21 เม.ย. 2023 เวลา 08:00 • สิ่งแวดล้อม

สิ้นสุด 6 ทศวรรษ พลังงานนิวเคลียร์เยอรมนี ปิดโรงงานไฟฟ้า 3 แห่งสุดท้ายของประเทศ

เยอรมนี เป็นประเทศที่มีแนวคิดต่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ค่อนข้างตรงกันข้ามกับหลายชาติมหาอำนาจของโลก ที่ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานนี้ โดยเฉพาะในสภาวะที่ราคาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้ายของเยอรมนียุติการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว นับเป็นการสิ้นสุดยุคนิวเคลียร์ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ
สำหรับพลังงานนิวเคลียร์เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้วในเยอรมนี ฝั่งที่ต้องการให้ยุติการพึ่งพาเทคโนโลยีที่พวกเขามองว่าไม่ยั่งยืน อันตราย และทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะโดนยื้อเวลาเอาไว้
ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มองว่าการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นสถานการณ์เพียงชั่วคราว พวกเขามองว่าเป็นการปิดเตาปฏิกรณ์ของแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำที่เชื่อถือได้ในเวลาที่จำเป็นที่จะต้องลดมลพิษ จะส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ขัดต่อแนวทางของโลกที่กำลังดำเนินไป
แม้ในขณะที่การโต้เถียงดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป และมีการเรียกร้องในนาทีสุดท้ายเพื่อให้โรงไฟฟ้ายังเดินเครื่องต่อไปท่ามกลางวิกฤตพลังงาน แต่รัฐบาลเยอรมันก็ยังยืนหยัดหนักแน่นที่จะปิดโรงไฟฟ้า
“จุดยืนของรัฐบาลเยอรมันชัดเจน พลังงานนิวเคลียร์ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ยั่งยืน” Steffi Lemke รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองผู้บริโภคของเยอรมนีและสมาชิกพรรคกรีน กล่าวกับสำนักข่าว CNN
“เรากำลังเริ่มต้นยุคใหม่ของการผลิตพลังงาน”
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลีย์ทั้ง 3 แห่งที่ยุติการเดินเครื่อง ได้แก่ Emsland, Isar 2 และ Neckarwestheim แสดงถึงจุดสูงสุดของแผนการที่เริ่มต้นเมื่อกว่ากว่าครื่งศตวรรษ
ในปี 1970 การเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ที่รุนแรงในเยอรมนีได้เกิดขึ้น จากกลุ่มผู้เห็นต่างมารวมตัวกันเพื่อประท้วงโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในตอนนั้น โดยกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุ และต่อความเชื่อมโยงกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดการก่อตั้ง "พรรคกรีน" ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสม
อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์กระตุ้นให้เกิดการต่อต้าน เช่นในกรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Three Mile Island ในเพนซิลเวเนียในปี 1979 และหายนะที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในปี 1986 ซึ่งก่อให้เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตภาพรังสีเข้าไปถึงพื้นที่บางส่วนของเยอรมนี
ในปี 2000 รัฐบาลเยอรมันให้คำมั่นที่จะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์และเริ่มปิดโรงไฟฟ้าต่างๆ แต่เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามามีอำนาจในปี 2009 ดูเหมือนว่านิวเคลียร์จะได้รับการผ่อนปรนในฐานะเทคโนโลยีเชื่อมรอยต่อช่วยให้ประเทศเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน
