรรเลงโดยวง Yoasobi ซึ่งผมเป็นแฟนคลับน้อง Ikuta Lilas และชื่นชมผลงานของวงนี้มาโดยตลอด ก็ชื่นใจ และหดหู่ในเวลาเดียวกัน เพราะวงนี้เขาขึ้นชื่อเรื่องเนื้อเพลงที่ดาวน์ดิ่งอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีจังหวะดนตรีที่น่าเต้นก็ตาม เช่นในเพลง Racing into the Night และพอฟังเพลงเปิดของ Witch from Mercury ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นเพลงของ Yoasobi และรู้ได้ทันทีว่า Gundam ภาคนี้ก็คงจะหดหู่ไม่แพ้ภาคอื่น ๆ (ซึ่งเป็นการคาดเดาที่แม่นยำยิ่ง)
Duo Yoasobi
และเพลง IDOL ของวง Yoasobi ก็ทำออกมาเข้ากับเนื้อหาของเรื่อง Oshi no Ko ตอนแรกได้อย่างน่าเหลือเชื่อ สมกับ Concept ของวงที่ว่า "Novel into Music" เนื้อหาของเพลง จังหวะท่วงทำนอง และเสียงขับร้องที่ประกอบเป็นเพลงเปิดนี้ดีจนขนลุกทุกครั้งที่ได้ฟัง และเป็นอีกเพลงเปิดหนึ่งที่ผมไม่คิดจะข้าม
ผมเข้าใจว่าหลายคนที่คิดว่าจะไม่ติดตามเรื่องนี้ คงเป็นเพราะคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับไอดอล ซึ่งแน่นอนว่า ในโลกนี้มีอนิเมะไอดอลอยู่เยอะพอสมควร และได้เสียงตอบรับที่ไม่ค่อยดี อาจจะเป็นเพราะอคติของคนเราก็ได้ ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ไม่ได้มีความสนใจอนิเมะไอดอลเลยแม้แต่น้อย อย่างมากที่สุดก็สนใจที่จะอยากลองดู Zombieland Saga แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ดู
เหตุผลที่ไม่สนใจอนิเมะไอดอล ไม่ใช่เพราะอคติที่มีต่อไอดอลแต่อย่างใด หากลองดูเนื้อหาบล็อกโพสของผมที่พูดถึงอนิเมะ มังงะ เกมส์และเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับญี่ปุ่นแล้ว คงจะเดาได้ไม่ยากว่าผมก็มีความ Weeb และ โอตาคุมากพอสมควร (แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยออกไปสัมผัสหญ้าเลย) แน่นอนว่าผมเองก็เคยติดตามวงการไอดอลอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่ชีวิตจะยุ่งมาก ๆ ทำให้โอกาสนั้นหายไปเรื่อย ๆ (ทำให้ได้แต่ติดตามอยู่อย่างห่าง ๆ)
นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ไม่ได้อยากจะติดตามอนิเมะไอดอล เพราะตัวจริงของผมก็ติดตามวงการไอดอลอยู่แล้ว และก็ใช่ว่าจะหน้ามืดตามัวอยู่กับแสงสีเจิดจ้าของไอดอลต่าง ๆ ตามหน้าจอและบนเวที อาจจะเพราะรู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ได้สวยงามอย่างที่ปรากฏ ทำให้ตนปฏิเสธที่จะรับชมเรื่องร้าย ๆ ของเบื้องหลังวงการนั้นเองโดยสมัครใจ (ด้วยความคิดแบบว่า เออ รู้หรอกน่าว่ามันแย่มาก ไม่ต้องพูดแล้ว)
