26 เม.ย. 2023 เวลา 10:49 • หุ้น & เศรษฐกิจ

First Republic Bank สะกิดแผล วิกฤตธนาคารสหรัฐฯ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนว่าวิกฤตศรัทธาภาคธนาคารสหรัฐฯจะเริ่มคลี่คลายและเป็นไปในทิศทางที่ดี หลังทางการเข้าให้ความช่วยเหลือและสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ฝากเงิน
จนกระแสเงินฝากได้ไหลกลับเข้าสู่ธนาคารขนาดเล็กอีกครั้ง และธนาคารที่ขอความช่วยเหลือจาก FED ได้เริ่มทยอยคืนเงินช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
แต่ล่าสุดสถานการณ์อาจไม่ได้ดูสดใสอย่างที่คิด
เมื่อธนาคารหลายแห่งเริ่มเปิดเผยงบการเงินไตรมาสหนึ่งออกมา ที่ถึงแม้ไม่ได้มีความเสี่ยงใหม่ๆเข้ามาสร้างความเจ็บปวดให้กับภาคธนาคาร แต่ความเจ็บปวดที่ได้รับกลับมาจากแผลเก่าที่กำลังจะแห้ง และได้ถูกสะกิดให้เลือดไหลซิบๆ อีกครั้ง ซึ่งเป็นตัว สะท้อนว่าปัญหาภาคธนาคารยังไม่จบ
โดยรอบนี้ศูนย์กลางของปัญหา คือ First Republic Bank (FRB) หนึ่งในธนาคารที่โดนหางเลขตั้งแต่ Silicon Valley Bank (SVB) มีปัญหาและโดนกระหน่ำถอนเงิน จนสถานการณ์ร่อแรและหลายคนคิดว่าไม่น่าจะรอดได้ แต่กลับพ้นจากอาการโคม่าและรอดมาได้อย่างหวุดหวิว และดูเหมือนว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ
จนกระทั้ง FRB ได้ทำการเปิดเผยว่า ในไตรมาสที่หนึ่ง เพียงไตรมาสเดียว เงินฝากหายไป กว่า เจ็ดหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ!
ซึ่งหากรวมเงินที่ธนาคารขนาดใหญ่ที่รวมกันลงขันอุ้ม FRB กว่าสามหมื่นล้านเหรียญฯ เข้าไปด้วย จะเท่ากับว่า เงินฝากของแบงก์หายไปกว่า แสนล้านเหรียญ!
จากฐานเงินฝากเดิมในปีก่อนที่ 1.7 แสนล้านเหรียญ ซึ่งนั้นแปลว่าเงินฝากที่หายไปทั้งหมดนั้นเกินกว่าครึ่งแล้ว! (ขนาด SVB เงินไหลออกไป 4 หมื่นล้านภายในวันเดียวก็ว่าแย่แล้ว)
นอกจากนี้สิ่งที่ตามมา คือ หุ้น FRB ที่ร่วงทันทีอีก 50% นับตั้งแต่ต้นปี จนราคาหุ้นน่าจะหายไปกว่า 90% แล้ว
ทำให้นักลงทุนคาดว่า ทางการอาจจะต้องรีบเข้าแทรกแซง เพื่อคลายความกังวลที่กลับมาปะทุอีกครั้ง จนอาจลุกลามไปยังธนาคารขนาดเล็กอื่นๆ และกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวมได้ (ขนาดเป็นวันที่งบหลายตัวออกมาดี แต่ตลาดยังโดนกระหน่ำได้ขนาดนี้)
  • รู้จัก First Republic Bank (FRB)
คราวนี้เรามาซูมเข้าไปรู้จักธนาคารแห่งนี้กันหน่อยดีกว่าครับ ว่าเขาเป็นธนาคารแบบไหน?
First Republic Bank เป็นธนาคารขนาดกลาง ที่มีสินทรัพย์รวมประมาณ 2 แสนล้านเหรียญ มีธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เน้นให้บริการกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ และปล่อยกู้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีภาพรวมการดำเนินงาน ดังนี้
1
  • 1.
    สินทรัพย์ลงทุนเพื่อลูกค้า 2.7 แสนล้านเหรียญ
  • 2.
    ผลการดำเนินงาน #ดีตลอด 37 ปี
  • 3.
    เงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ 11.3% (จากที่ต้องมีตามกฎ 8.5%)
  • 4.
