7 พ.ค. 2023 เวลา 01:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

สมการคณิตศาสตร์ว่าด้วยจุดสุดยอด

#อธิบายละเอียดมาก
(เรียบเรียงโดย ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์)
“สัมผัสได้ถึงความรู้สึกสุขสมล้นปรี่ หัวใจรัวเร็ว กล้ามเนื้อทั่วตัวหดเกร็งอย่างเป็นจังหวะโดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย หูรูดตามที่ต่างๆ และอวัยวะเพศ จากนั้นจะเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายเหลือล้น” นี่คืออาการ “จุดสุดยอด” หรือ Orgasm ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามถอดประสบการณ์ส่วนบุคคล (และส่วนตั๊วส่วนตัว) ออกมาให้เป็นที่รับรู้กันได้ทั่วไป
1
ความรู้สึกและประสบการณ์นี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เรื่องราวทางเพศมีส่วนขับเคลื่อนสังคมมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ นักวิชาการหลากหลายแขนงต่างเข้ามาร่วมไขปริศนาและศึกษาเพศศาสตร์จนเกิดเป็นองค์ความรู้ในหลายแง่มุม แม้แต่นักคณิตศาสตร์ก็ได้ใช้ความเชี่ยวชาญที่ตัวเองมีเพื่อช่วยขยับขยายความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องเซ็กซ์ให้แก่มนุษยชาติมากขึ้น
2
กิจกรรมทางเพศของมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จกิจหนึ่งครั้ง เรียกว่า “วงจรการตอบสนองทางเพศ” (sexual response cycle) ซึ่งสองนักวิจัยด้านเพศศาสตร์ วิลเลียม มาสเตอรส์ (William Masters) และเวอร์จิเนีย จอห์นสัน (Virginia Johnson) ได้ศึกษาพฤติกรรมและสรีรวิทยาของมนุษย์ทั้งในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์และสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองรวมแล้วกว่า 10,000 ครั้งจากผู้เข้าร่วมวิจัยกว่า 600 คน
2
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1966 ทั้งคู่ได้สรุปความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางร่างกายในระหว่างที่มีกิจกรรมทางเพศออกมาเป็นสี่ระยะ ได้แก่ ระยะตื่นเต้น (excitement phase) ระยะคงตัว (plateau phase) จุดสุดยอด และระยะคลายตัว (resolution)
1
วงจรการตอบสนองทางเพศ” (sexual response cycle) ที่มา : Wikipedia
ทฤษฎีของมาสเตอรส์และจอห์นสันสามารถวาดออกมาเป็นกราฟได้โดยให้แกนนอนเป็นเวลา แกนตั้งเป็นความตื่นตัว (arousal) กราฟจะมีลักษณะคล้ายการขึ้นเขา ระยะตื่นเต้นทางขึ้นเขาจะค่อนข้างชัน สอดคล้องกับเจ้าหนูของคุณผู้ชายที่จะถูกปลุกให้ผงาดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจะเป็นที่ราบในระยะคงตัว
1
ช่วงนี้แม้จะมีการกระตุ้นต่อไปแต่ความตื่นตัวจะเพิ่มขึ้นไม่มาก จนในที่สุดก็จะได้ขึ้นสู่ยอดเขาแห่งความรู้สึกจุดสุดยอด แล้วความตื่นตัวก็จะลดลงอย่างรวดเร็วในระยะคลายตัว ซึ่งช่วงนี้เจ้าหนูจะอ่อนตัวลงและปลุกให้ลุกขึ้นมาทำภารกิจอีกครั้งได้ยาก
2
งานของมาสเตอรส์และจอห์นสันนี้ถือว่าเป็นการเปิดศักราชอย่างเป็นทางการของการศึกษาวิจัยเรื่องทางเพศของมนุษย์ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพราะช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คนในแวดวงแพทย์และนักวิจัยต่างมองว่าเซ็กซ์เป็นสิ่งน่ารังเกียจ (หึหึ)
4
ผ่านมาแล้วเกือบ 80 ปี แบบจำลองวงจรการตอบสนองทางเพศของทั้งคู่ได้รับการปรับปรุงมาโดยลำดับ รวมทั้งยังมีหลักฐานจากศาสตร์แขนงอื่นๆ มาช่วยอธิบายหนุนเสริม จนเรียกได้ว่าเป็นคำอธิบายหลักว่าด้วยกิจกรรมทางเพศของมนุษย์เลยก็ว่าได้ และคราวนี้ก็ถึงคราวนักคณิตศาสตร์ออกโรง
นักคณิตศาสตร์ใช่ว่าจะสนใจแต่เรื่องราวและภาษาสัญลักษณ์ยากๆ ที่น้อยคนจะเข้าใจ กลุ่มที่ทำงานด้านการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์นั้นพยายามอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งในโลกกายภาพและโลกชีวภาพด้วยตัวแปรและตัวเลข เพื่อสร้างกฎทั่วไปของธรรมชาติและช่วยทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากค่าตัวแปรเปลี่ยนแปลงไป
ทีมนักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ (Sussex University) นำโดยดร.ยูลิยา คริชโค (Yuliya Krychko) และดร.คอนสแตนติน ไบลยูส (Konstantin Blyuss) ประสบความสำเร็จในการกันสร้างสมการทางคณิตศาสตร์ขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายปัจจัยที่จะนำไปสู่การถึงจุดสุดยอด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในวงการวิทยาศาสตร์เลยทีเดียว ทั้งคู่อาศัยความเชี่ยวชาญและชุดข้อมูลที่เคยสร้างไว้เกี่ยวกับงานระบาดวิทยาและภูมิคุ้มกันมาประยุกต์ใช้กับงานทางเพศศาสตร์
5
ดร.ยูลิยา คริชโค (Yuliya Krychko) และ ดร.คอนสแตนติน ไบลยูส (Konstantin Blyuss)  กับ ระบบสมการจุดสุดยอด ที่มา : https://www.eurekalert.org/multimedia/980670
หมายเหตุเอาไว้ก่อนว่า งานนี้สนใจไปที่การตอบสนองทางเพศของผู้ชายเป็นหลัก สาเหตุเพราะรูปแบบการตอบสนองทางเพศของผู้หญิงนั้นซับซ้อนกว่า ทั้งในเรื่องความต้องการสิ่งสิ่งกระตุ้นที่แตกต่างกัน และการถึงจุดสุดยอดได้หลายๆ ครั้งได้ต่อเนื่องโดยที่ไม่มีระยะคลายตัว
1
“ก่อนหน้านี้นักวิจัยต่างพยายามสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ว่าด้วยกระบวนการทางสรีรวิทยาตั้งแต่เริ่มตื่นตัวจนถึงจุดสุดยอด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ” ดร.คอนสแตนตินกล่าว
2
ความลับอยู่ที่การเพิ่มปัจจัยทางจิตวิทยาเข้าไปในสมการ การนำข้อมูลจากงานวิจัยก่อนหน้าด้านประสาทวิทยาศาสตร์มาสร้างเป็นตัวแปรใหม่เข้าไป
2
เป็นที่รู้กันดีว่าจินตนาการไม่ว่าจะก่อนหรือระหว่างมีกิจกรรมทางเพศเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่จะทำให้ไปถึงฝั่งฝัน แต่ถ้ามากเกินไป เช่น การต้องคิดไปถึงเรื่องท่วงท่าลีลา คำพูดที่จะใช้ และความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย อาจกลายเป็นความวิตกกังวลและทำให้น้องชายหดตัว ความคิดดังกล่าวถือเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่ส่งผลลบต่อการไปถึงจุดสุดยอด
4
นักคณิตศาสตร์คู่นี้ยังนำข้อมูลจากงานวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ก่อนหน้ามาใช้ร่วมสร้างสมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลจากการสแกนสมองของอาสาสมัครผู้ชายขณะสำเร็จความใคร่จนถึงจุดสุดยอดด้วยเครื่อง functional magnetic resonance imaging (fMRI) และ positron emission tomography (PET) ซึ่งพบว่าสมองหน้า ส่วนกลีบขมับ และส่วนอะมิกดาลา ลดระดับการทำงานลง สมองสามส่วนนี้ทำงานเกี่ยวข้องกระบวนการคิดและความรู้สึกวิตกกังวล
