Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิเคราะห์บอลจริงจัง
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
16 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • กีฬา
จ่ายเงินโอนสัญชาติเพื่อคว้าแชมป์ ดราม่ากัมพูชาในซีเกมส์
ดราม่าใหญ่อีกหนึ่งเรื่องในซีเกมส์ครั้งนี้ นั่นคือเจ้าภาพกัมพูชา ทำการ "โอนสัญชาติ" นักกีฬาจากนานาประเทศทั่วโลก มาช่วยแข่งขันในนามกัมพูชาให้หน่อย เพื่อเป้าหมายเดียวคือการคว้าเหรียญทองให้ได้มากที่สุด
2
ตัวอย่างเช่น ในบาสเกตบอล ประเภท 3x3 กัมพูชา โอนสัญชาติ 3 นักบาสชาวสหรัฐฯ ได้แก่ ซายีด พริดเจ็ตต์ (196 ซม.), แบรนดอน ปีเตอร์สัน (203 ซม.) และ ดาร์ริน ดอร์ซีย์ (188 ซม.)
1
คือพวกนี้ ไม่เก่งพอจะเล่นใน NBA และไม่เก่งพอจะติดทีมชาติสหรัฐฯ แต่ถ้าเทียบกับระดับอาเซียน พวกเขาก็ถือว่าเก่งเกินพอ
1
ในรอบชิงชนะเลิศ บาสชาย 3x3 ปรากฏว่า กัมพูชาเจอเต็งแชมป์ ฟิลิปปินส์ ราชาบาสเกตบอลในย่านนี้ ผลลัพธ์คือด้วยคุณภาพผู้เล่นที่อิมพอร์ทจากอเมริกา ทำให้กัมพูชาเอาชนะสบายๆ คว้าเหรียญทองไปอย่างไม่มีปัญหา
หรือในแบดมินตัน กัมพูชาอิมพอร์ทผู้เล่นจากจีน ชื่อเจ้า เหม่ง แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นฉาน เหม่ง ก่อนที่ฉาน เหม่งคนนี้ จะลงเล่นคู่ผสม คว้าเหรียญทองให้กัมพูชาได้สำเร็จ
อีกหนึ่งกีฬาที่มีดราม่า คือ ไตรกีฬาหญิง เจ้าของเหรียญทอง 3 สมัย เป็นผู้เล่นฟิลิปปินส์ ชื่อ คิม มันโกรแบง แต่คราวนี้เธอต้องพลาดเหรียญทองสมัย 4 เพราะกัมพูชาส่ง นักกีฬาโอนสัญชาติชาวฝรั่งเศส มาร์กอง การาเบเดี้ยน ลงแข่งขัน และคว้าเหรียญทองไปแบบสบายๆ
รวมถึงยูโด ที่กัมพูชาโอนสัญชาตินักสู้ชาวยูเครนมาอีก 2 คน มวยโอนสัญชาตินักชกอุซเบกิสถาน ฯลฯ
จะสังเกตได้ว่า ในซีเกมส์หนนี้ เกิดเหตุการณ์ที่กัมพูชาคว้าตัวต่างชาติมาใช้งานในหลายชนิดกีฬามากๆ
และนี่คือเหตุผลที่ทำให้กัมพูชาได้เหรียญทองทะยานอย่างรวดเร็ว ในตารางเหรียญรวม
ขั้นแรก เราต้องคุยกันเรื่องความถูก-ผิดก่อน
ในข้อเท็จจริงนั้น การโอนสัญชาติผู้เล่นแบบที่กัมพูชาทำ ไม่ผิดกติกาอะไรทั้งสิ้น เพราะในซีเกมส์ เราจะไม่สนใจว่า นักกีฬาจะมีเชื้อชาติอะไร เราจะสนใจแค่ "สัญชาติ" เท่านั้น
ถ้าหากกัมพูชา ให้สัญชาตินักกีฬาอย่างถูกต้อง แล้วถ้าตัวนักกีฬาก็เต็มใจพร้อมรับใช้ประเทศกัมพูชา ใครจะไปว่าอะไรได้
นักกีฬาบางคน เป็นผู้เล่นระดับกลางๆ เป็น nobody ในประเทศตัวเอง แต่เมื่อได้รับข้อเสนอจากประเทศเล็กๆ อย่างกัมพูชา ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งความสำเร็จ พวกเขาก็ไม่ลังเลใจ พร้อมตอบรับคำเชิญทันที
