26 เม.ย. 2023 เวลา 06:52 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

วิสัยทัศน์ KBTG “มนุษย์ x AI” โชว์ “คู่คิด by K-GPT” Generative AI ภาษาไทย

ไม่มีใครปฏิเสธว่าปัจจุบันโลกได้เข้ายุค The Age of AI แล้ว ซึ่งในบริบทของ AI สำหรับ KBTG คือ augmented intelligence เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาทำให้มนุษย์มีความฉลาดมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ในขณะที่มนุษย์เองก็ทำให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ฉลาดขึ้นเช่นกัน
KBTG ใช้ KBTG Kampus ยกระดับระบบนิเวศของ AI ในประเทศไทยร่วมกับพันธมิตร เพื่อสร้างให้เกิดความสามารถด้าน AI ภายใต้แนวคิด Human-AI Augmentation ใน 2 แกน คือ การสร้างเทคโนโลยีไปจนถึงผลิตภัณฑ์ และการสร้างองค์ความรู้ (AI Literacy และ AI Ethic)
ปี 2022 ที่ผ่านมา KBTG ร่วมมือกับ MIT Media Lab สร้างเทคโนโลยีผ่านการทำวิจัยร่วมกันเพื่อสร้างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่จะเสริมสร้างศักยภาพของคน ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า Future You มาในปี 2023 นี้ ได้ร่วมกันสร้าง K-GPT และ คู่คิด จนออกมาเป็น “คู่คิด By K-GPT”
สำหรับการสร้างองค์ความรู้ KBTG โฟกัสอยู่ 2 เรื่อง คือ Thailand AI-Augmented Literacy Guideline เพื่อให้คนไทยมีความรอบรู้ด้าน AI เพื่อไม่ให้คนไทยตกขบวนรถในยุค AI และ AI Ethic Awareness เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและรู้เท่ากันด้านมืดของ AI
วิสัยทัศน์ด้าน AI ของ KBTG
KBTG คาดการณ์และเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ The Age of AI มาตั้งแต่ปี 2019 ที่ประกาศการเป็น Cognitive Banking ที่ใช้เทคโนโลยี AI มาขับเคลื่อนธุรกิจธนาคาร ทำให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดดของผลิตภัณฑ์ของธนาคารกสิกรไทย ไม่ว่าจะเป็น K Plus ที่เติบโตแตะ 20 ล้านผู้ใช้งานด้วยยอดดาวน์โหลดมากกว่า 20,000 ครั้งต่อวัน รวมถึงจำนวนธุรกรรมที่เติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องนำมาซึ่งข้อมูลปริมาณมหาศาลที่จะเป็นธัญญาหารของการพัฒนา AI
ปัจจุบันภายใต้ KBTG มี 9 บริษัท มีพนักงาน 2,100 คน สิ้นปี 2023 จะมี 2,500 คน มีในไทย จีน และเวียดนาม กระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG กล่าวว่า การประกาศวิสัยทัศน์ด้าน AI ครั้งนี้เป็นการตอกย้ำบทบาทบริษัทเทคโนโลยีแห่งภูมิภาคเอเชียะวันออกเฉียงใต้ที่จะวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะให้บริการกับคนมากกว่า 100 ล้านคน
KBTG เริ่มทำ data-driven transformation ตั้งแต่ปี 2019 และทำ automation-first transformation และล่าสุดคือการทำ AI-driven transformation ด้วยการสร้างโรงงานผลิต AI model หรือ AI Factory เพื่อเร่งอัตราเร็วในการสร้าง AI ปัจจุบันกำลังเข้าสู่เวอร์ชัน 2.0 ไม่ว่าจะเป็น advanced data analytics ในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ และการทำการตลาดด้วยการใช้เทคโนโลยี
รวมถึงพัฒนา Thai NLP ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้บริการลูกค้าด้วยแชตบอท ทำให้กว่า 80% ของ Live Chat ของธนาคารกสิกรไทยมาจาก Thai NLP ช่วยประหยัดเวลาลูกค้าในการติดต่อธนาคารลง 300,000 ชั่วโมง
การพัฒนา AI ของ KBTG ได้รับมาตรฐานระดับสากล 2 มาตรฐาน คือ iBeta ซึ่ง KBTG เป็น 1 ใน 3 ของบริษัทในเอเชียที่ได้รับมาตรฐานนี้ และได้รับมาตรฐาน NIST (National Institute of Standards and Technology)
KBTG ร่วมมือกับ MIT Media Lab ตั้งแต่ต้นปี 2022 ปัจจุบัน KBTG เป็นบริษัทไทยบริษัทแรกและบริษัทเดียวที่เป็นสมาชิกใน MIT Reseach Consortium การเป็นสมาชิกทำให้ KBTG สามารถทำงานวิจัยร่วมกับ MIT Media Lab ของ MIT ได้ รวมถึงการสร้างทรัพยากรบุคคลร่วมกัน
