30 เม.ย. 2023 เวลา 16:29 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] Did you know that there’s a tunnel under Ocean Blvd-Lana Del Rey

อย่าลืมฉัน
🚨🚨FPFM’s Best New Album Alert 🚨🚨
-อุโมงค์ Jergins ใต้ถนน Ocean Boulevard เคยมีอยู่จริงและถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1927 เพื่อให้ประชาชนใน Long Beach, California สามารถสัญจรไปมาระหว่าง ตึก Jergins Trusts และชายหาดในละแวกนั้นอย่างปลอดภัย น่าเสียดายที่อุโมงค์ข้ามถนนแห่งนี้ถูกใช้สาธารณะประโยชน์เพียงแค่ 40 ปีเท่านั้น และถูกปิดลงในปี 1967 ที่ยกประวัติอุโมงค์ขึ้นมาโดยสังเขป เผื่อลดความข้องใจให้ตัวผมเองด้วย
-การเปรียบเปรยแบบพูดลอยๆแบบนี้ ซึ่งเป็นอะไรที่โคตรลาน่ามากๆ เปรียบเปรยในสิ่งที่คนปกติไม่หยิบมาพูดในวงสนทนา ออกจะเชยด้วยซ้ำเพราะเป็นแลนมาร์กที่ถูกลืมไปแล้ว ไอ้การช่างเปรียบเปรยแบบนี้กลับเพิ่มความพิศวงให้งานเพลงของเธอได้อย่างน่าฉงนสนเท่ห์
-จับสังเกต vibe แบบนี้ตั้งแต่ Chemtrails Over the Country Club ที่สร้างความงุนงงว่า ทำไมต้องไอพ่นเหนือสโมสรวะ? หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามถึงความมีตัวตนของ Norman Fucking Rockwell! การถูกครอบด้วยชื่ออัลบั้มแบบทิ้งปริศนาไว้กลับเปิดทางให้เราเชื่อมโยงเพื่อเข้าใจจนอดที่จะคิดไปไกลไม่ได้ สุดท้ายแล้วทฤษฎีที่เราทั้งหลายอุตส่าห์ตีความเพื่อเชื่อมโยงหัวแทบระเบิดแล้ว อาจจะไม่มีอะไรให้ต้องคิดไปไกลเลยก็ได้ ราวกับความรู้สึกของศิลปินดัน pop up ขึ้นมา แล้วอยาก capture ตามอารมณ์จนเป็นชื่ออัลบั้มอย่างที่เห็น
สำหรับใครที่อยากเห็นหน้าตาอุโมงค์เป็นอย่างไร เค้ามีเว็บไซต์ Virtual visit ให้ได้ดูเศษซากที่หลงเหลืออยู่ แถม tie-in เพลงของ Lana ไว้ด้วย ไม่เชื่อลองไปทัวร์สำรวจได้ที่ลิ้งค์นี้ >>> https://matterport.com/discover/space/zCabbaUfZqM
-แอบไปอ่านบทสัมภาษณ์ทั้ง Billboard, W Magazine และ Interview ที่ได้ Billie Eilish เป็นคนยิงคำถาม เลยได้เปิดมุมมองถึง process คร่าวๆเกี่ยวกับอัลบั้มนี้ที่เน้นไหลตามอารมณ์ อะไรที่แว๊บอยู่ในหัวก็ร้องอัดใส่ iPhone แล้วส่งให้คนอื่นนำไป reverb และ edit ต่อ
-ตัวอย่างเช่น Fingertips เพลงร่ายยาวแบบ automatic singing ที่เธออัดเสียงร้องในแอพ voice notes แล้วส่งให้โปรดิวซ์เซอร์ Drew Erickson ไปรังสรรค์ต่อ จนเกิดผลลัพธ์ที่โคตรออเครสตร้าอย่างที่ได้ยิน ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่บางทีเราแค่ใช้ความรู้สึกเหนี่ยวนำเข้าหาอัลบั้มโดยที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงสิ่งที่ตัวเองรู้มากน้อยร้อยแปดเพื่อเข้าถึงถึงแก่นสาส์นเลยก็ว่าได้