ในเดือนมีนาคม 2011 เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เครื่องของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิละลายและเกิดระเบิดอย่างรุนแรง จนสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่ธรรมชาติ สำหรับชาวเยอรมันหลายคนมองว่า ภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดของญี่ปุ่นคือเครื่องยืนยันว่า การรับรองว่า อุบัติเหตุจากนิวเคลียร์ในระดับใหญ่จะไม่เกิดขึ้น ไม่สามารถเป็นจริงได้ และไม่น่าเชื่อถือ
สามวันต่อมา นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ซึ่งเธอเป็นอดีตนักฟิสิกส์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์มาก่อน กล่าวสุนทรพจน์เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น "หายนะที่นึกไม่ถึงสำหรับญี่ปุ่น" และเป็น "จุดเปลี่ยน" ของโลก เธอประกาศว่าเยอรมนีจะเร่งยุติการใช้นิวเคลียร์ โดยปิดโรงงานเก่าทันที
อย่างไรก็ตาม การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้แผนการพลิกผันอีกครั้ง
ด้วยความกลัวต่อความมั่นคงด้านพลังงานหากไม่มีก๊าซจากรัสเซีย รัฐบาลเยอรมนีจึงชะลอแผนการปิดโรงงาน 3 แห่งสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2022 ขณะที่หลายฝ่ายกระตุ้นให้รัฐบาลทบทวนแนวคิดนี้ใหม่ เนื่องจากพลังงานยังมีราคาสูงและขาดแคลน
แต่รัฐบาลปฏิเสธและมีมติที่จะให้เดินเครื่องต่อไปจนถึงแค่วันที่ 15 เมษายนเท่านั้น
สำหรับผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ นี่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งชัยชนะ
พอล-มารี มานีแยร์ โฆษกของกรีนพีซกล่าวว่า นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้คนนับล้านที่ประท้วงนิวเคลียร์ในเยอรมนีและทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเยอรมนี มันไม่มีเหตุผลเลยที่จะปิดแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตสภาพอากาศทวีความรุนแรงขึ้น
ลีอาห์ สโตกส์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสภาพอากาศและพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา บาร์บารา กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องรักษาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีอยู่ให้ทำงาน ขณะเดียวกันก็เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
เธอกล่าวว่า ความเสี่ยงอย่างมากที่สุดคือ เชื้อเพลิงฟอสซิลเติมเต็มช่องว่างด้านพลังงานที่เหลือจากนิวเคลียร์ การลดพลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมนีตั้งแต่ฟุกุชิมะได้รับการชดเชยโดยการเพิ่มขึ้นของถ่านหินเข้ามาแทนที่
ตอนนี้เยอรมนีต้องหาวิธีว่า จะทำอย่างไรกับกากกัมมันตภาพรังสีระดับสูงที่อันตรายถึงชีวิต ซึ่งอาจยังคงเป็นอันตรายต่อไปอีกนับแสนปี
ปัจจุบัน กากนิวเคลียร์ถูกเก็บไว้ในคลังชั่วคราวถัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังปลดระวาง แต่การค้นหายังดำเนินต่อไปเพื่อหาสถานที่ถาวรที่สามารถจัดเก็บขยะได้อย่างปลอดภัยเป็นเวลา 1 ล้านปี
สถานที่เก็บต้องอยู่ลึกลงไปใต้ดินหลายร้อยเมตร หินบางประเภทเท่านั้นที่จะเหมาะสมในการรองรับกากเหล่านี้ เช่น หินแกรนิตผลึก หินเกลือ หรือหินดินเหนียว และจะต้องมีความเสถียรทางธรณีวิทยาโดยไม่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวหรือร่องรอยของแม่น้ำใต้ดิน
กระบวนการนี้น่าจะเต็มไปด้วยความซับซ้อนและยาวนานซึ่งอาจกินเวลานานกว่า 100 ปี
BGE บริษัทด้านการกำจัดกากกัมมันตภาพรังสีประเมินว่า สถานที่สุดท้ายจะไม่ถูกเลือกจนกระทั่งระหว่างปี 2046 - 2064 หลังจากนั้นจะใช้เวลาอีกหลายทศวรรษในการสร้างที่เก็บ เติมขยะ และปิดผนึก
คำถามคือ แล้วประเทศอื่นๆ ที่ใช้นิวเคลียร์กำลังทำอะไรอยู่?
ประเทศอื่นๆ มากมายกำลังเดินบนเส้นทางที่คล้ายคลึงกับเยอรมนี
- เดนมาร์กลงมติในทศวรรษที่ 1980 ที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
- สวิตเซอร์แลนด์ลงมติในปี 2017 ให้เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์
- อิตาลีปิดเตาปฏิกรณ์เครื่องสุดท้ายในปี 1990
- และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งเดียวของออสเตรียไม่เคยถูกใช้งาน
แต่ในบริบทจากสงครามในยูเครน ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นและแรงกดดันให้ลดมลพิษจากคาร์บอน ทำให้ชาติอื่นๆ ยังคงต้องการนิวเคลียร์ในการผลิตพลังงาน
สหราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในกระบวนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวในกลยุทธ์ด้านสภาพอากาศล่าสุดว่า พลังงานนิวเคลียร์มีบทบาท "สำคัญ" ใน "การสร้างพลังงานที่ปลอดภัย ราคาย่อมเยา และสะอาด"
1
ฝรั่งเศสซึ่งได้รับพลังงานจากนิวเคลียร์ประมาณ 70% กำลังวางแผนสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ 6 เครื่อง และฟินแลนด์เปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่เมื่อปีที่แล้ว แม้แต่ญี่ปุ่นที่ยังคงจัดการกับผลพวงของฟุกุชิมะ ก็กำลังพิจารณาที่จะรีสตาร์ทเตาปฏิกรณ์
สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน และในเดือนมีนาคม ได้เริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องใหม่ที่ชื่อว่า "Vogtle 3" ในจอร์เจีย ซึ่งเป็นเครื่องแรกในรอบหลายปี
สรุปปัญหาใหญ่ที่สร้างแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมด นั่นคือการทำให้เศรษฐกิจเติบโต โรงงานใหม่มีราคาแพงและอาจใช้เวลานานกว่าทศวรรษในการสร้าง แม้แต่ประเทศใช้พลังงานนิวเคลียร์อยุ่แล้วก็ยังมีปัญหาใหญ่ในการพัฒนาต่อ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และที่อื่นๆ มีอายุมากขึ้น โรงไฟฟ้ามีอายุการใช้งานประมาณ 40 - 60 ปี ขณะที่เยอรมนีได้เป็นอีกหนึ่งชาติที่ยุติยุคนิวเคลียร์
1
เยอรมนีวางแผนที่จะแทนที่ประมาณ 6% ของไฟฟ้าที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสามแห่งด้วยพลังงานหมุนเวียน แต่ยังรวมถึงก๊าซและถ่านหินด้วย
พลังงานมากกว่า 30% ของเยอรมนีมาจากถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุด และรัฐบาลได้ตัดสินใจที่จะหันไปใช้ถ่านหินเพื่อช่วยในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน
ในเดือนมกราคม ผู้ประท้วงรวมถึง Greta Thunberg รวมตัวกันที่หมู่บ้าน Lützerath ของเยอรมันตะวันตก ในความพยายามที่จะหยุดการขุดถ่านหินขึ้นมาผลิตไฟฟ้า โดยมองว่า ถ่านหินใหม่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศเรียกร้อง เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นตัวปัญหาต่อสภาพอากาศ และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นกัน เธอชี้ให้เห็น มลพิษทางอากาศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 8.7 ล้านคนต่อปี
เช่นเดียวกับ Veronika Grimm หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของเยอรมนีให้ความเห็นว่า การรักษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เดินเครื่องนานขึ้นจะทำให้เยอรมนีมีเวลามากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
แต่ผู้สนับสนุนการปิดระบบนิวเคลียร์โต้แย้งว่า นี่จะเป็นตัวเร่งการสิ้นสุดของเชื้อเพลิงฟอสซิลในที่สุดต่างหาก
เยอรมนีให้คำมั่นว่าจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายภายในปี 2038 โดยมีกำหนดเส้นตายในบางพื้นที่ในปี 2030 และมีเป้าหมายให้การผลิตกระแสไฟฟ้า 80% มาจากพลังงานหมุนเวียนภายในสิ้นทศวรรษนี้
ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของการใช้ถ่านหินในช่วงหลายเดือนหลังจากเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะ การปิดระบบนิวเคลียร์ได้ผลักดันพลังงานสะอาดครั้งใหญ่ ความเร่งด่วน และความต้องการนั้นสามารถเป็นสิ่งที่ผลักดันการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน
ตัวแทนของอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของเยอรมนีกล่าวว่า การปิดระบบนิวเคลียร์จะเปิดประตูสู่การลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น
“การยุติพลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมนีเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ถึงเวลาแล้วที่เราจะทิ้งยุคนิวเคลียร์ไว้ข้างหลังและจัดระเบียบยุคหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง”
ไม่ควรมองข้ามผลกระทบของพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน โดยผู้สนับสนุนชี้ไปที่มลพิษคาร์บอนที่เกิดจากการทำเหมืองยูเรเนียม ตลอดจนความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนด้านสุขภาพสำหรับคนงานเหมือง นอกจากนี้ยังสร้างการพึ่งพารัสเซียซึ่งเป็นผู้จัดหายูเรเนียมสำหรับโรงงานนิวเคลียร์
นิวเคลียร์ยังแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีความเปราะบางต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ฝรั่งเศสเองก็ถูกบีบให้ลดการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากแม่น้ำที่ใช้หล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ร้อนเกินไปในช่วงที่ยุโรปเกิดคลื่นความร้อนระอุ
1
โฆษณา