ปัจจุบันมี KBTG Fellow คือ “พัทน์” ภัทร นุธาพร KBTG Fellow (นับเป็นคนไทยคนแรกในรอบ 23 ปีที่ได้เข้าเรียนระดับปริญญาเอกที่ MIT Media Lab) ที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนา AI ให้ KBTG ร่วมกับนักวิจัยท่านอื่น ๆ ที่ MIT Media Lab ย่างก้าวที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากวิสัยทัศน์ของ KBTG ที่ตระหนักรู้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคของ AI ด้วยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้น
การร่วมมือในครั้งนี้ KBTG ไม่ได้หวังเพียงประโยชน์ของบริษัท แต่ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับการพัฒนา AI ทั้งองคาพยพในประเทศไทย เพื่อให้เกิดระบบนิเวศการวิจัยและพัฒนา AI ในทุกมิติในประเทศไทย โดยเฉพาะสร้าง AI Talent
ด้วยการจุดประกายผ่านการจัดการงาน MIT Media Lab SEA Forum 2022 ที่ KBTG เป็นร่วมจัดงาน ผลของงานครั้งนี้สร้างอิมแพคที่ฝังลงลึกในเด็กไทยรุ่นใหม่ให้สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การทำงานร่วมกันมาตลอดหนึ่งปีเต็มทำให้เกิดผลงานวิจัยด้าน AI ที่มีความก้าวหน้า ทำให้ปี 2023 นี้ KBTG มีผลสำเร็จของการวิจัยที่ทำร่วมกับ MIT Media Lab
“เรากำลังเข้าสู่ยุค AI-First ยุคที่ AI จะเป็นอยู่ในทุกสิ่ง ในทุกแอปพลิเคชัน ทุกอุปกรณ์ (Dematerializing) และจะทำให้เงินหายไปจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม และทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการใช้ AI ซึ่ง KBTG ก้าวขาเข้าสู่ยุคนี้ตั้งแต่ปี 2019” กระทิง-เรืองโรจน์ กล่าว
คู่คิด by K-GPT
คู่คิด by K-GPT มี 2 นักวิจัยหลักคือ “พัทน์” ภัทร นุธาพร KBTG Fellow และนักศึกษาปริญญาเอกคนไทยที่ MIT Media Lab และ “ท่าน ขุน” กวิน วินสน Advanced Research Engineer จาก KBTG
พัทน์ เล่าวว่า งานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab ที่ตอนนี้เป็นเทคโนโลยีต้นแบบยังไม่ออกสู่การใช้ในสาธารณะ ตัวแรก คือ Future You ตัวล่าสุด คือ คู่คิด by K-GPT
Future You เป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่าง KBTG, MIT Media Lab, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ด เพื่อพัฒนา AI platform ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสนทนากับฝาแฝดดิจิทัล หรือ digital twin ของตัวเขาเองในอนาคตได้ การได้คุยกับตัวเองในอนาคตเป็นสิ่งที่น่าสนใจและสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับคน ๆ นั้นได้
Future You เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีจำลองตัวตนในอนาคตขึ้นมาด้วยการใช้ generative AI ที่เรียนรู้จากนิสัย ข้อมูล โปรไฟล์ และเป้าหมายของผู้ใช้งานคน ๆ นั้น เพื่อสร้างความทรงจำสังเคราะห์ โดยอาศัยทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า Future Self Continuity ที่เชื่อว่ายิ่งหากคนมองเห็นตัวเองในอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น คน ๆ นั้นจะมีพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน การเงิน สุขภาพจิต และคุณภาพชีวิต
คู่คิด by K-GPT เป็นโปรเจกต์ที่สอง ที่ได้แรงบันดาลใจจากการทำ Future You ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ อยากทำเทคโนโลยีด้าน advanced AI มาใช้ในบริบทภาษาไทย เริ่มต้นด้วยโมเดลพื้นฐาน general pretrained transformer หรือ GPT และใช้ 3 สิ่งเพื่อเทรน AI นี้
คือ ความเข้าใจบริบทภาษาและวัฒนธรรม (Language Specific Knowledge) ความเข้าใจในความรู้เฉพาะด้าน (Specific Domain Knowledge) เช่น ข้อมูลการเงินการธนาคาร เป็นต้น และความเข้าใจจิตวิทยาและพฤติกรรมของมมนุษย์ (Human-Centered Knowledge) เพื่อให้ AI สามารถเพิ่มศักยภาพและทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ จึงเรียกสถาปัยกรรมนี้ว่า Knowledge GPT หรือ K-GPT
ท่านขุน – กวิน นักวิจัยจาก KBTG ที่ทำงานอยู่ที่ MIT Media Lab กล่าวว่า ได้นำ K-GPT ไปทำวิจัยในหลายส่วน เริ่มจากงานวิจัย คู่คิด By K-GPT ที่ออกแบบให้ AI ที่ดีจะเป็นคู่คิดให้กับมนุษย์ เป็น AI thought partners โดยใช้ convesational agent 2 ตัว ชื่อ คะน้า (ช้างสีฟ้า)​ และ คชา (ช้างสีชมพู) ที่มาร่วมคิดร่วมกัน เพื่อเป็นเพื่อคู่คิดให้มุมมองในการคิดในเรื่องที่มนุษย์ร้องขอให้ช่วยคิด เป็นการให้มุมมองมากกว่าหนึ่งมุมมอง เพื่อขยายมุมมองความมคิดของผู้ใช้งานให้กว้างมากขึ้น
โดย คู่คิด By K-GPT พัฒนาโดยให้ คะน้า (ช้างสีฟ้า)​ และ คชา (ช้างสีชมพู) เข้าถึงข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ผ่านการตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลความมรู้ที่ถูกต้องและแม่นยำ และมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล ที่สำคัญได้พัฒนาบนหลักภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย เพื่อให้ผู้ใช้งานได้คุยกับแชตบอทตัวนี้ได้เหมือนกับการพูดคุยกับเพื่อนที่เป็นคนจริง ๆ
ที่นอกจากจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องต่าง ๆ แล้วยังมีความเข้าใจบริบทและวัฒนธรรมได้ดี ซึ่งจะทำให้คนมีความไว้ใจ เชื่อใจ และตั้งใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม หรือทำพฤติกรรมตามที่ได้คุย ตรงนี้เป็นตัวอย่างการทำ Human-AI Augmentation ระหว่าง KBTG กับ MIT Media Lab
“ที่ต้องมีแชตบอท 2 ตัว (คะน้าและคชา)​ เพื่อลดอคติของการให้ข้อมูลและความเห็น และเพื่อสร้างสมดุลในมุมมองให้กับผู้ใช้งาน เพื่อสร้างความหลากหลายมุมมองและความคิดเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม คนเดียวหัววหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนไปดาวอังคารได้”
คะน้า แทนคนที่มีจินตนาการสูง ชอบการผจญภัย มีความอยากรู้อยากเห็น กล้าแสดงออก ส่วนคชา แทน คนที่มีตรรกะดี มีระเบียบแบบแผน มีความระมัดระวังเรื่องความเสี่ยง เพื่อผสมความเป็นบู้และบุ๋น หรือหยินและหยาง เพื่อนำมาสู่ความคิดเห็นและมุมมมองที่มีความแตกต่างกันมาก ๆ โดยมีผู้ใช้งานอยู่ตรงกลางเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจและการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น
“คู่คิด By K-GPT ยังได้นำองค์ความรู้ของ Future You เข้ามาเสริมสร้างความทรงจำสังเคราะห์จากบุคลิกของคะน้า และคชา คะน้าและคชา จะข้าถึงข้อมูลความรู้ที่แม่นยำได้ตลอดเวลา มีความเข้าใจและมีความเป็นธรรมชาติของการใช้ภาษาไทย และมีการคัดกรองข้อมูลข้อความที่อ่อนไหวหรือประโยคที่ไม่เหมาะสม” ท่านขุนกล่าว
ช่วงนี้ KBTG เปิดให้ผู้ที่อยากทดลองใช้ คู่คิด By K-GPT ลงทะเบียนได้ที่ QR Code ในภาพด้านล่าง
ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ Principal Research Engineer, KBTG Labs สรุปถึงผลงานที่ KBTG ทำร่วมกับ MIT Media Lab ทั้ง 2 ผลงาน คือ Future You และ คู่คิด By K-GPT ว่า จากการทดลองเชิงลึก Future You (การสร้างตัวตนของคน ๆ นั้นในอนาคตขึ้นมาด้วยเอไอ เพื่อให้เกิดบทสนทนาระหว่างกัน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก แรงจูงใจเชิงบวก การคิดเชิงบวก และการตัดสินใจและการกระทำเชิงบวก)​ กับกลุ่มผู้ทดสอบจำนวนหนึ่ง
พบว่า พวกเขามีความรู้สึกว่า Future You สามารถให้คำแนะนำเชิงสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี นำไปสู่การพัฒนาด้านความคิดของมนุษย์โดยมี AI เข้ามาเสริมให้มีการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
ส่วน คู่คิด By K-GPT เป็นการผสานความสามารถของ large language model โดยมี 3 องค์ความรู้ที่กล่าวมาคือ ความเข้าใจบริบทภาษาและวัฒนธรรม ความเข้าใจในความรู้เฉพาะด้าน และความเข้าใจจิตวิทยาและพฤติกรรมของมมนุษย์ ซึ่งจากการทำ proof of concept พบว่า AI ช่วยให้คนตัดสินใจได้ดีขึ้น
“ซึ่งการทำวิจัยร่วมกับ MIT Media Lab จะนำไปสู่การใช้งานในอนาคตอันใกล้” ดร.มนต์ชัย กล่าว
เร่งสร้าง AI Literacy
หัวใจของระบบนิเวศของ AI ที่ประกอบด้วยหลากองค์ประกอบ อาทิ ฮาร์ดแวร์ ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน และความต้องการของลูกค้า คือ คนที่มีความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Talents และเป็นสิ่งที่ขาดสำหรับทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
ทุกการเกิดการปฏิวัติทางเทคโนโลยี คนจะกลัวว่าเทคโนโลยีใหม่นั้นจะมาแทนที่คน สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ วาทกรรมนี้เกิดขึ้นมามากกว่า 200 ปีแล้ว และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกนวัตกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาแทนที่คน แต่มาช่วยเสริมศักยภาพของคน และประสิทธิภาพในการทำงานของคนเพิ่มขึ้นมหาศาล มีการคาดการณ์ว่า AI จะทำให้ GDP ของโลกเติบโตขึ้น อย่างน้อย 7%
“AI จะไม่เข้ามาแทนที่คน แต่คนที่รู้จักใช้ AI จะแทนที่คนที่ไม่ใช้ AI แน่นอน”​ กระทิง – เรืองโรจน์ กล่าว
จุดนี้ทำให้ KBTG ลุกขึ้นมาจับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้าง AI Literacy เพื่อให้คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับ AI เพื่อให้ไม่ตกงาน แต่จะเพิ่มความสามารถให้ก้าวกระโดดในยุค The Age of AI ที่มนุษยชาติกับความเข้าอกเข้าใจมนุษย์ด้วยกันจะมีบทบาทสำคัญมากที่มนุษย์จะอยู่รอดได้ในยุค AI
“เราทุกคนต้องกลับเข้าไปเล่นที่สนามเด็กเล่นอีกครั้งหนึ่งไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไหร่ คุณจะต้องกลับเข้าไปเรียนอีกครั้งและต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะสิ่งที่เรียนรู้วันนี้ พรุ่งนี้ใช้ไม่ได้แล้ว บางเรื่องรู้เมื่อเช้า ตอนบ่ายก็ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะความรู้ถูกพัฒนาขึ้นใหม่และหมดอายุอยย่างรวดเร็ว”​ กระทิง – เรืองโรจน์ กล่าว
Thai AI-Augmented Literacy Guideline ถูกออกแบบมาเป็น 4C ของการศึกษายุคใหม่ที่มีมนุษย์และ AI เป็นศูนย์กลาง (Co-Imagine, Co-Exploring, Co-Thinking และ Co-Creating)​ เพื่อสร้างแนวทางการเรียนรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้กับคนในวงกว้าง เพื่อให้คนได้ใช้เอไอเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองด้วยการร่วมมือกับ AI ได้
“AI ไม่ได้ทำให้มนุษย์โง่ลง แต่ทำให้มนุษย์กลายเป็น super human เรากำลังสร้าง Human-AI super learner ความฝันของเรา คือ อยากเห็นเด็กไทยสามารถสร้างกระสวยอวกาศในอนาคตได้ ด้วยการทำงานร่วมกัยเอไอ ต่อไปเด็กอายุ 13 ปี หรือ 15 ปี สามารถสร้างโปรเจกต์ที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะเขาสามารถทำงานร่วมกับเอไอได้ตั้งแต่ Co-Imagine, Co-Exploring, Co-Thinking และ Co-Creating” กระทิง – เรืองโรจน์ กล่าว
KBTG ชวนพันธมิตรในประเทศไทยทุกภาคส่วนตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และสตาร์ตอัพมาร่วมสร้าง Thai AI-Augmented Literacy Guideline ร่วมกัน ซึ่ง KBTG กำลังพัฒนาร่างแรกร่วมกับ MIT Media Lab
“อนาคตของเด็กไทย คือ เขาจะต้องอยู่รอดให้ได้ในยุคเอไอ เขาต้องมี AI literacy เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องส่งต่อความพร้อมเหล่านี้ให้คนรุ่นถัดไป” กระทิง – เรืองโรจน์ กล่าว
นอกจากจะต้องเร่ง AI Literacy ให้เกิดขึ้นในวงกว้างของประเทศ การสร้างความตระหนักด้าน AI (AI Awareness) ให้กับคนไทย เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับ AI และใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญและะจำเป็นเร่งด่วน สำหรับผู้ที่สนใจในการพัฒนาต่อยอดเรื่องของ AI ในประเทศไทยร่วมกับทาง KBTG สามารถติดต่อได้ที่ co-innovation@kbtg.tech
โฆษณา