16 พ.ค. 2023 เวลา 21:46 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Casablanca หนังรักระหว่างรบ ที่คลาสสิคตลอดกาล

ในวาระครบรอบ 100 ปี วอร์เนอร์บราเธอร์ส มีการนำหนังคลาสสิคกลับมาฉายใหม่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ Casablanca จึงอยากนำบทความที่เคยเขียนลงในหนังสือเมื่อหลายปีก่อนกลับมาย้อนรำลึกถึงหนังรักเรื่องนี้อีกครั้ง
Casablanca เป็น 1 ในหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลเรื่องหนึ่งของโลก และมักติดอันดับต้นๆ เสมอในการจัดอันดับหนังในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา อย่างในปี 2002 สถาบันภาพยนตร์แห่งอเมริกา หรือ The American Film Institute ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า AFI ได้ทำการสำเร็จความเห็น 100 ภาพยนตร์อเมริกันยอดเยี่ยมตลอดกาล ผลปรากฎว่า Casablanca ได้รับการโหวตมาเป็นอันดับที่ 1 ตามมาด้วยเรื่อง Gone with the Wind และ West Side Story
ผลสำเร็จเหล่านี้ คงเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นคุณค่าของภาพยนตร์รักเรื่องนี้ได้ดี ถึงแม้จะเพิ่งมีอายุครบ 80 ปีไปหมาดๆ แต่กาลเวลาที่แม้จะผ่านมาเนิ่นนานเพียงใด ก็ไม่อาจลดทอนความสนุกและความประทับใจของผู้ที่ได้ชมลงไปได้เลยอย่างน่ามหัศจรรย์
หากจะกล่าวถึงภาพยนตร์อมตะสักเรื่อง ที่มีความสมบูรณ์พร้อมสรรพในทุกอรรถรส ไม่ว่าจะเป็นความสนุกตื่นเต้น ดนตรีที่ไพเราะ ความโรแมนติก หรือโศกเศร้ารันทดใจ รวมถึงความประทับตรึงใจผู้ชมแล้วละก็ Casablanca ต้องเป็นหนึ่งในหนังเหล่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงวันนี้ก็กว่า 60 ปี เข้าไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนพูดถึงเขียนถึงอยู่เสมอ ทุก ๆ ส่วนของหนังกลายเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นดารานำ เพลงประกอบที่อมตะยืนยง บทภาพยนตร์ที่เป็นบรรทัดฐาน ฉากคลาสสิคหลายต่อหลายฉาก หรือแม้แต่คำพูดต่าง ๆ ในหนังที่มีผู้คนประทับใจและจดจำได้มากมายหลายประโยค เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้ สามารถพูดและเขียนกันแทบไม่มีทางจบ ทำให้บทความชิ้นนี้ อาจกล่าวถึงหนังได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็จะพยายามหยิบเอาสาระสำคัญมาเขียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
Casablanca เป็นชื่อเมืองสำคัญในประเทศโมร็อกโค ดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ประเทศหน้าด่านสำคัญสู่ทวีปแอฟริกา ดินแดนที่ดูสงบเงียบและห่างไกลจากความร้อนแรงของมหาสงครามในยุโรป แต่แม้จะห่างไกลเพียงใด ไอสงครามก็ยังแผ่ซ่านไปถึงได้ ความรักที่ฝังลึกในหัวใจต้องถูกกระชากขึ้นมาอีกครั้ง พร้อม ๆ กับการเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ความรักที่ต้องเลือกระหว่าง หน้าที่ การเมืองและประเทศชาติ การเสียสละที่ยิ่งใหญ่ท่ามกลางไฟแห่งสงครามโลกครั้งที่สองที่กำลังทวีความรุนแรง
ทั้งหมดเกิดขึ้นและจบลงในดินแดนที่ชื่อคาซาบลังก้าแห่งนี้ ก่อเกิดเป็นตำนานความรักอมตะระหว่างริกหนุ่มใหญ่อเมริกัน กับอิลซ่า สาวฝรั่งเศสแสนสวย ที่ซาบซึ้งตรึงใจไม่แพ้ตำนานรักคลาสสิคอย่างโรมีโอกับจูเลียต
อิลซ่ากับริก ทั้งสองมีอดีตที่แสนหวานต่อกันมาก่อนในปารีส แต่ทันทีที่กองทัพนาซีย่างกรายเข้าสู่ฝรั่งเศส โชคชะตาที่หักเห ทำให้ความรักของทั้งสองถูกย่ำยีจนแตกสลายไปไม่ต่างจากประเทศฝรั่งเศส
ริกเก็บความเอาความขมขื่นปวดร้าวในใจ เดินทางไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่เปลี่ยวเหงายังดินแดนที่ห่างไกลในโมร็อกโค กับแซม ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและลูกน้องที่รู้ใจริกมากที่สุด ที่คาซาบลังก้าเมืองทางตอนเหนือของโมร็อกโค ริกเปิดไนท์คลับชื่อ Cafe American ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนสำคัญๆ ของที่นั่น ในช่วงที่สงครามในยุโรปกำลังเข้มข้น ความตึงเครียดระหว่างลูกค้าหลากเชื้อชาติของริก ทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี อเมริกา และชาวพื้นเมือง ก็เริ่มร้อนแรงขึ้นเช่นเดียวกัน
และความตึงเครียดก็ขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อ วิคเตอร์ ลาซโล ปรากฏตัวขึ้นในคาซาบลังก้า วิคเตอร์ ลาซโล เป็นบุคคลอันตรายที่เยอรมันกำลังต้องการตัว เนื่องจากเป็นผู้นำชาวเช็ก ที่ต่อต้านนาซี และหลบหนีออกมาจากค่ายกักกัน ลาซโลมาพร้อมกับภรรยานั่นคืออิลซ่า และพยายามหาทางลี้ภัยไปยังสหรัฐ การมาของอิลซ่าทำให้ความรักครั้งเก่าของริกย้อนมาทำร้ายใจของเขาอีกครั้ง รักสามเส้าท่ามกลางความตึงเครียดจึงอุบัติขึ้น
ความโดดเด่นของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ อยู่ที่เรื่องราวอันซับซ้อนระหว่างความสัมพันธ์ของตัวละคร แม้ธีมหลักจะเป็นเรื่องความรักสามเส้า แต่เรื่องก็ดำเนินไปพร้อมกับพล็อตรองอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายลับ การต่อต้านนาซี การคอร์รัปชั่น ความหวาดระแวง ความรักชาติและความถูกต้อง บวกกับการสร้างคาแร็กเตอร์ตัวละครที่มีความลึกและน่าสนใจ รวมทั้งความเฉียบคมในการเขียนบทสนทนา ทำให้เรื่องราวสนุกสนานและมีชีวิตชีวา พร้อมกับส่งให้บทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ในที่สุด
บทภาพยนตร์นั้นเป็นการเขียนร่วมกันของ Julius J. Epstein ,Philip G. Epstein และ Howard Koch โดยดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง Everybody goes to Rick's ซึ่งประพันธ์โดย Murray Burnett และ Joan Alison
Casablanca เป็นหนึ่งในภาพยนตร์จำนวนไม่มากนัก ที่ยิ่งดูซ้ำก็ยิ่งได้อารมณ์ร่วมมากขึ้น นั่นเพราะความซับซ้อนของเรื่องราว อย่างเช่น ฉากการปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกของอิลซ่าใน Cafe American เป็นฉากที่สามารถสร้างอารมณ์ให้คนที่ดูซ้ำได้เป็นอย่างดี ในครั้งแรกผู้ชมยังไม่ได้รับรู้เรื่องราวความสัมพันธ์ของเธอกับริก ในหนังนั้นบทภาพยนตร์ค่อยๆ เปิดเผยเรื่องราวของทั้งคู่ออกมาทีละนิด สายตาที่แฝงความนัย การพูดคุยของอิลซ่ากับแซมนักเปียโนผิวดำ ล้วนสร้างความคลางแคลงใจให้ผู้ชม
จากนั้นหนังจึงเปิดเผยให้เห็นความทรงจำของทั้งริกและอิลซ่าในปารีสให้ผู้ชมได้ทราบ ดังนั้นการได้กลับมาชมซ้ำ ทำให้ผู้ชมที่รับรู้เรื่องราวในอดีตของทั้งคู่แล้ว สามารถซึมซับความรู้สึกของตัวละครได้ตั้งแต่ฉากแรก และได้อารมณ์ร่วมกับเรื่องราวมากขึ้นนั่นเอง และเมื่อเสริมกับเพลงนำในหนัง As time goes by อารมณ์ของเรื่องราวผสมกับความไพเราะของบทเพลง ก็ยิ่งส่งให้อารมณ์ผู้ชมกระเจิดกระเจิง
เพลงนี้ที่จริงไม่ใช่เพลงที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับภาพยนตร์ แต่เป็นการหยิบเอาเพลงเก่าที่แต่งไว้เมื่อ 11 ปีก่อน เพื่อเตรียมใช้สำหรับละครมาใส่ไว้ เพลงนี้แต่งขึ้นโดย Herman Hupfield ในตอนแรกนั้น แม็กซ์ สไตเนอร์ ผู้ดูแลด้านเพลงประกอบภาพยนตร์ไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่าเพลงที่มีโน้ต 6 ตัวนี้ ไม่เหมาะกับตัวหนัง แต่เป็นเพราะ Murray Burnett ผู้ประพันธ์บทละครต้นฉบับนั้นชอบ และเป็นเพื่อนกับผู้แต่งเพลง ทำให้ สไตเนอร์ ยอมเอามาใช้ในเรื่อง
และมันก็เกือบจะไม่ได้อยู่ในหนังด้วยซ้ำ เมื่อ สไตเนอร์ พยายามที่จะถอดฉากที่เบิร์กแมนในบทอิลซ่าขอให้แซม เล่นเพลงนี้ให้ฟัง แต่ในท้ายที่สุดเพลงนำที่เป็นอมตะเพลงนี้ก็ยังคงอยู่ในหนัง เมื่อเบิร์กแมนได้ตัดผมของเธอออกไปแล้ว เพื่อเตรียมแสดงนำในหนังเรื่องต่อไป ทำให้ไม่สามารถกลับมาถ่ายซ่อมใหม่ได้ เพลงใหม่เพลงเดียวที่แต่งขึ้นสำหรับภาพยนตร์ก็คือเพลง Knock on Wood ซึ่งสตูดิโอมั่นใจว่ามันจะฮิตแน่ๆ
เนื้อเพลงและประวัติความเป็นมา
Casablanca สร้างขึ้นจากบทดั้งเดิมที่เขียนสำหรับทำเป็นละครเวทีในเรื่อง Everybody comes to Rick's ที่แต่งโดย Murray Burnett และ Joan Alison แต่ก็ไม่เคยถูกนำมาสร้างเป็นละครเลย วอร์เนอร์บราเธอร์สได้ซื้อบทละครเรื่องนี้มาด้วยราคา 20,000 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1941 ซึ่งถือเป็นราคาที่สูงที่สุดสำหรับบทละครที่ไม่เคยถูกสร้างมาก่อน จากนั้นในวันที่ 31 ธันวาคม 1941 Hal Wallis ผู้อำนวยการสร้างก็ได้เปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น Casablanca อย่างที่รู้จักกันดี
จากนั้นในวันที่ 5 มกราคม 1942 ก็มีข่าวลือในหนังสือพิมพ์ว่า วอร์เนอร์จะสร้างภาพยนตร์เกรด B เรื่อง Casablanca และจะมี โรนัลด์ เรแกน เป็นดารานำ แต่ก็มีการปฏิเสธในเวลาต่อมา ในส่วนของดารานำหญิงนั้น ในตอนแรกมีการเรียกตัวดาราหญิง 3 คนมาทดสอบบท ซึ่งก็มี Ann Sheridan, Tamara Toumanova และ Michele Morgan ในรายสุดท้ายนั้นเป็นที่พอใจของวอร์เนอร์ แต่ติดปัญหาเรื่องค่าตัวที่เธอเรียกสูงถึง 55,000 ดอลลาร์
และสุดท้ายวอร์เนอร์ก็ได้เจรจากับ เดวิด โอ.เซลส์นิค(ผู้อำนวยการสร้างGone with the Wind) เพื่อขอยืมตัว อิงกริด เบิร์กแมน ดาราในสังกัดของเซลส์นิคมาแสดงได้สำเร็จ ด้วยค่าตัว 25,000 ดอลลาร์ บวกกับการยินยอมให้ Olivia de Havilland ไปแสดงหนังให้เซลส์นิคได้ 1 เรื่อง
ด้วยความที่บทภาพยนตร์มีนักเขียนเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทำให้ในบางฉากของบทภาพยนตร์นั้นมีการเขียนขึ้นถึง 3 แบบ เพื่อให้ผู้สร้างได้เลือกนำไปใช้งาน ทำให้เกือบมีปัญหาขัดแย้งกันขึ้นในระหว่างถ่ายทำ ส่วนฉากจบนั้นก็มีการพิจารณากันอย่างหนักกว่าจะได้ข้อสรุปว่าควรจะลงเอยแบบไหน ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 อาทิตย์ก่อนเปิดกล้องเข้าไปแล้ว(ซึ่งมีทั้งให้อิลซ่ากับริคได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็เป็นการเสี่ยงเกินไปที่จะให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วทิ้งสามี หรือแบบที่ให้วิคเตอร์ต้องตาย รวมถึงให้ริคถูกฆ่าในขณะที่อิลซ่ากับวิคเตอร์กำลังหนี)
หนังเปิดกล้องในวันที่ 25 พฤษภาคม 1942 การถ่ายทำฉากเกือบทั้งหมดมีขึ้นในโรงถ่ายของวอร์เนอร์ ยกเว้นเพียงฉากสนามบินคาซาบลังก้า ที่ไปถ่ายทำกันที่ สนามบินเทศบาลเมืองลอสแองเจลีส หนังปิดกล้องอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 สิงหาคม 1942 หลังจากนั้น 2 อาทิตย์จึงมีการถ่ายซ่อมในบางฉาก อย่างไรก็ตาม กว่าที่คำพูดประโยคสุดท้ายที่ใช้ในหนัง ซึ่งมีอยู่ถึง 3 แบบ จะถูกเลือกได้ก็ต้องรอถึงวันที่ 21 สิงหาคม 1942 โดยผู้ตัดสินใจก็คือผู้อำนวยการสร้าง Hal Wallis นั่นเอง
Casablanca ปิดกล้องภายใต้งบประมาณ 950,000 ดอลลาร์ ฉากที่ลงทุนมากที่สุดก็คือฉากไนท์คลับของริค ที่ลงทุนไปถึง 9,200 ดอลลาร์ (มากกว่าครึ่งของงบสร้างฉากทั้งหมด) หนังถูกรีบนำออกมาฉายในวันขอบคุณพระเจ้าของปี 1942 (วันที่ 26 พฤศจิกายน) โดยเปิดรอบปฐมทัศน์ขึ้นที่ Hollywood Theatre ในนิวยอร์ค เนื่องจากต้องการฉวยโอกาสจากข่าวการบุกคาซาบลังก้าของกองทัพสัมพันธมิตร ที่เพิ่งกรีฑาทัพเข้าไปเมื่อ 3 อาทิตย์ก่อนหน้าวันฉาย
แต่หนังก็ต้องรอจนถึงวันที่ 23 มกราคม 1943 กว่าจะได้ฤกษ์ฉายทั่วประเทศ และเพราะกฎเกณฑ์ของออสการ์ ที่กำหนดให้หนังที่ทำการฉายเชิงพาณิชย์ในลอสแองเจลีส ภายในช่วงปีนั้นเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิส่งเข้าชิงรางวัลได้ ทำให้ Casablanca ถูกส่งเข้าชิงรางวัลสำหรับภาพยนตร์ประจำปี 1943 ตัวหนังประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายของสตูดิโอ สามารถทำเงินในปีนั้นได้ถึง 3.7 ล้านดอลลาร์ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 8 รางวัล
ซึ่งหนังก็สามารถคว้ามาได้ 3 รางวัล นั่นก็คือ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลบทภาพยนตร์(ดั้งเดิม)ยอดเยี่ยม และรางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม(ไมเคิล เคอร์ติส) ส่วนที่พลาดไป 5 รางวัลนั้นก็มี ดารานำชายยอดเยี่ยม(ฮัมฟรีย์ โบการ์ต) ดาราประกอบชายยอดเยี่ยม(คล็อด เรนส์) ถ่ายภาพยอดเยี่ยม(อาเธอร์ เอเดอสัน) ลำดับภาพยอดเยี่ยม(โอเว่น มาร์คส์) และรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยม(แม็กซ์ สไตเนอร์)
ถึงแม้ว่าฮัมฟรีย์ โบการ์ต จะไม่ได้รับรางวัลออสการ์จากบทริคในเรื่องนี้ แต่ความสำเร็จของเขาจาก Casablanca ก็ดูจะติดตัวเขาไปตลอดหลังจากนั้น ทำให้เขาได้รับบทบาทที่ซ้ำแนวอยู่เสมอ กว่าเขาจะสามารถสลัดภาพริคได้หมดก็ร่วมสิบปีต่อมา และได้ออสการ์จาก The African Queen ในที่สุด ฉากที่โบการ์ตอยู่เงียบๆ คนเดียว นั่งจิบเหล้าและสูบบุหรี่ด้วยความเจ็บปวดและเปลี่ยวเหงา เป็นภาพที่ได้อารมณ์มากที่สุดของโบการ์ต ส่วนอิงกริด เบิร์กแมน ในบทอิลซ่า ก็ต้องถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของหนังด้วย
แม้จะไม่ใช่การแสดงที่โดดเด่นที่สุด แต่ทุกฉากที่เบิร์กแมนปรากฎตัว มีผลทำให้หนังดูสดใสขึ้นทุกครั้ง การจัดแสงและถ่ายภาพของเรื่องนี้ ที่แม้จะเป็นขาวดำ แต่ก็ขับเน้นให้เบิร์กแมนดูสวยสง่าเอามากๆ และส่งผลให้หนังได้เข้าชิงออสการ์สาขาถ่ายภาพ(ขาวดำ)ยอดเยี่ยม การจับคู่ระหว่างโบการ์ต กับเบิร์กแมน ถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญบนจอภาพยนตร์ครั้งหนึ่งเลยทีเดียว เป็นคู่พระนางที่เหมาะเจาะเหมาะสมมาก ซึ่งมีผลทำให้ฉากร่ำลาที่สนามบินในตอนท้ายเรื่อง กลายเป็นฉากลาที่คลาสสิคที่สุดฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เลยทีเดียว
ที่น่าเสียดายจริง ๆ ก็คือ คล็อด เรนส์ ในบทผู้กองลูอิส เรโนลต์ ที่ได้เข้าชิงในสาขาดาราประกอบชายยอดเยี่ยม ถือเป็นการแสดงส่วนที่ดีที่สุดของหนัง และเป็นการแสดงที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของเรนส์ แต่กลับพลาดไปอย่างไม่น่าเชื่อบทแซม นักเปียโนประจำไนท์คลับ ซึ่งแสดงโดย ดูลี่ย์ วิลสัน(Dooley Wilson) ดาราผิวดำ ก็เป็นอีกบทหนึ่งที่ผู้ชมประทับใจ
จริงๆ แล้ว Wilson ไม่ใช่นักเปียโน แต่เป็นมือกลองและนักร้อง ซึ่งในขณะถ่ายทำฉากที่ต้องมีการเล่นเปียโนนั้น ก็ได้ Elliott Carpenter นักดนตรีประจำสตูดิโอของวอร์เนอร์มานั่งเล่นเปียโนอยู่ด้านนอก และวิลสันก็เป็นนักแสดงในเรื่องเพียงคนเดียว ที่เคยเดินทางมาเยือนคาซาบลังก้าจริงๆ ก่อนหน้าที่จะมาลงเอยที่ตัววิลสันนั้น ทาง Wallis ผู้อำนวยการสร้างเคยอยากให้บทนี้เป็นของนักร้องหญิงมาแสดงมากกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนักร้องหญิงชื่อดัง Ella Fitzgerald แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่นักดนตรีผิวดำแทน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
ตัวหนัง Casablanca นอกจากจะเป็นสถานที่ชุมนุมของผู้คนหลากเชื้อชาติแล้ว เบื้องหลังการสร้างก็ไม่ต่างไปจากตัวภาพยนตร์เท่าใดนัก เพราะนักแสดงเกือบทั้งหมดในเรื่องล้วนเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งนับรวมกันแล้วมีถึง 34 ประเทศ มีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่เป็นอเมริกันโดยกำเนิด นั่นก็คือ ฮัมฟรีย์ โบการ์ต และ ดูลี่ย์ วิลสัน หลายคนเป็นผู้อพยพหนีภัยนาซีจากยุโรปจริงๆ โดยเฉพาะตัว พอล เฮนรีด (Paul Henreid) ที่รับบท วิคเตอร์ ลาซโล
พอลนั้นเป็นชาวออสเตรียอพยพและต่อต้านนาซีอย่างเปิดเผย เขาได้ปฏิเสธที่จะรับบทนี้ในครั้งแรก แต่เพราะนโยบายของรัฐบาลสหรัฐหลังการเข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตรในสงคราม ที่พยายามผลักดันชาวต่างชาติออกจากประเทศ ด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคง ทำให้เฮนรีดต้องยอมรับข้อเสนอจากวอร์เนอร์ เพื่อรักษาชีวิตของเขาไว้นั่นเอง
และถึงแม้ในเรื่อง Casablanca จะมีข้อมูลที่ผิดพลาดจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อยู่หลายประการก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นจดหมายส่งตัว ที่ลงชื่อนายพลเดอโกล ซึ่งไม่มีจริง การอ้างถึงบุคคลสำคัญที่ไม่มีตัวตน หรือเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในคาซาบลังก้า แต่ดูเหมือนทุกคนจะพากันมองข้ามข้อผิดพลาดเหล่านั้นไปหมด จนคงความเป็นอมตะอยู่ได้อย่างยาวนาน
ถึงแม้ว่าหนังจะได้รับการยกย่องอย่างมากมาย แต่ดูเหมือนตัวผู้กำกับ ไมเคิล เคอร์ติส เองจะไม่ได้รับเครดิตสักเท่าไร เพราะไม่ค่อยมีใครกล่าวขวัญถึงนัก เคอร์ติสเป็นผู้กำกับฝีมือดีคนหนึ่งในวงการ มีผลงานในฮอลลีวู้ดมากมายโดยเฉพาะกับวอร์เนอร์ ในช่วง 10 กว่าปี เคอร์ติสกำกับหนังให้วอร์เนอร์ถึง 42 เรื่อง และก่อนที่เขาจะเข้ามาจับงานนี้ ตัวเลือกของวอร์เนอร์มีทั้ง William Wyler, Vincent Sherman และ William Keighley แต่ทั้งหมดต่างบอกปัดโครงการนี้ บทเลยตกมาถึงมือของเคอร์ติส
และหนังก็ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม และถึงแม้ Casablanca จะไม่มีฉากที่โชว์เทคนิคแปลกใหม่อะไรให้คนชื่นชม เทียบไม่ได้กับ Citizen Kane ที่มีเทคนิคแปลกใหม่มากมายให้คนจดจำ แต่ความยอดเยี่ยมของเคอร์ติส อยู่ที่การเล่าเรื่องตามบทภาพยนตร์ได้อย่างเที่ยงตรง มีความกลมกลืน ลื่นไหล และไม่บานปลาย ด้วยเทคนิคพื้นฐานต่างๆ ที่มีของภาพยนตร์ในยุคนั้น ซึ่งมีรากฐานมาจากงานของผู้กำกับยุคต้นอย่าง G.W. Griffith ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างงานที่ลงตัวและเป็นอมตะ
เนื่องเพราะความโดดเด่นของ Casablanca นั้นอยู่ที่เรื่องราว บทภาพยนตร์ และการสร้างตัวละคร โรเจอร์ อีเบิร์ตส์ นักวิจารณ์แห่ง Chicago Sun-Times เคยกล่าวไว้ในบทความพิเศษฉลองอายุครบ 50 ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 1992 ว่า "ทำไมถึงไม่มีใครจำได้ถึงฉากช็อตเด็ดๆ ใน Casablanca บ้าง นั่นก็เพราะมันไม่มีช็อตเด็ดในหนังนะสิ สำหรับใครก็ตามที่หวังจะเห็นละก็ เขาคิดผิดแล้วครับ"
ส่วนฉากจบของหนังที่ดูค่อนข้างจะทำร้ายความรู้สึกของผู้ชมส่วนใหญ่นั้น ต้องถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและทำให้ตัวหนังได้รับการจดจำเป็นอมตะนั่นเอง ถึงหลาย ๆ คนอยากจะให้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ประมาณว่า "ความรักสามารถเอาชนะได้ทุกสิ่ง" ก็ตาม แต่การตัดสินใจของริคที่เห็นความถูกต้องชอบธรรม อยู่เหนือเหตุผลของความรัก กลับเป็นสิ่งที่สวยงามและกล้าหาญ เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ และตอกย้ำถึงสิ่งเขาพูดไว้กับอิลซ่าว่า "ปัญหาของมนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเรา 3 คน มันไม่ได้สำคัญไปกว่าเรื่องเลวร้ายอีกมากมายในโลกของเราหรอก"
นอกจากนี้การกระทำของริคกลับยิ่งทำให้ความรู้สึกโกรธแค้นและต่อต้านนาซี ของคนยุโรปและอเมริกันเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เมื่อคำนึงถึงจังหวะเวลาที่หนังออกฉายในปี 1943 ซึ่งความเข้มข้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังมาถึงจุดสูงสุด ก็ต้องถือเป็นความประจวบเหมาะที่น่าทึ่ง และถ้าคุณมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์อมตะเรื่องนี้ หวังว่าคุณคงจะรักมันเหมือนกับที่คนมากมายทั่วโลกตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ ถ้ายังพลาดก็รีบหามาชมกันนะครับ
Alek
โฆษณา