สุดท้ายแล้ว ผมเองก็อยู่ห่างจากวงการบันเทิงมาก คนรอบตัวที่มีประสบการณ์อยู่ในวงการนั้นก็มีไม่มาก และส่วนใหญ่เลิกคบไปหมดแล้ว ทำให้ แม้ว่าผมจะได้รับฟังว่าเบื้องหลังวงการมันเป็นอย่างไรบ้าง แต่ผมก็ยังเป็นคนที่อยู่อีกฟากหนึ่งของม่านมายาอยู่วันยังค่ำ พูดอีกอย่างก็คือ แม้ว่าจะรู้ว่าอีกฟากของม่านแดงมันเป็นอย่างไร แต่ก็รู้ได้แต่ในฐานะผู้ชมเท่านั้น และหากรู้ก็รู้แค่โดยเปลือกนอก หากรู้ก็ได้แต่รู้ แต่คงจะไม่เข้าใจ
สุดท้ายแล้วก็ยังอยู่ในฐานะผู้ชม ผู้บริโภค ผู้เสพสื่อ ที่ทำได้ดีที่สุดก็เพียงแต่พยายามเข้าใจ ไม่ยึดติด และฟังหูไว้หูเท่านั้น
แม้ว่าจะมีพื้นฐานเป็นผู้สนใจและศึกษาปรัชญาอย่างจริงจัง และได้รับคำสั่งสอนมาว่า ให้ดูที่ความคิดของนักปรัชญา ไม่ใช่นักปรัชญาเอง เพราะวันหนึ่งคงจะไปรู้อะไรเข้า หรือเปลี่ยนใจอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจจะทำให้ไม่เห็นด้วยกับนักคิดบางคน ถึงขั้นไม่ชอบไปเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่คงเหลืออยู่ในใจคือความคิด ไม่ใช่คนคิด แต่ถึงกระนั้น ด้วยความเป็นมนุษย์ที่ไม่ใช่เครื่องจักร มันก็ห้ามไม่ได้ที่จะมีความชื่นชมที่ตัวบุคคลพร้อมกับหรือมากกว่าความคิดของนักคิดคนนั้น ๆ
ไม่ต่างอะไรกับศิลปิน ในช่วงสมัยมัธยม ตัวผมที่ชอบดนตรีอย่างสุดหัวใจในตอนนั้น และเป็น ร้อคเกอร์ มือสมัครเล่นมาก ๆ คนหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่นชอบนักดนตรีสมัย 70s หรือ 80s เอามาก ๆ และก็ยกยอเป็นไอดอล อยากเป็นเหมือนพวกเขา ผมก็คิดว่า จริง ๆ แล้วเราชอบที่เพลงของเขา หรือ ตัวศิลปินที่ผลิตศิลปะเหล่านั้น ทั้งที่รู้ว่า ศิลปินเหล่านั้น (โดยเฉพาะในยุคนั้นที่มีค่านิยมต่างจากสมัยนี้) ก็ไม่ได้เป็นคนที่ดีเลิศประเสริฐศรี
เขาว่ากันว่า (ซึ่งผมไม่ชอบใช้คำนี้เลย เพราะมันไม่มีที่ให้อ้างอิง) เพลงที่เราชื่นชอบ และคิดว่าดี มักจะเป็นเพลงที่เราฟังตอนวัยรุ่น เพราะว่าเป็นช่วงที่เรากำลังพัฒนาตนเองอยู่ ผมว่าอาจจะใช่ แม้ว่าจะไม่ได้เปิดเพลงเหล่านั้นในตอนนี้โดยสมัครใจแล้วก็ตาม แต่พอบังเอิญได้ยินเพลงเหล่านั้นเข้า ก็อดจะตื่นเต้นไม่ได้ ผมโตมากับเพลงเก่า ๆ เล่านั้น และสิ่งที่เหลืออยู่ในจิตใจกลับไม่ใช่ศิลปิน แต่เป็นบทเพลงที่เขาฝากไว้