    NPL ratio ต่ำแค่ 0.06%
เรียกว่าเป็นอีกธนาคารที่ดูเร็วๆ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่! สถานการณ์แบบนี้คุ้นๆ กันมั้ยครับ? ว่า FRB มีกลิ่นอายหลายๆ อย่าง คล้ายกับ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank (SBNY)
เริ่มที่ ประเด็นแรก คือ FRB เป็นธนาคารที่เติบโตเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีสัดส่วนของฐานเงินฝากที่มียอดฝากเกิน 250,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่ได้รับการประกันจาก Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ถึง 2 ใน 3!
ซึ่งธนาคารภูมิภาคที่มีสัดส่วนนี้สูงกว่านี้ คือ SVB กับ SBNY ที่โดนปิดไปพร้อมกันนั่นแหละครับ
ประเด็นที่สอง ความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย FRB นั่งทับการขาดทุนจากหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน (Hold to Maturity - HTM) อยู่ประมาณ 5 พันล้านเหรียญ จากทุนประมาณ 1.8 หมื่นล้านเหรียญ
ซึ่งแปลว่าถ้ามีคนมาถอนเงินพร้อมๆ กัน และธนาคารโดนบังคับขายสินทรัพย์เหล่านี้ อาจจะต้องบันทึกขาดทุน จนทุนสำรองที่ว่ามีเพียงพออาจจะไม่พอก็ได้
FRB จึงเป็นหนึ่งในธนาคารที่ อาการน่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ หากเราลองดูที่งบไตรมาสหนึ่งของธนาคาร จะพบว่า ปัญหาของ FRB น่าจะสะท้อนปัญหาของภาคธนาคารโดยรวม ในภาวะดอกเบี้ยขึ้นได้เป็นอย่างดี
จุดแข็งอย่างหนึ่งของธนาคารที่มีลูกค้าเงินฝากเยอะๆ คือ ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าตลาดค่อนข้างมาก เพราะหลายคนทิ้งเงินไว้ในบัญชี Checking ที่ไม่จ่ายดอกเบี้ยด้วยซ้ำ ต้นทุนการเงินของ FRB จึงต่ำกว่า 2% ในไตรมาสสี่ปีที่แล้ว
แต่เมื่อเงินฝากที่มีต้นทุนต่ำไหลออกจากธนาคารอย่างรวดเร็ว และทดแทนด้วยเงินกู้ยืมที่มีต้นทุนใกล้เคียงตลาด (ถ้ากู้จากธนาคารกลางดอกเบี้ยก็ 4.85% แล้ว!)
ทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยธนาคารกับดอกเบี้ยตลาดมีมากขึ้น
ซึ่งลูกค้าก็คงเอาเงินไปซื้อพันธบัตรระยะสั้น หรือ Money Market Fund ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
นั่นจึงยิ่งทวีแรงกดดันด้านต้นทุนทางการเงินของภาคธนาคาร ให้ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากธนาคารไม่บริหารความเสี่ยงเรื่องนี้อย่างเหมาะสม (เช่น ถ้าดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวไม่ได้)
และต้องมาประสบกับภาวะเงินฝากไหลออก ต่อให้มีเงินช่วยเหลือหรือกู้เงินได้ ธนาคารก็อาจจะขาดทุนเพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ดี
  • สรุปภาพรวมวิกฤตแบงก์สหรัฐฯ
ผมเชื่อว่า ปัญหาธนาคารสหรัฐฯ จะยังไม่จบ และอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น
ในส่วนของปัญหาความเชื่อมั่นและสภาพคล่อง ผมมองว่า ธนาคารกลางยังมีเครื่องมือในการบริหารจัดการและสร้างความเชื่อมั่นได้อยู่ และถ้าธนาคารขนาดใหญ่ยังไม่มีปัญหา โอกาสที่จะเกิดวิกฤตธนาคารแบบทั่วระบบน่าจะมีน้อยมาก
ตอนนี้เราคงต้องดูว่าจะมีอะไรที่เข้ามาเติมเชื้อเพลิงลามให้เกิดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ มากกว่าสถานการณ์พวกนี้ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ โดยเฉพาะปัญหาในสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์
"เมื่อน้ำลด ตอจะผุดตรงไหน จับตาดูกันดีๆครับ"
โฆษณา