2 พ.ค. 2023 เวลา 13:56 • ธุรกิจ

ในตะกร้ามีไข่

เคยได้ยินได้ฟังมาว่า 'อย่าเก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว'
แต่หากฉันถามว่า คุณเคยเดิน จริงต้องมุดเข้าไปในเล้าเป็ด หรือโรงเรือนที่เลี้ยงไก่แบบบ้านๆไหม ไม่ใช่ฟาร์มนะ
เราต้องใช้ตะกร้าเพียงใบเดียวเท่านั้น เพราะมีเพียงสองมือ มือหนึ่งถือตะกร้า อีกมือก็คอยหยิบไข่จากพื้นหรือรังฉะนั้นคือต้องเก็บไข่และระมัดระวังเต็มที่ ไข่จึงปลอดภัย
ตามธรรมชาติของเป็ด ไก่ หรือนก เมื่อถึงเวลาออกไข่ มันก็วางไข่ในที่ๆของมัน คนเลี้ยงที่ชำนาญก็จะทำรังให้เฉพาะๆตัวไป ไข่ฟองแรกที่ออกมาเราจะยังไม่เก็บ รอไปอีกวันเพื่อให้มีไข่ออกมาอีกฟองจึงเก็บไป 1 ฟอง ถ้าต้องการไข่วันละหลายฟองก็เลี้ยงแม่ไก่แม่เป็ดเพิ่มให้หลายตัว ก็จะมีไข่หลายฟองให้กินให้ขาย เป็ดไก่จึงเป็นเครื่องมือสร้างเงินทำเงินให้คนเลี้ยง
สำหรับแม่ มีร้านข้าวแกง เป็นเครื่องมือสร้างเงินทำเงิน แต่เมื่อกำลังการผลิตไม่เพียงพอก็ต้องเพิ่ม คือหาคนมาทำงานเพิ่ม ในการคัดคนมาทำงาน แม่จะมีวิธีเป็นของตัวเอง และได้คนที่ต้องการ ง แม่มีวิธีบริหารจัดการคนและเงินอย่างไร
ทุกวันหลังจากขายสิ้นสุดลง ลูกน้องทุกคนจะทำหน้าที่ของตัวเอง ส่วนแม่จะตรวจนับเงินและบันทึกรายวัน พร้อมกันนั้นจะประเมินว่าวันต่อไป จะปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มลดอะไรอย่างไร
การเพิ่มหรือเปลี่ยนรายการอาหารแม่มักจะทำการสำรวจจากลูกค้า คือครูและนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งได้ผลตอบรับดีเสมอ ขายหมดไวไม่พอขายก็มี แต่ละสัปดาห์จึงมักจะมีเมนูใหม่ๆ 1-2 เมนู และจะหมุนเวียนกันไป
ในสมัยนั้นราคาขายข้าวราดแกงเริ่มต้นที่ 5 บาทมีกับข้าว 1 อย่าง ขนมหวานถ้วยละ 2 บาท เครื่องดื่ม 1 บาท น้ำพริกและผักฟรี น้ำเปล่าฟรี จะมีครูบางท่านให้ตักจัดเป็นชุดก็คิดเป็นเมนูๆไป เช่นข้าวเปล่า 3 บาท แกง 10 บาท ปลาทอด 10 บาท หมูหวาน 7 บาท ผัดผัก 7 บาท ซึ่งมีรายการราคาแสดงชัดเจน
ครูบางคนขอผูกปิ่นโตคิดกันเป็นรายเดือน ทานไปครบเดือนจึงจ่ายเงินก็มี
นักเรียนชั้นมัธยมปลาย(ม.ศ.4-5) ก็มีเช่นกัน บางคนผูกอาหารเฉพาะมื้อกลางวันเพราะไม่อยากมาทานพร้อมคนอื่น บางคนผูกอาหารมื้อเย็น และมีบางรายที่ผูกอาหารวันละสามมื้อตลอดสัปดาห์และจ่ายเงินล่วงหน้าด้วย
แม่เล่าว่ามีทุกรูปแบบ แม่รับได้หมด แม้กระทั่งไม่จ่ายเงินเลยเป็นปีๆก็มี โดยเฉพาะครูหนุ่มโสดๆ จนบางคนย้ายโรงเรียนไปแล้วเพิ่งจะนำเงินมาจ่ายก็มีเหมือนกัน
ที่แปลกใจของแม่คือ มีอดีตนักเรียนชายบางคนที่เรียนจบ ม.ศ.5 จากโรงเรียนแล้วเรียนจนจบปริญญามีหน้าที่การงานที่ดีทำ ได้พบเจอหน้ากับแม่ สารภาพว่า รอดมาได้เพราะข้าวราดน้ำแกงไข่เจียวร้อนๆของแม่ ซึ่งบางวันก็ไม่มีเงินจ่ายด้วย และเขาก็รีบควักกระเป๋าสตังค์นับเงินให้แม่จำนวนหนึ่ง ยกมือไหว้พร้อมกับบอกว่า 'ผมขอโทษนะครับป้า'
แต่ใครจะรู้บ้างว่า แม่มีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เงินจำนวนมากแค่ไหนในแต่ละเดือน
แม่มีวิธีบริหารจัดการเรื่องเงินง่ายๆคือ
1. หักเงินที่ลงทุนออกไปก่อน
2. ฝากธนาคารวันละ 100 บาทเป็นขั้นต่ำ
3. หยอดกระป๋องค่าแรงคนงานทุกวัน(คิดตามค่าแรงต่อวันต่อคน)และนำออกมาจ่ายตรงเวลาทุกวันสิ้นเดือน
4. ออมไว้เพื่อลงทุนฉุกเฉินหรือเป็นค่าซ่อมแซมต่างๆ
แม่จะมีสมุดบัญชีรายการบันทึกเอาไว้ และมีบัญชีการผูกอาหารหรือเงินเชื่ออีกหนึ่งเล่มแยกไว้ต่างหาก
เงินก็เหมือนไข่ในตะกร้า ที่เก็บมาแล้วก็ต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ก่อนที่มันจะเน่าหรือแตกเสียหาย
สำหรับแม่แล้ว การได้นับเงินเห็นเงินทุกวันทำให้หายเหนื่อย มีกำลังใจต่อสู้ต่อไป เหมือนคนเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ได้เก็บไข่ทุกวันก็มีความสุขหายเหนื่อยเช่นกัน
โฆษณา