1
เครื่อง positron emission tomography (PET) ที่มา : Wikipedia
เห็นได้ว่าสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับปัจจัยทางจิตวิทยา ดังนั้นทางที่ดีคือการปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอารมณ์ ประมาณว่า Let it go แล้วให้กระบวนการบนเตียงดำเนินไปตามจังหวะของมัน
ผลลัพธ์คือระบบสมการที่มีตัวแปรหลักได้แก่การเร้าอารมณ์ทางสรีรวิทยา การเร้าอารมณ์ทางจิตวิทยา และแรงกระทำจากภายนอกที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ซึ่งเมื่อค่อยๆ แทนค่าตัวแปรออกมาแล้วจะได้กราฟที่หน้าตาคล้ายคลึงกับที่มาสเตอรส์และจอห์นสันเสนอไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966
1
สิ่งที่ได้จึงไม่เพียงแค่ชุดสมการสวยงาม แต่คือการระบุตัวแปรและค่าของตัวแปรต่างๆ ที่เหมาะสมที่จะพาให้ผู้ชายไปถึงจุดสุดยอดได้ในทางทฤษฎี โดยดร.คอนสแตนตินพูดถึงสมการของเขาด้วยภาษาของมนุษย์ปุถุชนว่า “การกระตุ้นทางจิตวิทยาที่มากเกินไปในช่วงต้นจะไปยับยั้งการขึ้นสู่จุดสุดยอด พูดง่ายๆ แบบรวบรัดก็คือ ‘อย่าไปคิดมาก’”
2
สมการที่จะพาไปถึงฝั่งฝัน
นอกเหนือจากการแข็งตัวด้วยความตั้งใจที่จะไปให้ถึงจุดสุดยอด ยังมีช่วงเวลาอื่นๆ และปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้เจ้าหนูของสุภาพบุรุษทั้งหลายกลายเป็นมังกรผงาดได้แม้จะไม่ได้อยากให้เป็นแบบนั้น เช่น การแข็งตัวระหว่างวัน การแข็งตัวตอนนอนหลับและเช้าตรู่ รวมถึงการฝันเปียก การแข็งตัวโดยไม่ตั้งใจ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ นักคณิตศาสตร์คู่นี้จึงใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ว่าด้วยการสุ่ม (stochasticity) มาใช้ปรับสมการ
2
นักคณิตศาสตร์ทั้งสองพบว่าเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศจนถึงจุดคงตัว จริงๆ แล้วเราต้องการแรงกระตุ้นทั้งทางสรีรวิทยาหรือทางจิตวิทยาอีกเพียงนิดเดียวก็จะทำให้ถึงจุดสุดยอดได้
1
สมการชุดนี้จึงนำมาใช้อธิบายได้ว่าทำไมเราถึงฝันเปียกหรือถึงจุดสุดยอดขณะนอนหลับได้ทั้งๆ ที่แทบไม่มีแรงกระตุ้นทางเพศเลย ทั้งยังอาจนำมาปรับใช้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังจนมีปัญหาเรื่องของการไปถึงจุดสุดยอด เพราะสมการได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การกระตุ้นทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียวก็สามารถพาให้บุรุษไปถึงฝั่งฝันได้เช่นกัน
1
และไม่ใช่แค่กับคนมีสุขภาพดี ใครที่มีอาการนกเขาไม่ขัน (erectile dysfunction) ก็จะได้รับผลพลอยได้จากระบบสมการนี้ด้วย เพราะคณิตศาสตร์ทำให้เราเข้าใจความสำคัญของค่าตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการตอบสนองทางเพศของผู้ชายมากขึ้น นักให้คำปรึกษาและแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศก็จะได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดและการรักษาในอนาคต
“ด้วยองค์ความรู้จากการศึกษานี้ เราตั้งใจที่จะสร้างสมการว่าด้วยการตอบสนองทางเพศของผู้หญิงต่อไป ซึ่งซับซ้อนกว่าของผู้ชายมากๆ ทั้งทางด้านสรีรวิทยาและคณิตศาสตร์” ดร.ยูลิยาปิดท้าย
1
โฆษณา