ดังนั้น พอโตมา ก็กลับมาคิดถึงคำถามที่เคยใช้สนทนากับคุณน้องชายเมื่อนานมาแล้วว่า คนเราสามารถแยกผลงานกับเจ้าของได้จริงหรือไม่ ส่วนตัวผมเอง คิดว่าไม่สามารถทำได้ โดยความเป็นจริงและเชิงคุณค่า ในเชิงความเป็นจริงคือ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ส่วนหนึ่งที่จะถามกลับไปว่า “เอ้ย เพลงนี้เพราะจัง ใครเป็นเจ้าของกันนะ” หรือความผิดหวังที่พบว่า ศิลปินที่เราชื่นชอบไม่ใช่คนที่สร้างสรรค์ผลงานนั้นเอง
ในเชิงคุณค่า คือ ผลงานเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองอย่างไม่มีต้นเหตุ แต่เป็นเพราะเป็นสิ่งที่มีคนสรรค์สร้างมันขึ้นมา ดังนั้น หากมันดีหรือไม่ดี จะชื่นชอบศิลปินหรือไม่อย่างไรก็ตาม แต่ก็ต้อง give credit where credit’s due แต่ก็แน่นอนว่า แม้ว่าผลงานจะดี ก็ใช่ว่าจะทำให้คนที่สร้างผลงานเหล่านั้นมีดีขึ้นมาโดยทันที ดังนั้น แน่นอนว่า เราก็จะต้องแยกแยะผลงานกับผู้สร้างในส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนวิพากษ์วิจารณ์ผลงานเหล่านั้น
ไม่ต่างกันกับตอนตรวจและให้คะแนนสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัย ที่เราจะไม่ใส่ชื่อในกระดาษคำตอบ เพื่อให้ผลคะแนนเป็นกลางที่สุด ทำให้ผมคิดว่า ตอนระดับมัธยม หากผมไม่เขียนชื่อตัวเอง จะได้คะแนนดีกว่านี้ไหมนะ เพราะหลายต่อหลายครั้ง ในข้อสอบอัตนัย ผมคิดว่าผมเขียนได้ดีพอสมควรเลย แต่เพราะผมมีชื่อเสียงในทางการเรียนที่ไม่ดีนัก อาจจะเป็นเพราะแบบนั้น ที่ทำให้ผมได้คะแนนไม่ดีก็ได้ แต่จะคิดแบบนั้น ก็จะเป็นการดูถูกคุณครูของผมมากเกินไป
ดังนั้น เราก็จะต้องแยกผลงานกับเจ้าของผลงานระดับหนึ่ง ผมเคยเห็นตำราเรียนอยู่เล่มหนึ่ง ผู้เขียนพูดถึงนักคิดคนหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว และโต้แย้งนักคิดคนนั้นโดยการโจมตีชีวิตของนักคิดคนนั้นโดยตรง และไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ที่ตัวความคิด ผมก็คิดว่า นี่มัน argumentum ad hominem นี่ คือมันเป็นการถกเถียงที่ตัวบุคคล ซึ่งเป็น Fallacy อย่างหนึ่ง แม้ว่าผมเองก็ไม่เห็นด้วยโดยแก่นของความคิดของนักคิดคนนั้น แต่ก็ไม่ได้คิดจะโจมตีด้วยวิธีการแบบนี้
กลับมาที่วงการไอดอล หรือวงการบันเทิงโดยทั่วไป ซึ่งเป็นแก่นของ Oshi no Ko หลักความคิดที่กล่าวมามีความยุ่งยากเล็กน้อยในการปรับใช้ เพราะเรื่องนี้ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์โดยไม่ปิดบังอะไร แน่นอนว่า คนที่ติดตามไอดอลแบบไม่ถึงขึ้นหน้ามืดตามัว ก็คงต้องรู้กันอยู่แล้วว่า ไอดอลเขาขายอะไร เขาไม่ได้ขายผลงาน ผลงานเป็นเพียงเครื่องมือในการขายตัวตนของไอดอลในฐานะไอดอล ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่เหมือนกับตัวตนของคนที่เล่นเป็นไอดอล
Hoshino Ai