-มี fact นึงที่น่าสนใจคือการได้รับการจุดประกายจาก camera man ที่ไม่ได้เป็นนักดนตรีมืออาชีพอย่าง Mike Hermosa มาเป็นส่วนนึงในการรังสรรค์งานเพลง จุดเริ่มต้นเกิดจาก Mike เล่นเปียโนไปเรื่อยในห้องนั่งเล่น แล้วลาน่าเกิดติดใจเลยไปร่วมร้องแล้วอัดเสียงสดๆกันตรงนั้นเลย เมื่อรู้สึกสนุกและเริ่มติดใจจนนัดหมายกันร้องเล่นทุกวันอาทิตย์ จน Jack Antonoff (อีกแล้วครับท่าน) ได้รู้ข่าวว่าเธอซุ่มทำงานเพลงอยู่เลยขอเข้ามาข้องแวะใน process นี้จนได้ นับว่าเป็นหนที่ 3 ในการเป็นโปรดิวซ์เซอร์หลักคุมงาน
-ด้วยกระบวนการ “ร้องตามใจอยาก’ ในครั้งนี้ เราได้เห็นการแหวกว่ายไปมาระหว่างนิยามแห่งความรักและราคะในอัลบั้มชุดนี้อย่างสะดวกโยธิน เป็นการบาลานซ์ระหว่างสไตล์ปัจจุบันที่สุกสว่างกับบาปรักรสสวาทมุมมืดในยุคก่อน นั่นเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นแม่มดที่เลือกจะทำตัวตรงไปตรงมาในแง่มุมของความรักที่บางทีก็ต้องมีมุมอีโรติคและชอบเสี่ยงบ้าง
-การตัดรสด้วยรูทเบียร์ A&W ความยาว 7 นาทีกว่า ซึ่งเพลงนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับร้านอาหารหรือรูทเบียร์ชื่อดังเลยด้วยซ้ำ แต่มันคือเพลงที่หยอกเย้าความเป็น American Whore ผู้ติดเซ็กส์และบุหรี่โคเคนได้อย่างเคลิ้บเคลิ้มและ thrill ไปกับความบาปนี้ในเวลาเดียวกัน โคตรแพรวพราวในแง่ของการ transition จาก Folk Pop ไปสู่ Trap Beats ได้อย่างแนบเนียนจนน่าประหลาด และแน่นอนว่าผมชอบแทร็คนี้มากที่สุด
Your mom called, I told her, you're fuckin' up big time
A&W
-ทั้งนี้การแทรกด้วย Judah Smith Interlude ท่านบาทหลวงฝีปากกล้าชื่อดังแห่ง Churchome ที่ลาน่าเป็นสาวกของบาทหลวงท่านนี้ interlude ที่เราได้ยินก็เกิดจากการที่เธอถือ iPhone ไปอัดเสียงในโบสถ์นั้นจริงๆ ไม่ใช่คลิปเสียงจากคนอื่นแต่อย่างใด
-เราจะได้ยินเสียงซุบซิบและเสียงหัวเราะของลาน่าที่ถูก reverb อีกทีนึง เจือด้วยท่วงทำนองเปียโนบรรเลงโดย Jack เคล้าคลอเป็นแบ็คกราวนด์เพิ่มอารมณ์แห่งความโน้มน้าวในถ้อยคำปราศัยที่เล่นประเด็นความสับสนระหว่างความรักกับความใคร่ อันเป็นการสอดแทรกเรื่องจารีตศาสนาคริสต์เข้ากับตีมของอัลบั้มนี้พอดี
-การพยายามสารภาพบาปเพื่อให้หลุดพ้นจากบ่วงของราคะต่างๆนาๆ แต่ที่แกพูดมาทั้งหมดทั้งปวงดันสรุปรวบยอดด้วยความ “อ้าวเห้ย” ที่ว่า การที่ผมได้สวดให้พวกท่านดังที่กล่าวข้างต้นนี้แล้วพวกท่านต้องกดถูกใจนั้น เอาจริงผมก็สวดเอาดีเข้าข้างตัวเองไปงั้นแหละ ไอ้การแทรกด้วยปราศัยบทสวดแทนที่จะล้างความบาปจากเพลง A&W แต่กลับเพิ่มความพิศวงยิ่งขึ้นไปอีก มันมีคนแซว bad joke ด้วยนะว่า การต่อจาก A&W ด้วย interlude นี้ เหมือนกูตื่นไปโบสถ์ทันทีที่เมื่อคืนกูเพิ่งเป็นโสเภณีอเมริกาไปหมาดๆ