1
จริงๆ แล้วในวงการกีฬา การโอนสัญชาติ มีให้เห็นเป็นปกติมากๆ
ผู้เล่นบางคน ไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดอะไรทั้งสิ้น กับประเทศ A แต่ก็ยอมย้ายไปเล่นให้ประเทศ A ถ้าข้อเสนอทุกอย่างลงตัว
เอดูอาร์โด้ ดา ซิลวา นักฟุตบอลชาวบราซิล แต่เล่นให้ทีมชาติโครเอเชีย , เอ็มมานูเอล โอลิซาเดเบ้ เป็นคนไนจีเรียแต่กำเนิด แต่เล่นให้กับทีมชาติโปแลนด์ หรือ โรโร่ กองหลังที่เกิดในโปรตุเกส ไปเล่นให้ทีมชาติกาตาร์
1
ดังนั้นการใช้นักกีฬาโอนสัญชาติ หรือที่เราเรียกกันว่า Naturalization เอาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะกีฬาในโลกใบนี้ ยึดถือแค่ "สัญชาติ" ไม่ใช่ "เชื้อชาติ"
ในมุมหนึ่งคุณต้องให้เครดิตกับทีมงานของกัมพูชาด้วยซ้ำ ที่ไปเกลี้ยกล่อมผู้เล่น ที่ไม่เคยเกี่ยวพันกับกัมพูชามาก่อน ให้ยอมรับข้อเสนอ และลงแข่งขันในนามทีมชาติกัมพูชาได้ ทักษะการดีลถือว่าไม่ธรรมดา
2
คำถามแรก ทำได้ไหม? คำตอบของผมคือ ทำได้ ในเมื่อมันไม่มีข้อห้ามอะไร หรือกำหนดจำนวนว่าโอนสัญชาติได้กี่คน
ส่วนคำถามที่สองคือ แล้วควรทำไหม? คำตอบของผมคือ ถ้ากัมพูชาต้องการได้เหรียญอย่างฉับพลัน นี่ก็เป็นทางเลือกที่เข้าใจได้ เอาตัวต่างชาติมาเยอะๆ เพื่อช่วยโกยเหรียญก่อน
แต่ถ้าต้องการพัฒนานักกีฬาในประเทศ ให้ก้าวไปสู่ระดับนานาชาติได้ในระยะยาว นี่ไม่ใช่วิธีที่ดีเลย
ลองคิดดูว่า นักกีฬาดาวรุ่งในประเทศ จะไม่มีโอกาสลงแข่งขัน และเก็บประสบการณ์ในทัวร์นาเมนต์ใดๆ ทั้งนั้น เพราะตัวโอนสัญชาติ ที่มีสถิติดีกว่า ก็ย่อมแย่งโควต้าไปหมด
แล้วแน่นอน ถ้าไม่มีทัวร์นาเมนต์ให้ลงแข่ง นักกีฬาดาวรุ่งเหล่านั้น เขาจะเก่งขึ้นได้อย่างไร
แล้วพอนักกีฬาท้องถิ่นไม่เก่ง กัมพูชาก็จะไปหาตัวโอนสัญชาติมาใช้งานอีก มันก็จะวนลูปนี้ซ้ำๆ เรื่อยๆ
นักกีฬาที่อยากจะ Naturalization แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ก็ทำเพื่อเงินทองอยู่แล้ว พวกเขาไม่ได้มีความรู้สึกภูมิใจ ในความเป็นกัมพูชาขนาดนั้น เหมือนคนมารับจ๊อบ ทำภารกิจเสร็จก็กลับ
1
แล้วแบบนี้ คนในประเทศจะเอาอะไรมาภูมิใจ โอเค มันอาจจะชนะประเดี๋ยวประด๋าว แต่ในระยะยาวล่ะ คุณจะไม่ดันผู้เล่นที่เป็นชาวกัมพูชาจริงๆ ขึ้นมาเลยหรือไง
1
จริงๆ แล้วเท่าที่ผมสังเกต เรื่องการโอนสัญชาตินั้น ในเอเชียก็มีบ่อย แต่ส่วนใหญ่จะโอน แค่ชนิดกีฬาละ 1-2 คน เป้าหมายคือให้นักกีฬาท้องถิ่น ดูดซับความรู้จากตัวโอนสัญชาติให้มากที่สุด
ตัวอย่างเช่น ฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น ในปี 1990 ได้เรียกตัว รุย รามอส กองกลางของเวอร์ดี้ คาวาซากิ ที่เป็นคนบราซิลขนานแท้ เกิดที่ริโอ เด จาเนโร มาติดทีมชาติชุดใหญ่ด้วย คือเคสของรุย รามอสนั้นเมื่อเรียกติดทีมชาติแล้ว ญี่ปุ่นก็ให้นักเตะหลายๆ คนได้ซึมซับเทคนิคต่างๆ จากรามอส เพื่อเอามาพัฒนากองกลางคนอื่นๆ ให้เก่งขึ้นกว่าเดิม
2
แต่อย่างเคสของกัมพูชาที่เราเห็นในปีนี้ บาสเกตบอล 3x3 ตัวต่างชาติ คือพวกเขาขนผู้เล่นสหรัฐฯ มา 3 คนครบเลย คือเหรียญทองมันก็ได้นั่นแหละ แต่ในมุมกลับกัน แล้วตัวนักบาสเกตบอลท้องถิ่นชาวกัมพูชาจะมีโอกาสได้พัฒนาตัวเองตอนไหน
1
ดังนั้นถ้าถามว่า กัมพูชาควรโอนสัญชาติกันมากมายขนาดนี้ไหม คำตอบคือ ก็ไม่ควร เพราะไม่มีประโยชน์อะไรในระยะยาว ตัวต่างชาติมาโกยเงินแล้วก็กลับบ้านไป แค่นั้นจริงๆ
1
อย่างไรก็ตาม ก็พยายามเข้าใจว่า กัมพูชานั้น คงหวังมากจริงๆ กับซีเกมส์หนนี้ เพราะตัวเองเป็นเจ้าภาพเอง และมีลุ้นจะได้เป็นเจ้าเหรียญทองครั้งแรกด้วย ดังนั้นก็ต้องจัดเต็มกันไปเลย โอนสัญชาติ ก็โอนสัญชาติ จ่ายเงินก็จ่ายสิ เอาเหรียญทองไว้ก่อนเป็นพอ
2
บทสรุปของเรื่องโอนสัญชาติในซีเกมส์ครั้งนี้ ถ้าถามว่าทำได้ไหม คำตอบคือ "ทำได้" ไม่ผิดกฎอะไร แต่ถ้าถามว่าควรทำหรือไม่ คำตอบคือ "ไม่ควร"
เพราะถ้าคุณอยากจะให้นักกีฬาของประเทศตัวเองก้าวหน้า แต่ไม่ให้โอกาสพวกเขาได้ลงแข่งขัน แล้วมันจะก้าวหน้าได้อย่างไร มันไม่มีโอกาสจะได้พัฒนาตัวเองเลย ทักษะการกีฬามันจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ตรงนั้น
1
นอกจากนั้น ถามหน่อยว่า คุณไม่อยากมี "ฮีโร่ของชาติ" อย่างแท้จริงบ้างหรือ
1
นักกีฬาสักคนที่ มีแพสชั่นเพื่อชาติ และเป็นผู้เล่นที่คนในชาติหลงรักหมดใจ พร้อมเชียร์สุดชีวิตทุกครั้งที่แข่งขัน ไม่อยากมีฟีลแบบนี้บ้างหรือ
ดังนั้นในภาพรวม ผมคิดว่า การ Naturization ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่การโกงด้วย แต่แค่เสียดายโอกาส ที่นักกีฬากัมพูชาท้องถิ่นจะได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาสู่ระดับอาเซียน หรือระดับเอเชียได้
1
แล้วก็ อยากรู้ความรู้สึกของคนกัมพูชาเหมือนกันนะ ว่าในซีเกมส์หนนี้ เวลาต้องมาเชียร์คนยูเครน คนฝรั่งเศส คนอเมริกา ที่ใส่เสื้อกัมพูชาลงแข่งขัน แล้วพูดภาษาเขมรไม่ได้แม้แต่คำเดียว ไม่มีความผูกพันใดๆ กับกัมพูชาเลยสักนิด มันโอเคแล้วจริงๆ ใช่ไหม
1
17 บันทึก
65
6
16
17
65
6
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย