21 พ.ค. 2023 เวลา 08:07

เด็กรุ่นใหม่กับวัฒนธรรมการประณาม?

หนึ่งในรายการที่ฉันชอบดูคือรายการ “ถาม-ตอบ” ทางช่อง ABC ของออสเตรเลีย มันเป็นรายการที่ให้คนธรรมดามาตั้งคำถาม แล้วให้คนที่เด่นดังในแวดวงต่างๆ มาตอบ
วันนี้ขอมาแชร์ 1 คำถามที่น่าสนใจ ที่เริ่มจากการถามถึงทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่ แต่คำตอบนำไปสู่ปัจจัยหลายด้านที่ทำให้คนทุกรุ่นต้องคิดจงหนักเลย
จะขอแปลมาลงตรงๆ ตามคลิปนี้ (https://www.youtube.com/watch?v=TC01Km-XI0o) โดยไม่ใส่ความคิดเห็นส่วนตัว เพราะอยากให้เห็นว่าคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาคิดเห็นกันอย่างไรและพูดคุยกันอย่างไรในประเด็นสาธารณะ
(ปล. จริงๆ อยากให้เห็นเขาพูดคุยกันจากคำถามแรกที่เปิดรายการ แต่ฉันไม่สามารถเอามาแชร์ได้ เพราะการตั้งคำถามแบบนั้นอาจยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในบ้านเราอยู่ หรือแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่วัฒนธรรมไทยอาจยังไม่พร้อมในการถูกถามแบบนั้น)
เอาล่ะ มาเริ่มบทสนทนากันเลย
JUDE PEMELL (ผู้หญิงสูงวัยที่เป็นคนธรรมดา): คนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นกลุ่มแรกที่เสนอแนวคิดเรื่องความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) แต่พวกเขาได้นำวัฒนธรรมการประณามบุคคล (cancel culture) มาใช้อย่างแพร่หลาย สิ่งนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง – ความไม่เป็นผู้ใหญ่ของพวกเขา, การตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อผู้อื่นโดยคิดว่าตัวเองนั้นถูกไปเสียทุกอย่าง, หรือเป็นเพียงความก้าวหน้าขั้นต่อไปของพลวัตทางสังคม?
IRVINE WELSH (นักเขียนชาวสก็อตแลนด์ ผู้โด่งดังจากหนังสือเรื่อง Trainspotting ที่มาทำเป็นภาพยนต์ในชื่อเดียวกัน): นั่นเป็นคำถามที่น่าสนใจ ผมหมายถึง... คุณรู้ไหมว่าเรื่องนี้มีสองด้าน แล้วผมก็คิดว่าทั้งสองด้านนี้มีความเกี่ยวพันแบบสมรู้ร่วมคิดระหว่างกัน
ในแง่หนึ่ง หากคุณยอมรับว่าโลกที่เราอาศัยอยู่เป็นมรดกตกทอดมาจากลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นการบีบผู้คนจำนวนมากและยัดเยียดอัตลักษณ์รูปแบบหนึ่งให้กับเขา เมื่อคุณเห็นว่ามรดกแบบนี้ทำให้เรามีข้อจำกัดในปัจจุบัน คุณก็เพียงแค่อยากจะออกแบบโลกที่เราอาศัยอยู่ให้เป็นในรูปแบบใหม่ ก็แค่นั้น
ทีนี้ ในทางตรงกันข้าม เรามีระบบเศรษฐกิจที่เป็นแบบเสรีนิยมใหม่ แล้วใครก็ไม่สามารถโต้แย้งต่อเหตุผลใดๆ ของเศรษฐกิจรูปแบบนี้ได้ หากคุณลองมองสิ่งที่เกิดขึ้นที่อังกฤษและอเมริกาในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเงินทั้งหมดได้ถูกผ่องถ่ายจากประชาชนคนธรรมดาผ่านโครงสร้างทางการเมืองที่สอดรับกับเศรษฐกิจรูปแบบนี้ ไปสู่...
STAN GRANT (พิธีกร): ...ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำขนาดมหึมา
1
IRVINE WELSH: ใช่เลย แล้วเงินก็ไหลไปสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ ส่วนใหญ่จะไปอยู่ในบัญชีของประเทศที่เอาไว้เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ไปตกอยู่ในมือคนเพียงกระจุกเดียว และวัฏจักรนี้ก็ดำเนินต่อไป
ในเมื่อผู้คนไม่สามารถโต้แย้งระเบียบทางเศรษฐกิจแบบนี้ได้ สิ่งที่ทำได้คือการปลดปล่อยสิ่งที่พวกเขาอัดอั้นลงไปสู่ช่องทางของวัฒนธรรม แล้วเมื่อสิ่งนี้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เรามี เราจึงเห็นข้อโต้แย้งเหล่านี้บนแพลตฟอร์มออนไลน์จนเกลื่อน
แล้วคุณรู้ไหม มันก็กลายเป็นสงครามทางวัฒนธรรมที่ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้ ผู้คนต่างก็แหกปากใส่กัน โดยมีเป้าหมายเดียวคือการประณามใครสักคน พวกเขาออกมาพร้อมกับเรื่องราวไร้สาระ เพียงแค่จะบอกว่าพวกเขาอยู่ฝ่ายเดียวกับประวัติศาสตร์ (ฝ่ายที่ถูก) ส่วนคนที่คิดไม่เหมือนกันน่ะ คิดผิด
ไม่ว่าคนเหล่านี้จะมีบุคลิกส่วนตัวยังไง สนับสนุนแนวทางการเมืองแบบไหน มีทุกแบบที่คุณรู้จัก ตั้งแต่คนชั้นกลางที่มีเงินทอง ไปจนถึงคนจน หรือคนชั้นต่ำที่ถูกเลือกปฏิบัติ ทุกคนรู้สึกโกรธและไร้อำนาจ สงครามทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นผลที่มาจากความโกรธและความไร้อำนาจอันนี้แหละ และความโกรธและความไร้อำนาจก็เป็นผลมาจากการไม่รู้ข้อมูลที่เป็นจริง ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับสิ่งรอบตัวเรา
สงครามทางวัฒนธรรมแบบนี้...มันเหมาะกับผู้มีอำนาจมากๆ ในสังคมของเรา เพราะเวลาเราโต้เถียงกัน ทะเลาะกัน เราไม่ได้มองเลยว่าผู้มีอำนาจเหล่านั้นกำลังทำอะไรกันอยู่
1
***เสียงปรบมือทั่วห้องส่ง***
STAN GRANT: แคโรไลน์ ผมเห็นคุณพยักหน้าไปด้วย มันดูเหมือนเป็นสงครามที่ไม่มีผู้ชนะและไม่มีจุดสิ้นสุด คุณมีความคิดเห็นว่าอย่างไร?
CAROLINE DI RUSSO (นักกฎหมาย ปัจจุบันเป็นประธานพรรคเสรีนิยมของรัฐออสเตรเลียตะวันตก): ดิฉันคิดว่าประเด็นสุดท้ายที่คุณเออร์วินพูดมานั้นดีมากจริงๆ และดิฉันก็คิดว่าหากผู้คนมานั่งพูดคุยกันโดยสนใจเฉพาะเรื่องเนื้อหาเป็นหลัก และสรุปเป็นประเด็นๆ ไป เหมือนอย่างที่ดิฉันได้พูดไปแล้วก่อนหน้านี้
นั่งพูดคุยกันอย่างปัญญาชน ขยี้ไปทีละประเด็น – เพียงเพราะมีคนไม่เห็นด้วยกับคุณในบางเรื่อง ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนไม่ดี เราเพียงแค่ต้องหาจุดที่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้ และเปิดใจว่าทุกความเห็นที่อาจไม่ตรงกันนั้น เราสามารถยอมรับกันได้ และ...
STAN GRANT: ขอโทษนะที่ต้องแทรก – เราจะทำได้จริงเหรอ? บนโซเชียลมีเดียเนี่ยนะ?
CAROLINE DI RUSSO: โอ้ว ไม่เลย เราไม่เก่งเรื่องโซเชียล... ปัญหาของโซเชียลมีเดียคือมันกลายเป็นฝูงของความคิดรวบยอดที่พร้อมรุมทึ้งตลอดเวลา
STAN GRANT: และคุณต้องเคยสัมผัสมันมาแล้วแน่ๆ
CAROLINE DI RUSSO: ใช่เลย ดิฉัน....
STAN GRANT: ผมหมายความถึงอย่างการมาในรายการนี้ คุณอาจดึงดูดฝูงเหล่านั้น...
CAROLINE DI RUSSO: ถูกต้อง วันนี้ดิฉันถูกรุมทึ้งบนทวิตเตอร์ตั้งแต่เช้า ดิฉันก็เลยไม่แม้แต่จะสนใจมัน เมื่อคุณอยู่ในแวดวงสาธารณะมานานพอ คุณก็สามารถปล่อยมันได้ สำหรับดิฉันแล้ว มันไม่รบกวนอะไรเลย เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเขาเหล่านี้คือใคร? พวกเขาเป็นแค่คนไร้ชื่อและไร้ใบหน้า และถ้าพวกเขาจะไม่ใช้ชื่อและใบหน้าของตัวเองในสิ่งที่พวกเขากำลังจะพูด ดิฉันก็จะไม่ให้ราคาอะไรทั้งนั้น แต่มันเลวร้ายมากอย่างไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ
และเราก็ได้เห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้คนไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับการแสดงออก การมีมุมมองที่แตกต่างจากยุคสมัยมันทำให้ผู้คนไร้ตัวตน และดิฉันคิดว่าสังคมของเราต้องระวังเรื่องนี้ให้มากๆ เพราะมันจะทำให้ผู้คนเลิกพูดในสิ่งที่พวกเขาคิดจริงๆ เราจะไม่เห็นการถกเถียงที่ดี มีสาระ และน่าสนใจ ซึ่งน่าจะนำไปสู่การเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น ถกเถียงกันด้วยสาระมากขึ้น และจบลงด้วยผลลัพธ์ที่ดี
เมื่อไหร่ที่คุณหยุดไม่ให้มีการถกเถียงกันในสังคม ดิฉันคิดว่าเราจะจบลงด้วยผลลัพธ์ที่แย่
ANDREW LEIGH (รมช. กระทรวงการคลัง รัฐบาลกลางออสเตรเลีย): นักเศรษฐศาสตร์อย่างผมมักมองว่าวัฒนธรรมเป็นผลมาจากเทคโนโลยี เมื่อผมมองช่วงเวลาระหว่างปี 2006-2008 ซึ่งสมาร์ทโฟนและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราได้เห็นว่าสุขภาพจิตของเยาวชนแย่ลงอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กผู้หญิง เราเห็นตัวเลขสถิติการทำร้ายตัวเองเพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าคนหนุ่มสาวมีความเครียดสะสมมากขึ้น
ในฐานะพ่อของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ผมกังวลว่าผู้ใหญ่อย่างเรามักไม่ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ได้ทำผิดพลาดเหมือนอย่างที่พวกเราในนี้เคยทำกันมาแล้วทั้งนั้น ในสมัยที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย...
CAROLINE DI RUSSO: ความคิดเห็นอันนี้จริงมาก
ANDREW LEIGH: ไม่มีใครอยากให้ช่วงเวลาที่เลวร้ายในชีวิตไปปรากฏบนอินเทอร์เน็ตหรอก แต่บ่อยครั้งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียก็ถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งเหล่านี้แหละ และหากเราไม่สามารถสร้างแพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับการแสดงออกขึ้นมาได้ ผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องยากมากที่จะมีการถกเถียงกันแบบปัญญาชนอย่างที่สังคมเราจำเป็นต้องมี
การพยายามใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์โซเชียลมีเดียยังสร้างความเครียดให้กับเยาวชนของเรามากขึ้นด้วย เพราะมันได้รับการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญการใช้ข้อมูลทางจิตวิทยาเชิงลึกเพื่อดึงดูดพวกเขาให้เสพติดการไถฟีดบนแพลตฟอร์มของตน มันทำให้เยาวชนออกห่างจากปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวที่ควรมีในฐานะมนุษย์
ตอนนี้เรามีเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แทบไม่มีโอกาสทำงานพาร์ทไทม์และได้พบปะผู้คนที่หลากหลายในสังคม หนุ่มสาวน้อยคนนักที่จะออกเดทเพื่อรู้จักกันผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่ออนไลน์ มีโอกาสน้อยที่จะออกไปเล่นกีฬาที่เป็นทีม และมีแนวโน้มที่จะใช้เวลากับการไถฟีดเรื่อยเปื่อยมากขึ้น สำหรับผม ทั้งในฐานะพ่อและในฐานะผู้กำหนดนโยบาย สิ่งเหล่านี้คือความกังวลใจอันดับหนึ่งในตอนนี้
STAN GRANT: เรามีคำถามจากผู้ชมทางบ้านที่ส่งตรงถึงคุณแจ๊คกี้ แต่ผมขอกลับมาที่คุณเออร์วินก่อน เพื่อสรุปประเด็นในเรื่องนี้ – มีบางสิ่งหรือบางคนในสังคมไหมที่สมควรแก่การถูกประณาม หรือถูกตราหน้าว่าไม่สมควรรับฟัง? แล้วในฐานะคนที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์แบบคุณ ที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการถูกประณาม คุณวางตัวอย่างไร?
IRVINE WELSH: เราต้องยอมรับว่าโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลง แล้วมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และผมคิดว่าเราจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทั้งหมด
อย่างเช่นในหนังสือเล่มล่าสุดของผม มันมีตัวละครข้ามเพศมากมายในนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือทางสำนักพิมพ์บอกผมว่าจะเอาต้นฉบับไปให้บุคคลข้ามเพศคนหนึ่งอ่านก่อน นั่นเป็นครั้งแรกเลยที่จะมีใครคนอื่นมาอ่านต้นฉบับของผม ผมไม่เห็นด้วยเลย ผมต่อต้านมันมาก และได้บอกกับบรรณาธิการว่า นี่มันคือการเซ็นเซอร์ มันเป็นไอเดียที่แย่มาก... คุณรู้ไหม ผมโกรธและรำคาญกับเรื่องนี้มาก
แต่เมื่อผมได้ทำงานร่วมกับผู้อ่านข้ามเพศคนนี้ มันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีที่สุดของผมเลยล่ะ เพราะมันมีประโยชน์ต่องานเขียนของผมมาก แนวคิดของเขาตั้งแต่เริ่มต้นคือการสนับสนุนหนังสือให้ได้รับการตอบรับในวงกว้าง เขาเข้ามาเพื่อช่วยยกระดับงานของผมโดยไม่ได้ตั้งแง่ใดๆ และเขาพยายามมองถึงรายละเอียดในสิ่งที่ผมจะสื่อ จนสุดท้ายผมรู้สึกประทับใจมาก
แต่กลับกันที่เป็นผมเสียอีกที่เริ่มจากการไม่รู้และไม่ยอมรับ ผมเพียงแค่อ้างว่ามันเป็นเพียงการเซ็นเซอร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการช่วยเหลือใดๆ และสุดท้ายมันทำให้ผมได้ปลดออกจากอคติของตัวเอง ปลดออกจากข้อสันนิษฐานทางวัฒนธรรมอันคับแคบของตัวเอง ดังนั้นมันจึงเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก
แต่ก็นั่นแหละ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเรา มันใหม่มากสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน แล้วมันกำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เรามองเห็นเด็กรุ่นใหม่ที่รู้สึกท้อแท้และไร้อำนาจ รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีอะไรในชีวิตที่สามารถควบคุมได้จริงๆ
เรากำลังอยู่ในสังคมบนสื่อออนไลน์ที่ซึ่งมนุษย์ไร้หน้าปะทะกันโดยไร้เหตุผลและไร้จุดมุ่งหมายทางสังคม มากกว่าการอยู่ในสังคมบนท้องถนนที่ซึ่งคนธรรมดาอย่างพวกเราใช้เพื่อต่อรองเรื่องสาธารณะระหว่างกลุ่มต่างๆ อย่างที่เคยเป็นมา
และตอนนี้... โครงสร้างสังคมมันเป็นลำดับชั้นมาก มันมาจากการกำหนดจากบนลงล่าง เราเห็นผู้มีอิทธิพลในอินสตาแกรมกำลังบอกเราว่า เราควรคิดอย่างไรและรู้สึกอย่างไร และถ้าคุณไม่อยู่ในกระแสนั้น มันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่แย่มากสำหรับคุณ
ดังนั้นผมคิดว่าเราต้องพยายาม และมันไม่ง่ายเลย คุณรู้ไหม ผมไม่ได้เก่งเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่เราต้องพยายามและอดทนต่อการรับฟังผู้อื่นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ เพราะเราทุกคนกำลังถูกปลดออกจากพันธนาการของระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม เรากำลังถูกปลดออกจากสิ่งเหล่านี้ที่มันเคยให้ความหมายในชีวิตของเรา
จบชุดคำตอบของคำถามข้อนี้
โฆษณา