2 พ.ค. 2023 เวลา 07:17 • ประวัติศาสตร์

ตำนานแร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์

เป็นที่รู้เห็นอยู่ทั่วไปว่าวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) และ วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดสุทัศน์) นั้นเป็นพระอารามหลวง ที่ได้รับความนิยมทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่ใครจะรู้ว่าในอดีตวัดที่กล่าวนี้นั้นมีเรื่องราวให้เป็นตำนานเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับ
แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)
วิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร
แร้งวัดสระเกศ
มาเริ่มกันที่ตำนานแร้งวัดสระเกศ สาเหตุมีมาจากเกิดโรคระบาดในปี ๒๓๖๓ หรือเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ตรงกับสมัยรัชการที่ ๒ เกิดโรคอหิวาตกโรค หรือไข้ป่วงใหญ่ หรือ "โรคห่า" (ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่าโรคห่านั้นไม่ได้หมายถึงโรคอหิวาต์อย่างเดียว ซึ่งคำนี้ให้หมายถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้นไม่ว่าสมัยใดๆที่ทำให้คนตายมากๆ)
ซึ่งโรคนี้ระบาดจากปีนังสู่สยาม ในคราวนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า ๓๐,๐๐๐ คน ประกอบกับธรรมเนียมสมัยนั้นห้ามเผาศพในเขตกำแพงเมือง จึงต้องนำศพทั้งหลายออกมาประกอบพิธีกรรมทางด้านนอก โดยประตูที่อนุญาตให้นำออกมาได้นั้นมีเพียงประตูเดียวคือ 'ประตูผี' ปัจจุบันไม่มีกำแพงหรือแม้แต่ประตูให้เห็นแล้ว อันเหตุมาจากการพัฒนาและการตัดถนนผ่านทำให้มีการรื้อถอนออกไป แต่ก็ยังมีชื่อให้ได้รับรู้มาถึงปัจจุบันนี้ว่าย่านประตูผี
รูปปั้นจำลองช่วงของระบาด
เป็นที่แน่นอนว่าวัดสระเกศอยู่ไกล้กับประตูผี ทั้งอยู่นอกกำแพงพระนคร จึงเป็นที่รวมของศพทั้งหลาย อีกทั้งในเวลานั้นจะหาฟืนมาเผาศพก็ยากลำบาก เนื่องด้วยไม่ทันต่อการเผา จึงมีการทิ้งตามที่ต่างๆไม่ว่าจะเป็นในวัดบ้าง ตามแม่น้ำลำคลองบ้าง จึงทำให้สถานที่นั้นๆมีแร้งมารวมตัวเพื่อกินซากศพมากมาย
เมื่อโรคได้ซาไปแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ ๓ โรคห่าก็ได้เวียนมาระบาดอีกครั้ง เมื่อปี ๒๓๙๒ เหตุการณ์นั้นเรียกว่า
ห่าลงปีระกา
ทำให้คนในพระนครและหัวเมือง ตายลงถึง ๑ ใน ๑๐ อีกทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ระบาดหนักอีกในทุกฤดูแล้ง เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จึงไม่แปลกเลยที่วัดสระเกศจะเต็มไปด้วยฝูงแร้งที่รุมเข้ามากินซากศพ
ว่าด้วยโรคห่านี้ ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด หรือ ไม่ว่าจะมีต้นเหตุจากที่ใด โรคอะไรไม่ว่าจะเป็น อหิวาตกโรค ฝีดาษ กาฬโรค ทุกมุมโลกในสมัยที่มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าเป็นปกติต่างได้รับผลแห่งภัยนี้ทั้งสิ้น แต่ด้วยวิทยาการและสาธารณสุขเจริญขึ้นโรคเหล่านี้ก็ต่างสามารถรักษาและบรรเทาได้ คงไม่ได้ตายอย่างง่ายเหมือนดังสมัยก่อนแล้ว ปัจจุบันนี้จึงแต่ต้องระวังโรคภัยใหม่ๆที่เฝ้าแต่จะอุบัติได้ทุกเมื่อ
เปรตวัดสุทัศน์
มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่า วัดสุทัศน์ในตอนกลางคืนนั้น (ในสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้) ที่นั่นมืดและน่ากลัวนัก คนที่อาศัยหรือผ่านไปมาต่างพบเห็นเปรตรูปร่างสูงใหญ่อยู่บ่อยครั้ง สร้างความหวาดกลัวไปทั่ว
ภาพใช้ประกอบเท่านั้น
หรือแม้กระทั่งการที่ผู้คนต่างลือไปว่าได้พบเจอกับเปรต จากคนที่ตกลงมาตายในการโล้ชิงช้าหน้าวัด
พิธีโล้ชิงช้า
แต่อย่างไรก็ตามทุกการบอกเล่าเหล่านี้ ก็ไม่อาจที่จะพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่ หรือ ต่างนึกหวาดกลัวจินตนาการกันไปเอง เรื่องราวเป็นอย่างไรตัวผู้เขียนเองก็ไม่อาจที่จะรู้ได้ เพราะเกิดไม่ทัน หรือแม้จะหาประจักษ์พยานคือคนสมัยนั้น มาให้คำตอบก็คงจะเกินวิสัย
แต่สาเหตุถึงการกล่าวเรียกที่มีน้ำหนักในตอนนี้นั่นคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงของวัดสุทัศน์ บริเวณเสาต้นที่สี่ของวิหารหลวง ทางด้านขวาของ "พระศรีศากยมุนี" พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
พระศรีศากยมุนี
ในจิตกรรมนั้นบอกเล่าเรื่องราวตามไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา เป็นเรื่องของ "กัญจิกาสูรเปรต" มีกายยาว ๑๒ โยชน์ นอนทอดกาย ได้รับทุกเวทนากระหายน้ำเช่นนี่มา ๑ พุทธันดร แม้มีพระสงฆ์ ๓๐ รูป ตักน้ำมาให้กินก็ไม่อาจที่จะดับความกระหายที่มีได้ เพราะน้ำไม่สามารถไหล่ลงคอเปรตตนนั้นได้เลย พระภิกษุจึงสังเวชใจ ได้แต่วางใจอุเบกขาแล้วให้เป็นไปตามกรรมเช่นนั้น
ภาพพระภิกษุตักน้ำให้กัญาจิกาเปรต,กาลกัญจิกาสุรกาย
แท้จริงแล้วเรื่องราวหรือสาเหตุเเห่งการกล่าวขานตำนานที่ว่าไปนี้จะมีสาเหตุมาจากสิ่งใด จริงแท้แค่ไหน แต่อย่างไรเรื่องราวเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องเตือนสติชั้นดี ว่าชีวิตของมนุษย์นี้ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ทั้งเรื่องของสังขารหรือโรคภัยเอง ประกอบกับให้เพียรสั่งสมคุณงานความดี ละเว้นกรรมชั่ว ตราบใดที่โลกเรานี้ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน อย่ายึดติดนักเลยกับสังขารทั้งปวง
โฆษณา