เมื่อนั้น ความยุ่งยากก็คือ ผลงานที่แท้จริงคือตัวตนไอดอล ซึ่งเป็นสิ่งติดตัวกับเจ้าของผลงาน ทำให้ ผลงานและเจ้าของผลงานเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกัน คราวนี้ เราจะแยกแยะกันอย่างไร หรือจะต้องพิจารณาแบบวิธีการ ใส่หัวโขน ซึ่งก็ทำกันเป็นประจำในทุกตำแหน่งหน้าที่กันอยู่แล้ว ใช่ไหมละครับ อยู่ในบริษัท คนเป็นหัวหน้าก็ใส่หัวโขนเป็นหัวหน้า คนเป็นลูกจ้างก็ใส่หัวโขนเป็นลูกน้อง นอกเวลางาน ก็เป็นคนปกติ และจริง ๆ แล้ว เราสามารถแยกหัวโขนกับนักแสดงได้จริงหรือ
มันอาจจะต้องใช้ความเข้าใจในส่วนหนึ่ง อาจจะไม่ใช่การแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไร ตอนไหน แต่เป็นความเข้าใจว่าสองอย่างนี้แยกกันไม่ขาด เพราะสองอย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกัน ตอนที่ผมทำงานในมหาวิทยาลัยกับเพื่อน หรือในปัจจุบันที่เพื่อนมาปรึกษาผม ในฐานะที่ปรึกษา (หรือในหลาย ๆ ครั้งก็เป็นหมาหัวเน่าโดยสมัครใจ) ผมก็มักจะพูดว่า ตามหลักการแล้ว ควรจะทำอย่างหนึ่ง แต่ในฐานะเพื่อนของมึง กูคิดว่าควรจะทำอีกแบบ
ซึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะเป็นคำแนะนำที่ไม่เข้าหูเพื่อนคนนั้นเลย แต่ถามว่าเขาจะแยกออกหรือไม่ว่า ที่ให้คำแนะนำนั้นไปนั้นเป็นในฐานะที่ปรึกษาหัวเน่าคนหนึ่ง ผมก็คงคาดหวังไม่ได้ สุดท้ายแล้วเขาก็คงจะโกรธเคืองผม (ซึ่งยังไม่เคยถึงขั้นเลิกคบกันเป็นเพื่อน) แต่อย่างมากที่ผมทำได้ คือแยกตัวผมออกจากคำปรึกษาที่ผมให้ไป ทำให้เป็นกฎข้อแรกของที่ปรึกษาหัวเน่า คือ อย่าผูกมัดตนเองกับคำแนะนำเหล่านั้น คนที่มีหน้าที่เลือกไม่ใช่เรา แต่เป็นพวกเขา
แน่นอนว่าเมื่อฐานะหน้าที่และตัวตนแยกออกจากกันไม่ขาด ความเข้าใจที่ดีที่สุด คือ เรื่องเหล่านั้นคือเรื่อง “โกหก” และนั่นคือ “การแสดงความรัก” อย่างหนึ่ง ของเจ้าของผลงาน ซึ่ง โฮชิโนะ ไอ อธิบายไว้ได้อย่างจุกอก เมื่อไอพูดว่า เธอไม่กล้าพูดคำว่า “รัก” เพราะโกหกด้วยคำนั้นมานาน และกลัวว่าเมื่อเอ่ยคำนั้นไป ตนเองจะไม่เชื่อว่านั่นเป็นความจริง เป็นคำพูดที่ตรงใจผมมากอย่างบอกไม่ถูก คำว่ารัก พูดยากพอ ๆ กับ ขอบคุณ ขอโทษ และ Worcestershire Sauce
Worcestershire Sauce
ไอ เป็นไอดอลมืออาชีพ หรือก็คือ สิ่งที่คุณผู้จัดการกล่าวไว้ “นักโกหกอัจฉริยะ” ความเข้าใจของผู้บริโภคเองก็สำคัญไม่น้อย เราในฐานะผู้ชมที่ซื้อคำโกหกเหล่านั้นด้วยความยินดี และรู้ทั้งรู้ว่ามันคือเรื่องโกหก มันเป็นการแสดงที่ต้องอุทิศตัวตนของตัวเองทั้งชีวิต สิ่งที่กำลังทำ หรือสิ่งที่ทำในอดีต หรือสิ่งที่กำลังจะทำในอนาคต มีผลผูกพันเสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่คิดหรือครับ ว่าคนแบบนั้นจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในความหวาดกลัวขนาดไหน จะระมัดระวังตัวกันถึงขั้นใด
แต่จะให้เขียนต่อจากเรื่องนี้ จะเป็นเรื่องที่จริงจังเกินไปหน่อย เช่นเรื่องที่ว่า เราทุกคนในยุค Social Media ก็ไม่ต่างกัน และความหวาดระแวง Cancel Culture งั้นขอสงวนไว้ก่อนก็แล้วกันครับ
อย่างไรก็ตาม หากคนที่ติดตามอนิเมะเป็นประจำอยู่แล้ว แน่นอนว่าเรื่องนี้พลาดกันไม่ได้เลย และตั้งตารอตอนต่อไปอย่างใจจดใจจ่อ หากได้รับชมกันอยู่แล้ว ซึ่งก็คงเป็นเรื่องปกติเพราะมันพลาดไม่ได้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนแรกมันสุดยอดมาก ๆ และหากกังวลว่าเมื่อเรื่องดำเนินต่อไปมันจะแผ่วหรือไม่ ผมเข้าใจจากคนที่เคยอ่านมังงะมาว่าไม่ต้องกังวล ส่วนคนที่เคยอ่านมังงะมาแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าตอนแรกทำออกมาได้อย่างไม่น่าผิดหวังครับ
มองดาวสองดวงนั้นสิ!
สำหรับผม ที่ไม่เคยอ่านมังงะเรื่องนี้มาก่อน แม้ว่าจะพอเดาได้ว่ามันจะเศร้าแบบไหน และเตรียมตัวมาแล้ว ก็ยังเศร้าอยู่ เลยคิดว่า หากเคยอ่านมังงะมาแล้ว จะเท่ากับว่าจะต้องประสบความดิ่งนี้สองรอบเลยงั้นหรือ ไม่ไหวมั้ง แต่ผมก็ไม่คิดว่า นอกจากเรื่องเกี่ยวกับวงการมายาแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นที่น่าสนใจ เช่น เรื่องปริศนาต่าง ๆ และตกใจที่พระเอกของเรื่องมีความตั้งใจอะไรที่ได้อธิพลมาจากเหตุการณ์ในปฐมบทนี้
อความารีนและรูบี้ ที่ "เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ"
ตอนแรกยาวประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที มันเป็นเพียงปฐมบทแท้ ๆ ปูพื้นให้เนื้อเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น วางแก่นแรงจูงใจของตัวเอก ด้วยเนื้อหาและอารมณ์ที่เข้าถึงจิตใจของผู้ชม
ผมละกลัวเหลือเกินว่าเรื่องนี้จะแย่งตำแหน่ง Anime of the Year ของ Crunchyroll ไปจาก Bocchi the Rock ของสองฤดูกาลที่แล้ว (ที่ไม่ได้ถูก Nominate ในปีที่แล้ว แต่เลื่อนมาในปีนี้ พร้อมกับอนิเมะเรื่องอื่น ๆ ในฤดูกาลเดียวกัน เช่น Chainsaw man ด้วยเหตุผลอะไรสักอย่างไม่อาจทราบได้) อีกทั้งยังมี Hell’s Paradise ที่หลายต่อหลายคนยกย่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Oshi no Ko เป็นอีกหนึ่งอนิเมะที่น่าติดตามเรื่องหนึ่งของฤดูกาลนี้ครับ
Oshi no Ko
โฆษณา