I used to think my preaching was mostly about You
And you're not gonna like this, but I'm gonna to tell you the truth
I've discovered my preaching is mostly about me
Judah Smith Interlude
-Candy Necklaces ยังคงมู้ดแอนด์โทนของความพิศวงหลงไหลอย่าง dreamy ในความคลั่งรัก ต่อให้เป็น toxic relationship ที่มันอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายในซักวัน แต่ก็ยังหลงไหลไปกับความสัมพันธ์อยู่อย่างนั้น ได้ Jon Batiste มาร่วมรังสรรค์บรรเลง จนแตกเป็น interlude แยกออกมาเป็นองก์เพื่อความต่อเนื่อง มาพร้อมกับอารมณ์ปลดปล่อยพร้อมกระชากสร้อยลูกปัดพันธนาการ
-Fishtail เปรียบเปรยถึงการที่หนุ่มตัวดีพยายามควบคุมตัวเธอด้วยการทำสิ่งที่ผู้หญิงต่างใจอ่อน เมื่อชายผู้เป็นที่รักได้ทำสิ่งๆนี้ นั่นก็คือ การถักเปียผม เนื่องด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจากการกระทำที่แล้วมา การเสนอหน้ามาทำอะไรแบบนี้ ช่างเป็นอะไรที่ประหลาดพิกลสิ้นดี ขับเคลื่อนด้วยท่วงทำนอง Trap สุดขมุกขมัว
-Let The Light In จำลองภาพความสัมพันธ์รักต้องห้ามของศิลปินสาวที่ยังโสดและชอบเสี่ยงไปตกหลุมรักศิลปินหนุ่มที่มีเมียอยู่แล้ว ด้วยความหวังลมๆแล้งๆในการขอแสงแห่งความหวังส่องทางให้ความสัมพันธ์ไปได้ไกลกว่าการเป็นชู้ข้ามคืน แต่ไอ้แสงที่ว่ากลับฉายให้ความลับที่แอบซ่อนถูกเปิดเผยจนได้ ดูเอ็ทร่วมกับพี่ Father John Misty มาเพิ่มความอดสูตามท้องเรื่อง
3
-ทั้งนี้ยังอาลัยอาวรณ์ความโดดเดี่ยวที่มีทั้งการกลัวถูกลืมในไตเติ้ลแทร็ค Did you know that there’s a tunnel under Ocean Blvd ที่อยากให้คนรักระลึกถึงเธอเพื่อไม่ให้ถูกลืมแบบที่อุโมงค์ Jergins ถูกใช้เป็นสาธรณะประโยชน์ได้ไม่นานนัก ทั้งๆที่มันเป็นประโยชน์และสถาปัตยกรรมในอุโมงค์งดงามพอตัว
-ซึ่งชื่อเก่าของเพลงนี้คือ Don’t Forget Me ซึ่งตรงกับชื่อเพลงของ Harry Nilsson ที่เป็นต้นแบบ inspriration ของเพลงนี้ แต่การตัดสินใจใช้ชื่อเพลงยาวแบบนี้นับว่าเหมาะเหม็งในการสร้าง question mark ดึงดูดความสนใจให้ผู้ฟังสงสัยใคร่รู้กันตั้งแต่ต้น
Harry Nilsson has a song, his voice breaks at 2:05
Something about the way he says "Don't forget me" makes me feel like
I just wish I had a friend like him, someone to give me five
Did you know that there’s a tunnel under Ocean Blvd
-Sweet เป็นการ hard sale ตัวเองด้วยการเคลมว่า เธอช่างแตกต่าง และสามารถจูงมือพาไปสู่ที่ๆใครไม่เคยพาไป ยอมทุกอย่างโดยไม่มีข้อแม้ ทั้งนี้ยังแอบประชด ถ้าหากอยากได้ผู้หญิง basic ก็ไปหาเองที่ Beverly Center แม่งเลย เป็นบัลลาดมู้ดเรียบนิ่งหยุดเวลาให้คนฟังมาหมุนรอบตัวเธอบ้าง
-Paris, Texas พรรณนาการออกไปเที่ยวข้ามเมืองเป็นการเปิดหูเปิดตาเพื่อการมูฟออน สุดท้ายก็ต้องกลับสู่ถิ่นของตัวเองเพื่อไปเริ่มต้นใหม่อยู่ดี เจือด้วยท่วงทำนองแซมเปิ้ล instrument เพลง I Wanted to Leave ของ SYML เป็นตัวขับเคลื่อนความอยากหนีออกไปตรงตามชื่อเพลง
-ตีมราคะ ความเหงา และความเสี่ยงในเรื่องที่ผิดบาปนั้นกลับเป็นมุมเล็กๆที่ร่ายอย่างสนุกปากก็เท่านั้น ตีมในอัลบั้มนี้เน้นให้น้ำหนักไปทางครอบครัวและคนใกล้ตัวเธอเสียมากกว่า เป็นการสร้างความสบายใจอย่างยิ่งยวดต่อเนื่องในการขับเคลื่อนความสุขจากคนรอบตัว ในขณะที่ Chemtrails Over the Country Club โฟกัสไปที่เพื่อนและมิตรภาพนอกครอบครัว
-เราเห็นความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติกันตั้งแต่แทร็คเปิดอัลบั้มอย่าง The Grants อันเป็นชื่อวงตระกูลของเธอ ในอินโทรทำให้เรารู้ว่านี่คือการซ้อมการอัดแบบธรรมชาติจริงๆ เป็นเพลง tribute ประจำวงตระกูลที่โคตรอบอุ่นในความพยายามจะ capture โมเมนต์ของคนใกล้ตัวเพื่อกุมมือไว้เผื่อโลกหน้าเลยทีเดียว คอรัสประสานเสียงปิดท้ายโคตรซาบซึ้งและงดงาม
-ถ้าสังเกตตรงท่อน I’m gonna take mine of you with me / Like “Rocky Mountain High,” the way John Denver sings ไม่ใช่แค่การคารวะเพลงดังของ John Denver เท่านั้น แต่ยังแอบแฝงการระลึกถึง David Grant ลุงของเธอที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีนเขาใน Colorado เพลง Fingertips ที่ร้องแบบด้นสดอย่างที่ได้เกริ่นถึง process ในย่อหน้าที่ผ่านมา สิ่งแรกที่เธอนึกถึงก็เป็นเรื่องครอบครัวเธอทั้งนั้น
-Grandfather please stand on the shoulders of my father while he’s deep-sea fishing เป็นการสวดภาวนาให้บรรพบุรุษคุ้มครองคุณพ่อของเธอเอง ชื่อเพลงเนี่ยไม่อยากจะนึก ฉากผีขี่คอเรื่องชัตเตอร์ลอยขึ้นมาเลย แต่เพลงไม่ได้ให้มู้ดหลอนชวนขนลุกแต่อย่างใด เต็มเปี่ยมไปด้วยบัลลาดสุด lift up ขับเคลื่อนด้วยแซมเปิ้ลเพลงบรรเลงที่ชื่อว่า Flo โดยนักเปียโนชาวฝรั่งเศส RIOPY
-Kintsugi อ้างอิงมาจากศาสตร์การซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่น สมานรอยแตกด้วยการหล่อทองคำและเงินเพื่อความเรียบหรู เปรียบเปรยกับการที่เธอได้รับการฮีลตัวเองจากคนรอบข้างจนดีขึ้นกว่าแต่ก่อน มวลของเพลงแลดูอบอุ่นโอบอ้อมอารีมากกว่าชวนฝันลวงตา ไม่มีความหลอกดาวปนแน่นอน
-อีกทั้งยัง reference quote ของ ท่าน Leonard Cohen ที่กล่าวไว้ว่า There is a crack, a crack in everything / That's how the light gets in ในเพลง Anthem ที่สื่อถึงความมีร่องรอยอันไม่สมบูรณ์แบบก็ยังดีที่จะมีแสงเล็ดรอดออกมาตกกระทบกลางใจให้ได้มีความหวังบ้าง
3
-ในเวลาไล่เลี่ยกันหลังจากอัลบั้มของลาน่าถูกปล่อยออกมา quote นี้ก็ถูกหยิบยกโดย Lucy Dacus เอาไปทำเพลงคารวะศิลปินระดับอาวุโสในโปรเจคต์ the record ของ boygenius ซึ่งเพจเราเพิ่งรีวิวไปเมื่อวีคที่แล้ว สามารถไปหาย้อนอ่านกันได้ สัจธรรมเกี่ยวกับแสงเล็ดรอดนี้ก็มีจุดเชื่อมโยงของอีกด้านแห่งความหวังอันแสนริบหรี่ในเพลง Let The Light In ที่กล่าวไว้ข้างต้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ต้องห้ามด้วย
-มาถึงหนึ่งตัวละครคนนอกครอบครัวคนสำคัญอย่าง Jack Antonoff ที่สนิทสนมเสียจนแต่งเพลงจิ้นเมียให้เอาไปใช้ในงานแต่งในเพลง Margaret ชื่อเดียวกับ Margaret Qualley คู่หมั้นคนปัจจุบันของพี่แจ๊ค เป็นโมเมนต์น่ารักๆในการได้เห็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับโปรดิวเซอร์ที่ได้เจอกันอย่างถูกชะตา แล้วมาปลดล็อกตัวเธอให้เฉิดฉายพลังบวกเป็นต้นมา ซึ่งลาน่าเองก็พยายามคะยั้นคะยอให้พี่แจ็คต้องร้องร่วมกับเธอให้ได้ (แน่นอนล่ะว่าเพลงนี้เพื่อเมียแกโดยเฉพาะ) การโหมโรงในท่อน Outro โคตรงดงาม
-สำหรับสองแทร็คสุดท้ายเป็นโมเมนต์แห่งการปล่อยตัวปล่อยใจ อยากทำอะไรก็ทำโดยที่ไม่ต้องยึดติดกับการเค้นความ original อะไรมากมาย เฉกเช่น Peppers เธอก็ขอใช้ท่อนฮุกเพลง Angelina ของแร็ปเปอร์สาว Tommy Genesis มาแซมเปิ้ลในท่อนฮุกเอาเสียเลย ประหนึ่งเป็นการเปิดคลอเพื่อประกอบ activity สนุกๆที่เธอพึงระลึกได้ระหว่างที่ด้นเพลงนี้เนี่ยแหละ
-ไม่ว่าจะเป็น ฟังเพลง Red Hot Chilli Peppers (อันเป็นที่มาของชื่อเพลง) การแก้ผ้าเต้นโดยไม่แคร์สายตาเพื่อนบ้าน การได้จูบแฟนหนุ่มที่ผลโควิดเป็นบวกในแบบที่ติดเชื้อก็ช่างแม่ง (ซึ่งเธอก็ไม่รอดตามระเบียบ)
-Taco Truck x VB เพลงปิดท้ายที่ผมขอนิยามในความ fan service โดยแบ่งเป็นสองพาร์ท Taco Truck ได้เห็นเธอละลายพฤติกรรมด้วยการร้องเพลงที่มีกลิ่นอายละติน อีกทั้งยังแอบตัดพ้อถึงการที่เธอโดนวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเนื้อเพลงที่ผ่านมาด้วย แต่ก็สัมผัสได้ถึงความโนสนโนแคร์แบบปล่อยผ่าน อยากเกลียดก็เกลียดไป
-ส่วนพาร์ทสอง VB เป็นการเซอร์วิสคนฟังด้วย Venice Bitch เวอร์ชั่นบีทสุดตึง กระตุกจิตกระชากใจยิ่งกว่า original version ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องสาย ย่นย่อจาก 9 นาทีกว่าเหลือเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น มีเสน่ห์คนละแบบ เวอร์ชั่นออริจินัลจะถูกใจสายนักฟังที่ซึมซับบรรยากาศแบบไหลกันยาวๆ ส่วนเวอร์ชั่น shortcut ก็โคตรคูล น่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่ในการรับรส tense แบบร่วมสมัยอยู่ไม่น้อย
-น่าจะเป็นอย่างที่ Billie Eilish เคยพูดไว้กับลาน่าใน interview ว่า “คุณแลดูสบายอกสบายใจขึ้นกว่าแต่ก่อน และแวดล้อมรอบด้วยคนดีๆเจ๋งๆมากมาย” ซึ่งมันส่งผลต่อ process ของการไม่ใส่ความกดดันหรือเค้นความพยายามในการยึดติดอะไรมากมาย ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งเหมือนกันในการตอกย้ำความเป็นนักร้องสาว Americana เจ้าบทเจ้ากลอนที่มีคลังคำและ pop culture ในยุคเรโทรที่เธอล่วงรู้อยู่ในหัวอีกมากมายจนสามารถพ่นในสิ่งที่ใครๆก็คาดไม่ถึงได้ ฟีลความพิศวงในความไม่รู้หรือตามไม่ทันคงบังเกิด ณ จุดนี้ก็เป็นได้
-ที่ผ่านมาลาน่าก็ยอมรับถึงการประดิษฐ์ประดอย wording ที่มากมายเสียจนไม่รู้จะประดิษฐ์ให้สวยหรูไปถึงไหนแล้ว อัลบั้มนี้เลยอยู่บนพื้นฐานความท้าทายในการไม่ต้องประดิษฐ์ประดอยแบบแต่ก่อน มีอะไรแว๊บขึ้นมาในหัวก็ร้องอัดใส่เลย การลองคิดอะไรแปลกๆดูบ้าง โดยไม่ต้องไปคิดแทนคนฟังมากนัก เราเลยได้เห็นชื่ออัลบั้มที่โคตรยาวและแปลกจนอดที่จะรู้สึก ”อะไรกันครับเนี่ย” ไม่ได้จริงๆ
-ถึงแม้ว่าผลงานชุดนี้ยังไม่ขึ้นหิ้งเทียบเท่า NFR ที่เรียบเรียงและจัดวางได้เป็นอย่างดีกว่า โดยเฉพาะความยาวโดยรวมอัลบั้มที่ดันเป็นปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคต่อคนยุคนี้เป็นอย่างยิ่งด้วย ซึ่งไอ้ความยาว 1 ชั่วโมงกว่ารอบนี้ สำหรับผม กลับไม่เป็นอุปสรรคในการย่อยเลยด้วยซ้ำ ออกแนวเพลิดเพลิน ชอบมากกว่าชุด Blue Banister เสียอีก ถ้าผมไม่ได้รู้ถึง process ที่เธอพยายามจะไม่คัดกรองแบบนี้ ผมคงตัดสินค่าของอัลบั้มนี้ต่ำกว่าที่ควรจริงๆ แต่เมื่อได้รู้ process ปุ๊บ ซูฮกเลยจ้าแม่
-อย่างไรก็ตาม ภายใต้ idea เหล่านี้ กลับเป็นความสบายใจอย่างยิ่งต่อคนที่ติดตามตัวเธอมาโดยตลอด ด้วยการยังรับรู้ว่าเธอมีความสุขและรู้สึกปลอดโปร่งกว่าที่แล้วมาจริงๆ เป็นการปลดล็อคอย่างต่อเนื่องที่ทิ้งเชื้อศักยภาพที่ยังเหลืออยู่ไม่จาง เข้าใจเข้าหา core fan เก่าด้วยรสมือที่คุ้นเคย ราวกับเธอรู้วิธี balance ความหม่นดั้งเดิมและห้วงอารมณ์แห่งความสุขยุคปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน
-น้อยคนมากที่จะทำได้แบบนี้ ผมเชื่อว่าลาน่าคือแม่มดที่ยังคงเหลือเวทย์มนตร์ในการรังสรรค์ความพิศวงให้ได้อิหยังวะต่อไปได้เรื่อยๆแน่นอน มันไม่ใช่แค่ตัวเธอที่ปลดล็อคได้ ยังมีคนรอบตัวเธอที่พร้อมเข้ามาช่วยปลดล็อคตัวเธอไปพร้อมๆกันด้วย
คนเหล่านั้นคงไม่ถูกลืมได้แน่นอน
Top Tracks : The Grants, Did You Know That There's a Tunnel Under Ocean Blvd, Sweet, A&W, Candy Necklace, Paris, Texas, Grandfather Please Stand on the Shoulders of My Father While He's Deep-Sea Fishing, Let the Light In, Margaret, Fishtail, Peppers, VB
Give 8.5/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา