3 พ.ค. 2023 เวลา 06:29 • ศิลปะ & ออกแบบ

“วันที่สามของเดือนพฤษภาคมปี 1808” โดยฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya)

ภาพ “วันที่สามของเดือนพฤษภาคมปี 1808” (The Third of May 1808) โดย ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) ศิลปินชาวสเปน ได้วาดภาพนี้ขึ้นเพื่อจารึกเหตุการณ์สังหารหมู่ในกรุงมาดริด วันที่ 3 พฤษภาคม ปี 1808 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคนธรรมดาที่ยอมพลีชีพเพื่อชาติ จากเหตุการณ์สงครามเพนินซูลา (Peninsula War) ปี 1808
1
สเปนต้องเผชิญหน้ากับทหารฝรั่งเศสของพระเจ้านโปเลียน แม้จะมีการลุกฮือหลายครั้งจากชาวสเปนแต่ก็ไม่เป็นผล ทหารฝรั่งเศสกองทหารของนโปเลียนได้รับคำสั่งในวันที่ 2 พฤษภาคมให้ประหารชีวิตชาวสเปนที่ก่อกบฏ เป็นเหตุให้นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพชาวสเปนถูกทหารฝรั่งเศสรวบตัว และสังหารหมู่ในที่สุด
การสังหารหมู่ชาวสเปนทำให้เลือดของพวกเขาไหลไปตามถนนในกรุงมาดริด โกยาสะเทือนใจต่อความน่าสะพรึงกลัวของสงครามอย่างมาก ภายหลังจากฝรั่งเศสถอนตัวออกไปแล้ว โกยาขอโอกาสจากรัฐบาลชั่วคราวให้เขาได้จารึกความกล้าหาญของชาวสเปนลงบนผืนผ้าใบ เมื่อคำขอของเขาได้รับอนุญาติ โกยาจึงเริ่มสร้างภาพวาดที่กลายมาเป็นภาพที่ยอดเยี่ยมตลอดกาล
จากภาพเราจะเห็นกองทหารฝรั่งเศสมากกว่าหกคนยืนเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ พวกเขาถือ และเล็งปืนไรเฟิลพร้อมที่จะยิงไปที่กลุ่มคนสเปนที่อยู่ตรงข้ามพวกเขา ชายชาวสเปนผู้หนึ่งเหยียดแขนออกเพื่อยอมจำนนทั้งต่อชะตากรรม ศพของพี่น้องชาวสเปนกองอยู่ที่เท้าของเขามีเลือดไหลเป็นทาง และยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่กำลังคุกเข่าอยู่บนพื้น สีหน้าของพวกเขาเต็มไปด้วยความกลัวเมื่อรู้ว่าอีกไม่ช้าจะต้องถูกประหาร
โกยาใช้เทคนิคไครอสคูโร (Chiaroscuro) เพื่อสร้างความต่างของแสงเงา เราสามารถเห็นใบหน้าของเหยื่อที่สว่างไสวด้วยแสงตะเกียง เขาวาดให้ทหารยืนอยู่ในความมืด เพื่อสื่อถึงการเป็นผู้กระทำความผิด เราไม่สามารถเห็นใบหน้าของผู้สังหารชีวิตคนบริสุทธิ์ได้ ชายชาวสเปนที่สวมเสื้อสีขาวยังได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นตัวแทนของพระเยซูจากท่าทางที่เขากางแขนออกคล้ายคลึงกับลักษณะของพระองค์ในการถูกตรึงกางเขน สื่อว่าชายผู้นี้กำลังเสียสละตัวเองเพื่อประโยชน์ของชาติด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ
ภาพ “วันที่สามของเดือนพฤษภาคมปี 1808” ของโกยายังส่งอิทธิพลต่อศิลปินชื่อดังอย่าง Édouard Manet เช่น ภาพวาด The Execution of Emperor Maximilian (1868–69) ภาพ Guernica (1937) และ ภาพ Massacre in Korea (1951) ของ Pablo Picasso ซึ่งล้วนเป็นภาพวาดทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการถูกประหารชีวิตจากสงคราม
Édouard Manet, The Execution of Emperor Maximilian, (1868–69)
Guernica by Pablo Picasso, 1937
Pablo Picasso, Massacre in Korea, 1951
ภาพ “วันที่สามของเดือนพฤษภาคมปี 1808” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกศิลปะอย่างมาก ทั้งยังมีองค์ประกอบในแง่การสื่อสารทางอารมณ์ของศิลปินที่มีต่อเหตุการณ์จริง และเป็นผลงานศิลปะยุคแรก ๆ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนแง่มุมความโหดร้ายของสงคราม ภาพวาดของเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวีรบุรุษผู้ต่อต้านสงคราม ไม่เพียงแต่ในประวัติศาสตร์ของชาวสเปน แต่ยังเป็นต้นแบบให้ศิลปินคนอื่นๆ ในการแสดงเรื่องราวความเสียสละของพวกเขาให้โลกได้รับรู้
-ซับศิลป์-
โฆษณา